คำราชาศัพท์
สมาชิกเลขที่13081 | 12 พ.ค. 53
7.3K views

คำราชาศัพท์

หมายถึง    ถ้อยคำที่ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์   พระบรมวงศานุวงศ์    พระภิกษุสงฆ์ ข้าราชการ   และบุคคลทั่วไป     เพื่อแสดงถึงความเคารพนับถือกัน   หรือเพื่อให้เกิดความสุภาพ ดังนั้นคำราชาศัพท์จึงต้องใช้ให้ถูกต้องกับฐานะของบุคคลในระดับชั้นต่างๆ  นอกจากนี้คำราชาศัพท์ยังถือเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญของไทย   ทุกคนต้องเรียนรู้เพื่อนำไปใช้ให้ถูกต้องและรักษาไว้   ให้คงอยู่กับคนไทยตลอดไป

คำราชาศัพท์ที่ใช้สำหรับพระมหากษัติรย์และพระบรมวงศานุวงศ์

            พระบรมราช   ให้นำหน้าคำเพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญยิ่ง  ในกรณีที่ต้องการเทิดพระเกียรติหรือพระราชอำนาจ    เช่น  

พระบรมราชจักรีวงศ์

พระบรมราชโองการ

พระบรมราชชนนี

พระบรมราช  ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์

 

            พระบรม  ใช้นำหน้าเพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญ  ในกรณีที่ต้องการเชิดชูพระอิสริยยศ       เช่น 

พระบรมเดชานุภาพ

พระบรมวงศานุวงศ์

พระบรมฉายาลักษณ์

พระบรม  ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์

 

            พระราช   ใช้นำหน้าคำเพื่อแสดงให้เห็นว่ามีความสำคัญรองลงมาจากคำว่า  พระบรม  และเป็นสิ่งเฉพาะพระองค์เท่านั้น    เช่น  

พระราชนิพนธ์

พระราชดำรัส

พระราชกรณียกิจ

พระราช   ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์และสมเด็จพระบรมราชินี

 

            พระ  ใช้นำหน้าคำสามัญเพื่อให้แตกต่างไปจากคำที่ใช้กับสามัญชน  เช่น

พระพร

พระคู่หมั้น

พระอาจารย์

พระ  ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์

 

            ราช   ใช้นำหน้าคำเพื่อแสดงว่าเป็นพระมหากษัตริย์   หรือเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์             เช่น

ราชการ

ราชวงศ์

ราชสมบัติ

 

ทรง   มีวิธีการต่อไปนี้

            ๑.)ใช้นำหน้าคำนามให้เป็นคำกริยาคำราชาศัพท์  เช่น

ทรงม้า

ทรงกีฬา

ทรงดนตรี

            ๒.)ใช้นำหน้าคำกริยาให้เป็นคำกริยาคำราชาศัพท์  เช่น

ทรงวิ่ง

ทรงถือ

ทรงขอบใจ

            ๓.)ใช้นำหน้าคำราชาศัพท์ที่มีพระอยู่หน้าคำให้เป็นคำกริยาคำราชาศัพท์  เช่น

ทรงพระอักษร

ทรงพระประชวร

ทรงพระสรวล

                                                                        เติมความรู้

            ไม่ใช้  ทรง  นำหน้าคำที่เป็นคำราชาศัพท์  เช่น  เสด็จ  เสวย  บรรทม  กริ้ว  ตรัส

            ไม่ใช้ ทรง นำหน้าคำราชาศัพท์ที่มีคำว่ามีอยู่นำหน้าคำ เช่น มีพระบรมราชโองการ มีพระราชดำรัส

            ใช้ ทรง นำหน้าคำสามัญที่มีคำว่า มี นำหน้าได้ เช่น ทรงมีเหตุผล ทรงมีไข้ ทรงมีทุกข์

Share this