เชื่อกันว่าถิ่นกำเนิดของเจ้าสุนัขพันธุ์นี้ อยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ บริเวณช่องภูเขาเซนต์เบอร์นาร์ดที่ แห่งเทือกเขาแอลป์ (Alps) ซึ่งเต็มไปด้วยหิมะ และอันตราย โดยมีหน้าที่เป็นสุนัขกู้ภัย ของนักบวชชาวคริสต์ศาสนา ชื่อว่า เบอร์นาร์ด
การช่วยเหลือมนุษย์เริ่มต้นใน ค.ศ. 1048 เมื่อนักบุญเบอร์นาร์ดได้ฝึกสุนัขให้รู้วิธีการช่วยเหลือคนที่จมอยู่ในหิมะ โดยมีการผูกถังใส่เหล้าองุ่นเอาไว้ที่คอสุนัขกู้ภัย หรือผูกผ้าห่มไว้บนหลัง
เมื่อยามค่ำคืนมาถึง นักบุญเบอร์นาร์ดจะปล่อยสุนัขเหล่านี้ให้ออกลาดตระเวนไปในป่าหิมะ หากพวกมันพบผู้ประสบภัย ก็จะเข้าช่วยเหลือ ด้วยการให้ผู้ประสบภัยดื่มเหล่าองุ่น และนั่งทับให้เกิดความอบอุ่น หรืออาจใช้ผ้าห่มบนหลังสุนัขห่มกายไว้ จากนั้นก็นำทางไปสู่ที่พักที่นักบุญสร้างเอาไว้ หรือเห่าเรียกในกรณีที่ผู้ประสบภัยไม่มีแรงเพียงพอ
ด้วยเหตุนี้ สุนัขสายพันธุ์นี้จึงได้รับการยกย่อง ให้เป็น “สุนัขของนักบุญ” ด้วยชื่อ เซนต์เบอร์นาร์ด (St. Bernard) และต่อมาก็ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์ และได้รับยกย่องให้เป็นสุนัขประจำชาติของสวิสเซอร์แลนด์ด้วย
นอกจากเรื่องของสุนัขที่ช่วยผู้ประสบภัยหิมะแล้ว ในบันทึกยังมีการกล่าวถึงสุนัขสายพันธุ์นี้อีกตัวหนึ่งที่ชื่อว่า แบมเซ ซึ่งเปรียบเสมือนฮีโร่ของชาวนอร์เวย์อีกด้วย
เรื่องเกิดขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 แบมเซเป็นสุนัขประจำการอยู่บนเรือรบที่ชื่อ ธอรุดด์ ในบันทึกเล่าว่า เจ้าแบมเซเป็นสุนัขที่กล้าหาญ มันจะนั่งอยู่ในป้อมปืนกล สมหมวกกันภัย มันเคยช่วยชีวิตลูกเรือจากการถูกโจมตี กระโดดลงไปช่วยเหลือลูกเรือที่ตกน้ำ และคอยตามหาลูกเรือที่มึนเมาให้กลับบ้านได้
เจ้าแบมเซปรากฏตัวโดดเด่นในงานฉลองวันรัฐธรรมนูญของประเทศนอร์เวย์ และกลายเป็นสุนัขที่มีชื่อเสียงตั้งแต่นั้น
ในวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2487 เจ้าแบมเซสิ้นใจลงบนดาดฟ้าของเรืออย่างไม่ทราบสาเหตุ ก่อให้เกิดความเสียใจมาก ชาวเมืองถึงกับปิดทำการร้านรวงเพื่อไว้อาลัยและมาร่วมพิธีศพให้กับมัน และ 62 ปีต่อมา ในวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 เจ้าแบมเซก็ได้รับเหรียญกล้าหาญทองคำจากองค์กร People's Dispensary for Sick Animals แห่งประเทศอังกฤษ และมีการสร้างรูปปั้นเอาไว้เพื่อรำลึกถึงมันด้วย