โยคะ “เกาชิกิ” YOKA “Kaoshikii”
Posted by admin on February 20th, 2010
วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2553 ได้เข้ารับการอบรมหลักสูตร The Secret of mind Power วิทยากร คือ ดร.ศิวาพร นวลตา จากสถาบัน TISAR หรือชื่อเต็มว่า ” สถาบันวิจัยค้นคว้าวิชาการสั่งจิตใต้สำนึก (www.sangjit.net) ” (THAI INSTITUTE OF SUBCONSCIOUS MIND CONTROL AND APPLIED RESEARCH) วิทยากรให้ฝึกท่าโยคะ “เกาชิกิ” เป็นเวลา 30 นาที ก็ฝึกแค่พอเป็น อบรมแล้วจึงได้ค้นข้อมูลเรื่องนี้เพิ่มเติม เริ่มจากอ่าน “Home Magazine” (http://www.homedd.com/ ) เรื่อง โยคะเพื่อสุขภาพ แล้วอ่าน “หมอชาวบ้าน” http://www.doctor.or.th/ เรื่อง ฝึกโยคะเพื่อสุขภาพ จึงขอเล่าสู่กันฟัง
การฝึกโยคะ (Yoga) เป็นการออกกำลังกายที่สามารถปฏิบัติได้ทุกสถานที่ที่ต้องการไม่ต้องมีอุปกรณ์ใด ๆ ช่วย Yoka แปลว่า “Easy Posture” เป็นท่าที่ฝึกได้ง่าย โยคะนอกจากจะช่วยเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง สมส่วน เลือดลมเดินสะดวก และช่วยทำจิตใจให้เข้มแข็งแล้ว ยังช่วยป้องกันและรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ อาทิ ปวดเข่า ปวดหลัง ท้องอืด ท้องเฟ้อ ไปจนถึงอาจรักษาโรคที่เป็นหนักก็ได้ เพราะหลักการของโยคะอยู่ที่ เมื่อจิตใจสดชื่นแจ่มใส ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง ทำให้โรคภัยไข้เจ็บหนีหาย มีภูมิคุ้มกันโรคสูง เพราะการฝึกโยคะจะช่วยบริหารต่อมไร้ท่อในร่างกาย ซึ่งทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนที่ส่งผลต่ออารมณ์ต่อความรู้สึกของคนเรา ให้ทำงานสมดุลกัน
เป้าหมายสูงสุดของการฝึกโยคะ คือ ร่างกายแข็งแรง (Physical Fit) จิตใจเข้มแข็ง (Mentally Strong) และความมีสปิริต มีจิตใจที่เปิดกว้าง (Spiritual Elevated)
การฝึกโยคะที่สำคัญอยู่ที่การทำเป็นประจำ การฝึกแต่ละครั้งไม่จำเป็นต้องมีการอบอุ่นร่างกายก่อน ผู้ฝึกสามารถทำได้ทันทีในเวลาที่เหมาะสม คือ ในช่วงที่ท้องว่างก่อนกินอาหารเช้าหรือเย็น หรือช่วงหลังการกินอาหารแล้วประมาณ 2½-3 ชั่วโมง และในขณะที่บริหารท่าโยคะ ผู้ฝึกต้องรักษาจังหวะการหายใจควบคู่กับจังหวะร่างกาย เพราะสิ่งสำคัญที่สุดของโยคะ คือ ลมหายใจและความคิด สติต้องอยู่ที่การเคลื่อนไหวของร่างกาย ลมหายใจ และความคิดในสิ่งดี ๆ จังหวะการหายใจเข้า รับเอาพลังที่บริสุทธิ์จากธรรมชาติ เข้ามาสู่ตัวเรา จังหวะการหายใจออก เอาความเหนื่อยล้า ความเครียด อารมณ์ไม่ดีต่างๆ ออกไปจากตัวเรา
ตำนานเล่าว่า โยคะเกาชิกิ เป็นศิลปวัฒนธรรมของอินเดียโบราณที่แสดงออกถึงความเคารพ ต่อธรรมชาติ มีคุณประโยชน์ทางอายุรเวท คือ ช่วยคืนสมดุลให้ร่างกาย เป็นการฝึกสติและสมาธิ เกาชิกิ ยังมีประโยชน์ตรงที่ช่วยยืดเส้นสำคัญๆ ในร่างกาย และการใช้จมูกเท้ากระแทกพื้นเบาๆ ก็เป็นการนวดเท้าเพื่อกระตุ้นเส้นประสาท บริหารอวัยวะภายใน กระตุ้นการไหลเวียนของเลือด และพลังงานในร่างกายให้ทำงานประสานกันได้ดีขึ้น
คำที่ควรระลึกอยู่ในใจขณะปฏิบัติ คือ Babanam Kevalam (ออกเสียงว่า บาบานัม ขณะหายใจเข้า เควาลัม ขณะหายใจออก) หมายถึง ความรักมีอยู่ในทุกหนทุกแห่ง เรามีความรักให้กับตัวเราเอง เรามีความรักให้กับทุกคน
เรามาเริ่มการเต้นรำท่าโยคะ “เกาชิกิ” กันเถอะ
ท่าเตรียมพร้อม
ยืนตรง แขนเหยียดตรงชูขึ้นเหนือศีรษะ ฝ่ามือประกบกัน ดังภาพ
ท่าที่ 1 โน้มลำตัวไปทางขวา
จังหวะที่ 1 เริ่มด้วยการโน้มตัวไปทางขวาเล็กน้อย ขณะเดียวกันไขว้เท้าขวาไปเคาะพื้นด้านหลัง 1 ครั้ง โดยขณะที่โน้มตัวและไขว้ขาให้เป็นจังหวะเดียวกันดังภาพ 1-1
จังหวะที่ 2 โน้มลำตัวไปทางขวาอีกเล็กน้อย พร้อมกับก้าวเท้าซ้ายไขว้ไปเคาะพื้นด้านหลัง 1 ครั้ง เป็นจังหวะเดียวกัน ดังภาพ 1-2
จังหวะที่ 3 โน้มลำตัวไปทางขวาเพิ่มขึ้นอีกจนสุดตัว พร้อมกับก้าวเท้าขวาไขว้ไปเคาะพื้นด้านหลัง 1 ครั้ง เป็นจังหวะเดียวกัน ดังภาพ 1-3
จังหวะที่ 4 ดึงลำตัวกลับขึ้นมาให้อยู่ในท่าเดียวกับจังหวะที่ 2 พร้อมกับก้าวเท้าซ้ายไปเคาะพื้นด้านหลัง 1 ครั้ง เป็นจังหวะเดียวกัน ดังภาพ 1-4
จังหวะที่ 5 ดึงลำตัวกลับขึ้นมาในท่าลำตัวตรง พร้อมกับก้าวเท้าขวาไขว้ไปเคาะพื้นด้านหลัง 1 ครั้ง เป็นจังหวะเดียวกัน ดังภาพ 1-5
ท่าที่ 2 โน้มลำตัวไปทางซ้าย
จังหวะที่ 1 เริ่มด้วยการโน้มตัวไปทางซ้ายเล็กน้อย พร้อมกับก้าวเท้าซ้ายไขว้ไปเคาะพื้นด้านหลัง 1 ครั้ง เป็นจังหวะเดียวกัน ดังภาพ 2-1
จังหวะที่ 2 โน้มลำตัวไปทางซ้ายอีกเล็กน้อย พร้อมกับก้าวเท้าขวาไขว้ไปเคาะพื้นด้านหลัง 1 ครั้ง เป็นจังหวะเดียวกัน ดังภาพ 2-2
จังหวะที่ 3 โน้มลำตัวไปทางซ้ายเพิ่มขึ้นอีกจนสุดตัว พร้อมกับก้าวเท้าซ้ายไขว้ไปเคาะพื้นด้านหลัง 1 ครั้ง เป็นจังหวะเดียวกัน ดังภาพ 2-3
จังหวะที่ 4 ดึงลำตัวกลับขึ้นมาให้อยู่ในท่าเดียวกับจังหวะที่ 2 พร้อมกับก้าวเท้าขวาไขว้ไปเคาะพื้นด้านหลัง 1 ครั้ง เป็นจังหวะเดียวกัน ดังภาพ 2-4
จังหวะที่ 5 ดึงลำตัวกลับขึ้นมาในท่าลำตัวตรง พร้อมกับก้าวเท้าซ้ายไขว้ไปเคาะพื้นด้านหลัง 1 ครั้ง เป็นจังหวะเดียวกัน ดังภาพ 2-5
ท่าที่ 3 โน้มลำตัวไปด้านหน้า
จังหวะที่ 1 โน้มตัวไปด้านหน้า พร้อมกับก้าวเท้าขวาไขว้ไปเคาะพื้นด้านหลัง 1 ครั้ง เป็นจังหวะเดียวกัน ดังภาพ 3-1
จังหวะที่ 2 โน้มลำตัวไปทางด้านหน้าจนสุดตัว ปลายนิ้วแตะพื้น พร้อมกับก้าวเท้าซ้ายไขว้ไปเคาะพื้นด้านหลัง 1 ครั้ง เป็นจังหวะเดียวกัน ดังภาพ 3-2
จังหวะที่ 3 ดึงลำตัวกลับขึ้นมาในท่าตรง พร้อมกับก้าวเท้าขวาไขว้ไปเคาะพื้นด้านหลัง 1 ครั้ง เป็นจังหวะเดียวกัน ดังภาพ 3-3
ท่าที่ 4 เอนลำตัวไปด้านหลัง
จังหวะที่ 1 เอนลำตัวไปด้านหลัง พร้อมกับก้าวเท้าซ้ายไขว้ไปเคาะพื้นด้านหลัง 1 ครั้ง เป็นจังหวะเดียวกัน ดังภาพ 4-1
จังหวะที่ 2 เอนลำตัวไปด้านหลังสุดตัว พร้อมกับก้าวเท้าขวาไขว้ไปเคาะพื้นด้านหลัง 1 ครั้ง เป็นจังหวะเดียวกัน ดังภาพ 4-2
จังหวะที่ 3 ดึงลำตัวกลับขึ้นมาในท่าตรง พร้อมกับก้าวเท้าซ้ายไขว้ไปเคาะพื้นหลัง 1 ครั้ง เป็นจังหวะเดียวกัน ด้านหลัง ดังภาพ 4-3
จังหวะที่ 4 ลำตัวอยู่ในท่าตรงพร้อมกับยกเท้าขวาขึ้น-ลง (เป็นการกระทืบพื้น) ดังภาพ 4-4
จังหวะที่ 5 ลำตัวยังอยู่ในท่าเดิมเหมือนจังหวะที่ 4 พร้อมกับยกเท้าซ้ายขึ้น-ลง (เป็นการกระทืบพื้น) ดังภาพ 4-5 จบลงด้วยท่าเตรียมพร้อม
การเต้นรำเกาชิกินี้ การจะให้ได้เหงื่อและมีผลดี ควรจะเต้นประมาณ 8-10 รอบ
แล้วคุณล่ะ!?! สนใจจะลองฝึกท่าโยคะ“เกาชิอิ” ?