ภาษาไทยในชีวิตประจำวัน ตอน ง่าย ๆ แต่ก็ยังเขียนผิด
สมาชิกเลขที่85339 | 03 มี.ค. 55
3K views

คำที่มักเขียนผิด   ตอน  ง่าย ๆ แต่ก็ยังเขียนผิด (1)               บุญช่วย  มีจิต

 

การสังเกต  เป็นคุณสมบัติที่ดีประการหนึ่งของการใช้ภาษาไทยในชีวิตประจำวัน  ส่วนใหญ่แล้วมักจะไม่ค่อยสังเกต ผ่านแล้วก็ผ่านเลย  บางครั้งคำง่าย ๆ ใช้กันบ่อย ๆ ก็ยังผิดซ้ำซากจำเจ ถ้าใครผ่านไปผ่านมาตามถนนสายต่าง ๆ จะเห็นป้ายของตำรวจที่เตือนพวกเราด้วยความหวังดีว่า

  “ ระวัง !! บริเวณนี้รถหายบ่อย  โปรดล๊อครถของคุณ  ก่อนที่จะไม่มีรถให้ล๊อค

  เป็นป้ายสีขาว ตัวหนังสือสีแดงตัวใหญ่พอแลเห็นแต่ไกล  ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่เนื้อหาที่เขียน  แต่อยู่การสะกดคำว่า “ ล๊อค ”

“  ล้อค ”  เป็นคำที่มาจากภาษาอังกฤษ ( Lock) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน(2525)ไม่ได้เก็บคำนี้ไว้  ถึงอย่างไรก็แล้วแต่ “ ” เป็นอักษรต่ำ  อักษรต่ำผันได้ 3 เสียง คือ สามัญ โท ตรี เท่านั้น  รูปสามัญเสียงสามัญ รูปเอกเสียงโท และรูปโทเสียงตรี

ดังนั้น “ ล้อค”  จึงจะใส่  “  ไม้ตรี ”  ไม่ได้เด็ดขาด  ถ้าต้องการเสียงตรีก็ต้องใส่  “  ไม้โท ”  เท่านั้น เช่นคำเทียบคือ  “  โน้ต  ”     หรือ ถ้าต้องการออกเสียงสั้นก็ใส่  “  ไม้ไต่คู้  ”  เป็น “  ล็อค ”

                เอาละถึงแม้จะผิดยังไงก็ยังพอให้อภัยกันได้  เพราะคุณตำรวจท่านคงจะเรียนหนักมาทางด้านการสืบสวนสอบสวนหรือปราบปราม  ภาษาไทยท่านอาจจะบกพร่องไปบ้าง

 แต่ที่ผิดอย่างไม่น่าให้อภัยเลยเป็นเรื่องของสถาบันการศึกษา  ซึ่งมีหน้าที่ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่เด็กนักเรียน  เป็นสถานศึกษาที่ติดยี่ห้อหนึ่งอำเภอหนึ่งโรงเรียนในฝันซะด้วย  โรงเรียนขนาดใหญ่อยู่ใจกลางกรุงเทพมหานครเรานี่เอง

                เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า  วันหนึ่งได้มีโอกาสชมการนำเสนอผลงานของโรงเรียน(เนื่องในโอกาสใดจะไม่ขอบอก)  เป็นเพาเว่อร์พ้อยท์ฉายขึ้นจอโปรเจคเตอร์ในห้องประชุม  มาถึงตอนแนะนำอาคารสถานที่มีภาพอาคารหลังหนึ่งแล้วบรรยายว่า

“ อาคารเอนกประสงค์ ”

อเนกประสงค์  เป็นคำที่มาจากภาษาลีและสันสกฤต  อเนก + ประสงค (พจนานุกรม พ.ศ. 2525 หน้า 916) ที่เขียนผิด  ผิดที่คำหน้าคือ อเนก มาจากภาษาบาลี อเนกํ แปลว่า มากมาย ดังนั้น เมื่อนำมาใช้ในภาษาไทยจึงต้องเขียน อ อ่าง อยู่นอก สระเอ  เท่านั้น  ใช้กันผิด ๆ มาตลอด  โดยเฉพาะชื่อคน

ผู้ที่ชมในวันนั้นมีทั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจาก สมศ. คณะครูทั้งโรงเรียนอีกร้อยกว่าคน ผมไม่ทราบว่าท่านอื่น ๆ จะคิดอย่างไร  แต่สำหรับผมคิดว่า  สถานศึกษาต่าง ๆ ควรจะพิถีพิถัน  เป็นต้นแบบในการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง  มิเช่นนั้นแล้ว  ลูกศิษย์ที่รับเอาไปไม่รู้กี่รุ่นต่อกี่รุ่น  นับพันนับหมื่นคนจะเป็นเช่นไร  

และก็ไม่ต้องไปโทษใครอื่นว่าใช้ภาษาไทยไม่ถูกต้อง  ต้องโทษสถานศึกษาและผู้สอนภาษาไทยของโรงเรียนนั้นนั่นเอง 

แต่พอถามไถ่ไร่เรียงกันแล้วก็ได้รับคำตอบว่า    ก็ฝ่ายผลิตไม่ได้นำมาปรึกษาหรือให้ตรวจทานเลย  ก็โทษฝ่ายโสตทัศนศึกษาอีกตามเคยว่า  เก่งแต่ทางด้านมัลติมีเดียและคอมพิวเตอร์เท่านั้น  ไม่ได้จบเอกภาษาไทยมาอย่างคุณนี่  ถึงกระนั้นก็ตาม  เมื่อดูแล้ว เห็นแล้วก็น่าจะทักท้วงและแก้ไขกันได้  โดยเฉพาะผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงคือฝ่ายวิชาการ  ต้องมีความสังเกตและละเอียดรอบครอบเป็นที่สุด  เรื่องเล็กน้อยแบบนี้ปล่อยออกไปมากไม่เป็นผลดีเลย  คนนอกที่เขาไม่ทราบข้อมูลภายในมากนัก   เขาอาจจะคิดว่า  แม้แต่เรื่องแค่นี้ยังผิดพลาด  เรื่องใหญ่ ๆ สำคัญ ๆ กว่านี้จะเป็นเช่นไร

            นี่ยังดีนะที่คณะกรรมการประเมินท่านไม่ได้ทักท้วง(หรือท่านก็ไม่ได้สังเกตเหมือนกัน) และให้ผ่านการประเมินในระดับดีมากทุกมาตรฐาน ยกเว้นมาตรฐานที่ 5

มาตรฐานเดียวเท่านั้นที่ได้ดี 

            จึงอยากให้เป็นอุทาหรณ์สอนลูกศิษย์และผู้ที่รักภาษาไทยทั้งหลายว่า  การใช้ภาษาไทยควรพิถีพิถัน  ใช้กันให้ถูกต้องและต้องตรวจสอบกับพจนานุกรมอยู่เสมอ ๆ

ถ้าพวกเราพยายามระมัดระวัง  ต่อไปการภาษาไทยผิด ๆ ก็คงจะลดน้อยลงไปหรือไม่มีอีกเลย

 

Share this