พลาสติกชีวภาพ ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
สมาชิกเลขที่174045 | 02 ม.ค. 57
1.1K views

พลาสติกชีวภาพ ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

พลาสติกชีวภาพ

แนวคิดของ ปตท. ในการทำธุรกิจพลาสติกชีวภาพนี้ คือ การผลิตสินค้าที่ยังจำเป็นต้องใช้ในชีวิตปัจจุบัน แต่ต้องให้บรรจุภัณฑ์เหล่านั้นย่อยสลายได้ด้วยตัวเอง เหมือนใบตองห่อข้าว เมื่อกินข้าวเสร็จ ก็ทิ้งใบตองลงพื้นดินได้ มันจะย่อยสลายกลายเป็นอินทรีย์สาร เป็นปุ๋ยให้ประโยชน์กับพื้นดิน กับต้นไม้ต่อไปในเวลาไม่นานนัก

ย้อนหลังไปต้นปี 54 ปตท.และเอ็มซีซี ได้ร่วมกันจัดตั้งบริษัท พีทีที เอ็มซีซี ไอโอเคมฯ สัดส่วนฝ่ายละ 50% สร้างโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ หรือพีบีเอส ที่นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย มาบตาพุด จังหวัดระยอง มีกำลังการผลิตพลาสติกชีวภาพได้ปีละ 20,000 ตัน ด้วยเงินลงทุน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 3,000 ล้านบาท และใช้เทคโนโลยีของเอ็มซีซี จนล่าสุดนี้ กำลังเปิดประมูลหาผู้รับเหมาก่อสร้างโรงงาน พร้อมทั้งคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างโรงงานได้ในเดือน พ.ย.นี้ ก่อนที่จะเปิดดำเนินกิจการในเชิงพาณิชย์ไตรมาสแรกปี 58 พร้อมกับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี เบื้องต้นประเมินว่า จะมีรายได้ปีละ 3,000 ล้านบาท จากยอดขายพลาสติกชีวภาพราคาตันละ 4,000-5,000 ดอลลาร์สหรัฐ โรงงานแห่งนี้จะกลายเป็นโรงงานพลาสติกชีวภาพแห่งแรกของไทย ที่ผลิตพลาสติกชีวภาพประเภทพีบีเอสที่ใช้วัตถุดิบจากพืช เช่น อ้อย มาเป็นวัตถุดิบตั้งต้น และที่เหมือนถูกโชคสองชั้นนั่นคือ สามารถรับซื้อสินค้าทางการเกษตรของไทยได้มากขึ้น ช่วยประคองราคาให้สูงขึ้นได้ โดยไม่ต้องรอเข้าร่วมโครงการรับจำนำจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียว อีกทั้งจะส่งผลให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตพลาสติกชีวภาพของเอเชียด้วย

นอกจากนั้น การที่พลาสติกชีวภาพพีบีเอสมีคุณสมบัติเด่นคล้ายคลึงกับพลาสติกพีอี หรือพลาสติกขาวใส (ขวดน้ำพลาสติกพีอี) แต่เด่นกว่าตรงที่ย่อยสลายได้ จึงมองว่าความต้องการใช้ปีละ 20,000 ตันจะเพิ่มเป็น 268,000 ตันในอีก 10 ปีข้างหน้า โดย ปตท.เตรียมที่สร้างโรงงานเพื่อผลิตพลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้อีกชนิดคือ โพลิแลกติกแอซิด (พีแอลเอ) ที่แข็งแรงและใส โดยหลังจากที่ได้ไปถือหุ้นในบริษัทเนเจอร์เวิร์ค จำกัด สหรัฐอเมริกา ผ่านบริษัท พีทีทีโกลบอลเคมิคอล จำกัด (มหาชน) มีขนาดกำลังผลิตปีละ 140,000 ตัน แต่ปัจจุบันเดินการผลิตเพียง 90,000 ตัน และจะผลิตได้เต็มที่เร็ว ๆ นี้ หลังจากพบว่าความต้องการใช้ในตลาดโลกเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 20-30% จนทำให้โรงงานที่อเมริกาผลิตไม่ทัน จึงต้องเตรียมแผนสร้างโรงงานขึ้น ซึ่งขณะนี้กำลังเจรจากับพันธมิตรเนเจอร์เวิร์คให้เข้ามาตั้งโรงงานผลิตในไทย ที่นิคมอุตสาหกรรมเอเชียเช่นกัน ด้วยเงินลงทุน 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 9,000 ล้านบาท และคาดว่าจะเร่งให้แล้วเสร็จภายใจ 3 ปี เมื่อเปิดเดินเครื่องจะมีรายได้ปีละ 280 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากราคาขายตันละ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ และจะทำให้ไทยขึ้นแท่นเป็นแหล่งผลิตพลาสติกชีวภาพที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีวัตถุดิบพลาสติกชีวภาพทดแทนพลาสติกที่ผลิตจากสารตั้งต้นปิโตรเลียมเกือบทุกชนิดได้ อีกทั้งยังมีแผนที่จะผลิตพลาสติกชีวภาพอีกตัว คือเอนเนอร์ยีพลาสติก หรือพลาสติกชนิด กรีน เอบีเอส

จะเห็นว่า ปตท ในฐานะบริษัทพลังงานแห่งชาติ นอกจากมีหน้าที่หลักในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ แล้ว ยังเป็นอีกหนึ่งองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ไม่ใช่เพียงแค่การรณรงค์ด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต่างๆ แต่เป็นการนำหลักการดังกล่าวในการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาปฏิบัติได้จริง ซึ่งโครงการลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพนี้ ก็นับเป็นการดำเนินการภายใต้วิสัยทัศน์ความเป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติที่มีเทคโนโลยีอันเป็นเลิศและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ TAGNOC (Technologically Advanced and Green National Oil Company) ตามที่ ปตท ตั้งเป้าหมายไว้นั่นเอง

http://www.xn--12cfbl0e0ad9tmdvd.com/

Share this