Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

พระพุทธศาสนานิกายมหายานในประเทศไทย

Posted By Plookpedia | 05 เม.ย. 60
12,374 Views

  Favorite

พระพุทธศาสนานิกายมหายานในประเทศไทย

ชุมชนชาวจีนที่ยังอยู่รวมกันเป็นหลักแหล่งมาจนถึงทุกวันนี้ คือ ย่านเยาวราช ซึ่งเป็นที่อยู่ของชาวจีนกลุ่มภาษาแต้จิ๋ว ฮากกา กวางตุ้ง ฮกเกี้ยน บริเวณนี้ยังมีศาลเจ้าประจำกลุ่มภาษาหลงเหลืออยู่ ในย่านเยาวราชมีวัดจีนแห่งแรก ได้แก่ วัดบำเพ็ญจีนพรต ปีที่มีการก่อสร้างวัดยังไม่ทราบแน่ชัด แต่หากคาดคะเนจากแผ่นป้ายที่เก่าแก่ที่สุดในวัดคือ พ.ศ. ๒๓๓๘ จึงทำให้สันนิษฐานได้ว่า อาจมีวัดแห่งนี้มาแล้วอย่างน้อยตั้งแต่เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๘ ซึ่งตรงกับรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพัฒนาจาก สำนักพระโพธิสัตว์กวนอิม ที่เป็นศูนย์รวมความเชื่อของชาวจีนในย่านเยาวราช และได้พัฒนาสร้างเป็นวัดตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยมีพระอาจารย์สกเห็ง ผู้เลื่อมใสในจีนนิกายเข้ามาเผยแผ่แก่ชาวจีนในย่านนี้ ต่อมา ชาวจีนได้ร่วมกันบริจาคทุนทรัพย์สร้างเป็นวัดจีนแห่งแรก แต่เนื่องจากอาณาเขตของวัดถูกกำหนดด้วยอาคารตึกแถว ดังนั้นวิหารต่างๆ ภายในวัดจึงตั้งอยู่ตามช่วงชั้นของอาคาร แรกเริ่มชาวจีนเรียกชื่อวัดนี้ว่า หย่งฮกอำ (แต้จิ๋ว) แล้วเปลี่ยนเป็น หย่งฮกยี่ (แต้จิ๋ว) ต่อมา ได้รับพระราชทานนามว่า วัดบำเพ็ญจีนพรต จากหลักฐานแผ่นหินที่สลักเรื่องราวเกี่ยวกับความเป็นมาในการจัดสร้างวัด ได้กล่าวไว้ว่า มีการบูรณะวัด ใน พ.ศ. ๒๕๐๘
 

ชาวจีนอยู่รวมกันเป็นกลุ่มในย่านเยาวราช กรุงเทพฯ

 

 

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ นั้น พระพุทธศาสนานิกายมหายานได้แพร่หลายในหมู่ชาวจีนแล้ว คาดว่า คงเข้ามาเผยแผ่ในประเทศไทย พร้อมๆ กับชาวจีนที่อพยพมาตั้งแต่สมัยอยุธยา หลังจากนั้นก็มีความเจริญมากยิ่งขึ้นในสมัยธนบุรี และสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น สำหรับการสร้างพระอารามทางพระพุทธศาสนานิกายมหายาน เชื่อกันว่า ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๔ คงมีวัดจีน และวัดญวน เกิดขึ้นไม่น้อยกว่า ๑๐ แห่ง จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ ๕ ทรงเห็นความสำคัญของศาสนสถาน ที่เป็นของชาวจีนอย่างแท้จริง จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดที่มีสถาปัตยกรรมแบบจีนคือ วัดเล่งเน่ยยี่ เมื่อการสร้างวัดเล่งเน่ยยี่สำเร็จ ได้พระราชทานนามว่า วัดมังกรกมลาวาส โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร หรือพระอาจารย์สกเห็ง พระบูรพาจารย์แห่งจีนนิกาย ผู้ริเริ่มสร้างวัดบำเพ็ญจีนพรต เป็นเจ้าอาวาสวัดเล่งเน่ยยี่ด้วย การพระราชทานสมณศักดิ์ในครั้งนั้น เป็นการพระราชทานสมณศักดิ์แก่พระสงฆ์จีนนิกายมหายานรูปแรก พระอาจารย์สกเห็งเป็นพระที่มีความเมตตา และเชี่ยวชาญทางด้านวิปัสสนากรรมฐาน

 

วิหารของวัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ จ.นนทบุรี

 

วัดมังกรกมลาวาสเป็นวัดจีนที่สร้างขึ้นต่อจากวัดบำเพ็ญจีนพรต เดิมตั้งอยู่ ณ เลขที่ ๔๒๓ ถนนเจริญกรุง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ ซึ่งคับแคบ จึงประสงค์จะสร้างวัดใหม่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้เลือกชัยภูมิที่ตั้งวัดใหม่ ในเนื้อที่ ๔ ไร่ ๑๘ ตารางวา และให้พระยาโชฎึกราชเศรษฐี เจ้ากรมท่าซ้าย ร่วมกับพุทธศาสนิกชนชาวจีนดำเนินการก่อสร้างใน พ.ศ. ๒๔๑๔ ใช้ระยะเวลาก่อสร้างรวม ๘ ปี จึงแล้วเสร็จ 

วัดโพธิ์แมนคุณาราม กรุงเทพฯ

 

หลังจากมีการสร้างวัดจีนที่กรุงเทพฯ แล้ว พระพุทธศาสนานิกายมหายานได้มีความเจริญมากขึ้น พระอาจารย์จีนจำนวนมาก ต่างเดินทางจากประเทศจีน เข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในกรุงเทพฯ และยังกระจายไปยังที่ต่างๆ อีกด้วย จากประวัติของพระอาจารย์โพธิ์แจ้ง ในหนังสือ อนุสรณ์งานบำเพ็ญกุศลของพระอาจารย์โพธิ์แจ้ง ครบ ๑๐๐ ปี บทความสงฆ์จีนนิกายตอนหนึ่งกล่าวว่า ท่านได้เดินทางเข้าสู่ประเทศไทย ใน พ.ศ. ๒๔๗๐ ในขณะที่มีอายุย่างเข้าปีที่ ๒๖ ท่านได้สืบเสาะหาพระอาจารย์ที่มีภูมิความรู้สูง มีคุณวุฒิ และมีบารมี จึงได้ขอถวายตัวเป็นศิษย์ของพระอาจารย์หล่งง้วน ที่สำนักสงฆ์ถ้ำประทุน (เช็งจุ้ยยี่) ซึ่งอยู่ที่พระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี และขอให้พระอาจารย์หล่งง้วนเป็นพระอุปัชฌาย์ ทำการบรรพชาให้ในวันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๑ ได้ฉายานามว่า “โพธิ์แจ้ง” จากหนังสือของท่านทำให้ทราบว่า ที่พระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี นอกจากจะมีวัดจีนและพระจีนซึ่งเป็นที่เลื่อมใสของบรรดาพุทธศาสนิกชนชาวจีนแล้ว สำนักสงฆ์หมี่กัง อยู่ที่สะพานอ่อน กรุงเทพฯ ก็เป็นแหล่งรวมศรัทธาความเชื่อของชาวจีนอีกแห่งหนึ่ง โดยตอนหนึ่งในหนังสือเป็นบทความเรื่อง “ความเจริญของคณะสงฆ์จีนนิกาย” กล่าวว่า ภายหลังจากที่วัดจีนก่อเกิดขึ้นในรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว พระสงฆ์จีนได้เดินทางเข้ามาจำพรรษาในประเทศไทยมากขึ้นเป็นลำดับ พระสงฆ์จีนบางรูปยังได้ทำการสร้างสำนักสงฆ์กระจายอยู่ทั่วไปในกรุงเทพฯ

 

วัดจีนประชาสโมสร จ.ฉะเชิงเทรา

 

ปัจจุบันจำนวนวัดและสำนักสงฆ์ที่ปรากฏในทะเบียนวัดและสำนักสงฆ์ฝ่ายจีนนิกาย มีรวมทั้งสิ้น ๑๗ แห่ง ดังนี้

๑. วัดโพธิ์แมนคุณาราม (กรุงเทพฯ) 
๒. วัดมังกรกมลาวาส (กรุงเทพฯ)
๓. วัดบำเพ็ญจีนพรต (กรุงเทพฯ)
๔. วัดหมื่นพุทธเมตตาคุณาราม (จังหวัดเชียงราย)
๕. วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ (วัดเล่งเน่ยยี่ ๒) (จังหวัดนนทบุรี)
๖. วัดโพธิ์เย็น (จังหวัดกาญจนบุรี)
๗. วัดฉื่อฉาง (จังหวัดสงขลา)
๘. วัดโพธิทัตตาราม (จังหวัดชลบุรี)
๙. วัดเทพพุทธาราม (จังหวัดชลบุรี)
๑๐. วัดทิพยวารีวิหาร (กรุงเทพฯ)
๑๑. วัดมังกรบุปผาราม (จังหวัดจันทบุรี)
๑๒. วัดเมตตาธรรมโพธิญาณ (จังหวัดกาญจนบุรี)
๑๓. วัดจีนประชาสโมสร (จังหวัดฉะเชิงเทรา)
๑๔. วัดเล่งจิ๋วเจงเสี่ย (เขตดินแดง กรุงเทพฯ)
๑๕. สำนักสงฆ์สุธรรม (เขตบางแค กรุงเทพฯ)
๑๖. สำนักสงฆ์กวงเม้งเจงเสี่ย (เขตป้อมปราบฯ กรุงเทพฯ)
๑๗. สำนักสงฆ์กั๊กฮึ้งเนี่ยมฮุกลิ้ม (เขตป้อมปราบฯ กรุงเทพฯ)

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow