"อาตมาไม่ได้ใช้เงินมาเป็นเวลา 25 ปีแล้ว อาตมาอยู่ด้วยของที่มีคนนำมาถวายเท่านั้น อาตมาไม่ไปตามที่ต่าง ๆ นอกจากมีผู้นิมนต์ไปเท่านั้น "
พระอาจารย์อมโร
ศิษย์หลวงปู่ชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี
ปัจจุบัน เป็นเจ้าอาวาสวัดอมราวดี (สาขาวัดหนองป่าพง) กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
แก่นสารคือ การสังเกต ลองสังเกตดูสิว่า สรรพสิ่งเป็นไปเช่นไร ลองเข้ามาดูสิว่าพุทธศาสนามีคุณค่าต่อชีวิตคุณอย่างไร พุทธศาสนาจะทำให้ชีวิตคุณสงบขึ้นแค่ไหน จะเติมชีวิตคุณให้เต็มได้อย่างไร มาดูเองดีกว่า ที่จะให้อาตมาบอกว่า พุทธศาสนาดีตรงไหน ดีกว่าจะบอกว่าความสุขอยู่ที่นี่นะ เพราะพุทธศาสนาไม่ได้บอกอย่างนั้น หัวใจของพุทธศาสนาคือ การกระตุ้นให้คนหันมามองตัวเองมากกว่า จะบอกให้เชื่อหรือไม่เชื่ออะไร
กระทั่งในพระสูตรยังเริ่มต้นว่า "เอวมฺเมสุตํ.." หรือ "That have i heard"
นั่นหมายความว่า พระไตรปิฎก คือบันทึกของพระอานนท์ เมื่อครั้งสังคายนาพระไตรปิฎกภายหลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว
ฉะนั้น อ่านซะ ศึกษาซะ เอามาใช้ซะ พิจารณาด้วยตัวเธอเองว่าจริงหรือไม่จริง นี่คือหัวใจของการไตร่ตรอง การแสวงหาและการค้นพบเป็นกระบวนการศึกษาที่แตกต่างออกไป เราเคยเรียนรู้จากภายนอก แต่นี่คือการเรียนรู้จากภายใน
การบวชเป็นวิถีปฏิบัติที่จำเพาะเจาะจง เป็นแนวทางที่พระพุทธเจ้าออกแบบมาให้แล้วและยังเป็นแนวทางที่พระองค์ทรงปฏิบัติด้วยพระองค์เอง เหมือนพระพุทธเจ้าใส่ตัวช่วยต่าง ๆ มาให้เราแล้ว ในพระวินัยนี้ เหมือนเราต้องการจะปีนขึ้นสู่ยอดเขา เราจะใส่หินลงในเป้แบกไปด้วยก็ได้ แต่มันง่ายกว่าใช่ไหมถ้าเราเดินตัวเปล่า ไม่ต้องแบกหินไปให้หนัก
เมื่อได้มาเห็นชีวิตของพระวัดป่าศรัทธาได้ก่อเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ อาตมาเห็นหนทางเพื่อจะออกจากทุกข์ วิถีแห่งนักบวชนั้นเรียบง่ายและงดงามที่สุดในโลก อาตมาไม่อาจจินตนาการไปถึงสิ่งที่ดีกว่านี้ได้
อาตมาได้พบพระอาจารย์ชา จึงประจักษ์ถึงความสำคัญของครูอาจารย์ ท่านเป็นเหมือนตาน้ำที่เต็มเปี่ยมและบริสุทธิ์ ต้นไม้ ดอกไม้ ผัก หญ้า สรรพสัตว์ ทุกอย่างดีไปหมด เพราะทุกสิ่งทุกอย่างต่างหลั่งไหล ออกมาจากตาน้ำที่ดี
อาตมาเจอหลวงพ่อชาครั้งแรกที่วัดหนองป่าพง วันนั้นท่านกำลังฉาบผนังส้วมอยู่ พอรู้ว่าอาตมามาจากลอนดอนซึ่งท่านก็เพิ่งกลับมาจากลอนดอนปีในนั้น ท่านมองอาตมาด้วยสีหน้าเรียบเฉย แล้วพูดในสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดว่า
"ผู้หญิงที่ลอนดอนสวยมากเนาะ"
อาตมาได้ยินประโยคนั้นแล้วถึงกับอึ้ง งงมากว่า ท่านพูดออกมาได้ยังไงว่าผู้หญิงที่ลอนดอนสวยมาก ทั้งที่ท่านเป็นพระ ท่านมองผู้หญิงแทบไม่ได้ด้วยซ้ำ ลอนดอนมีอะไรให้พูดถึงตั้งหลายอย่าง ทำไมท่านไม่พูดถึง อาตมาเคยคิดมาตลอดว่าตัวเองเป็นคนลุ่มลึกทางจิตวิญญาณ ไม่ได้สนใจทางโลกเลยบอกหลวงพ่อไปว่า
"จริงครับ แต่ผมไม่สนใจพวกเธอหรอกครับ " หลวงพ่อชาก็มองกลับมาด้วยสายตาดุ ๆ (หัวเราะ)
เจอกันครั้งแรกเรียกว่าเหนือความคาดหมาย อาตมาไม่เข้าใจว่าหลวงพ่อพูดแบบนั้นทำไม แต่เชื่อมั่นว่าหลวงพ่อกำลังพิสูจน์อะไรบ้างอย่าง
ตอนหลังมาตรองดูก็เห็นว่า คำพูดของหลวงพ่อ คือ
วิธีที่ทำให้อาตมาซื่อสัตย์กับตัวเอง เลิกยึดติดอยู่กับความคิดว่าเรา"ควร"เป็นคนแบบไหน แล้วหันกลับมายอมรับว่าเราเป็นผู้ชายอายุยี่สิบกว่า เห็นผู้หญิงสวยก็อยากจะจีบเป็นธรรมดา ท่านเป็นเหมือนกระจกสะท้อนให้อาตมาเห็นตัวเองชัด
เหมือนท่านจะถามว่าเธอรู้ตัวหรือเปล่า เท่าทันความรู้สึกของตัวเองหรือเปล่า เห็นตัณหาหรือข้อจำกัดของตัวเองไหม
ถ้ายังคิดว่าตัวเองเป็นคนลุ่มลึกทางจิตวิญญาณ อาตมาคงไม่ได้ตระหนักรู้ในกิเลสของตัวเอง สิ่งหลวงพ่อชาพูดในวันนั้นเหมือนจะบอกว่า
"ดูนี่ นี่คือสิ่งที่เธอเป็น เห็นซะ เข้าใจซะ ยอมรับซะ อย่าไปกดข่มมันไว้ "
การยอมรับว่าเรามีตัณหา ไม่ได้หมายความว่าเราต้องวิ่งตามตัณหาสักหน่อย
ฉะนั้น Let's not pretend to ourselves อย่าหลอกตัวเองเลย ซื่อสัตย์ต่อจิตใจตัวเองดีกว่า.
รู้สึกว่าหลวงพ่อชามองอาตมาทะลุ อาตมาซ่อนอะไรไม่มิดเลย เหมือนท่านจะรู้จักอาตมาดีกว่าที่อาตมารู้จักตัวเองซะอีก ซึ่งมันน่ากลัวนะ (หัวเราะ)"
ก่อนจะมาเป็นพระอาจารย์อมโร ภิกขุ ชื่อเดิมของท่านคือ เจเรมี ชาร์ลส์ จูเลียน ฮอร์เนอร์
ยุคของท่านเป็นยุคฮิปปี้ หนุ่มสาวในยุคนั้นส่วนใหญ่มีการคิดอิสระ (free thinking) คือจะเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่าง ปลดปล่อยตัวเองออกจากกฎหมาย กฎเกณฑ์ของสังคม และกฎระเบียบของครอบครัว
ตอนนั้นท่านก็เป็นฮิปปี้คนหนึ่ง เพราะชอบแนวคิด ชอบชีวิตไม่มีกฎ ไว้ผมยาวเฟี้อย ดื่มเหล้า สูบกัญชา ท่านอาจารย์อมโรเล่าถึงพวกฮิปปี้ให้ฟังว่า
"พวกนี้ข้างนอกดูว่าอิสระเต็มที่ แต่ข้างในไม่ใช่เลย
ฮิปปี้ไ่ม่เคยเป็นอิสระ จากเหล้า ยาเสพติด และเซ็ก แถมยังยึดติดในความคิดของตัวเองอีกด้วย"
ต่อมาท่านสงสัยว่าจิตใจของเราทำงานอย่างไร อยากมีความสงบความสบายใจ ท่านจึงเลือกศึกษาจิตวิทยา (psychology) และสรีรวิทยา (physiology) ที่University of London แต่พอท่านเรียน ๆ ไปก็เห็นว่าต่อให้ศึกษาจนเป็นศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา จิตใจก็ยังสับสนและเป็นทุกข์อยู่ดี เลยคิดว่าจิตวิทยาไม่สามารถช่วยให้ใจสงบ เรียนต่อไปก็ไม่มีประโยชน์อะไรที่ท่านต้องการแสวงหาความสงบ ก็เพราะจิตท่านมันไม่สงบเอามากๆ มีห่วงมาก กลัวมาก รู้สึกไม่มั่นคง กังวลไปซะทุกอย่าง
ภายนอกไม่มีอะไร ครอบครัวท่านดีมาก บ้านท่านมีสวนดอกไม้ตรงประตูบ้านเหมือนสวรรค์ พ่อแม่มีเงินพอใช้ โรงเรียนก็ดี สังคมก็ดี
ภายนอกจึงไม่มีอะไรให้ห่วง แต่ท่านกลับรู้สึกหน่วง ๆ อยู่ภายใน นี่คือเหตุผลที่ท่านอยากเข้าใจจิตใจนี้ เพราะสงสัยทำไมจึงเป็นทุกข์ ทั้งที่ทุกอย่างก็มีพร้อมหมด
แม้จะมีความสุข แต่มันสั้นๆ ดื่มสุราหรือสูบกัญชาก็มีความสุขแต่มันไม่นานและไม่เคยเต็ม ท่านเรียนดี เรียนจบก่อนเพื่อนท่านสองปี ได้เกียรตินิยมอันดับสอง เป็นนักกีฬาได้รางวัลมากมายเพียบพร้อมไปหมด แต่ข้างในกลวง ..have a hole in a heart.. ไม่พอ ไม่เคยพอใจ ยากที่จะเข้าใจ
"พี่สาวอาตมาเป็นคนเรียบร้อย แต่อาตมาเป็นคนสุดโต่ง เรียกว่าคนอื่นทำ100 อาตมาทำ 120 ถ้าลงมือทำอะไร อาตมาก็จะเป็นมากกว่าคนอื่น ตอนแรกอาตมาดื่มสุราหรือสูบกัญชาเพื่อจะมีความสุข ปาร์ตี้สนุกไปเรื่อย ต่อมาก็ดื่มและสูบเพื่อปิดประตูความรู้สึก หยุดคิด จะได้ลืมอะไร ๆ ไปให้หมด
โชคดีที่วันหนึ่งได้เห็นว่า ถ้าใช้ชีวิตอย่างนี้คงตายก่อนอายุยี่สิบห้า ถ้าไม่เปลี่ยนเส้นทางอายุคงจะสั้น "
ในช่วงที่ท่านเป็นนักศึกษา ได้มีโอกาสฟังบรรยายของ เทรเวอร์ สเตนคอฟ ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของ รูดอล์ฟ สไตเนอร์ (Rudolf Steiner) อีกที เทรเวอร์อธิบายเรื่องกรรมและการอบรมจิตได้น่าสนใจมาก และเหมือนเขาจะมีฌานหยั่งรู้และเข้าใจคน
วันหนึ่งเขาบอกแก่ท่านว่า
”ผมไม่รู้ว่านี่คือข่าวดีหรือข่าวร้าย แต่คุณไม่มีทางพบความสุขในชีวิตทางโลกได้หรอก” และ
”ชะตาชีวิตของเธออยู่ที่ตอนเหนือของอินเดีย”
พูดจบเขาก็ไม่อธิบายอะไรอีก ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญกับชีวิตของท่านมาก
ซึ่งคงจะจริงเพราะที่ผ่านมาท่านไม่สนใจความสำเร็จทางโลกเลย แม้ตอนเรียนจะมีโอกาสทำปริญญาโทและเอก เมื่อเรียนจบแล้วก็สามารถเข้าทำงานในธุรกิจ จิวเวลรี่ของพ่อทูนหัวได้เลย นอกจากนี้ท่านยังเขียนหนังสือและแสดงละครเรียกว่ามีช่องทางให้เลือกในชีวิตมากมาย ประตูหลายบานต่างเปิดรับ แต่สุดท้ายท่านกลับไม่ชอบไม่สนใจ ไม่เอาอะไรกับเส้นทางโลกเลย
ท่านชอบอ่านวรรณคดีเกี่ยวกับจิตวิญญาณอยู่แล้ว เช่นปรัชญาอินเดีย จีน จึงพอเข้าใจว่าปรัชญาทางตะวันออกเป็นวิถีชีวิตที่เรียบง่ายและใกล้ชิดธรรมชาติ เมื่อทั้งสองเหตุมารวมกันท่านจึงตัดสินใจจะเดินทางไปตะวันออก ลองไปแบบไม่มีจุดหมาย ดูซิว่าจะค้นพบอะไรบ้าง
และในที่สุด ท่านก็ได้มาพบเจอกับวิถีชีวิต ในร่มเงาพุทธศาสนา เป็นจุดเปลี่ยนอีกครั้งที่ท่านได้พบว่าธรรมะในพุทธศาสนา ได้เริ่มหยั่งรากลงไปในใจของท่าน ในช่วงเวลาที่ได้ทดลองปฏิบัติธรรมที่วัดป่านานาชาติ จ.อุบลราชธานี ท่านกล่าวถึงช่วงชีวิตในตอนนั้นว่า
ศรัทธาที่ว่านี้ ไม่ได้เกิดจากการอ่านหนังสือหรือศึกษาแนวคิดที่เป็นนามธรรม แต่เป็นศรัทธาที่เกิดจากการสัมผัสระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกันอย่างแท้จริง อาตมาศรัทธาวิถีชีวิตที่เรียบง่ายและงดงามของนักบวชเหล่านั้น
และคิดทันทีว่า
“ไม่ว่าจะต้องแลกกับอะไร เราจะขอใช้ชีวิตเช่นเดียวกับคนเหล่านี้ เพราะวิถีที่ท่านเป็นคือวิถีที่เราอยากเป็นมาโดยตลอด”
๐ ฮิปปี้เจเรมี พักอยู่ที่วัดป่านานาชาติเพียง 3 สัปดาห์ ก่อนตัดสินใจบวชเป็นปะขาว
๐ ปะขาวเจเรมีมีโอกาสทำหน้าที่อุปัฏฐากหลวงพ่อชา ขณะที่ท่านจำพรรษาที่วัดป่านานาชาติ
๐ หลังบวชเป็นอนาคาริกอยู่หกเดือน ปะขาวเจเรมีได้รับอนุญาตให้บวชสามเณร
๐ เก้าเดือนต่อมา สามเณรเจเรมีเขียนจดหมายถึงโยมพ่อโยมแม่เพื่อขออนุญาตบวช ก่อนเข้าอุปสมบทที่วัดหนองป่าพง มีพระโพธิญาณเถระ (หลวงพ่อชา) เป็นอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า "อมโรภิกขุ" (เมื่อพ.ศ.2522)
๐ ปัจจุบัน ท่านได้รับดำรงตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดอมราวดี สาขาวัดหนองป่าพง ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
Cr สาขาวัดหนองป่าพง และ พุทธธรรมกรรมฐาน ม.ราชภัฏอุบลราชธานี