สภากาชาดไทยเดิมเรียก “สภาอุณาโลมแดง” ก่อตั้งขึ้นโดย “ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงษ์” หัวหน้าหญิงไทยสกุลสูงในสมัยนั้น มีภารกิจสำคัญคือ การส่งเวชภัณฑ์อาหาร เสื้อผ้าและของใช้ให้แก่ทหารในสนามรบในกรณีพิพาทเรื่องดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงระหว่างสยามกับฝรั่งเศสในปีนั้น โดยมี “สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี” (สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง) ทรงเป็น “สภานายิกา" พระองค์แรกแห่งชาติสยาม
•กรณีพิพาทระหว่างประเทศสยามกับฝรั่งเศสเรื่องดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงเมื่อพ.ศ. 2436 ได้ทวีความรุนแรงขึ้นจนเป็นเหตุให้เกิดการสู้รบ จนมีทหารบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีองค์การกุศลหลักที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือพยาบาลและบรรเทาทุกข์ “ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงษ์” จึงได้ดำเนินการชักชวน และรวบรวมสตรีอาสาสมัครขึ้น ก่อนจะทำบันทึกกราบบังคมทูล “สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี” (สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต จัดตั้ง "สภาอุณาโลมแดงแห่งชาติสยาม" ขึ้น เพื่อทำหน้าที่ช่วยเหลือทหารที่ได้รับบาดเจ็บ
•พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้น และพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ และพระบรมราชานุญาตให้เรี่ยไรได้เงินถึง 443,716 บาท อีกทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี (สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) ทรงเป็น "สภาชนนี" สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี (สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง) ทรงเป็น "สภานายิกา" และ “ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงษ์” เป็นเลขานุการิณีสภาอุณาโลมแดง
• พ.ศ. 2449 ได้มีผู้แทนไปร่วมประชุมกาชาดระหว่างประเทศ ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อลงนามความตกลงเรื่องการใช้เครื่องหมายกาชาดช่วยเหลือผู้บาดเจ็บในสนามรบ สภาอุณาโลมแดงแห่งชาติสยาม จึงได้เปลี่ยนมาใช้ชื่อว่า “สภากาชาดสยาม” โดยใช้เครื่องหมายกาชาดเป็นสัญลักษณ์นับแต่นั้นมา