เด็กจะใช้ตัวเองเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รวมไปถึงการเล่น โดยจะคิดว่าสิ่งรอบตัวเป็นของตนเองที่จะหยิบ จับ เล่น หรือทำอะไรก็ได้ตามที่ต้องการ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูก “เข้าใจในเรื่องสิทธิการเป็นเจ้าของ” เพื่อให้เขารู้จักแยกแยะได้เอง และไม่ไปหยิบจับของที่ไม่ใช่ของเขาโดยไม่ได้รับอนุญาตก่อน เมื่อโตขึ้นจนถึงวัยที่เข้าโรงเรียนอนุบาลได้ มีการเรียนรู้ด้านจริยธรรมที่ชัดเจนขึ้น ปัญหาการหยิบของเพื่อนมาโดยไม่ได้รับอนุญาตก็จะเกิดน้อยลงตามไปด้วย
คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกแยกแยะระหว่างของตัวเองกับของผู้อื่นตั้งแต่ที่บ้าน เช่น เวลาลูกหยิบอะไรไปเล่น ก็บอกให้ชัดเจนว่าสิ่งนี้ของคุณพ่อ ไม่ใช่ของลูก เอาไปเล่นไม่ได้ หรือเวลาลูกหยิบของเล่นคนอื่นมา ก็ควรบอกว่า “สิ่งนี้ไม่ใช่ของลูก” การเน้นย้ำเรื่องสิทธิการเป็นเจ้าของบ่อย ๆ จะทำให้ลูกเกิดการเรียนรู้ว่าของทุกอย่างมีเจ้าของ และเขาไม่สามารถได้ของทุกอย่างเสมอไป
หากคุณพ่อคุณแม่ไม่อยากให้ลูกมีนิสัยลักเล็กขโมยน้อยติดตัวไปจนโต ควรทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี เช่น หยิบจับใช้สิ่งของอะไรก็นำไปวางคืนไว้ที่เดิม เก็บให้เป็นระเบียบ หากมีการหยิบยืมกัน เมื่อใช้เสร็จก็นำไปคืนทันที บางครั้งอาจจำลองสถานการณ์ขอยืมของลูก เพื่อให้ลูกรู้ว่าหากอยากใช้ให้ขอยืม ไม่ใช่หยิบไปเฉย ๆ และต้องได้รับการยินยอมจากเจ้าของทุกครั้ง
บางครั้งลูกอาจเห็นว่าของชิ้นนั้นน่ารักมาก อยากได้มาก จึงหยิบกลับบ้านมาด้วย คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรดุหรือทำโทษอย่างรุนแรง แต่ควรพูดอธิบายให้เขาฟังอย่างอดทน พร้อมทั้งชี้ให้เห็นว่าพฤติกรรมของลูกเป็นเรื่องไม่สมควร และของชิ้นนี้ก็มีเจ้าของ ไม่ควรหยิบมาโดยพลการ ถ้าอยากได้อะไรให้มาปรึกษาพ่อแม่ หรือให้เก็บเงินซื้อเอง
หากลูกหยิบสิ่งของนั้นมาแล้ว คุณพ่อคุณแม่อาจไปเป็นเพื่อนลูกเพื่อนำของสิ่งนั้นไปคืน พร้อมทั้งให้ลูกกล่าวคำขอโทษเพื่อน จากนั้นจึงกอดเขาด้วยความรัก ชื่นชมในความรับผิดชอบและความกล้าหาญที่นำของมาคืน เพื่อเสริมกำลังใจว่าลูกทำสิ่งที่ถูกต้อง และคุณพ่อคุณแม่รู้สึกภูมิใจในตัวลูกมาก