เช้าวันเสาร์ที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๕๑ หลังจากจัดเตรียมข้าวของขึ้นรถหมดแล้ว ผมและคณะต่างมีความเห็นตรงกันว่า ก่อนที่จะไปทำกิจกรรมที่โรงเรียนบ้านทดเจริญนั้น น่าจะแวะไปชม “โพธิวิชชาลัย” กันก่อน เนื่องจากได้รับทราบเรื่องราวของที่นี่มาบ้างแล้ว
"โพธิวิชชาลัย" ก็ถือกำเนิดขึ้นมา และอาสาเป็นคำตอบแก่สังคมบนพื้นฐานของแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง กับเนื้อที่ ๖๑ ไร่ของอำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว ดังที่ ผศ. อำนาจ เย็นสบาย รองอธิการบดีฝ่ายเครือข่ายการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผู้จุดประกายแนวคิดดังกล่าวเปิดเผยว่า
“ก่อนที่เราจะสร้างอะไรก็ตาม ความคิดปรัชญาเป็นเรื่องสำคัญมาก ซึ่ง มศว. ใช้เวลาทำความเข้าใจกับชุมชนในพื้นที่จังหวัดสระแก้วนานถึง ๓ ปี โพธิวิชชาลัยจึงเริ่มก่อตัวให้เห็นเป็นรูปเป็นร่างขึ้นได้ เป้าหมายของเราคือต้องการให้ชาวบ้านในท้องถิ่นได้เข้ามามีส่วนร่วมในด้านการศึกษา มาช่วยกันออกแบบการศึกษาที่สามารถตอบสนองความต้องการของชุมชนได้
อย่างตอนนี้จังหวัดสระแก้วเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม ป่าต้นน้ำถูกทำลาย ปัญหาความแห้งแล้ง ไม่เหมาะสำหรับทำการเกษตร ความต้องการของชุมชนคือต้องการพลิกฟื้นให้จังหวัดสระแก้วเป็นสถานที่น่าอยู่ มีที่ทำมาหากินได้ไม่ขาดแคลน ไม่มีปัญหาสิ่งแวดล้อมมากวนใจ และ มศว.ได้เป็นแกนนำดึงทุกภาคส่วนมาจับมือกันเพื่อหาทางแก้ปัญหาผ่านการศึกษา"
บนพื้นที่ ๖๑ ไร่ ของวิทยาลัยโพธิวิชชาลัยนั้น ได้แบ่งออกเป็น ๙ ห้องเรียน และ ๙ ศูนย์ภูมิปัญญาชุมชน โดยจะจัดให้มีปราชญ์ชุมชนในแต่ละอำเภอที่มีความชำนาญในเรื่องต่าง ๆ เข้ามาสอนและให้ความรู้แก่นิสิตของวิทยาลัยแห่งนี้ด้วย ซึ่งเกณฑ์การคัดเลือกปราชญ์ชุมชนนั้นต้องสอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง รวมถึงต้องมีความรู้ สามารถปฏิบัติได้จริง ตลอดถึงถ่ายทอดและอธิบายความรู้ให้นิสิตได้เป็นอย่างดี
"หลายคนอาจยังกังวลเกี่ยวกับความรู้ความสามารถของปราชญ์ชุมชน เนื่องจากเขาไม่มีใบปริญญาบัตรมายืนยันความสามารถ แต่เขามีภูมิปัญญาที่นำมาใช้ได้จริง เหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจ นักวิชาการอาจมองว่าวิทยาลัยเรามีมาตรฐานต่ำกว่าแบบแผนที่วางอยู่ไว้ตอนนี้ เพราะเราไม่มีด็อกเตอร์ ไม่มีอาจารย์ปริญญาโทตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่ที่ว่า เขามองที่อะไร และเราต้องการอะไรมากกว่าครับ"
เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เห็นภาพรวมของโพธิวิชชาลัย อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น ผมขอยกเอาโครงการจัดตั้งโพธิวิชชาลัยโดย มศว. ที่เขียนไว้เบื้องต้น มานำเสนอ ดังนี้ครับ...
ห้องทรงงานของสมเด็จพระเทพฯ ใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในท้องถิ่น อย่างดินลูกรังซึ่งเป็นมิตรกับธรรมชาติ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เราเรียกการก่อสร้างอาคารลักษณะนี้ว่าบ้านดิน ถือเป็นการสร้างอาคารที่เน้นความพอเพียงจริง ๆ เพราะการก่อสร้างนั้นราคาถูก แถมการสร้างอาคารด้วยดินลูกรังนั้นจะเพิ่มความเย็น เป็นการประหยัดพลังงานโดยไม่ต้องใช้เครื่องปรับอากาศ
โครงการจัดตั้งโพธิวิชชาลัย
(๑) หลักการและเหตุผล
ความพยายามในการขับเคลื่อนเรื่องการปฏิรูปการศึกษาที่เกิดขึ้นหลายครั้งหลายหนในสังคมไทย กล่าวได้ว่ามีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมไทยมาตลอด โดยการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ต่างก็ตั้งความมุ่งหวังเอาไว้ว่า การปฏิรูปการศึกษา การปฏิรูปการเรียนรู้ การเปลี่ยนแปลงคนหรือพัฒนาคนโดยผ่านกระบวนการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบ จะเป็นฐานที่มั่นคงของการปฏิรูปเปลี่ยนแปลง
แต่เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงทางสังคมในแต่ละครั้ง โดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่มีเงื่อนไขจากภายในและภายนอกประเทศ ที่ทำให้กระบวนการปฏิรูปทุกภาคส่วนของสังคมอำนวยประโยชน์ให้กับคนกลุ่มน้อยที่มีอำนาจทางทรัพย์สินเงินทุน และอำนาจทางความรู้ในสังคมมาโดยตลอด
การให้ประโยชน์กับคนกลุ่มน้อยในสังคมที่มีอำนาจ ที่คนส่วนน้อยเหล่านั้นมีบทบาทในการผลักดันขับเคลื่อนสังคมไทย ให้มีการพัฒนาไปตามทิศทางของโลกกระแสหลักและเป็นประโยชน์ต่อคนกลุ่มน้อย ได้ส่งผลทำให้เกิดวิกฤติสังคมไทยและสังคมโลกอย่างเชื่อมโยงกันที่หนักหน่วง และรุนแรงยิ่งขึ้น
ปัญหาความยากจน ปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรด้านพลังงานที่เป็นพลังงานยุทธปัจจัย ปัญหาการแย่งชิงและทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งป่าไม้ ดิน น้ำ อากาศจนเกิดภาวะวิกฤติโลกร้อน ปัญหาวิกฤติทางด้านคุณธรรม จริยธรรม และปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจอย่างรุนแรงในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้ส่งผลทำให้กลายเป็นเงื่อนไขที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองตามมาอย่างต่อเนื่อง
ท่ามกลางภาวะที่เกิดขึ้น การปฏิรูปการศึกษา การปฏิรูปการเรียนรู้ เพื่อการพัฒนาคนก็ยังเป็นประเด็นสำคัญที่ถูกหยิบยกขึ้นมาในเชิงวิพากษ์อย่างหนักหน่วงและอย่างรุนแรง จนถึงขั้นสรุปว่าความล้มเหลวของสังคมประเทศชาติ ส่วนสำคัญส่วนหนึ่งเกิดขึ้นเพราะการปฏิรูปการศึกษาที่ล้มเหลว หรือการปฏิรูปการศึกษาเป็นเพียงปฏิรูปรูปแบบหรือปฏิรูปเทคนิคเท่านั้น โดยไม่เคยมีการปฏิรูปการศึกษาในระดับปรัชญา ระดับโครงสร้างหรือระดับกระบวนทัศน์ และหรือระดับฐานคิดแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางวิกฤติปัญหาจากทุกภาคส่วนของสังคมที่กล่าวมา ได้เกิดขึ้นพร้อมกับการเสนอทางออกในหลาย ๆ พื้นที่ขององค์ความรู้
ทางออกของแพทย์ทางเลือก เศรษฐกิจทางเลือก เกษตรทางเลือก การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การผลิตพลังงานทดแทน และการศึกษาทางเลือกฯลฯ เหล่านี้ แม้ในทางลึกของทุกทางเลือก ทุก ๆอนุรักษ์ ทุกๆยั่งยืน จะมีทั้งความเหมือนและความต่างจนเป็นความหลากหลายที่มิได้มีสูตรเฉพาะตายตัว
แต่ประเด็นหลักที่เป็นประเด็นร่วม คือ ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการพัฒนาของระบบโลก หรือทุนนิยมโลกาภิวัตน์ที่เอารัดเอาเปรียบประเทศกำลังพัฒนา หรือด้อยพัฒนาด้วยการสร้างลัทธิล่าอาณานิคมแผนใหม่ รวมทั้งไม่เห็นด้วยกับผู้กุมอำนาจรัฐของสังคมไทยที่อาศัยระบบโลกแสวงหาประโยชน์ใส่ตน หรือไม่เห็นด้วยกับแนวคิดการพัฒนาสังคมไทยที่เอาสังคมโลกเป็นตัวตั้ง
ซึ่งท่ามกลางการนำเสนอแนวคิดทางเลือกใหม่ๆ ของหลายๆพื้นที่องค์ความรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ได้กลายเป็นแนวความคิดทางเลือกหนึ่ง ท่ามกลางกระแสอันเชี่ยวกรากของระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ รวมทั้งเป็นปรัชญาที่ส่งผลทำให้หลายภาคส่วนของสังคมไทยเกิดการหวนกลับมาศึกษาแนวคิดของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ อย่างจริงจังมากขึ้น
จนมีข้อสรุปเบื้องต้นว่าเป็นเวลากว่า ๖ ทศวรรษแล้ว ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานโครงการในพระราชดำริกว่า ๓,๐๐๐ โครงการแก่พสกนิกรปวงชนชาวไทย โดยยึดหลักการทรงงานที่ถือผลประโยชน์ของประชาชน ภูมิสังคม การพึ่งตนเองเป็นฐานรากที่สำคัญนอกจากนั้นยังทรงเน้นย้ำเรื่องของการพัฒนาศักยภาพของคนในทุกมิติ การพัฒนาแบบองค์รวมและการพัฒนาแบบบูรณาการ การจัดทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน (เช่นการใช้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติภายใต้โครงการปลูกป่า ๓ อย่าง แต่ได้ประโยชน์ ๔ อย่าง ) ฯลฯ
ที่สำคัญพระราชดำรัสของพระองค์นับตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๑๗ เป็นต้นมา พระองค์ทรงเน้นย้ำหลักการพัฒนาบนฐานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาโดยตลอด จนกระทั่งเกิดวิกฤติเศรษฐกิจอย่างรุนแรงในปีพุทธศักราช ๒๕๔๐ จนมีการนำแนวพระราชดำริ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้เพื่อการพัฒนาประเทศ ต่อมาในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๙ และฉบับที่ ๑๐ ได้มีการกำหนดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไว้เป็นแนวปฏิบัติเพื่อการพัฒนาและบริหารประเทศอย่างชัดเจน
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เห็นคุณค่าและความสำคัญของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงรวมทั้งเพื่อให้ภารกิจการบริการวิชาการแก่สังคมเป็นรูปธรรมมากขึ้น มหาวิทยาลัยจึงขยายผลของหลักคิดดังกล่าวไปสู่การสร้างกระบวนการความร่วมมือแบบภาคีเครือข่าย หรือเบญจภาคีที่จังหวัดสระแก้ว อันประกอบด้วย ภาคีภาคราชการ ภาคีภาคเอกชน โดยได้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อพลังงานทดแทนและป่าต้นน้ำจังหวัดสระแก้วขึ้น เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๐ ณ ศูนย์วิชาการจังหวัดสระแก้ว ภายใต้วัตถุประสงค์
๑. เพื่อส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้และจัดการความรู้ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงทั้งในระดับครอบครัว และชุมชน
๒. จัดตั้งกลุ่มเกษตรกร และพัฒนาเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน โดยความร่วมมือขององค์กรเบญจภาคีเพื่อแก้ไขปัญหาความเป็นอยู่ของประชาชน
๓. กำหนดเป็นนโยบายของจังหวัดสระแก้ว เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการฟื้นฟูอนุรักษ์ ดิน น้ำ ป่า ด้วยการส่งเสริมการปลูกป่า ๓ อย่าง ประโยชน์ ๔ อย่าง พืช ๕ ชั้น ตามแนวพระราชดำริ และส่งเสริมการปลูกพืชพลังงานด้วยวิธีเกษตรอินทรีย์ เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติภัยแล้งของจังหวัดสระแก้ว
๔. ลดพื้นที่การปลูกพืชเศรษฐกิจต่างถิ่น และสนับสนุนให้ปลูกพืชพลังงานทดแทน เพื่อการพึ่งพาตนเอง ลดการนำเข้าพลังงานน้ำมันจากต่างชาติ
ทั้งนี้ เฉพาะภาคีภาควิชาการ (มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ) มีภารกิจสำคัญ ๔ ประการ คือ
๑. จัดกระบวนการเพื่อการศึกษาเรียนรู้ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
๒. จัดทำข้อมูลเชิงวิชาการและระบบฐานข้อมูล
๓. ติดตามสนับสนุนและสรุปบทเรียนการดำเนินงานทั้งภาคีภาควิชาการ และภาคีร่วม
๔. สนับสนุนให้เกิดหน่วยงานโพธิวิชชาลัยตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
เพื่อให้โครงการดังกล่าวบรรลุจุดหมาย การพิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการเพื่อให้ยุทธศาสตร์การจัดการความรู้เพื่อสังคม สามารถดำเนินการประสานงานและขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญยิ่ง โดยเฉพาะการเป็นแบบๆหนึ่งของการสร้างกระบวนการปฏิรูปการศึกษาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่มีการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
การเป็นแบบ ๆ หนึ่งของความร่วมมือในการทำงานที่ใช้พื้นที่เป็นฐาน การเป็นแบบ ๆ หนึ่งของความรับผิดชอบร่วมกันของธุรกิจภาคเอกชน รวมทั้งเป็นแบบ ๆ หนึ่งของการผลิตบัณฑิตคืนถิ่น ที่ท้องถิ่นในชุมชนและภาคีเครือข่ายมีส่วนร่วมทั้งกระบวนการ
(๒) จุดมุ่งหมาย
๒.๑ เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมความรู้ การศึกษาค้นคว้าวิจัย และโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
๒.๒ เพื่อเป็นแบบอีกแบบหนึ่งของการปฏิรูปการอุดมศึกษา โดยอาศัยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นฐาน
๒.๓ เพื่อสร้างกระบวนการผลิตบัณฑิตคืนถิ่น ที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน โดยชุมชนมีส่วนร่วม แนวการพัฒนาที่มีความสมดุล คำนึงถึงบริบทของชุมชน เพื่อชุมชนเข็มแข็งและยั่งยืน รวมทั้งการจัดการศึกษาในชุมชน เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต
๒.๔ เพื่อร่วมมือกับองค์กรเบญจภาคี และสร้างพลังร่วมที่เอื้อต่อการจัดการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม
๒.๕ เพื่อสร้างแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับชุมชน นักเรียน นิสิตนักศึกษาของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และสถาบันการศึกษาที่สนใจทั่วไป
(๓) หน่วยงานรับผิดชอบ
ยุทธศาสตร์การจัดการความรู้เพื่อสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
(๔) ภาคีเครือข่าย
๔.๑ ภาคีภาควิชาการ ได้แก่ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดสระแก้ว
๔.๒ ภาคีภาคราชการ ได้แก่ จังหวัดสระแก้ว และหน่วยงานด้านความมั่นคง
๔.๓ ภาคีภาคประชาสังคมและสื่อ ได้แก่
- มูลนิธิเศรษฐกิจพอเพียง
- สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง
- มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
- ศูนย์พัฒนาข้อมูลและสื่อทางเลือกจังหวัดสระแก้ว
๔.๔ ภาคีภาคเอกชน บริษัทน้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน)
๔.๕ ภาคีภาคประชาชน แกนนำประชาชนที่เข้ารับการฝึกอบรมจากศูนย์ปราชญ์ชาวบ้าน จังหวัดสระแก้วหลักสูตร “กสิกรรมธรรมชาติสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง”
(๕) สถานที่ตั้งโครงการ
๕.๑ ที่ดินเบื้องต้น (มีเอกสารสิทธิ์) บริจาคโดยบริษัทน้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) และบริษัทขอนแก่นแอลกอฮอล์ จำกัด จำนวน ๖๑ ไร่ อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว
๕.๒ ที่ดินที่เป็นพื้นที่ปฏิบัติการของผู้เรียน ได้แก่ ที่ดินโครงการพื้นที่ราบเชิงเขาในโครงการพระราชดำริ (ปางสีดา ท่ากะบาก คลองเกลือ ภักดีแผ่นดิน ตาพระยา )
(๖) สถานศึกษาและแหล่งการศึกษาเรียนรู้ของโครงการบัณฑิตคืนถิ่นในชุมชน
๖.๑ ใช้พื้นที่ศึกษาเรียนรู้จากองค์กรภาคีภาคประชาสังคมและสื่อ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ จ.สระแก้ว
๖.๒ ใช้พื้นที่จากผู้นำภูมิปัญญาชุมชนในภาคีภาคประชาชน ซึ่งมีความเชี่ยวชาญเรื่องในการดำรงวิถีแบบพอเพียง ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จำนวน ๑๐ แหล่งการเรียนรู้เรื่องดิน น้ำ ป่า เกษตรอินทรีย์ พลังงานทางเลือก การจัดการความรู้และการพัฒนาที่ดินทำกินตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
๖.๓ ใช้พื้นที่จากภาคีภาคเอกชนของบริษัทน้ำตาลขอนแก่น จำกัด(มหาชน) ซึ่งดำเนินการสร้างโรงงานผลิตพลังงานทางเลือก ผลิตน้ำตาลจากเกษตรอินทรีย์ ผลิตปุ๋ยอินทรีย์และพลังงานไฟฟ้า เป็นฐานเรียนรู้
๖.๔ ใช้พื้นที่ ๖๑ไร่ (ที่ดินบริจาค) เป็นสถานเรียนรู้ ศูนย์ทดลองและปฏิบัติการ รวมทั้งเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลผลงานการศึกษาวิจัยศาสตร์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ
๖.๕ ศูนย์วิชาการด้านพืช และปัจจัยการผลิต กรมวิชาการเกษตร
(๗) บุคลากร
บุคลากรทำหน้าที่สอน ประกอบด้วย
๗.๑ คณาจารย์จากคณะวิชาต่าง ๆ ที่มีองค์ความรู้เกี่ยวข้องกับโครงการ
๗.๒ อาสาสมัครรับเชิญทั่วไปและอาสาสมัครจากผู้เคยได้รับทุนการศึกษาทุนภูมิพล
๗.๓ ผู้นำชุมชนและปราชญ์ชุมชน
๗.๔ บุคลากรจากองค์กรเบญจภาคี ที่อยู่นอกภาคีภาคราชการ
(๘) ผู้เรียน
๘.๑ ระยะแรก จากพื้นที่จังหวัดสระแก้ว
๘.๒ ระยะที่สอง จาก ๘ จังหวัดภาคตะวันออก
๘.๓ ระยะที่สาม จากพื้นที่ทั่วไป
(๙) ทุนการศึกษา
๙.๑ ระยะแรก ทุนการศึกษาจนจบหลักสูตร (๔ - ๕ ปี) นิสิตรุ่นแรกจากการบริจาคจากภาคีภาคเอกชน เพื่อผลิตบัณฑิตคืนถิ่น
๙.๒ ระยะที่สอง ระดมทุนจากธุรกิจภาคเอกชน ๘ จังหวัดภาคตะวันออกเป็นทุนการศึกษา
(๑๐) ผลที่คาดว่าจะได้รับ
๑๐.๑ เกิดแหล่งศึกษาเรียนรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในวาระมหามงคลปีพุทธศักราช ๒๕๕๐
๑๐.๒ เกิดตัวอย่างของการปฏิรูปการศึกษาแบบหนึ่ง ที่มีปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นฐาน
๑๐.๓ มีการเรียนการสอนและการผลิตบัณฑิตคืนถิ่นภายใต้แนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเป็นรูปธรรม
๑๐.๔ เกิดต้นแบบของความร่วมมือแบบภาคีเครือข่ายที่มีทั้งความคิดและการกระทำอย่างเป็นจริง
๑๐.๕ เกิดแหล่งการเรียนรู้แหล่งใหม่ที่เชื่อมโยงกับปัญหาวิกฤติชุมชน ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
****************************
"โพธิวิชชาลัยจะไม่ใช่การศึกษาของนักวิชาการในรั้วมหาวิทยาลัยเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป หากแต่เป็นการร่วมมือของคนทุกภาคส่วนของจังหวัดสระแก้วเข้าด้วยกัน การเรียนที่นี่ เราต้องการปลูกฝังเรื่องคุณธรรมจริยธรรมให้มาก ไม่ใช่เรียนจบแล้วก็ทอดทิ้งชุมชน หนีจากจังหวัดสระแก้วไปทำงานที่อื่น หรือเอาความรู้ไปเบียดเบียนคนอื่น ผมมั่นใจว่าหลักสูตรของเราสามารถทำได้ครับ"