การเลือกซื้อกล้องดิจิตอล
สมาชิกเลขที่17991 | 19 ก.ค. 54
2.2K views

การเลือกซื้อกล้องดิจิตอล จะเลือกซื้อกล้องดิจิตอลอย่างไรดี

      นับเป็นปัญหายอดนิยมของผู้ที่สนใจหรือกำลังจะตัดสินใจเลือกซื้อกล้องดิจิตอลมาไว้ใช้งานสักตัวหนึ่ง ทั้งนี้เป็นเพราะว่ากล้องดิจิตอลในปัจจุบันมีให้เลือกซื้อมากมาย ทั้งยี่ห้อเดียวกับผู้ผลิตกล้องใช้ฟิล์ม และยี่ห้อใหม่ๆอีกนับไม่ถ้วน รวมทั้งยี่ห้อของผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลายนับรวมทั้งหมดแล้วเกือบๆ 200 รุ่นทีเดียว การที่จะตัดสินใจเลือกซื้อกล้องดิจิตอลสักหนึ่งตัวจึงนับเป็นเรื่องที่น่าปวดหัวไม่น้อย โดยเฉพาะบรรดามือใหม่ที่ไม่เคยรู้เรื่องกล้องดิจิตอลมาก่อน บทความนี้ใช้เป็นแนวทางในการตัดสินใจของคุณ
           (1) งบประมาณ ก่อนอื่นต้องมาดูกันว่าคุณจะตั้งงบไว้สักเท่าใด ในการหาซื้อกล้องดิจิตอลคู่ใจ เพราะ ราคาในตลาดมีตั้งแต่กล้องแบบง่ายๆ ราคาไม่กี่พันบาท ซึ่งทำอะไรไม่ได้มากนัก ที่พอใช้ได้จะเริ่มจากหมื่นต้นๆ ไล่เรียงลำดับไปตามสเปคและคุณภาพที่ดีขึ้นจนถึงหลักแสนหรือหลายๆแสน เมื่อตั้งงบไว้แล้วเช่น สองหมื่นบาทก็มองหาเฉพาะกล้องที่อยู่ในงบของเรา รุ่นที่มีราคาสูงกว่ามาก เช่น4-5 หมื่นบาทคงไม่ต้องนำมาพิจารณาให้ปวดหัว
           (2) เซ็นเซอร์ภาพ ถ้าดูตามสเปคมักจะเขียนว่า Image sensor หรือ Image recording พูดง่ายๆก็ คืออุปกรณ์ที่ใช้รับภาพแทนฟิล์มนั่นเอง บางยี่ห้อใช้ CMOS แต่ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดใช้ CCD ขนาดใหญ่บ้าง เล็กบ้าง แต่ใหญ่กว่าย่อมได้เปรียบ เพราะเก็บรายละเอียดได้มาก (แพงกว่า) อาจจะดูจากสเปคว่าใช้ CCD ขนาดเท่าใดเช่น 1/1.8 นิ้ว, 1/2.7 นิ้ว หรือ 2/3 นิ้ว (วัดตามแนวทแยงมุม)
           (3) ความลึกของสี หรือ Bit Depth บางทีก็เรียก Color Depth ยิ่งมีความลึกของสีมากเท่าใด ก็ เก็บรายละเอียดของเฉดสีได้ดีมากขึ้น เช่น 10 บิต/สี หรือ 12บิต/สี หมายความว่าสีธรรมชาติมี 3 สีคือ RGB ถ้า 1 สี แสดงได้ 13 บิต 3 สีก็จะได้ 36 บิต เป็นต้น ถ้าเป็นกล้องระดับ ไฮเอนด์ อาจจะทำได้ถึง 16 บิต/สี หรือ 48 บิตที่ RGB นั่นก็เทียบท่ากับฟิล์มสไลด์ดีๆนี่เอง แต่ไม่รู้ว่าทำไมมีกล้องบางยี่ห้อ บางรุ่นเท่านั้นที่เปิดเผยว่ากล้องของตัวเองมีระดับความลึกของสีเท่าใด ยิ่งถ้าเป็นกล้องที่สเปคต่ำเช่น 8 บิต/สี (อันที่จริงก็เยอะแล้ว เพราะจะได้ 24 บิตที่ RGB แสดงสีได้ 16.7 ล้านเฉดสี) แทบไม่อยากจะพูดถึงกันเลย แต่ถ้ากล้องระดับโปรมักจะโชว์ตัวเลขให้เห็นเลยว่าใครได้มากกว่ากัน การที่เฉดสีน้อยจะทำให้การแยกสีไม่ดีเท่าที่ควร เช่น กลีบดอกไม้สีแดงเข้มแดงปานกลางและแดงอ่อน ดูด้วยตาเปล่าก็ไล่เฉดสีกันดี แต่ถ้าถ่ายออกมากลายเป็นสีแดงสีเดียว ถ้าใช้ฟิล์มสไลด์จะได้ใกล้เคียงกับตาที่เห็น (สไลด์โปรจะทำได้ดีกว่า)
           (4) ดูความละเอียด ต้องดูที่ Effective เวลาซื้อกล้องดิจิตอลเรามักจะได้ยินคนขายบอกว่า ตัวนี้ 3 ล้าน พิกเซล ตัวนี้ 4 ล้านพิกเซล แต่ส่วนใหญ่เป็นความละเอียดของเซ็นเซอร์ภาพ ขนาดภาพจริงจะน้อยกว่านั้น ลองดูสเปคในคู่มือหรือโบรชัวร์ หาคำว่า Effective ซึ่งก็คือขนาดภาพจริงๆ ที่จะได้ เช่นโบรชัวร์บอกว่า 5.24 ล้านพิกเซล แต่ตามสเปคระบุชัดว่าขนาดภาพใหญ่สุดที่ได้คือ 2560x1920 พิกเซล ถ้าคูณดูก็จะได้ 4.9 ล้านพิกเซล
           (5) Interpolate ในกล้องบางรุ่น ถ้าเราดูที่ขนาดภาพตามสเปคอาจจะแปลกใจเพราะคูณออกมาแล้ว ได้ความละเอียดมากกว่าเดิมเช่น CCD 3 ล้านพิกเซล แต่ได้ขนาดภาพถึง 6 ล้านพิกเซล ทั้งนี้เป็นเพราะมีการใช้เทคโนโลยีบางอย่างเพิ่มความละเอียดให้สูงขึ้นนั่นเอง เช่น Super CCD ของ Fuji หรือ HyPict ของ EPSON เป็นต้น แต่คุณภาพจะดีไม่เท่ากับความละเอียดแท้ๆ ของ CCD อย่างไรก็ตามก็นับว่าเป็นการเพิ่มคุณภาพให้ดีกว่าเดิมโดยช้เทคโนโลยีมาช่วย ต่างกับการนำภาพไปเพิ่มความละเอียดด้วยซอพท์แวร์ เช่น Adobe Photoshop ซึ่งคุณภาพจะแย่ลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเพิ่มความละเอียดถึง 1 เท่าแบบนี้ วิธีการนี้เรามักจะเรียกกันว่า
Interpolate ซึ่งกล้องที่มีฟังก์ชั่นเหล่านี้ จะมีเมนูให้เลือกว่าจะใช้หรือไม่
           (6) ปรับลดขนาดภาพ แม้ว่ากล้องที่มีความละเอียดจะเป็นเรื่องที่ดีแต่ต้องไม่ลืมว่าขนาดไฟล์ที่ได้จะ ใหญ่มากกินแมมมอรี่ในการ์ดมาก ถ้าการ์ดความจุน้อยๆ เช่น 16 MB ใช้กล้อง 3 ล้านพิกเซล ถ่ายไปไม่กี่ภาพก็เต็มแล้ว ต้องใช้การ์ดที่มีความจุสูงๆ บางครั้งเราต้องการเพียงแค่บันทึกเตือนความจำหรือใช้ส่งอีเมล์หรือไม่ก็ใช้ประกอบเวบไซต์ซึ่งต้องมาลดความละเอียดด้วย Photoshop หรือโปรแกรมอื่นๆให้เหลือแค่ 640 x 480 พิกเซล หรือเล็กกว่านั้น แต่กล้องดิจิตอลส่วนใหญ่จะเลือกขนาดภาพได้หลายแบบ เพื่อให้เหมาะกับงานที่จะนำไปใช้ เช่น Olympus E-20 เลือกขนาดภาพได้ 5 ระดับ เล็กสุดที่ 640 x 480 พิกเซล เป็นต้น
           (7) การตอบสนองหรือ Response อันนี้กล้องดิจิตอลเกือบทั้งหมดไม่ยอมระบุไว้ในสเปคกล้องของ ตัวเอง แต่ถ้าเป็นกล้องโปรอย่าง Canon EOS-1D หรือ Nikon D1x จะถือว่าเป็นจุดเด่น เอามาคุยไว้ในโบรชัวร์กันเลย ทั้งสองรุ่นนี้การตอบสนองตั้งแต่เปิดสวิตซ์กล้องแล้วพร้อมที่จะกดซัตเตอร์ถ่ายภาพได้ ใช้เวลาไม่ถึง 1 วินาที เกือบจะเท่ากับกล้องออโต้โฟกัส 35 มม.ที่ใช้ฟิล์มทีเดียว (เร็วกว่ากล้องคอมแพ็ค 35 มม.) ทำให้ไม่ค่อยรู้สึกว่าใช้กล้องดิจิตอลหรือใช้ฟิล์ม
           (8) Buffer ยิ่งมากยิ่งดี การที่มีบัฟเฟอร์หรือหน่วยความจำในตัวกล้องมากๆจะช่วยให้การถ่ายภาพ เป็นไปอย่างต่อเนื่องรวดเร็วกล่าวคือ หลังจากที่เรากดชัตเตอร์ถ่ายภาพไปแล้ว ข้อมูลภาพที่ผ่านอิมเมจ โปรเซสซิ่งจะถูกพักเก็บไว้ก่อนที่จะบันทึกลงการ์ดต่อไป (ขณะบันทึกมักใช้ไฟสีเขียวหรือสีแดงกระพริบเตือนให้หราบ) วิธีนี้ทำให้เราถ่ายภาพต่อไปได้เลย ไม่ต้องรอบันทึกลงการ์ดให้เสร็จเสียก่อน ถ้าบัฟเฟอร์เยอะก็จะถ่ายต่อเนื่องได้เร็วและได้หลายๆภาพติดต่อกัน เช่น สเปคกล้องระบุว่าถ่ายภาพต่อเนื่องได้เร็ว 3 ภาพต่อวินาที ติดต่อกันรวดเดียว 10 ภาพ หมายถึงว่าถ้าครบ 10 ภาพจะกดซัตเตอร์ต่อไปไม่ได้ เพราะบัฟเฟอร์เต็มแล้ว ต้องรอให้บันทึกลงการ์ดก่อน เมื่อมีที่ว่างเหลือพอก็จะถ่ายต่อได้อีก โดยไม่ต้องรอให้เก็บภาพลงการ์ดครบทั้ง 10 ภาพก่อน ในกล้อง Nikon D1x และ Canon EOS 1D มีบัฟเฟอร์อย่างเหลือเฟือ เมื่อกดซัตเตอร์ไปแล้วสามารถเปิดดูภาพซูมขยายดูส่วนต่าง ๆ ของภาพหรือลบภาพทิ้งได้ทันที แทบไม่ต้องรออะไรเลย แต่ในบางยี่ห้ออาจต้องรอนานเป็นนาทีก่อนจะเปิดดูภาพได้
           (9) ไฟล์ฟอร์แมท RAW ถ้ามีก็ดี กล้องระดับไฮเอนด์มี่มีความละเอียดสูง จะมีฟอร์แมทที่เรียกว่า RAW ให้เลือกนอกเหนือจาก JPEG หรือ TIFF ทั้งนี้เพราะในฟอร์แมท RAW จะเก็บข้อมูลความลึกของสีได้ดีกว่า เช่น Nikon D1x ฟอร์แมท RAW จะได้ 12 บิต/สี แต่ถ้าเป็น JPEG จะเหลือ 8 บิต/สี เป็นต้น และยังมีไฟล์ขนาดเล็ก โดยที่คุณภาพไม่ได้ลดลงแต่การเปิดชมภาพต้องใช้กับซอพท์แวร์ที่มาพร้อมกับกล้องเท่านั้น นอกจากนี้ภาพในฟอร์แมท RAWยังสามารถปรับแต่ง หรือแก้ไขภาพให้ดีเหมือนกับการถ่ายภาพใหม่อีกครั้ง เช่นการปรับภาพให้สว่างหรือมืดลง การปรับไวท์บาลานซ์ เป็นต้น
           (10) ไวท์บาลานซ์หรือสมดุลย์แสงขาว ฟังก์ชั่นนี้มีในกล้องดิจิตอลทุกรุ่น ซึ่งที่ผ่านมาเราจะรู้จักไวท์บา ลานซ์ ในกล้องวีดีโอซึ่งใช้ CCD รับภาพเช่นกัน ส่วนใหญ่จะมีระบบไวท์บาลานซ์อัตโนมัติ ทำให้ภาพถ่ายมีสีสันถูกต้องไม่ว่าจะถ่ายภาพกลางแจ้งหรือสภาพแสงอื่นๆ ที่มีอุณหภูมิสีแตกต่างกัน ถ้าเป็นกล้องใช้ฟิล์มซึ่งสมดุลย์กับแสงกลางวันที่มีอุณหภูมิสี 5000-5500 องศาเคลวิน จะได้ภาพที่มีสีถูกต้อง เมื่อถ่ายภาพด้วยแสงกลางวันหรือแสงแฟรชเท่านั้น ถ้าอยู่ในที่ร่มอุณหภูมิสีจะสูงภาพจะมีโทนสีฟ้า หรือช่วงเย็นอุณหภูมิสีต่ำภาพจะมีโทนสีส้มแดง แต่กล้องดิจิตอลจะให้สีถูกต้องเสมอ และยังมีระบบ Preset ให้ปรับตั้งตามสภาพแสงแบบต่างๆ อีกแต่ละรุ่นเลือกได้ไม่เท่ากัน เช่น แสงดวงอาทิตย์ แสงในที่ร่ม แสงจากไฟฟลูออเรสเซ้นส์ในอาคาร แสงไฟทังสเตน เป็นต้น กล้องบางรุ่นมีระบบถ่ายภาพคร่อมไวท์บาลานซ์ โดยจะถ่ายภาพ 3 หรือ 5 ภาพ ติดต่อกัน แต่ละภาพมีการปรับเปลี่ยนอุณหภูมิสีที่แตกต่างกัน จากนั้นเลือกเก็บไว้เฉพาะภาพที่มีโทนสีถูกต้องสมจริงมากที่สุด หรือจะปรับแก้อุณหภูมิสีด้วยซอพท์แวร์ที่แถมมาพร้อมกับกล้องก็ได้
           (11) กล้องคอมแพคดิจิตอลรุ่นเล็ก ราคาประหยัดจะใช้เลนส์เดี่ยว ซูมไม่ได้ เช่น 35 มม. ดีขึ้นมาหน่อย จะซูมได้ 2-3 เท่า เช่น 35-70 มม. หรือ 35-105 มม. เป็นต้น ตัวเลขนี้เป็นการเปรียบเทียบกับกล้องใช้ฟิล์ม 35 มม. แต่ถ้าดูที่ตัวเลนส์จริงๆ จะระบุตัวเลขน้อยกว่ามาก ทั้งนี้เพราะ CCD ขนาดเล็กกว่าฟิล์มมากนั้นเอง เช่น Minolta Dimage 7 เลนส์ 7.2-50.8 มม. เทียบเท่ากับ 28-200 มม. ถ้าเป็นเลนส์ซูมที่เริ่มต้นด้วยมุมกว้างมากกว่า จะใช้ประโยชน์ในที่แคบๆได้ดีกว่า เช่น เริ่มที่ 28 มม. หรือ 30 มม.
           (12) ดิจิตอลซูม ลูกเล่นที่มีก็ดีไม่มีก็ไม่เป็นไรเวลาดูโฆษณากล้องดิจิตอลว่าซูมได้มากน้อยแค่ไหน ให้ดู ที่ Optical Zoom ซึ่งจะบอกไว้ในสเปค เช่น 3x ก็คือ 3 เท่า นับจากเลนส์ช่วงกว้างสุด เช่น 30-90 มม.และบอกต่อว่ามีดิจิตอลซูม 2x รวมแล้วซูมได้ 6x คือ 30-180 มม. แต่ในควาเป็นจริงช่วงซูมที่ดิจิตอลสูงสุด 180 มม.นั้น ขนาดภาพจะเล็กลงด้วย เช่น ความละเอียด 3 ล้านพิกเซล ถ้าซูมที่ดิจิตอลจะเหลือแค่ 1.5 ล้านพิกเซล เป็นต้น ไม่ใช่ว่าซูมได้มากๆ โดยที่ความละเอียดเท่าเดิม หากคุณใช้ Optical ซูม 3 เท่า ถ่ายภาพที่ 3 ล้านพิกเซล แล้วเอารูปมาครอปหรือตัดส่วนให้เหลือ 1.5 ล้านพิกเซล เท่ากับว่ารูปนั้นถูกถ่ายด้วยเลนส์ซูม 6 เท่าเช่นกัน แต่ถ้าใช้ดิจิตอลซูมตั้งแต่แรกก็จะสะดวกขึ้นบ้างตรงที่ไม่ต้องมาตัดส่วนภาพทีหลัง และกล้องดิจิตอลเมื่อใช้ดิจิตอลซูมคุณภาพจะไม่ลดลง (ลดแต่ขนาดภาพ) ต่างกับกล้องวีดีโอ ยิ่งซูมดิจิตอลมากเท่าไหร่ก็หยาบมากขึ้น เพราะเอาภาพที่มีอยู่แล้วมาขยายใหญ่นั่นเอง
           (13) จอมอนิเตอร์ อยากจะเรียกว่าอุปกรณ์เปลืองแบตเตอรี เพราะส่วนนี้ใช้พลังงานจากแบตเตอรีมาก ขนาดไม่ได้ใช้  เปิดจอทิ้งไว้ไม่นานแบตเตอรีที่ซื้อมาใหม่หรือชาร์จเต็ม ๆ ก็หมดลงอย่างรวดเร็ว กล้องดิจิตอลที่ดีควรจะปรับความสว่างได้ และแสดงสีได้ถูกต้องตามธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยให้การจัดการสีกับคอมพิวเตอร์ และเครื่องพิมพ์ภาพสีเป็นไปอย่างราบรื่นถูกต้องตรงกันมากที่สุด จอมมอนิเตอร์ที่ผิดเพี้ยน (แม้ว่าภาพจะให้สีถูกต้องเมื่อเปิดจากคอมพิวเตอร์) จะดูแล้วชวนหงุดหงิดคิดว่ารูปจะออกมาเพี้ยนตามจอ อย่าลืมดูเสปคด้วยว่ามีฟังก์ชั่นซูมภาพที่ถ่ายไปแล้วได้หรือไม่ และซูมได้มากน้อยแค่ไหน ยิ่งมากยิ่งดี ถ้าได้ถึง 100% จะดีที่สุด เพราะเห็นภาพได้เต็มๆ ว่าแต่ละจุดคมชัดแค่ไหน ระยะชัดลึกครอบคลุมหมดหรือเปล่า ถ้าไม่ดีจะได้ถ่ายใหม่ กล้องบางรุ่น เช่น Sony DSC-F707 ออกแบบให้พลิกตัวกล้องกับเลนส์ได้ ทำให้สะดวกในการถ่ายภาพมุมสูงหรือมุมต่ำ บางรุ่นพลิกหมุนได้รอบ เช่น Canon G2
           (14) Optical Viewfinder ในเมื่อการดูภาพจากจอมอนิเตอร์สิ้นเปลืองแบตเตอรีมาก เราก็ควรมาดู ภาพจากจอแบบออฟติคัลแทนเพราะใช้พลังงานเพียงเล็กน้อยเท่านั้นจากการซูมให้สัมพันธ์กับทางยาวโฟกัสของเลนส์แต่กกล้องบางรุ่นไม่มีช่องมองภาพแบบนี้มาให้จึงควรดูเสปคให้ดีด้วย ข้อเสียของช่องมองภาพออฟติคอล คือไม่ได้มองภาพผ่านเลนส์เวลาถ่ายภาพใกล้จะเกิดการเหลื่อมล้ำกัน ต้องดูภาพด้านบนไม้ให้เกินเส้นขีดที่แสดงไว้ ถ้าต้องถ่ายภาพจากจอมอนิเตอร์แทนจะดีกว่า แต่กล้องบางรุ่นจอมอนิเตอร์มีไว้เพื่อดูภาพ
ที่ถ่ายไปแล้วกับดูเมนูต่างๆเท่านั้น
           (15) บันทึกเสียงลงในไฟล์ภาพได้ ลูกเล่นนี้มีเฉพาะในกล้องบางรุ่นเท่านั้น แต่ใช้ประโยชน์ได้มาก ส่วนใหญ่จะบันทึกได้นาน 5-15 วินาที ซึ่งก็พอเพียงกับการเตือนความทรงจำต่างๆ เช่น พูดเรื่องสถานที่ วันที่ เวลา หรืออื่นๆ ตามที่ต้องการสามารถ เปิดฟังก็ได้เมื่อใช้โหมดเปิดชมภาพจากจอมอนิเตอร์หรือจากคอมพิวเตอร์
           (16) วีดีโอคลิป กล้องถ่ายภาพนิ่งดิจิตอลบางรุ่นถ่ายภาพเคลื่อนไหวได้ด้วยรูปแบบคล้ายกับกล้องวีดีโอ แต่ส่วนใหญ่มีภาพขนาดเล็กมาก เช่น 320 x 240 พิกเซล แต่บางรุ่นเช่น Fuji FinePix S602 ถ่ายวีดีโอได้ขนาด 640 x 480 เท่ากับกล้องวีดีโอทั่วไป บางรุ่นถ่ายภาพเคลื่อนไหวอย่างเดียว แต่บางรุ่นบันทึกเสียงได้ด้วย ฟอร์แมทภาพมีทั้งแบบ MPEG และ QuickTime โดยถ่ายภาพที่ความเร็ว 10-15 ภาพ/วินาที ภาพที่ได้จึงดูกระตุกบ้างนิดหน่อย แต่ขนาดไฟล์จะเล็กมาก เหมาะสำหรับใช้ส่งภาพไปทางอีเมล์  ถ้าเปิดดูจากโทรทัศน์จะเห็นเป็นภาพเล็กๆ ไม่เต็มจอ กล้องรุ่นใหม่ๆมีฟอร์แมท MPEG EX ถ่ายวีดีโอคลิปได้นานไม่จำกัดเวลา ขึ้นอยู่กับการ์ดที่ใช้
           (17) ระบบโฟกัส กล้องดิจิตอลเกือบทุกรุ่นเป็นระบบออโต้โฟกัส ทำงานได้รวดเร็วไม่แตกต่างกันมากนัก บางรุ่นมีจุดโฟกัสเฉพาะตรงกลางภาพ แต่บางรุ่นมี 3 หรือ 5 จุด กระจายอยู่ทั่วทั้งภาพ ไม่ว่าตัวแบบหรือสิ่งที่ต้องการจะอยู่ในตำแหน่งใด ก็จะปรับโฟกัสได้อย่างแม่นยำ โดยกล้องจะเลือกจุดโฟกัสอัตโนมัติ หรือเลือกเองก็ได้แต่บางครั้งเราจำเป็นต้องใช้ระบบแมนนวลโฟกัสเพื่อผลพิเศษบางอย่างระบบแมนนวลโฟกัสมักจะให้เลือกตัวเลขระบุระยะโฟกัสเอง ซึ่งผิดพลาดได้ง่าย กล้องบางรุ่นมีวงแหวนหมุนปรับโฟกัส จะแม่นยำกว่า คล้ายกับกล้อง SLR นอกจากนี้มีโหมดอินฟินิตี้ (สัญลักษณ์รูปภูเขา) สำหรับการถ่ายภาพสิ่งที่อยู่ระยะไกลกล้องจะถ่ายภาพ ได้เร็วขึ้นเพราะไม่ต้องปรับหาโฟกัสอีก และควรพิจารณาดูโหมดถ่ายภาพมาโครด้วยว่ามีหรือไม่ แม้ว่ากล้องบางรุ่นจะระบุว่าถ่ายได้ใกล้สุดเพียงไม่กี่เซ็นติเมตร แต่เป็นการถ่ายภาพที่ช่วงซูมมุมกว้าง (เหมือนกล้องวีดีโอ) ซึ่งใช้ประโยชน์ได้ไม่ดีเท่ากับมาโครที่ช่วงเทเล ลองซูมเลนส์ที่ช่วงเทเลดูแล้วถ่ายภาพใกล้ๆ ดูว่ามากน้อยแค่ไหน
           (18) ระบบแฟลช กล้องคอมแพ็คดิจิตอลส่วนใหญ่มีแฟลชขนาดเล็กในตัว ทำงานอัตโนมัติเมื่อแสงน้อย เกินไป และมีระบบแฟลชกับความเร็วชัตเตอร์ต่ำทำให้การใช้แฟลช ถ่ายภาพเวลากลางคืนฉากหลังไม่ดำทึบ หรือระบบสัมพันธ์แฟลชที่ม่าน ชัตเตอร์ที่สองเพื่อการใช้เทคนิคพิเศษถ่ายภาพเคลื่อนไหว ระบบแฟลชแก้ตาแดงเมื่อใช้ถ่ายภาพคนในระยะใกล้แบบตรงๆ แต่จะดีมากถ้าสามารถใช้แฟลชภายนอกได้ ซึ่งกล้องบางรุ่นจากผู้ผลิตกล้องใช้ฟิล์ม เช่น Canon Minolta และ Nikon มีฮอทชูเสียบแฟลชมาด้วย สำหรับนำแฟลชของกล้อง 35 มม. มาใช้ เป็นการเสริมประสิทธิภาพของกล้องให้สูงมากยิ่งขึ้น
           (19) ระบบบันทึกภาพสำหรับฟังก์ชั่นการถ่ายภาพจะไม่แตกต่างกับกล้องใช้ฟิล์มมากนักส่วนใหญ่มี ระบบโปรแกรมอัตโนมัติเป็นหลักโดยกล้องจะเลือกค่าความเร็วชัตเตอร์ และรูรับแสงที่เหมาะสมถ้าแสงน้อยก็จะปรับความไวแสงให้สูงขึ้น(เลือกโหมดความไวแสงที่ออโต้) ทำให้ใช้งานง่ายถ้าหากคุณมีความรู้เรื่องเทคนิคการถ่ายภาพก็อาจใช้โหมดออโต้ชัตเตอร์ ออโต้รูรับแสงหรือแมนนวล และในระบบอัตโนมัติยังมีฟังก์ชันปรับชดเชยแสง กรณีที่ต้องถ่ายภาพย้อนหลังหรือภาพที่มีแสงพอดี นอกจากนี้ยังมีระบบถ่ายภาพคร่อม โดยกล้องจะถ่ายภาพต่อเนื่อง 3 หรือ 5 ภาพ ในแต่ละภาพมีค่าแสงที่แตกต่างกันตามที่กำหนดไว้ บางรุ่นมีระบบถ่ายภาพคร่อมซ้อนด้วยเพื่อสร้างสรรค์ภาพพิเศษบางอย่าง
           (20) ความไวแสงหรือ ISO กล้องดิจิตอลมีข้อได้เปรียบกล้องใช้ฟิล์มอย่างมากในเรื่องของการปรับตั้ง ค่าความไวแสงฟิล์ม หากเป็นกล้องคอมแพ็คดิจิตอลที่มีราคาถูก อาจจะมีค่าความไวแสงคงที่เช่น ISO 100 อย่างไรก็ตามกล้องดิจิตอลเกือบทั้งหมดจะปรับเปลี่ยนค่าความไวแสงได้ เช่น ISO 100-800 เป็นต้น โดยมีทั้งระบบออโต้เมื่อถ่ายภาพในสภาพแสงน้อย กล้องจะเพิ่มความไวแสงให้สูงขึ้น ทำให้ถ่ายภาพได้โดยไม่ต้องใช้ขาตั้งกล้อง แต่ความไวแสงที่สูงจะมีการเหลี่ยมล้ำของสีหรือ Noise เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ บางรุ่นมีฟังก็ชั่นลด Noise เรียกว่า Noise Redution หรือจะเลือกปรับตั้งค่าความไวแสงเองแบบแมนนวลก็ได้
           (21) แบตเตอรี กล้องถ่ายภาพดิจิตอล ต้องการพลังงานมากกว่ากล้องใช้ฟิล์มหลายเท่าเพราะระบบ ทำงานเป็นแบบอิเล็กทรอนิกส์ ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์และยังมีจอมอนิเตอร์ที่ใช้ดูและเปิดชมภาพซึ่งกินไฟมากทีเดียว สำหรับผู้ใช้ที่ไม่คุ้นเคยอาจจะแปลกใจเมื่อใช้แบตเตอรีใหม่ แต่ถ่ายภาพได้ไม่กี่สิบภาพแบตเตอรีก็หมดแล้ว    หากกล้องระบุให้ใช้แบตเตอรีแบบ  AA ซึ่งใช้ได้ทั้งอัลคาไลน์และลิเธี่ยม  ขอแนะนำให้เปลี่ยนไปใช้แบตเตอรีชาร์จแบบ Ni-MH จะใช้งานได้นานกว่า และควรเลือกชนิดที่มีกำลังไฟสูงเช่น 1,800 หรือ 2,000 มิลลิแอมป์ โดยทั่วไปแบตเตอรีชนิดนี้ชาร์จไฟใหม่ได้ 500-1,000 ครั้งทำให้ประหยัดกว่า ส่วนกล้องที่ใช้แบตเตอรีแพคแบบ Li-MH หรือ Li-on ที่แถมมาพร้อมกล้องจะใช้งานได้ดีอยู่แล้วแต่ควรซื้อแบตเตอรีสำรองเพิ่มอีกอย่างน้อยหนึ่งก้อน เพราะในกรณีฉุกเฉิน จะเปลี่ยนไปใช้แบตเตอรีธรรมดาทั่วๆไปไม่ได้เหมือนกับกล้องที่ใช้แบตเตอรี
AA


ที่มา : http://www.sonirodban.com
Share this