ตอนที่ 8กิจกรรมทำที่บ้านหรือโรงเรียน
สมาชิกเลขที่6035 | 22 ก.พ. 53
1.5K views

ครับ เมื่อคุณพ่อคุณแม่คุณครูเริ่มจัดกิจกรรมการดูนกขึ้นแล้ว เพื่อให้การดูนกเป็นกิจรรมที่ต่อเนื่อง และชวนให้ลูกและศิษย์ของเรามีความสุขสนุกกับการเรียนรู้ ยังมีกิจกรรมต่อเนื่อง กิจกรรมเสริมมากมายเกี่ยวข้องกับ นก ที่สามารถทำกิจกรรมได้ทั้งที่บ้านหรือที่โรงเรียน ซึ่งก็แล้วแต่ว่าคุณพ่อคุณแม่คุณครูจะนำกิจกรรมไหนไปทำตามความเหมาะสม
 
กิจกรรมต่อเนื่องกับการดูนกที่ผมเห็นว่าสนุกและเกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของเด็กๆ อาทิเช่น การจัดกิจกรรมแข่งขันดูนก การสำรวจประชากรนกในหมู่บ้านหรือในโรงเรียน การทำจิ๊กซอว์นก การทำสวนนกในโรงเรียน งานศิลปะเกี่ยวกับนก การแนะนำนกวันละชนิดผ่านภาพสไลด์ การทำเรื่องราวของนกในวรรณคดี รวมทั้งการทำโครงงานด้านวิทยาศาสตร์ เป็นต้น
 
ผมจะขอขยายความเพื่อให้คุณพ่อคุณแม่และคุณครูเห็นภาพกิจกรรรมเหล่านี้นะครับ เริ่มตั้งแต่กิจกรรมการแข่งขันดูนก เมื่อพูดถึงการแข่งขันดูนก สำหรับในหลายประเทศที่ผู้คนชื่นชอบการดูนกก็จะจัดให้มีการแข่งขันดูนก เพื่อหาสุดยอดทีมที่ดูนกเก่ง หานกเก่ง ทีมไหนใครดูหรือพบนกมากก็จะเป็นฝ่ายชนะไปก็เหมือนการแข่งกีฬาทั่วไป แต่ที่น่าสนใจของการแข่งขันดูนกในทางสากลนิยมกันเป็นการใช้ระบบความซื่อสัตย์ของทีมผู้เข้าแข่งขัน กล่าวคือทีมไหนเห็นนก พบนก ถ้าพบจริงก็ต้องบันทึก ถ้าไม่ได้พบตามกติกาก็ต้องยอมรับว่าไม่พบเห็น จะมาโมเมตุกติกไม่ได้ เพราะการแข่งขันดูนกจะไม่มีกรรมการคอยไปตามดูไปดูว่าคุณทุจริตหรือโกหกหรือไม่
                                  
การแข่งขันดูนกในเมืองไทยก็ได้มีหน่วยงาน NGO อย่างสมาคมอนุรักษ์นกฯหรือภาคเอกชนริเริ่มจัดกันมากว่า 5 ปีมาแล้ว ต่อมาก็มีการจัดแข่งกันในระดับเด็กๆ ระดับประถมบ้าง มัธยมบ้าง แต่จุดสำคัญของการแข่งขันคือไม่ได้ต้องการให้เด็กมุ่งมั่นจะเอาชนะกันเป็นเป้าหมาย แต่การแข่งขันดูนกในหมู่เด็กๆเป็นอุบายที่จะให้เด็กรู้จักทักษะต่างๆ เช่น ทักษะของการทำงานร่วมกันเป็นทีมเพราะการแข่งดูนกทีมละ 3 คนกำลังดี นอกจากการทำงานเป็นทีม ก็เน้นเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตต่อตนเอง ซึ่งถือว่าจุดนี้เป็นเรื่องใหญ่ของการแข่งขัน นอกจากนี้ก็เป็นเรื่องการให้เด็กๆออกไปอยู่กับธรรมชาติ เรียนรู้เรื่องนกไปพร้อมกับเรื่องของธรรมชาติ เรียนรู้การแพ้ชนะ การรู้จักอยู่ร่วมกับคนอื่น นี่ก็เป็นกิจกรรมที่สนุกอีกกิจกรรมหนึ่งที่ทำได้
 
กิจกรรมถัดมาก็เป็นเรื่องที่อาจจะประยุกต์ได้ทั้งในโรงเรียนหรือที่บ้านนะครับ กิจกรรมนี้ก็คือการทำสวนนกในธรรมชาติ ไงครับ แต่พอพูดถึงสวนนก คุณพ่อคุณแม่ คุณครูอาจจะคิดไปถึงสวนนกแบบที่มีการทำกรงตาข่ายใหญ่คลุมแล้วปล่อยให้นกเข้าไปอยู่ ก็คงไม่ใช่อย่างนั่นครับ สวนนกที่ผมจะแนะนำเป็นสวนนกธรรมชาตินี่แหละครับ โดยอาศัยหลักการทางธรรมชาติ 3 ประการ คือ ปลอดภัย สบายใจและอาหารพอก็พอเพียงสำหรับ นก
เพราะฉะนั้นหากคุณพ่อคุณแม่ที่มีบริเวณบ้าน หรือมีสวนสาธารณะอยู่ใกล้ๆ รวมทั้งภายในโรงเรียน เราก็หาพันธุ์ไม้ที่เป็นแหล่งอาหารของนกมาปลูก เช่น ต้นตะขบ ต้นหว้า ต้นไทร ต้นกล้วยหรือพวกไม้ผล ต้นไม้เหล่านี้จะเป็นแม่เหล็กดึงดูดนกมาอาศัยหรือเป็นแหล่งหาอาหาร โดยให้นกรู้สึกว่าบริเวณนั้นปลอดภัย มีอาหารธรรมชาติพียงพอ หรือเราอาจจะนำอาหารมาเสริมเพิ่มเติม เช่นผัก ผลไม้ เศษอาหาร ถ้าพอมีบริเวณพอก็หาจานรองกระถางหรือภาชนะที่มีก้นไม่ลึกเกินไป เพื่อเป็นที่สำหรับนกมากินน้ำหรือเล่นน้ำ
          
สวนนกธรรมชาตินี้ก็จะกลายเป็นเสมือนห้องเรียนธรรมชาติที่มีขึ้นในบ้าน ในชุมชนหรือในโรงเรียน ซึ่งจะให้ดี คุณพ่อคุณแม่คุณครูต้องส่งเสริมให้เด็กๆมีส่วนร่วมในการดำเนินการ สวนนก เด็กๆก็จะเกิดความภูมิใจครับ
                   
เมื่อมีสวนนกเกิดขึ้นก็อาจจะมีกิจกรรมอื่นๆตามมา เช่น การจัดทำสมุดบันทึกนกและต้นไม้ในโรงเรียน การสร้างรังนกจำลองติดตามต้นไม้ในโรงเรียน การจัดทำป้ายให้ความรู้เรื่องนกและพืชอาหารนก ป้ายแสดงความสัมพันธ์ระหว่างนก คน ต้นไม้ การจัดงานสัปดาห์เด็กรักนกในโรงเรียน
 
กิจกรรมที่จะแนะนำถัดไปก็มีลักษณะของการบูรณาการการเรียนรู้ของเด็กๆ โดยเอาเรื่องนกมาเชื่อมโยงกับกิจกรรมวิชาอื่นๆที่อยู่ในหลักสูตร เช่น กิจกรรมศิลปะ เราสามารถนำนกที่เด็กๆพบเห็นมาประดิษฐ์ด้วยวัสดุเหลือใช้ เช่น จากขวดน้ำ หรือทำเป็นเข็มกลัดนกสำหรับเป็นเครื่องประดับ หรือจะเป็นภาพวาด เป็นต้น หรือจะดัดแปลงทำเป็นของเล่นแบบเกมส์จิ๊กซอว์รูปนกชนิดต่างๆ หรือจะให้เด็กๆมีการแนะนำนกวันละชนิดผ่านภาพถ่าย โดยหาภาพจากอินเทอร์เน็ตหรือนิตยสาร หนังสือ เด็กๆก็จะสนุกกับการค้นหา การเผยแพร่ให้กับคนอื่นก็ได้
                  
นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการดูนกอีกประเภทหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของวรรณคดีไทย โดยเฉพาะเรื่องของนกในวรรณคดีไทย ดังที่กล่าวไว้ในบทที่ 3 ซึ่งเราสามารถนำมาใช้เป็นกิจกรรมให้เด็กๆค้นหา ศึกษาเรื่องของนกได้ ผมยังจำได้ว่า ครูให้ผมและเพื่อนๆหาคำตอบว่าในบทประพันธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งกล่าวถึงนกไว้กี่ชนิด บางชนิดเคยเห็น บางชนิดก็ไม่เคยเห็น แต่ก็พอบอกให้เรารู้ว่าเมืองไทยในยุคก่อนนั้น อุดมสมบูรณ์ไปด้วยนกนานาชนิดจริงๆ
                            
ทีนี้ก็มาถึงกิจกรรมสนุกแบบเข้มข้นมีสาระออกไปทางวิทยาศาสตร์ก็คือการส่งเสริมให้ลูกและศิษย์ทำโครงงานเชิงวิทยาศาสตร์ ความจริงกิจกรรมนี้ทำได้แม้แต่เด็กประถมต้นไปจนถึงอุดมศึกษา อาจจะให้เด็กๆทำการสำรวจประชากรนกในชุมชนหรือโรงเรียน โครงการอนุรักษ์นกในชุมชนหรือในโรงเรียน อย่างชมรมเด็กรักนกท่ามะไฟหรือทำโครงงานอย่างน้องๆโรงเรียนวัดแสมดำที่ผมเคยเล่าไว้ก่อนหน้า
                            
และกิจกรรมที่ผมอยากจะแนะนำคุณพ่อคุณแม่คุณครูพาลูกและศิษย์ไปดูคือบ้านนก”ของท่านอาจารย์บัณฑิต    ผดุงวิเชียร   “บ้านนก” เป็นบ้านที่มีคุณค่าแก่การเรียนรู้ของเด็กๆอย่างดีเยี่ยม ท่านอาจารย์บัณฑิตเป็นอาจารย์ด้านศิลปะจากมหาวิทยาลัยศิลปากรที่ชื่นชอบการดูนกและท่องธรรมชาติ บ้านนกของท่านไม่เป็นเพียงบ้านที่ท่านและครอบครัวอาศัยแต่ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่ที่ท่านรวบรวมผลงานการบันทึกเรื่องราวของนกกับธรรมชาติที่ตื่นตาตื่นใจและสวยงามควบคู่กันไป ผลงานการวาดภาพนกเป็นร้อยๆภาพของท่านเป็นแบบอย่างที่ดีและช่วยเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กๆได้ และไม่เพียงผลงานที่ท่านรวบรวมเปิดให้เรียนรู้ ศึกษา บ้านของท่านยังเป็นตัวอย่างของความร่มรื่น ผูกพันกับธรรมชาติ มีต้นไม้นานาพรรณที่บรรดานกแถวบางแขวกไว้คอยแอบอิงอาศัย
                                                     
นอกจากนี้อาจารย์บัณฑิต ท่านยังเป็นผู้ก่อตั้งชมรมสาริกาดงที่จัดกิจกรรมการดูนก ท่องเที่ยวธรรมชาติอีกด้วย
 
ทั้งหลายทั้งปวงนี้ก็เป็นการเสนอแนะ คุณพ่อคุณแม่คุณครูก็สามารถที่จะแตกกิจกรรมออกไปได้อีกมากมาย
Share this