เด็กสมาธิสั้น เรื่องใกล้ตัว
สมาชิกเลขที่2667 | 05 ธ.ค. 52
4K views

ประมาณหนึ่งเดือนที่ผ่านมามีข่าวผู้ปกครองเด็กสมาธิสั้นพาลูกๆ ไปร้องเรียน อย. เรื่องยาควบคุมสมาธิ  ดูจะเป็นเรื่องใหญ่สำหรับครอบครัวที่มีลูกมีอาการสมาธิสั้นในระบบการศึกษาของไทย  ทำไมผู้ปกครองกลุ่มนี้จึงต้องพึ่งพายาเม็ดละร้อยบาท (ราคาคลีนิคในเวลาทำการ ร.พ.รัฐ  ถ้าเป็นเอกชนก็พุ่งไปเกือบๆ 200 บาท)

มารู้จักกับเด็กสมาธิสั้นกันซักหน่อย  

ข้อเขียนนี้เกิดจากความเข้าใจของผู้ปกครองที่ได้จากการอ่านหนังสือและบทความเกี่ยวกับโรคนี้  กรุณาใช้วิจารณญาณในการอ่าน  ผู้ปกครองมิใช่บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้โดยตรง  หากมีข้อสงสัยกรุณาปรึกษาแพทย์

เชื่อหรือไม่ว่าประมาณ 5% ของเด็กไทยเป็นเด็กสมาธิสั้น  ทั้งที่อยู่ในระหว่างการรักษาและที่บุคคลแวดล้อมไม่ตระหนักถึงโรคนี้  ถ้าไม่คำนึงถึงการกระจายตัวของประชากรเด็กสมาธิสั้น  แปลว่าในห้องเรียน 50 คน จะมีเด็กสมาธิสั้น 2-3 คน

โรคนี้เกิดจากสารเคมีในสมองบกพร่อง  มิได้เกิดจากการเลี้ยงดูแต่อย่างใด  การเลี้ยงดูบางอย่าง เช่น ตอบสนองเด็กในวัยเยาว์เร็วเกินไป  ให้เด็กดูทีวีตั้งแต่ยังเล็ก เหล่านี้อาจมีส่วนกระตุ้นให้อาการแย่ลง  แต่ไม่ได้เป็นสาเหตุหลักของโรค  และที่สำคัญ โรคนี้ไม่ใช่โรคที่เกิดจาก "พ่อแม่ไม่สั่งสอน"

อาการที่สำคัญของเด็กกลุ่มสมาธิสั้นแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญุ่ๆคือ

1. อาการซนมากกว่าปกติ (Hyper Activity) ลักษณะความซนจะมากกว่าเด็กทั่วๆไป ซนแบบ
ไม่อยู่นิ่ง อยู่ไม่เป็นสุข ลุกลี่ลุกร้น ตลอดเวลา

2. อาการสมาธิสั้น สามารถสังเกตุได้โดยเด็กจะมีความวอกแวกง่าย แม้แต่สิ่งเร้าเล็กๆน้อยก็สามารถ
ทำให้เด็กเสียสมาธิได้แล้ว เข่น ในขณะที่เด็กกำลังนั่งอ่านหนังสืออยู่ พอมีเสียงดังเบาๆเช่นเสียงของตก
พื้น หรือกิ่งไม้หล่นบนพื้น กลุ่มเด็กพวกนี้จะหันไปหาแหล่งต้นเสียงทันที หรือขณนั่งเรียนอยู่ในห้องเรียน
พอมีคนเดินผ่านก็จะหันไปดูโดยทันที เป็นลักษณะเป็นความไวต่อสิ่งเร้าภายนอกโดยผ่านทาง ตา / หู
นอกจากนั้นยังอาจเกิดจากสิ่งเร้าภายในตัวของเด็กเอง ในกรณีนี้จะแสดงออกในลักษณะอาการเหม่อ
ลอย นั่งนิ่งๆ เป็นนระยะเวลานานๆ เหม่อบ่อย เป็นต้น

กลุ่มอาการสมาธิสั่นนี้ยังแสดงออกในรูปของการทำงานไม่ค่อยสำเร็จ เพราะในขณะที่กำลังทำงาน
อย่างหนึ่งอยู่นั้น ใจก็จะคิดวอกแวกไปคิดถึงเรื่องอื่นๆต่อไป ทำให้งานกว่าจะเสร็จได้ต้องใช้เวลานาน
ต้องค่อยจ่ำจี้จ่ำไชงานถึงจะสำเร็จลุล่วงไปได้

3. อาการหุนหันพลันแล่น (Impulsive) เด็กมักจะแสดงออกในลักษณะที่รอคอยไม่เป็น ยกตัวอย่าง
เช่น ในขณะที่พ่อแม่หรือผู้ใหญ่กำลังคุยกันอยู่ เมื่ออยากจะพูดเด็กก็จะพูดแทรกขึ้นมาในทันทีโดยไม่คำนึง
ถึงความเหมาะสม โดยเด็กจะไม่สามารถอดใจทนรอให้การสนทนานั้นเสร็จเสียก่อน

ในต่างประเทศ  หากคุณครูมีข้อสงสัยว่าเด็กนักเรียนมีอาการเหม่อลอย  ทำงานในห้องไม่สำเร็จ จะมีการเชิญคุณครูท่านอื่นๆ อีก 2-3 ท่านมาสังเกตุพฤติกรรมเด็ก ส่วนใหญ่จะเป็นคุณครูที่สอนเด็กคนนั้นอยู่แล้วในวิชาอื่นๆ  ก่อนที่จะสรุปผลและนำเสนอผู้บริหารให้เชิญผู้ปกครองมาพบและแนะนำให้ไปพบผู้เชี่ยวชาญ

ในประเทศไทย ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการศึกษายังถูกยกขึ้นมาเป็นข้อจำกัด  เด็กที่เหม่อลอย ไม่สนใจเรียนในห้องเรียน ไม่ทำงานตามที่ครูสั่งให้เสร็จตามเวลา ไม่สามารถรับผิดชอบส่งงาน / การบ้าน ตามเวลาได้ จึงมักจะถูกตีตราว่า "เด็กไม่รับผิดชอบ" "เด็กเหลวไหล" "พ่อแม่ไม่รู้จักดูแลลูก" "เด็กเหลือขอ"

เด็กเหล่านี้แท้ที่จริงแล้วเป็นเด็กปัญญาดี  และมีจิตใจดี  ส่วนใหญ่ถ้าวัดไอ คิว แล้วจะมีไอ คิว ระดับสูงพอที่จะเป็นกำลังสำคัญของชาติได้  แต่สมาธิของเขาเป็นจุดตั้งต้นไม่ให้เขาไปได้ไกล  สำทับด้วยคำพูดของคนรอบข้าง ประทับตราความเลวร้ายเข้าไปในใจเด็ก  จนเด็กคิดว่าเขาเป็นคนเหลวไหล ไม่รับผิดชอบ ไปจริงๆ  ทำให้เกิดความรู้สึกด้อยคุณค่าในตัวเอง

สิ่งที่ตามมาก็จะเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ เด็กแว้น เด็กติดยา เด็กขายตัว หรือแม้กระทั่งฆ่าตัวตายในวัยเด็ก  เด็กเหล่านี้ถ้าสืบประวัติกลับไปจะมีอาการของสมาธิสั้น แต่ไม่ได้รับการดูแลรักษา และยังได้รับรอยประทับจากบุคคลรอบข้าง  ทำให้เด็กหาทางออกด้วยอบายมุขหรือซึมเศร้า จนกระทั่งฆ่าตัวตายในที่สุด

ย้อนกลับมาที่ยาที่เป็นปัญหาข้างต้น  ยาเป็นตัวที่กระตุ้นสารเคมีในสมองส่วนที่เด็กขาดไป  ทำให้เด็กมีสมาธิในห้องเรียน ทำงานส่งได้ตามเวลา รับผิดชอบเรื่องการบ้านได้  ขณะนี้ยาขาดตลาด และ อย ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะดำเนินการใดๆ อีกทั้งยังสำทับมาอีกด้วยว่าอาจจะมีการทบทวนการใช้ยา

ยาชนิดนี้เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท เป็นยาควบคุม ต้องรับจากจิตแพทย์เด็กที่เด็กมีทะเบียนคนไข้อยู่ด้วยเท่านั้น  และโรงพยาบาลก็จะต้องรับมาจาก อย เท่านั้น

เมื่อยาขาดตลาด  เด็กกลุ่มที่เคยได้รับยาก็อาจจะกลายเป็น "เด็กเหลือขอ" ในสายตาคุณครูอีกครั้ง  วันหลังจะกลับมาคุยว่าคุณครูจะช่วย "เด็กเหลือขอ" เหล่านี้ให้เป็นเด็กเรียนดีได้ไม่ยาก อย่างไร
Share this