ขอแนะนำ ที่เที่ยวสุดฮิปที่ใครๆก็อยากไปกอด
สมาชิกเลขที่58067 | 31 ส.ค. 54
1.9K views

http://www.muangthai.com/images/hug50years.jpg
สะพานมอญสายสัมพันธ์ที่ซองกาเรียมิอาจขวางกั้น
เมื่อพูดถึงสังขละบุรีหลายๆคนต้องนึกถึงหลวงพ่ออุตามะ ผู้ริเริ่มก่อสร้าง สะพานไม้ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย เป็นแน่ การเดินทางในทริปนี้ เมืองไทย.คอม จึงพาทุกท่านไปสัมผัสกับวิถีชีวิตอันเรียบง่ายของคนไทยและคนไทยเชื้อสายมอญที่ถูกแม่น้ำซองกาเรียขวางกั้น แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคด้วยสะพานไม้ที่ยาวที่สุดในประเทศไทยเป็นสื่อกลางที่เชื่อมความสัมพันธ์ในนามของ “สะพานมอญ” หรือ “สะพานอุตตมานุสรณ์”





สังขละบุรี เมืองเล็กๆ ในจังหวัดกาญจนบุรี เดิมทีเมื่อประมาณ 30-40 ปีที่แล้วหากข้าราชการคนไหนถูกย้ายไปที่นั้นเท่ากับว่าเหมือนเป็นการลงโทษทางอ้อม ด้วยความห่างไกลความเจริญ ในยุคก่อนที่บ้านเมืองจะถูกกลืนกินด้วยสายน้ำของ เขื่อนเขาแหลม ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น เขื่อนวชิราลงกรณ์ วิถีชีวิตผู้คนทั้งชาวไทย ไทยรามัญและชาวกะเหรี่ยง ยังคงใช้ชีวิตที่เรียบง่ายสงบ ปกติอยู่ร่วมกันโดยไม่มีสิ่งใดมาขวางกั้น แต่สถานการณ์ทั้งหมดเริ่มเปลี่ยนแปลงไปเมื่อมีการสร้างเขื่อนเกิดขึ้นทำให้บ้านเมืองเดิมต้องย้ายหนีน้ำ ทั้งที่ว่าการอำเภอ ตลาดและวัดวังก์วิเวการามหรือวัดหลวงพ่ออุตตมะ ก็ต้องย้ายขึ้นให้พ้นน้ำเช่นกัน แต่ด้วยการไฟฟ้าเห็นถึงความสำคัญของวัดทำให้ยกพื้นที่ดอนส่วนหนึ่งให้กับวัดและหลวงพ่ออุตตมะเองได้ให้ “ชาวมอญ” เข้ามาอยู่อาศัยจนในที่สุดชาวมอญเหล่านั้นก็ได้สัญชาติไทย


ทางฝั่งวัดวังก์วิเวการาม คนส่วนใหญ่เป็นชาวมอญมีสะพานปูนเชื่อมระหว่างสองฝั่งที่ค่อนข้างไกลกับตัวเมืองทำให้ใช้ระยะเวลาในการเดินทางเท้าหลายชั่วโมง อยู่มาวันหนึ่ง หลวงพ่ออุตตามะ ได้ไปยืน ณ ริมน้ำซองกาเรียและวาดรูปแบบสะพานไม้ โดยได้รับความร่วมมือของชาวบ้านทำให้เกิด “สะพานมอญ” สะพานไม้ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย 444 เมตร 2 ศอก เสาต้นใหญ่สูง 52 ศอก ซึ่งตอนนั้นหลวงพ่อ เพียงอยากย่นระยะทางในการเดินทางเพื่อสร้างความสะดวกให้กับคนในชุมชน


เมื่อระยะเวลาผ่านไปเมืองสังขละบุรีกลายเป็นเมืองที่นักท่องเที่ยวหลายต่อหลายคนให้ความสนใจในนามของเมืองที่เงียบสงบ อากาศดี เมื่อไปสัมผัสวิถีชีวิตพื้นเมืองของชาวมอญทั้งฝั่งวัดและฝั่งเมือง ซึ่งเราเองก็อยากไปสัมผัสกับบรรยากาศเช่นนั้นบ้าง ทำให้เราต้องขับรถจาก กทม. เดินทางสู่ สังขละบุรี

 

จากกรุงเทพฯ เราใช้เวลาเดินทางประมาณ 4-5 ชั่วโมง จนถึงสังขละบุรีระหว่างทางตั้งแต่ป้ายแจ้งเตือนทางขึ้นเขา ตลอดสองข้างทางยังคงไว้ซึ่งวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ไม่ว่าจะเป็นหมู่บ้าน ธรรมชาติความสวยงาม ทำเอาดูจนเพลินและลืมไปเลยว่าระยะทางที่เราเดินทางเข้ามาใกล้ไกลขนาดไหน


ตลาดสังขละบุรี เป็นตลาดที่ไม่ใหญ่มากนัก แต่ยังคงมีสิ่งที่สนองคนเมืองอยู่ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร ร้านสะดวกซื้อหรือร้านอินเตอร์เน็ต เพราะฉะนั้นสำหรับนักท่องเที่ยวหมดห่วงเรื่องพวกนี้ได้

 

เมื่อคืนเรานอนมองสะพานไม้กันที่ แพลุงเณร จนตอนเช้านี้เราตื่นมาก็ยังคงเห็นสะพานมอญเช่นเดิมในบรรยากาศที่เปลี่ยนไป มาถึงสังขละบุรีกันทั้งที่จะมานอนงัวเงียกันอยู่ทำไม รีบลุกขึ้นมาใส่บาตร เก็บภาพและหาอะไรกินกันดีกว่า

บรรยากาศยามเช้าบน สะพานมอญ ในช่วงเสาร์-อาทิตย์ เริ่มคึกคักไปด้วยนักท่องเที่ยวที่เดินทางข้ามสะพานไม้เพื่อมาใส่บาตรพระในฝั่งวัด ช่วงเวลาประมาณ 6 โมงเช้ากว่าๆ พระเณรหลายสิบรูปเริ่มเดินเท้าทยอยมารับบาตรท่ามกลางอากาศที่เย็นสบาย แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นเราได้เห็นวิถีชีวิตชาวมอญที่ทำให้เราเริ่มรู้สึกเลื่อมใสในความศรัทธาของพระพุทธศาสนา ในขณะที่นักท่องเที่ยวยืนใส่รองเท้ารอตักบาตรพระ ชาวมอญพื้นถิ่นกลับนั่งถอดรองเท้าที่พื้นและเมื่อเห็นพระใกล้เข้ามา “เขากราบลงที่พื้นนั้นด้วยจิตศรัทธา” นี่แหละครับเสน่ห์ชาวมอญจากความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา “อยู่ในที่ของเขา ทำอย่างวิถีของเขา แล้วเราจะได้สัมผัสสิ่งที่เขาเป็นอย่างแท้จริง”


หลังจากที่ใส่บาตรพระในยามเช้าเสร็จสิ้น ผู้คนเริ่มหันหน้ามุ่งสู่ ตลาดวัดวังก์ เพื่อจับจ่ายใช้สอยของกินของใช้ซึ่งมีอยู่อย่างครบครันทั้งของสดของแห้ง พืชผักและของใช้อื่นๆหากไปที่ตลาดสายๆ เราอาจจะผิดหวังเพราะตลาดจะวายหรือเลิกเก็บข้าวของกลับบ้านกันซะก่อน นอกจากที่ตลาดแล้วในชุมชนยังคงใช้ชีวิตที่ปรกติเช่นทุกวัน มีเพียงแต่เรานักท่องเที่ยวที่เป็นเสมือนเครื่องตกแต่งสีสันในชุมชนและเมื่อเดินเท้าไปเรื่อยๆมองบ้านที่เราเดินผ่านไปเรื่อยๆ ก็ไปเห็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่าคืออะไร สิ่งที่เราเห็นเป็นทรงสี่เหลี่ยมยื่นออกมาจากหน้าบ้าน แต่ด้วยความสงสัยจึงขอถามสักนิดว่าคืออะไรมีกันทุกบ้าน ด้วยคำถามนี้เองทำให้เราได้ขึ้นไปถึงบนบ้านเพื่อให้เห็นกับตาด้วยคำเชื้อเชิญของเจ้าของบ้าน ซึ่งสิ่งที่เราเห็นคือหิ้งพระที่มีอยู่ทุกบ้าน นี่แหละคือความศรัทธาในพระพุทธศาสนา

 

แสงแดดเริ่มมา ในขณะที่เดินไปยังสถานที่ต่างๆในหมู่บ้าน ทำให้ท้องเริ่มร้อง หิวแล้ว หิวแล้ว แต่จะกินอะไรดี มาถึงสังขละบุรีทั้งทีเลือกกินอาหารพื้นเมืองของเขาดีกว่า คือ ขนมจีนเส้นสดกับน้ำยาหยวกกล้วย ป้าหยิ้น ซึ่งเป็นอาหารพื้นเมืองของชาวมอญ ที่สังขละบุรีแป้งขนมจีนถูกกดลงในน้ำเดือดเป็นเส้นสายแล้วจับใส่จานราดน้ำยาหยวกกล้วยที่คนเมืองคิดว่าหยวกกล้วยกินไม่ได้มีไว้ให้หมูกินเท่านั้น แต่ที่นี่หยวกกล้วยกินได้และเมื่อแปรรูปเป็นอาหารขนมจีนสดน้ำยาหยวกกล้วยด้วยแล้วละก็อร่อยเด็ดเลยทีเดียว


หลังจากที่สนองปากท้องและเตรียมความพร้อมเรียบร้อยแล้ว ลุงเณรได้พาเราล่องเรือไปชมวิถีชีวิตของชาวมอญริมสองฝั่งน้ำและไฮไลท์สำคัญที่พลาดไม่ได้คือ วัดวังก์เววิการามหลังเก่า (วัดจมน้ำ) ที่ช่วงหน้าน้ำจะถูกจมอยู่ภายใต้บาดาลแต่วันนี้วัดโผล่พ้นน้ำเพราะน้ำลงเยอะทำให้เราสามารถลงไปเดินชมได้ เสร็จจากวัดหลังเก่า เรามุ่งหน้าไปที่ทางรถไฟที่ญี่ปุ่นเคยสร้างไว้ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งในปัจจุบันเหลือเพียงเนินหินทางรถไฟและไม้หมอนเพียงเล็กน้อยที่เราใช้เวลาเดินหาอยู่พักใหญ่ แต่อย่างน้อยก็เป็นเครื่องยืนยันได้ว่าทางรถไฟนี้ เมื่อก่อนเคยมีอยู่จริงแต่ในปัจจุบันได้กลายเป็นประวัติศาสตร์ไปเรียบร้อยแล้ว ขณะเดินทางด้วยเรือกับแพลุงเณร เราได้แวะอีกสถานที่หนึ่งคือ วัดกะเหรี่ยง(วัดสุวรรณาราม) ซึ่งวัดนี้มีที่ตั้งอยู่ต่ำกว่าวัดวังก์เววิการามหลังเก่า เมื่อน้ำขึ้นจะไม่สามารถมองเห็นวัดนี้ได้

 

สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ เมื่อมาถึงสังขละบุรี คือการไปกราบไหว้ เจดีย์พุทธคยา เจดีย์สีทองอร่ามที่มองเห็นแต่ไกลบนยอดที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุข้อนิ้วมือของพระพุทธเจ้า โดยเจดีย์นี้หลวงพ่ออุตตามะได้จำลองแบบมาจากประเทศอินเดียขนาด 1: 1 ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งศักดิสิทธิ์สักการะที่หลวงพ่อท่านสร้างเอาไว้ ตอนที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ณ วันนี้หลวงพ่อได้มรณะภาพลงแล้วแต่สังขารของท่านถูกบรรจุไว้อย่างดีภายในโรงแก้ว โดยได้รับการดูแลจากวังสระปทุม

ในปัจจุบันนี้ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวหรือชาวบ้านที่ค่อยแวะเวียนไปกราบไหว้สักการะสังขารของหลวงพ่ออุตตามะเช่นเคย และนี่แหละครับคือความสัมพันธ์ระหว่างคนที่ถูกเชื่อมโยงติดกับสะพานมอญ โดยมีซองกาเรียขวางกั้น ณ สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี



























































การเดินทาง

 

1.บริษัทขนส่ง(999) จำกัด ที่หมอชิต 2 ลงท่ารถสมาคมเกษตรกรสังขละบุรี
2.รถกรุงเทพฯ-กาญจนบุรี ที่สายใต้ ลงขนส่งกาญจนบุรี ต่อรถตู้ กาญจนบุรี – สังขละบุรี (034-513151)

ที่พัก
แพลุงเณร โทร 089-211-2330
สามประสบรีสอร์ท โทรศัพท์: (034) 595-050

ผู้สนับสนุน

http://www.muangthai.com/images/hug50years.jpg

[mappress mapid="15"]

 
 
: ,,
Share this