เปิดตัว เปิดใจ เรียนรู้สู้ภัยธรรมชาติกับ “Adventure Park”
ปาริตา สระสม
ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครศรีธรรมราช
“Adventure Park” เมื่อได้ยินคำนี้หลายคนคงนึกถึงกิจกรรมการผจญภัยในรูปแบบ
ที่แปลกใหม่ หวาดเสียว ท้าทายความกล้า ซึ่งก็คงไม่ผิดไปนักหากกิจกรรมนี้ได้เกิดขึ้นจากฝีมือของศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครศรีธรรมราช ที่ได้คิดค้นกิจกรรมการผจญภัยที่สอดแทรกสาระการเรียนรู้รูปแบบใหม่ทางวิทยาศาสตร์ให้ผู้ร่วมเข้าค่ายได้สัมผัสดื่มด่ำกับความงดงามของป่าไม้ ภูเขา และเรียนรู้ทักษะการเอาตัวรอดจากภัยพิบัติ พร้อมเปิดโอกาสให้ทุกคนสัมผัสทุกกิจกรรมอย่างคุ้มค่า ด้วยการปีนป่ายจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งด้วยสะพานเชื่อมหลายรูปแบบที่ต่างกันออกไป
นายบัญญัติ ลายพยัคฆ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครศรีธรรมราช
(ศว.นครศรีธรรมราช) กล่าวว่า ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครศรีธรรมราชได้คิดค้นและเพิ่มฐานกิจกรรมการเรียนรู้แบบใหม่ที่มีหลักการของวิทยาศาสตร์มาสอดแทรก โดยอาศัยสภาพแวดล้อมที่อยู่ใกล้เชิงเขาและมีธรรมชาติที่เอื้อต่อการทำกิจกรรม จึงคิดค้นฐานกิจกรรม “Adventure Park” ขึ้น เพื่อให้โรงเรียนและน้อง ๆ ที่มาเข้าค่ายกิจกรรมการเรียนรู้กับทางศูนย์ฯ ได้เรียนรู้การเอาตัวรอดจากภัยพิบัติ ฝึกความกล้าหาญ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การใช้สติปัญญา ฝึกสมาธิ ฝึกเรียนรู้หลักการทางวิทยาศาสตร์ และทักษะการคิดอย่างเป็นระบบ โดยได้ปรับฐานกิจกรรม Adventure Park ให้เป็นหนึ่งในกิจกรรมหลักของการฐานเรียนรู้ และยังเป็นทางเลือกให้โรงเรียนที่มาเข้าค่ายได้มีตัวเลือกในกิจกรรมเพิ่มมากขึ้น
กิจกรรม Adventure Park ประกอบไปด้วยฐานกิจกรรม 10 ฐาน ได้แก่ 1.สะพานทิเบต
2.สะพานยางยืด 3.ใยแมงมุม 4.สะพานชิงช้าแกว่ง 5.Via Farrata 6.สะพานทรงตัว 7. สะพานตาข่าย 8.กำแพงตาข่าย 9.ปืนหน้าผา และ 10. Flying Fox กิจกรรมดังกล่าวจะใช้เวลาประมาณ 40-50 นาที และสามารถขึ้นไปเรียนรู้ได้รอบละ 10 คน โดยแต่ละคนจะทิ้งช่วงห่างกันเพื่อความปลอดภัยประมาณคนละ 2-3 เมตร”
นายสุรศักดิ์ เย็นทรวง ผู้ติดตั้งทำฐานกิจกรรม Adventure Park เล่าว่า ในฐานกิจกรรม Adventure Park ของศูนย์วิทย์ฯ นอกจากจะให้น้อง ๆ ชาวค่ายและผู้ที่สนใจได้เรียนรู้ ร่วมเล่น และฝึกความกล้าแล้ว ยังเน้นในเรื่องของความปลอดภัยสำหรับผู้เล่นด้วย โดยจะมีของอุปกรณ์ป้องกันเพื่อให้เกิดความปลอดภัยได้แก่ ฮาร์เนส (Harness) หรือสายรัดสะโพก คาราไบเนอร์ (Carabiner) เป็นห่วงเหล็ก สามารถรับแรงดึงได้สองตัน ควิกดรอว์ (Quickdraw) คือสายไนลอนสั้น ๆ ซึ่งมีคาราไบเนอร์เกี่ยวอยู่ตรงปลายทั้งสองข้างใช้สำหรับเกี่ยวกับหมุด ตามหน้าผา ป้องกันการตกจากที่สูงทีเดียวถึงพื้น อุปกรณ์บีเลย์ (Belay Device) ใช้สำหรับผ่อนเชือกควบคุมความเร็วในการโรยตัว หมวกกันกระแทก(Helmets) เป็นหมวกกันกระแทก
ที่ผู้โรยตัวหรือทำงานที่สูงต้องใส่ป้องกันระหว่างการโรยตัว และเชือกสำหรับปีนผา (Kernmantle) เป็นเชือกลักษณะพิเศษ คือ มีความเหนียว ไม่ยืดง่าย สามารถรับแรงดึงได้ถึง 2 ตัน ใช้สำหรับโรยตัวจากที่สูงโดยเฉพาะ
อย่างไรก็ตามฐานกิจกรรม Adventure Park ของศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครศรีธรรมราช นอกจากจะเป็นฐานกิจกรรมที่ใช้ทดสอบความกล้าหาญ ฝึกความอดทน ฝึกการแก้ปัญหาและเรียนรู้หลักการทางวิทยาศาสตร์แล้ว กิจกรรมดังกล่าวยังเป็นบันได 1 ขั้นที่จะช่วยฝึกให้น้องๆและผู้สนใจรู้จักวิธีการเอาตัวรอดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ได้อีกด้วย ทั้งนี้หากท่านใดสนใจสามารถสอบถามข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ 0-7539-6363 หรือเว็บไซต์ www.nakhonsci.com อย่าลืมมาร่วมสนุกและเรียนรู้ในห้องเรียนธรรมชาติไปพร้อมๆกับพวกเราชาวศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครศรีธรรมราชกันนะค่ะ .
**********************************