โลกของเรา
สมาชิกเลขที่79400 | 06 มี.ค. 55
1.7K views

“โลกจะแตกจริงๆเปล่าเนี่ย” ประโยคนี้เหมือนจะเป็นประโยคฮิทติดปากทุกคนไปซะแล้วค่ะ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน หัวข้อภัยพิบัติล้างโลกในปี ค.ศ.2012 ก็ดูเหมือนจะเข้ามาอยู่ในวงสนทนาทุกครั้งไป พอได้โอกาสคุยกันเรื่องนี้ แต่ละคนก็จะยกเอาทฤษฎีต่างๆ นานาที่เคยได้ยินมาถกกันอย่างจริงจัง บ้างก็ดูมีเหตุผล บ้างก็ดูเหลือเชื่อ แต่หนึ่งในทฤษฎีที่ได้ยินกันบ่อยที่สุดและดูน่าจะเป็นไปได้ที่สุดก็คือทฤษฎีที่ว่า ปี ค.ศ.2012 จะเกิดพายุสุริยะโจมตีโลก จนทำให้สนามแม่เหล็กโลกสลับขั้ว และเกิดความโกลาหลครั้งใหญ่ขนาดถึงกาลอวสานได้เลยทีเดียว

           แต่ก่อนที่เราจะตื่นกลัวกันเพราะทฤษฎีที่ว่านี้ เพื่อนๆเคยหยุดคิดกันหรือเปล่าคะ ว่าเรารู้อะไรเกี่ยวกับพายุสุริยะบ้าง แล้วมันจะเป็นอันตรายขนาดที่เขาว่ากันจริงๆ หรือ

           ถึงไม่บอก เพื่อนๆก็คงทราบอยู่แล้วว่าพายุสุริยะนั้นมีต้นกำเนิดมาจากดวงอาทิตย์ของเรานี่เอง แต่จริงๆแล้วมันคืออะไรล่ะ ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าดวงอาทิตย์เป็นดาวฤกษ์ที่ผันผวนและแปรปรวนอย่างรุนแรงค่ะ พื้นผิวของดวงอาทิตย์มีการระเบิดอยู่ตลอดเวลา และบรรยากาศชั้นนอกสุดของดวงอาทิตย์ที่เรียกว่าชั้นโคโรนา จะปลดปล่อยอนุภาคพลังงานสูง ในรูปแบบของประจุไฟฟ้าออกมายังห้วงอวกาศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเราเรียกสิ่งนี้ว่าลมสุริยะ อย่างไรก็ตาม ดวงอาทิตย์ของเราจะปลดปล่อยลมสุริยะออกมามากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับว่า ขณะนั้นอยู่ในช่วงไหนของวัฏจักรดวงอาทิตย์ค่ะ

          วัฏจักรของดวงอาทิตย์นี้นี้มีระยะเวลาเฉลี่ย 11 ปี โดยแบ่งออกเป็นช่วงขาขึ้น หรือช่วง Solar Maximum 4.8 ปี และช่วงขาลง หรือช่วง Solar Minimum 6.2 ปีค่ะ ในช่วง Solar Minimum นั้น ดวงอาทิตย์จะค่อนข้างสงบมีจุดมืดบนดวงอาทิตย์น้อยและเกิดการปะทุน้อย แต่ในช่วง Solar Maximum จะตรงกันข้าม คือมีจุดมืดบนดวงอาทิตย์มาก ส่งผลให้เกิดการปะทุบนพื้นผิวมาก และดวงอาทิตย์จะปลดปล่อยลมสุริยะออกมามากตามไปด้วย ในบางครั้งลมสุริยะจะรุนแรงมากกว่าปรกติ จนเกิดเป็นสิ่งที่เราเรียกกันว่า พายุสุริยะ นั่นเอง

           โดยปรกติแล้ว พายุสุริยะจะไม่ได้มีอันตรายใดๆ ต่อโลกหรือสิ่งมีชีวิตบนโลก เนื่องจากเรามีชั้นบรรยากาศและสนามแม่เหล็กคอยเป็นเกราะป้องกันอยู่ พายุสุริยะจึงเข้ามาทำร้ายเราไม่ได้ แต่ก็ใช่ว่าพายุสุริยะจะไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อโลกเลยนะคะ เพราะพายุสุริยะก็คือกลุ่มอนุภาคประจุไฟฟ้า พอพายุสุริยะลอยมาถึงโลกก็จะทำปฏิกิริยากับสนามแม่เหล็กโลกและทำให้เกิดการผันผวนของพลังงาน นี่อาจทำให้ให้เกิดการเหนี่ยวนำไฟฟ้าขึ้นบนวัตถุที่เป็นตัวนำไฟฟ้าและมีความยาวมากๆ บนผิวโลก เช่น ท่อส่งน้ำมัน หรือสายไฟฟ้าแรงสูง ทำให้การส่งกระแสไฟฟ้าได้รับความเสียหาย และเกิดไฟตกหรืออาจถึงขึ้นไฟดับในวงกว้างได้ ยกตัวอย่างเช่น เหตุการณ์ไฟดับครั้งใหญ่ในจังหวัดควิเบคของแคนาดาเมื่อปี ค.ศ.1989 ที่กระแสไฟฟ้าถูกตัดไปกว่าเก้าชั่วโมงนั้นก็เป็นผลมาจากพายุสุริยะเช่นกัน นอกจากระบบส่งจ่ายกระแสไฟฟ้าแล้ว ระบบการสื่อสารและระบบดาวเทียมก็อาจปั่นป่วนได้เพราะพายุสุริยะเช่นกันค่ะ เพราะบรรยากาศชั้นไอโอโนสเฟียร์อาจเกิดการปั่นป่วนเมื่อถูกโจมตีจากการระเบิดบนดวงอาทิตย์ ทำให้การสื่อสารต่างๆที่พึ่งพาการสะท้อนสัญญาณกับชั้นบรรยากาศนี้อาจใช้ไม่ได้ไปชั่วขณะหนึ่ง

           ดังนั้น จะเห็นได้ว่าพายุสุริยะที่กลัวๆกัน ตราบใดที่เรายังมีชั้นบรรยากาศและสนามแม่เหล็กคอยปกป้องเราอยู่ ก็จะไม่สามารถเข้ามาทำร้ายเราโดยตรงได้ แน่นอนว่ามันอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันเราบ้างไม่มากก็น้อย เพราะทุกวันนี้มนุษย์เราพึ่งพาเทคโนโลยีด้านต่างๆมากมาย แต่ยังไงซะ ครั้งนี้ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่พายุสุริยะโจมตีโลก เราโดนมาตลอดตามวัฏจักรขึ้นลงของดวงอาทิตย์ ถ้าเรารอดมาได้ก่อนหน้านี้ ปี 2012 ก็ไม่น่ามีปัญหา

ดาวเคราะห์เป็นวัตถุที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ ระบบสุริยะมีดาวเคราะห์ทั้งหมด 8 ดวง ดวงที่สว่างเห็นได้ง่ายด้วยตาเปล่าจากโลกมี 5 ดวง ได้แก่ ดาวพุธ ดาวศุกร์ ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี และดาวเสาร์ ที่เหลืออีก 2 ดวง คือ ดาวยูเรนัสและเนปจูน ต้องอาศัยกล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์ ซึ่งนอกจากดาวเคราะห์แล้ว ยังสามารถส่องเห็นดาวบริวารบางดวง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริวารของดาวพฤหัสบดีกับดาวเสาร์

               แผนภาพแสดงตำแหน่งดาวเคราะห์ตามมุมห่างจากดวงอาทิตย์ตลอดปี 2554 ช่วยให้เห็นภาพรวมคร่าวๆ ของการปรากฏของดาวเคราะห์ในแต่ละวัน เส้นตรงกลางในแนวดิ่งคือตำแหน่งดวงอาทิตย์ แถบที่แผ่ออกไปสองข้างจากแนวกลางเป็นส่วนที่มีแสงอาทิตย์รบกวน แกนนอนบอกมุมห่างจากดวงอาทิตย์ แกนตั้งบอกวันในแต่ละเดือน แถบที่พาดในแนวเฉียงบอกขอบเขตของกลุ่มดาวจักรราศี เมื่อดาวเคราะห์อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ไปทางตะวันตก (ขวามือ) แสดงว่ามองเห็นได้ดีในเวลาเช้ามืด เมื่อดาวเคราะห์อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ไปทางตะวันออก (ซ้ายมือ) แสดงว่ามองเห็นได้ดีในเวลาหัวค่ำ ดาวเคราะห์วงนอกจะอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์เมื่อทำมุม 180°แสดงว่าเป็นช่วงเวลาที่ดาวเคราะห์ดวงนั้นสว่างและใกล้โลกที่สุดในรอบปี

ดาวพุธ

               ดาวพุธเป็นดาวเคราะห์ขนาดเล็กที่สุด อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด เคลื่อนที่เร็วที่สุด วงโคจรของดาวพุธมีความรีค่อนข้างสูง ทำให้มุมห่างสูงสุดจากดวงอาทิตย์เปลี่ยนแปลงอยู่ระหว่าง 18°-28° ระนาบวงโคจรของดาวพุธเอียงทำมุมประมาณ 7° กับระนาบวงโคจรโลก หากดาวพุธโคจรมาอยู่ระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ในจังหวะที่มันอยู่ใกล้กับจุด ตัดของระนาบวงโคจรทั้งสอง คนบนโลกจะมีโอกาสเห็นดาวพุธเป็นจุดดำขนาดเล็กเคลื่อนผ่านหน้าดวงอาทิตย์ ซึ่งครั้งถัดไปจะเกิดในวันที่ 9 พฤษภาคม 2559 ประเทศไทยเห็นได้ขณะเริ่มปรากฏการณ์ระหว่างที่ดวงอาทิตย์กำลังตก

               ด้วยมุมห่างที่ไม่สูงนัก ทำให้เรามีโอกาสสังเกตดาวพุธได้เฉพาะในเวลาพลบค่ำหรือรุ่งสาง เวลาที่สังเกตดาวพุธได้คือช่วงที่ดาวพุธทำมุมห่างจากดวงอาทิตย์มากพอสมควร ปีนี้มีช่วงที่สังเกตดาวพุธได้ดีในเวลาเช้ามืดอยู่ 3 ช่วง ช่วงแรกเริ่มตั้งแต่ต้นเดือนถึงปลายเดือนมกราคม ช่วงที่ 2 คือปลายเดือนเมษายนถึงปลายเดือนพฤษภาคม เป็นช่วงที่ดาวพุธทำมุมห่างดวงอาทิตย์มาก นอกจากนี้ยังมีดาวเคราะห์อีก 3 ดวง ได้แก่ ดาวศุกร์ ดาวอังคาร และดาวพฤหัสบดี มาอยู่ใกล้ดาวพุธบนท้องฟ้า ช่วงสุดท้ายเริ่มในกลางเดือนธันวาคม 2554 ถึงต้นเดือนมกราคม 2555 ดวงจันทร์เสี้ยวมาอยู่ใกล้ดาวพุธในเช้ามืดวันที่ 23 ธันวาคม

               ช่วงเวลาที่สังเกตดาวพุธได้ดีในเวลาหัวค่ำมี 2 ช่วง ช่วงแรกคือต้นเดือนถึงปลายเดือนกรกฎาคม ดาวพุธทำมุมห่างดวงอาทิตย์มาก แต่อาจมีอุปสรรคจากสภาพท้องฟ้า อีกช่วงหนึ่งคือปลายเดือนตุลาคมถึงปลายเดือนพฤศจิกายน ครึ่งแรกของเดือนพฤศจิกายนเป็นช่วงที่ดาวศุกร์มาปรากฏใกล้ดาวพุธ

               เมื่อสังเกตด้วยกล้องโทรทรรศน์จะเห็นดาวพุธมีการเปลี่ยนแปลงคล้ายดิถีของดวงจันทร์ หากปรากฏในเวลาหัวค่ำ ดาวพุธจะเปลี่ยนแปลงจากสว่างเกือบเต็มดวงไปสว่างเป็นเสี้ยว และมีขนาดใหญ่ขึ้น ส่วนเวลาเช้ามืดจะเปลี่ยนแปลงจากเป็นเสี้ยวไปสว่างเกือบเต็มดวง และมีขนาดเล็กลง

ดาวศุกร์

               ดาวศุกร์เป็นดาวเคราะห์ที่สว่างที่สุดบนท้องฟ้า เป็นเพราะมันอยู่ใกล้โลกและดวงอาทิตย์ บรรยากาศของดาวศุกร์ก็สะท้อนแสงได้ดี เมื่อดาวศุกร์ปรากฏในเวลาหัวค่ำ เราเรียกว่า "ดาวประจำเมือง" แต่ถ้าปรากฏในเวลาเช้ามืด เรียกว่า "ดาวประกายพรึก" หรือ "ดาวรุ่ง" วงโคจรของดาวศุกร์ใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่าโลก ทำให้ดาวศุกร์ทำมุมห่างจากดวงอาทิตย์ไม่เกิน 47° เมื่อสังเกตด้วยกล้องโทรทรรศน์จะเห็นดาวศุกร์เปลี่ยนแปลงรูปร่างเช่นเดียว กับดาวพุธ แต่เห็นได้ชัดกว่าเนื่องจากขนาดที่ใหญ่กว่ามาก

               ระนาบวงโคจรของดาวศุกร์เอียงทำมุม 3.4° กับระนาบวงโคจรโลก ดาวศุกร์มีโอกาสเคลื่อนผ่านหน้าดวงอาทิตย์ได้เช่นเดียวกับดาวพุธ โดยมีขนาดใหญ่กว่าดาวพุธมาก สามารถเห็นดาวศุกร์เป็นดวงกลมดำเมื่อดูดวงอาทิตย์ผ่านแผ่นกรองแสง ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ครั้งที่ผ่านมาเกิดเมื่อ 8 มิถุนายน 2547 ครั้งถัดไปจะเกิดในวันที่ 6 มิถุนายน 2555 ประเทศไทยเห็นได้ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นจนถึงเกือบเที่ยงวัน หลังจากนั้นจะเว้นระยะไปอีก 105 ปี

               ดาวศุกร์อยู่บนท้องฟ้าเวลาเช้ามืดมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2553 โดยเคลื่อนตัวออกห่างจากดวงอาทิตย์มากขึ้นทุกวัน วันที่ 8 มกราคม 2554 ดาวศุกร์ทำมุมห่างจากดวงอาทิตย์ที่สุด วันนั้นดาวศุกร์สว่างเป็นรูปครึ่งดวงเมื่อดูด้วยกล้องโทรทรรศน์กำลังขยายสูง หลังจากนั้นดาวศุกร์จะมีพื้นผิวด้านสว่างเพิ่มขึ้น พร้อมกับห่างโลกมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มีขนาดเล็กลง

               เดือนพฤษภาคมเป็นช่วงที่ดาวศุกร์อยู่ใกล้ดาวเคราะห์หลายดวง ต้นเดือนกรกฎาคมน่าจะเป็นช่วงสุดท้ายที่มีโอกาสเห็นดาวศุกร์ในเวลาเช้ามืด หลังจากนั้นดาวศุกร์จะใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้นจนสังเกตได้ยาก วันที่ 16 สิงหาคม ดาวศุกร์อยู่ในทิศทางเดียวกับดวงอาทิตย์ โดยดวงอาทิตย์อยู่ตรงกลางระหว่างโลกกับดาวศุกร์ เมื่อเข้าสู่เดือนตุลาคมอาจเริ่มเห็นดาวศุกร์อยู่ใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันตกใน เวลาพลบค่ำ ดาวศุกร์จะกลายเป็นดาวประจำเมืองในเวลาหัวค่ำต่อเนื่องไปถึงเดือนพฤษภาคม 2555

ดาวอังคาร

               ดาวอังคารมีวงโคจรอยู่ถัดไปจากโลกตามระยะห่างจากดวงอาทิตย์ มันได้ชื่อว่าดาวแดงเนื่องจากปรากฏบนท้องฟ้าเป็นดาวสว่างสีแดง ชมพู หรือส้ม ต่างจากดาวเคราะห์ดวงอื่นและดาวฤกษ์ส่วนใหญ่บนท้องฟ้า บรรยากาศอันเบาบางทำให้เราสามารถส่องกล้องมองเห็นพื้นผิวดาวอังคารได้ ยกเว้นช่วงที่เกิดพายุฝุ่นปกคลุม และบางช่วงอาจเห็นน้ำแข็งที่ขั้วดาว

               ช่วงที่สังเกตดาวอังคารได้ดีที่สุดคือขณะที่ดาวอังคารอยู่ใกล้โลกที่สุด ตรงกับช่วงที่มันอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ ซึ่งเกิดขึ้นเฉลี่ยทุก 2 ปี 2 เดือน วงโคจรของดาวอังคารที่เป็นวงรี ทำให้ดาวอังคารอยู่ห่างโลกไม่เท่ากันในการเข้าใกล้แต่ละครั้ง อาจใกล้เพียง 56 ล้านกิโลเมตร อย่างที่เกิดในปี 2546 หรือไกลถึง 101 ล้านกิโลเมตร อย่างที่จะเกิดในปี 2555 นั่นทำให้ขนาดปรากฏของดาวอังคารขณะอยู่ตรงข้ามดวงอาทิตย์กว้างใหญ่ได้ถึง 25.1 พิลิปดา หรือเล็กเพียง 13.8 พิลิปดา

               ดาวอังคารเป็นดาวเคราะห์ที่มีช่วงของความสว่างกว้างมาก ขณะใกล้โลกที่สุดเมื่อปี 2546 ดาวอังคารสว่างถึงโชติมาตร -2.9 เมื่ออยู่ไกลโลกที่สุดในปี 2562 มันสามารถจางลงได้ถึงโชติมาตร 1.8 แกนหมุนของดาวอังคารเอียงจากระนาบวงโคจรประมาณ 25° จึงเกิดฤดูต่างๆ ซึ่งเป็นผลให้มีการเปลี่ยนแปลงของขั้วน้ำแข็งและเมฆในบรรยากาศ ส่วนใหญ่ดาวอังคารที่ปรากฏในกล้องโทรทรรศน์จะมีขนาดเล็ก ไม่สามารถสังเกตเห็นร่องรอยบนพื้นผิวได้ ไม่กี่เดือนเท่านั้นที่ดาวอังคารจะใกล้โลกจนใหญ่พอสำหรับการสังเกตราย ละเอียดบนพื้นผิว ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงที่ดาวอังคารอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์

               ปีที่แล้วดาวอังคารอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2553 ครั้งถัดไปที่ดาวอังคารจะอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์คือต้นเดือนมีนาคม 2555 ดังนั้นเกือบตลอดปีนี้ดาวอังคารจึงไม่สว่างนัก และมีขนาดเล็ก ต้นปีดาวอังคารสว่างที่โชติมาตร 1.2 ปลายปีสว่างเพิ่มขึ้นไปที่โชติมาตร 0.2 เทียบกันแล้วคิดเป็นความสว่างที่เพิ่มขึ้นประมาณ 2.5 เท่า

               ตลอด 3 เดือนแรกของปี เราไม่สามารถสังเกตดาวอังคารได้เนื่องจากดาวอังคารอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ วันที่ 4 กุมภาพันธ์ ดาวอังคารอยู่ร่วมทิศกับดวงอาทิตย์ ปลายเดือนเมษายนจะเริ่มเห็นดาวอังคารบนท้องฟ้าทิศตะวันออกในเวลาเช้ามืด ขณะนั้นดาวอังคารอยู่ในกลุ่มดาวปลา เช้ามืดวันที่ 1 พฤษภาคม ดาวอังคารอยู่ใกล้ดาวพฤหัสบดีด้วยระยะห่างเพียง 0.4° ต้องใช้ความพยายามในการสังเกตเนื่องจากขณะนั้นทั้งคู่ทำมุมห่างดวงอาทิตย์ เพียง 18° และเส้นสุริยวิถีก็เอียงจากแนวดิ่ง ทำให้ดาวอังคารและดาวพฤหัสบดีปรากฎใกล้ขอบฟ้า

               วันที่ 10-11 พฤษภาคม ดาวอังคารเข้าสู่กลุ่มดาวแกะ ปลายเดือนดาวพุธกับดาวศุกร์จะเคลื่อนมาอยู่ใกล้ดาวอังคาร กลางเดือนมิถุนายน ดาวอังคารเข้าสู่กลุ่มดาววัว ผ่านทางขวามือของกระจุกดาวลูกไก่ในช่วงวันที่ 20-21 มิถุนายน ด้วยระยะห่าง 4° ต้นเดือนสิงหาคม ดาวอังคารเข้าสู่กลุ่มดาวคนคู่ วันที่ 7 สิงหาคม ผ่านใกล้กระจุกดาวเอ็ม 35 กลางเดือนกันยายนเข้าสู่กลุ่มดาวปู เช้ามืดวันที่ 1 และ 2 ตุลาคม จะเห็นดาวอังคารเข้าไปอยู่ในกระจุกดาวรังผึ้ง ปลายเดือนตุลาคม ดาวอังคารย้ายเข้าสู่กลุ่มดาวสิงโต เช้ามืดวันที่ 11 พฤศจิกายน มองเห็นดาวอังคารอยู่ทางซ้ายมือของดาวหัวใจสิงห์ ดาวอังคารยังคงอยู่ในกลุ่มดาวสิงโตและสังเกตได้ดีที่สุดในเวลาเช้ามืดตลอดช่วงที่เหลือของปี

ดาวพฤหัสบดี

               ดาวพฤหัสบดีเป็นดาวเคราะห์ที่สว่างเป็นอันดับ 2 รองจากดาวศุกร์ มีขนาดใหญ่และมวลสูงที่สุด การหมุนรอบตัวเองอย่างรวดเร็วทำให้ดาวพฤหัสบดีมีรูปร่างเป็นทรงกลมแป้น เส้นผ่านศูนย์กลางในแนวศูนย์สูตรยาวกว่าในแนวขั้ว สามารถใช้กล้องสองตาและกล้องโทรทรรศน์สังเกตดาวบริวารของดาวพฤหัสบดีได้อย่างน้อย 4 ดวง

               ดาวพฤหัสบดีโคจรรอบดวงอาทิตย์ด้วยคาบประมาณ 11.86 ปี โดยเฉลี่ยมันจึงขยับเข้าสู่กลุ่มดาวจักรราศีกลุ่มที่อยู่ถัดไปทางทิศตะวันออกทุกปี บรรยากาศของดาวพฤหัสบดีมีลักษณะเป็นแถบสว่างกับคล้ำสลับกัน ตั้งแต่เดือนเมษายน 2553 แถบคล้ำที่อยู่ทางใต้ของเส้นศูนย์สูตรของดาวที่เรียกว่าแถบศูนย์สูตรตอนใต้ (South Equatorial Belt หรือ SEB) จางลงมากจนดูเหมือนเลือนหายไป ในอดีตเคยเกิดมาแล้วหลายครั้ง สาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด มักเป็นเช่นนี้อยู่นานหลายเดือน แต่ไม่เกิน 2 ปี หลังจากนั้นอาจเริ่มมีจุดมืดเกิดขึ้นก่อน แล้วแผ่ออกจนแถบคล้ำกลับมาปรากฏอีกครั้ง

               จุดแดงใหญ่ (Great Red Spot) ที่เป็นเอกลักษณ์ของดาวพฤหัสบดีคือพายุขนาดยักษ์ พัดวนทวนเข็มนาฬิกา มีทรงรี กว้าง-ยาวประมาณ 12,000 x 20,000 กิโลเมตร (เทียบกับโลกที่มีขนาด 12,756 กิโลเมตร) ตำแหน่งของจุดแดงใหญ่อยู่บริเวณละติจูด 22° ใต้ นอกจากจุดแดงใหญ่ ยังอาจเห็นพายุในรูปของจุดขาวและจุดมืดในบรรยากาศ

               เดือนมกราคมถึงกลางเดือนมีนาคม เป็นช่วงที่มองเห็นดาวพฤหัสบดีได้บนท้องฟ้าทิศตะวันตกในเวลาหัวค่ำ คืนวันที่ 4 มกราคม ดาวพฤหัสบดีใกล้ดาวยูเรนัสด้วยระยะห่างครึ่งองศา ช่วงแรกดาวพฤหัสบดีอยู่ในกลุ่มดาวปลา ผ่านเข้าไปในเขตของกลุ่มดาวซีตัสตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนมีนาคม กลางเดือนมีนาคมอาจเห็นดาวพฤหัสบดีกับดาวพุธอยู่เคียงกันใกล้ขอบฟ้า หลังจากนั้นดาวพฤหัสบดีจะหายเข้าไปในแสงจ้าของดวงอาทิตย์ อยู่ร่วมทิศกันในวันที่ 6 เมษายน

               ปลายเดือนเมษายนหรือต้นเดือนพฤษภาคม ดาวพฤหัสบดีเริ่มปรากฏบนท้องฟ้าเวลาเช้ามืดขณะอยู่ใกล้ดาวอังคาร กลางเดือนผ่านใกล้ดาวพุธกับดาวศุกร์ ต้นเดือนมิถุนายนออกจากกลุ่มดาวปลาเข้าสู่กลุ่มดาวแกะ ทำมุมฉากกับดวงอาทิตย์ในต้นเดือนสิงหาคม ซึ่งจะเห็นดาวพฤหัสบดีขึ้นเหนือขอบฟ้าเวลาเที่ยงคืน แล้วไปอยู่เหนือศีรษะในเวลาเช้ามืด

               วันที่ 29 ตุลาคม ดาวพฤหัสบดีอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ สว่างด้วยโชติมาตร -2.9 โดยใกล้โลกที่สุดในเวลาประมาณตี 2 ของเช้ามืดวันที่ 28 ตุลาคม ด้วยระยะห่าง 3.9698 หน่วยดาราศาสตร์ ดาวพฤหัสบดีผ่านจุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด (perihelion) ในเดือนมีนาคม 2554 ทำให้ปีนี้มันยังอยู่ใกล้โลก แต่ไกลกว่าปีที่แล้วเล็กน้อย หลังจากอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์แล้ว เราจะเริ่มเห็นดาวพฤหัสบดีได้ตั้งแต่เวลาหัวค่ำ ต้นเดือนธันวาคม 2554 ถึงต้นเดือนมกราคม 2555 เป็นช่วงที่ดาวพฤหัสบดีถอยเข้าไปอยู่ในเขตของกลุ่มดาวปลา ก่อนจะย้ายกลับเข้าสู่กลุ่มดาวแกะอีกครั้ง

               ดาวพฤหัสบดีมีดาวบริวารมากกว่า 60 ดวง ดวงที่มีขนาดใหญ่ 4 ดวง สามารถเห็นได้ด้วยกล้องสองตา ได้แก่ ไอโอ ยูโรปา แกนิมีด และคัลลิสโต แกนิมีดสว่างที่สุดด้วยโชติมาตรประมาณ 4.4 คัลลัสโตจางที่สุดโดยจางกว่าแกนิมีดราว 1 โชติมาตร

               ดาวเสาร์เป็นดาวเคราะห์แก๊สที่หมุนรอบตัวเองอย่างรวดเร็ว จึงมีรูปร่างเป็นทรงกลมแป้น มีวงแหวนสว่างล้อมรอบในระนาบศูนย์สูตรของดาวเสาร์ ดาวเสาร์หันขอบวงแหวนเข้าหาโลกเมื่อปลายปี 2552 ปีนี้วงแหวนดาวเสาร์จึงมีแนวโน้มขยายกว้างขึ้นในแนวเหนือ-ใต้

               ดาวเสาร์ยังคงอยู่ในกลุ่มดาวหญิงสาวตลอดทั้งปี ต้นปีสังเกตได้บนท้องฟ้าเวลาเช้ามืด ดาวเสาร์อยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ในวันที่ 4 เมษายน ขณะนั้นมันสว่างและใกล้โลกที่สุดในรอบปี หลังจากนั้นจะเริ่มเห็นดาวเสาร์บนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำ มันอยู่บนท้องฟ้าเวลานี้ต่อไปอีกหลายเดือน ปลายเดือนกันยายน ดาวเสาร์เคลื่อนเข้าใกล้ดวงอาทิตย์จนไม่สามารถสังเกตเห็นได้ อยู่ร่วมทิศกับดวงอาทิตย์ในวันที่ 14 ตุลาคม เมื่อถึงต้นเดือนพฤศจิกายน น่าจะเริ่มเห็นดาวเสาร์บนท้องฟ้าทิศตะวันออกในเวลาเช้ามืด ขณะนั้นดาวเสาร์อยู่ห่างทางซ้ายมือของดาวรวงข้าว ทำมุมห่างดวงอาทิตย์มากขึ้นตลอดช่วงที่เหลือของปี

               ไททันเป็นดาวบริวารมีขนาดใหญ่และสว่างที่สุดของดาวเสาร์ โชติมาตรของไททันขณะที่ดาวเสาร์อยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์คือ 8 ตามมาด้วยเรีย ทีทิส ไดโอนี เอนเซลาดัส และไอยาพิตัส บริวาร 5 ดวงนี้มีโชติมาตรอยู่ในช่วง 9 ถึง 12 โชติมาตรของไอยาพิตัสแปรผันระหว่าง 10 ถึง 12 เนื่องจากพื้นผิว 2 ด้านสะท้อนแสงได้ไม่เท่ากัน มันจะสว่างกว่าเมื่ออยู่ทางตะวันตกของดาวเสาร์

ดาวยูเรนัส

               ดาวยูเรนัสอยู่ในกลุ่มดาวปลา ต้นปีนี้ยังอยู่ในช่วงที่สามารถสังเกตดาวยูเรนัสด้วยกล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์ได้ง่าย เนื่องจากดาวพฤหัสบดีอยู่ใกล้ดาวยูเรนัส สามารถสังเกตดาวยูเรนัสได้ในช่วงเดือนมกราคมถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ หลังจากนั้นดาวยูเรนัสจะอยู่ต่ำและเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้น กลับมาสังเกตได้อีกครั้งในราวต้นเดือนพฤษภาคม 2554 ต่อเนื่องไปถึงราวกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ปีนี้ดาวยูเรนัสอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ในวันที่ 26 กันยายน 2554

 

               ปีที่แล้วถึงปีนี้ ดาวพฤหัสบดีผ่านใกล้ดาวยูเรนัส 3 ครั้ง ครั้งแรกในต้นเดือนมิถุนายน 2553 ครั้งที่ 2 ในเดือนกันยายน 2553 ครั้งสุดท้ายจะใกล้กันที่สุดในคืนวันที่ 4 มกราคม 2554 ด้วยระยะห่าง 31 ลิปดา หลังจากปีนี้ เราจะมีโอกาสเห็นดาวพฤหัสบดีอยู่ใกล้ดาวยูเรนัสได้ชัดๆ อีกครั้งใน พ.ศ. 2580 - 2581 โดยประเทศไทยจะมีโอกาสสังเกตเห็นดวงจันทร์บังดาวยูเรนัสกับดาวพฤหัสบดีในคืน วันที่ 12 เมษายน 2581 ห่างกันไม่ถึง 2 ชั่วโมง

ดาวเนปจูน

               ดาวเนปจูนเป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ไกลดวงอาทิตย์ที่สุด อูแบง เลอเวรีเย นักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศส และ จอห์น เคาช์ แอดัมส์ นักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษ พยากรณ์ตำแหน่งของดาวเนปจูนภายใต้สมมุติฐานที่ว่ามีดาวเคราะห์ขนาดใหญ่ อีกดวงหนึ่งมารบกวนการโคจรของดาวยูเรนัสให้ผิดไปจากวงโคจรที่ควรจะเป็น ผลการพยากรณ์ของเลอเวรีเยทำให้ โยฮันน์ กัลเลอ นักดาราศาสตร์ชาวเยอรมันกับผู้ช่วยของเขา ส่องกล้องพบดาวเนปจูนเมื่อวันที่ 23 กันยายน ค.ศ. 1846 โดยมีตำแหน่งอยู่ใกล้จุดที่พยากรณ์ไว้

               สำหรับผู้สังเกตบนโลกกลางปีที่แล้ว ดาวเนปจูนได้เคลื่อนไปอยู่บริเวณใกล้เคียงกับที่จุดที่มันถูกค้นพบ แต่ถ้าใช้ดวงอาทิตย์เป็นกรอบอ้างอิง ปี 2554 นี้ ดาวเนปจูนจะโคจรรอบดวงอาทิตย์ครบรอบเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ค้นพบ

               ต้นปี 2554 ดาวเนปจูนอยู่ในกลุ่มดาวแพะทะเล มันเคลื่อนเข้าสู่กลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำในปลายเดือนมกราคม แล้วอยู่ในกลุ่มดาวนี้ต่อไปอีกนานหลายปี หลังจากนี้อีก 10 กว่าปี ดาวเนปจูนจึงขยับไปอยู่บริเวณรอยต่อระหว่างกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำกับกลุ่มดาว ปลา กล้องสองตาและกล้องโทรทรรศน์ช่วยให้สังเกตดาวเนปจูนได้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2554 ถึงต้นเดือนมกราคม 2555 ช่วงแรกอยู่บนท้องฟ้าเวลาเช้ามืด หลังจากดาวเนปจูนอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ในวันที่ 23 สิงหาคม มันจะย้ายไปปรากฏบนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำ สว่างที่สุดด้วยโชติมาตร 7.8  แผนที่ตำแหน่งดาวยูเรนัสและดาวเนปจูนทุกวันที่ 1 ของเดือน (1 = มกราคม, 2 = กุมภาพันธ์, ..., 13 = มกราคม 2555) ทางซ้ายมือตรงส่วนล่างของแผนที่แผ่นบนมีวงกลมเส้นประขนาด 5°ซึ่งเป็นขนาดโดยประมาณของขอบเขตภาพในกล้องสองตาขนาด 8x50 หรือ 10x50 ขนาดของดาวในภาพกำหนดตามความสว่าง ดาวดวงเล็กที่สุดที่ปรากฏในแผนที่ 2 แผ่นด้านล่าง มีโชติมาตร 9

Share this