นักดาราศาสตร์เผยผลการค้นพบดาวเคราะห์ดวงใหม่ 461 ดวง ขณะเดียวกันยังพบว่าดาราจักรทางช้างเผือกน่าจะมีดาวเคราะห์ขนาดใกล้เคียงโลกไม่ต่ำกว่า 17,000 ล้านดวง
การค้นพบดังกล่าวเป็นผลงานของโครงการกล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ที่องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐ (นาซา) ส่งขึ้นสู่วงโคจรตั้งแต่ปี 2552 เพื่อรวบรวมข้อมูลดาวฤกษ์ในกาแล็กซีทางช้างเผือกของเราว่ามีระบบมากน้อยเท่าใดที่น่าจะมีดาวเคราะห์ขนาดใกล้เคียงกับโลกของเราที่อยู่ในเขตที่สิ่งมีชีวิตสามารถอาศัยอยู่ได้หรือมีน้ำบนพื้นผิวของดาวดาว
นักดาราศาสตร์เปิดเผยผลการค้นพบนี้ระหว่างการประชุมสมาคมดาราศาสตร์อเมริกันครั้งที่ 221 ที่เมืองลองบีช รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา
การค้นพบวัตถุที่น่าจะเป็นดาวเคราะห์เพิ่มอีก 461 ดวงครั้งนี้ ทำให้จำนวนดาวเคราะห์ที่เคปเลอร์ค้นพบใหม่เพิ่มเป็นทั้งสิ้น 1,740 ดวง และในจำนวนนี้ 105 ดวงได้รับการยืนยันแล้ว วัตถุที่น่าจะเป็นดาวเคราะห์ที่เพิ่งค้นพบนี้ยังมีดวงหนึ่งที่มีขนาดใหญ่กว่าโลกราว 1.5 เท่า และโคจรรอบดาวฤกษ์คล้ายกับดวงอาทิตย์ของเราที่คาบการโคจร 242 วัน ในระยะห่างที่น้ำน่าจะคงสภาพเป็นของเหลวอยู่ได้บนพื้นผิว
งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกันอีกชิ้นยังพบว่า ดาราจักรทางช้างเผือกน่าจะมีดาวฤกษ์คล้ายดวงอาทิตย์อยู่ 17% ที่มีดาวเคราะห์ขนาดใกล้เคียงกับโลกหรือขนาดใหญ่ราว 0.8-1.25 เท่าของโลก โคจรรอบมันในระยะห่างใกล้กว่าดาวพุธที่มีคาบการโคจร 88 วัน ทั้งนี้ ทางช้างเผือกมีดาวฤกษ์อยู่ประมาณ 1 แสนล้านดวง สัดส่วนดังกล่าวจึงเท่ากับดาราจักรนี้มีดาวเคราะห์ขนาดใกล้เคียงโลกอย่างน้อย 1.7 หมื่นล้านดวง
กระนั้นก็ดี การค้นพบเหล่านี้ยังไม่ได้หมายความว่าดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะของเราเหล่านี้สิ่งมีชีวิตสามารถอาศัยอยู่ได้ แต่ก็ถือเป็นการเพิ่มโอกาสที่เราจะค้นพบดาวเคราะห์ที่คล้ายกับโลกได้มากขึ้น.