เขียน โดย Annisa Rahmawati
น้ำมันปาล์มที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของแบรนด์ดังทั่วโลกนั้น “สะอาด” แค่ไหน? ขณะนี้กรีนพีซกำลังเผยผลจากการสำรวจว่าบริษัทต่างๆ กำลังทำตามสัญญาที่จะหยุดยั้งการทำลายป่าไม้ในประเทศอินโดนีเซียเพื่อปาล์มน้ำมัน ลองมาดูกันสิว่าแต่ละบริษัททำได้ดีแค่ไหน และใครยังคงล้าหลัง
ไฟป่าที่กาลิมันตันตะวันตก เมื่อเดือนกันยายน 2558
ไฟป่าครั้งใหญ่ที่สุดของศตวรรษได้เกิดขึ้นที่ประเทศอินโดนีเซียเมื่อ 6 เดือนที่ผ่านมา โดยได้เผาผลาญผืนป่าฝนเขตร้อนและป่าพรุที่อุดมสมบูรณ์บนพื้นที่หลายล้านเฮคตาร์จนเหลือเพียงเถ้าถ่าน และในผืนป่าแห่งนี้เองเป็นบ้านหลังสุดท้ายของอุรังอุตังซึ่งพบในประเทศอินโดนีเซียเท่านั้น
ปัญหาไฟป่าในประเทศอินโดนีเซียอาจฟังดูเป็นประเด็นที่ไกลตัว แต่ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ผลการสำรวจของกรีนพีซได้เผยว่าผลิตภัณฑ์ในครัวเรือนและห้องน้ำที่เราใช้ในชีวิตประจำวันนั้นมีส่วนโดยตรงกับการทำลายป่าฝนเขตร้อนของประเทศอินโดนีเซีย
นอกจากควันมลพิษแล้ว เด็กๆ ในกาลิมันตันก็ยังคงเล่นกันโดยไม่มีการป้องกันมลพิษ ปัญหาไฟป่าอินโดนีเซียนั้นส่งผลกระทบต่อสุขภาพของชาวอินโดนีเซียหลายล้านคน ทำให้เกิดโรคทางปอดและหัวใจ และทำให้เด็กทารกแรกเกิดมีสุขภาพอ่อนแอ
สำหรับคนทั่วไปแล้ว การเป็นส่วนหนึ่งของทางออกนั้นไม่ง่ายดายเหมือนกับการเปลี่ยนแปลงนิสัยการช้อปปิ้ง น้ำมันปาล์มนั้นอยู่ในส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในขนม Doritos ยาสีฟัน Colgate หรือสบู่เด็ก Johnson & Johnson น้ำมันปาล์มนั้นแทรกอยู่ในผลิตภัณฑ์จำนวนมากจนยากที่จะเลี่ยงได้ และถึงแม้จะเลี่ยงได้น้ำมันปาล์มก็ยังไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาคือการทำลายป่า แต่สิ่งเดียวที่จะหยุดยั้งปัญหานี้ก็ต่อเมื่อบริษัทต่างๆ รับผิดชอบต่อน้ำมันปาล์มที่ตนเลือกซื้อ
เศษซากที่หลงเหลือของป่าพรุที่ถูกเผาเพื่อเคลียร์พื้นที่เตรียมปลูกปาล์มน้ำมัน (ปี 2549)
ต้นอ่อนปาล์มน้ำมันบนพื้นที่ป่าพรุ (2553)
ที่ผ่านมาหลายแสนคนจากทั่วโลกได้ออกมารณรงค์ร่วมกับกรีนพีซ ส่งเสียงไปยังบริษัทผู้ที่รับผิดชอบโดยตรง และด้วยพลังมวลชนที่ร่วมกันผลักดัน หลายบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ใช้น้ำมันปาล์มจากอินโดนีเซียได้ออกมาแสดงเจตนารมณ์ปกป้องป่าฝนเขตร้อนของอินโดนีเซียแล้ว
จากนั้นได้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อสองปีที่ผ่านมา บริษัทแบรนด์ยักษ์ใหญ่อย่าง Mars, Mondelez และ Procter & Gamble ได้เข้าร่วมกับงานรณรงค์ของเรา ซึ่งแบรนด์ดังต่างๆ ก็เห็นด้วยและพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การทำลายป่าอันอุดมสมบูรณ์ของเรานั้นจะต้องหยุดเสียที
ข่าวดียังไม่หมดเพียงเท่านี้ การที่บริษัทต่างๆ ที่มีอำนาจในการซื้อสูงได้ออกมาแสดงจุดยืนร่วมกันได้สร้างแรงกดดันกับบริษัทผู้ผลิต ซึ่งบริษัทอย่าง Wilmar International และ Golden Agri Resources ที่ชื่ออาจไม่ได้คุ้นหูนัก แต่เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ของอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม และด้วยเหตุนี้การที่บริษัทเหล่านี้ออกมาร่วมมุ่งมั่นหยุดการทำลายป่านั้นคือข่าวที่น่ายินดีมาก
นักกิจกรรมกางป้ายผ้าบนพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากไฟป่าในกาลิมันตันกลาง
อย่างไรก็ตาม การรณรงค์ที่ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง คือการได้เห็นผลลัพธ์จริง คือ การปกป้องป่าไม้ อุรังอุตังมีความเป็นอยู่ที่อุดมสมบูรณ์ รวมถึงหยุดยั้งการทำลายป่าและไฟป่าได้ และนั่นคือเหตุผลที่เราอยากแน่ใจว่าบริษัทเหล่านี้รักษาคำมั่นอย่างจริงจัง
ดังนั้นเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว กรีนพีซได้ติดต่อบริษัทยักษ์ใหญ่ 14 แห่ง เพื่อติดตามว่าได้ดำเนินการอย่างไรบ้าง และสิ่งที่เราได้คำตอบมานั้นค่อนข้างน่าตกใจ มีเพียงไม่กี่บริษัทเท่านั้นที่มีความก้าวหน้าที่สามารถยืนยันได้ว่าน้ำมันปาล์มในห่วงโซ่อุปทานของตนไม่เชื่อมโยงกับการทำลายป่า แต่ส่วนใหญ่นั้นยังลงมือช้าเกินไป ดูเหมือนว่าบางบริษัทอาจคิดว่าการแสดงเจตนารมณ์นั้นง่าย แต่การรักษาคำมั่นนั่นไม่ง่ายนัก อ่านข้อมูลในรายงานเพิ่มเติมที่นี่
สถานที่เกิดเหตุอาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อม: เศษซากที่หลงเหลือของพื้นที่ป่าไม้และป่าพรุที่ถูกเผา และได้ลงเมล็ดปาล์มน้ำมันไว้แล้ว
ในบรรดาบริษัทที่เราสอบถามข้อมูล มี Colgate-Palmolive, Johnson & Johnson และ PepsiCo ที่มีการปฏิบัติด้อยที่สุด และยังล้มเหลวในการรักษาคำมั่น “ไม่ทำลายป่า” ที่ให้ไว้กับผู้บริโภคและลูกค้าของตน
เรารออีกไม่ได้แล้ว ไม่น่าเชื่อว่าอัตราการทำลายป่าในประเทศอินโดนีเซียนั้นกำลังสูงขึ้น แทนที่จะลดลง แล้วเหตุการณ์ไฟป่าที่เกิดขึ้นเมื่อ 6 เดือนที่แล้วล่ะ? นั่นอาจจะเกิดขึ้นอีกภายในไม่กี่เดือนที่จะถึงนี้
อุตัง ลิงอุรังอุตังวัย 7 เดือนที่ถูกช่วยเหลือจากไฟป่า
อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มยังเป็นต้นเหตุหลักของการทำลายป่าที่เกิดขึ้น ทั้งที่ปาล์มน้ำมันนั้นสามารถผลิตขึ้นได้อย่างรับผิดชอบ ขณะนี้กรีนพีซมีโครงการร่วมกับชุมชนที่ Dosan เกาะสุมาตรา ผลิตน้ำมันปาล์มอย่างรับผิดชอบและร่วมกันฟื้นฟูป่าฝนเขตร้อน และยังมีโครงการดีๆ เช่นนี้ในประเทศอินโดนีเซียอีกมากที่ต้องการการสนับสนุน
ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญมากที่บริษัทเหล่านี้จะก้าวออกมาและลงมือเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่เพียงการให้คำมั่นลอยๆ ร่วมกันเรียกร้องให้แบรนด์ดังต่างๆ ลงมือทำอย่างแท้จริง ที่นี่
อ่านรายงานผลการสำรวจการดำเนินการในแต่ละแบรนด์ได้ที่นี่
ที่มา: Greenpeace Thailand