ครอบครัว
สมาชิกเลขที่76362 | 24 ส.ค. 55
110.2K views

 

บทที่  1  บทนำ

            ครอบครัว  ถึงแม้จะเป็นหน่วยเล็กหน่วยหนึ่งในสังคม  แต่หน่วยทางสังคมหน่วยเล็กหน่วยนี้   มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง  เป็นพื้นฐานของสังคม  เป็นจุดเริ่มต้นของการก่อกำเนิดของสมาชิกในสังคม  เป็นส่วนหนึ่งในสังคมที่อยู่ร่วมกันต้องมีการเรียนรู้และปรับตัว  เพื่อให้อยู่ร่วมกันได้เป็นครอบครัวใหญ่ในสังคมอย่างสันติ ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญแก่ครอบครัวมาเป็นเวลายาวนาน   ตั้งแต่เมื่อ     ปีพ.ศ. 2533 รัฐบาลได้กำหนดให้วันที่ 14 เมษายน ของทุกปี  เป็นวันครอบครัวแห่งชาติด้วย  และเป็นที่สอดคล้องกับในโลกสากล  โดยองค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้ ปี ค.ศ. 1994   (พ.ศ. 2537)       เป็นปีครอบครัวสากล: (International Year of the Family )

 

บทที่  2   ความเป็นมาของครอบครัว

ครอบครัวเป็นสถาบันสังคมแรกเริ่มที่มีความสำคัญที่สุด  เพราะเป็นสถาบันพื้นฐาน   ที่มีบทบาทสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับมนุษย์ทุกคนในสังคม  เป็นสถาบันแรกที่ทำหน้าที่ทางสังคมในการ  ถ่ายทอดค่านิยม  ปลูกฝังความเชื่อ  สร้างเสริมทัศนคติ กำหนดบุคลิกภาพ วิธีประพฤติปฏิบัติตน รวมทั้งการสร้างบรรทัดฐานทางสังคมให้แก่ สมาชิกรุ่นใหม่ ซึ่งมีผลต่อการพัฒนาสังคมและประเทศครอบครัวจึงเปรียบเสมือนจักรกลชั้นแรกที่ทำหน้าที่หล่อหลอมบุคลิกภาพของบุคคลให้เป็นไปตามที่สังคมต้องการ นำไปสู่การดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข

 

ความหมายของครอบครัว

ครอบครัวแต่เดิมมีเพียงผู้ที่มีความสัมพันธ์ทางสายโลหิต ได้แก่ บิดา มารดา บุตร และแม้จะมีเครือญาติ  ก็ยังคงหมายถึงผู้ที่มีความสัมพันธ์กันทางสายโลหิตร่วมกัน เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย พี่ ป้า น้า อา     ซึ่งต่อมาได้มีนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2547- 2556   ได้กำหนดความหมายของครอบครัวไว้กว้าง ๆ ดังนี้

               “ครอบครัว หมายถึง กลุ่มบุคคลที่มีความผูกพันและใช้ชีวิตร่วมกัน    ทำหน้าที่เป็นสถาบันหลัก เป็นแกนกลางของสังคมที่เป็นรากฐานสำคัญยิ่งต่อการดำรงชีวิต ครอบครัวมีหลากหลายรูปแบบและหลายลักษณะ นอกเหนือจากครอบครัวที่ครบถ้วนทั้งบิดา มารดาและบุตร

ลักษณะครอบครัวไทย

ครอบครัวไทยแต่เดิมมีลักษณะเป็นครอบครัวขยาย   มีสมาชิกครอบครัว   หลายช่วงอายุ          อย่างน้อย  3  รุ่น  คือ     1) รุ่นปู่ย่า ตายาย       2) รุ่นพ่อแม่   3) รุ่นลูก   เป็นครอบครัวที่มีความร่วมมือกันในกิจกรรมด้านต่าง ๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ   การศึกษา   การอบรมเลี้ยงดู   การปลูกฝังจริยธรรมคุณธรรม    และในอดีตครอบครัวมีบทบาทหน้าที่อย่างน้อย  3  ประการ

1.  เป็นแหล่งขัดเกลาทางสังคม (socialization)  ให้การอบรม  การเรียนรู้  การสร้างบุคลิกภาพ  ระบบวิธีคิด การให้คุณค่าของสิ่งต่างๆ

2.  เป็นแหล่งถ่ายทอดวิชาชีพและฝึกฝนอาชีพ  การบ่มเพาะให้เป็นผู้ผลิตและผู้บริโภคที่มี  คุณภาพ

3.  เป็นแหล่งให้การสังคมสงเคราะห์เบื้องต้น มีความเอื้ออาทร ให้ความช่วยเหลือในเครือญาติในสภาวะวิกฤตต่าง ๆ

 

บทที่ 3
 สถานการณ์ของครอบครัวไทย

              สถานการณ์สังคมที่เปลี่ยนแปลงมีผลกระทบต่อครอบครัวและบุคคล ครอบครัวจึงเกิดการปรับเปลี่ยนทั้งโครงสร้าง  รูปแบบ ขนาดของครอบครัวและวิถีชีวิต  รวมทั้งสภาพปัญหาที่มีผลกระทบต่อสถาบันครอบครัว 

   1.  โครงสร้างประชากร

             สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้คาดประมาณการประชากรของประเทศไทยจากปี  2543 – 2568 ไว้ว่า จากปี พ.ศ. 2545 ไปจนถึงปี พ.ศ. 2552  ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงการปันผลทางประชากรซึ่งเป็นช่วงที่ประชากรวัยแรงงานยังคงเพิ่มขึ้น หลังจากนี้ประชากรวัยเด็กจะลดลงจากร้อยละ 23.88 ในปี 2545  เป็นร้อย 17.6 ในปี 2568 และสัดส่วนประชากรวัยแรงงานจะลดลงจากร้อยละ 66.38 เป็นร้อยละ  62.05 ขณะที่สัดส่วนประชากรวัยสูงอายุจะเพิ่มเป็นร้อยละ 9.74 ในปี  2545  เป็นร้อยละ 19.99  ในปี 2568 ทำให้ครอบครัวต้องรับภาระในการเลี้ยงดูและการพึ่งพิงสูง

     2 .   โครงสร้างของครอบครัว                                                       

             จากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีความซับซ้อนและเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีการอพยพแรงงานเข้าสู่เมืองใหญ่  สังคมไทยซึ่งแต่เดิมเป็นสังคมชนบท มีความเอื้ออาทรต่อกันมีแนวโน้มเป็นสังคมเมืองมากขึ้น  โครงสร้างครอบครัวไทยมีการเปลี่ยนแปลง จากเดิมในอดีต  ซึ่งเคยเป็นครอบครัวขยาย   แต่จากผลการพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 3- 7  ที่มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นหลักโดยมีนโยบายด้านการวางแผนครอบครัว เพื่อมุ่งลดอัตราการเพิ่มของประชากรในครัวเรือนและนโยบายปรับปรุงคุณภาพประชากรและการพัฒนาจิตใจ เพื่อให้มีศักยภาพและมีความพร้อมต่อการพัฒนาและแข่งขัน      ทางเศรษฐกิจ ส่งผลต่อการพัฒนาสถาบันครอบครัวในทางอ้อม อัตราการเกิดลดลง                  ครอบครัวมีอายุยืนและมีความสามารถในการทำงานมากขึ้น ในปี 2545 มีครอบครัวขยายเพียงร้อยละ  32.1 ครอบครัวเดี่ยวมีถึงร้อยละ 55.5  นอกจากนี้    ยังพบว่า หัวหน้าครัวเรือนที่เป็นหญิงมีจำนวนมากขึ้น

4.รูปแบบครอบครัว

                ผลของการพัฒนาประเทศทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  นอกจากส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครอบครัวแล้ว  ในขณะเดียวกันก็ส่งผลต่อรูปแบบของครอบครัวด้วย  จากข้อมูลสำรวจภาวะการทำงานของประชากร พ.ศ. 2542-2545 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ชี้ให้เห็นว่า ครอบครัวไทยในปัจจุบันมิได้ประกอบด้วย พ่อ แม่ ลูก และ   เครือญาติดังเช่นแต่ก่อน แต่มีหลายรูปแบบ ดังนี้

ครอบครัวขยาย    ครอบครัวขยายที่ประกอบด้วย พ่อ แม่ ลูก ปู่ย่าตายาย และหรือพี่น้อง ยังคงมีอยู่ในสังคมไทยแต่มีจำนวนลดลง พบว่าปี  2545 มีครอบครัวที่เป็นครอบครัวขยายเพียงร้อยละ 32.1                                                                                                                

 ครอบครัวเดี่ยว  ครอบครัวเดี่ยว ส่วนใหญ่ประกอบด้วยพ่อ แม่และลูก โดยส่วนใหญ่ครอบครัวจะมีลูกจำนวน 1-3  คน

ครอบครัวที่อยู่คนเดียว   มีคนที่อาศัยอยู่ตามลำพังมากขึ้น  โดยปี 2542  มีคนที่อาศัยอยู่คนเดียวร้อยละ  11.0 เป็นร้อยละ 11.5 และ  11.8 ในปี 2544  และ 2545 ตามลำดับซึ่งแสดงให้เห็นว่าหญิงหรือชายพอใจที่จะอยู่เป็นโสดมากขึ้น

ครอบครัวพ่อหรือแม่เลี้ยงลูกตามลำพัง    หมายถึงครอบครัวที่มีเพียงพ่อหรือแม่ และลูก เนื่องจากสาเหตุของการหย่าร้าง การเป็นหม้าย แยกทาง การทอดทิ้ง

      ครอบครัวที่รับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม คือครอบครัวที่สามีและภรรยาไม่สามารถมีบุตรร่วมกันได้และมีความประสงค์ที่จะขอรับเด็กมาอุปการะเป็นบุตรซึ่งมีจำนวนมากขึ้น

5.ปัญหาวิกฤตของครอบครัว

                 จากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีความซับซ้อนและเป็นไปอย่างรวดเร็ว  มีการอพยพแรงงานเข้าสู่เมืองใหญ่  สังคมไทยซึ่งแต่เดิมเป็นสังคมชนบท มีความเอื้ออาทรต่อกันมีแนวโน้มเป็นสังคมเมืองมากขึ้น ซึ่งมีผล  ต่อปฏิสัมพันธ์ทั้งภายในและภายนอกครอบครัวทั้งทางลบและทางบวก อันเนื่องมาจากปัญหาวิกฤติที่ครอบครัวเผชิญอยู่  ดังนี้

   1  ปัญหาเศรษฐกิจ

    2  ความสัมพันธ์ในครอบครัว

    3  การสมรสน้อยลงและการหย่าร้างเพิ่มขึ้น

   4  เด็กและผู้สูงอายุถูกทอดทิ้ง

   5 พฤติกรรมไม่เหมาะสมของวัยรุ่น                                   

   6  ความรุนแรงในครอบครัว

   7  ยาเสพติด

 

6.สาเหตุของปัญหาครอบครัว

          นโยบายและแผนในการพัฒนาสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2537 –2546 ได้ชี้ให้เห็นสาเหตุแห่งปัญหาครอบครัวที่สำคัญ ดังนี้

1.ความไม่พร้อมและไม่ได้เตรียมตัวที่จะเป็นครอบครัว การขาดความพร้อมของพ่อแม่ในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านสุขภาพ อายุที่เหมาะสม ไม่เป็นโรคติดต่อความสามารถเพียงพอที่จะประกอบอาชีพ มีรายได้เลี้ยงครอบครัวเป็นต้น

2.สภาพเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน   ส่งผลกระทบให้ครอบครัวไม่อาจทำ หน้าที่ บทบาทของตนได้อย่างสมบูรณ์ และไม่อาจปรับตนเองได้

3.สังคมไม่ตระหนักในความสำคัญของครอบครัว  ว่า ครอบครัวมีผลกระทบต่อสังคมส่วนรวม จึงขาดจิตสำนึกและพลังร่วมกันจากทุกสถานบันในสังคม

4.สื่อมวลชนเป็นสถาบันสังคมที่มีอิทธิพล อย่างยิ่งต่อครอบครัวและสมาชิกของสังคมโดยสื่อมวลชนยังไม่ได้ให้ความสนใจในการพัฒนาครอบครัวเพียงพอ

 

บทที่ 4
แนวโน้มที่เกิดจากผละกระทบจากปัญหาครอบครัว

               จากอิทธิพลของกระแสโลกาภิวัตน์และภาวะความทันสมัยที่เน้นปัจเจกบุคลและค่านิยมในการบริโภคและวัตถุนิยมมากขึ้น ส่งผลต่อค่าครองชีพและแบบแผนของครอบครัว   ผลกระทบดังกล่าวจะส่งผลให้ครอบครัวมีแนวโน้มประสบปัญหา  ดังนี้

 1    โครงสร้างของครอบครัวทั้งในเมืองและในชนบทที่เป็นครอบครัวเดี่ยวจะมีแนวโน้มที่ขนาดของ ครอบครัวเล็กลง

2 โครงสร้างของครอบครัวที่ประกอบด้วยบุคคลสองวัย คือ ผู้สูงอายุและเด็กจะมีมากขึ้นโดยเฉพาะในชนบทเนื่องจากการที่หนุ่มสาววัยแรงงานอพยพเข้าไปหางานทำในเมืองใหญ่

3.ผู้สูงอายุในชนบทที่เคยมีบทบาทในการถ่ายทอดคุณธรรมและวัฒนธรรมให้แก่ลูกหลาน และเป็นวัยที่ควรจะได้รับการดูแล  เอาใจใส่จากลูกหลาน  จะถูกปรับเปลี่ยนบทบาทและรับภาระมากขึ้น

 4ครอบครัวที่สามีและภรรยาอยู่ร่วมกันโดยไม่มีการจดทะเบียนสมรสมีมากขึ้น  เนื่องจากค่านิยมในการรักอิสระ และไม่ต้องการพึ่งพิงกัน

5.ครอบครัวที่มีพ่อหรือแม่เลี้ยงลูกตามลำพังมีมากขึ้น  เนื่องจากอัตราการหย่าร้างที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง  การแยกกันอยู่ของครอบครัว

6.  การเลี้ยงดูเด็กของครอบครัว   พ่อแม่จะมีระยะเวลาการเลี้ยงลูกและการอยู่กับลูกสั้นลง  เนื่องจากปัญหาทางเศรษฐกิจและการให้ความสำคัญกับบทบาททางหน้าที่การงานมากกว่าครอบครัว

7. เด็กกำพร้าพ่อหรือแม่หรือทั้งพ่อและแม่อันเนื่องมาจากพ่อแม่เสียชีวิตจากการติดเชื้อเอดส์  มีจำนวนมากขึ้น  จากข้อมูลสถาบันวิจัยประชากรและสังคม  มหาวิทยาลัยมหิดลประมาณการว่า ในปี  2543  มีกลุ่มเด็กอายุ 0- 5 ปี ที่กำพร้าเพราะพ่อ แม่เสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ จำนวน  30,845  คน

             บทที่  5
แนวทางการดำเนินงานด้านครอบครัว

                แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่  6  (พ.ศ. 2530 – 2534)  กำหนด ให้มีแผนพัฒนากำลังคน สังคมและวัฒนธรรม  โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาสังคมในระดับพื้นฐาน คือ คน ครอบครัวและชุมชนมากขึ้น นอกจากนี้รัฐบาลโดยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2533

                 แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2535-2539)  เริ่มกำหนดมาตรการเสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันครอบครัว สนับสนุนความร่วมมือระหว่างครอบครัว โรงเรียน ชุมชน ให้เกิดความตระหนักต่อปัญหา การจัดการกับปัญหา การเปิดศูนย์ให้ความช่วยเหลือด้านคำปรึกษา

1.  นโยบายและแผนระยะยาวด้านครอบครัว พ.ศ. 2537 - 2546

                 ในปี 2537  คณะอนุกรรมการด้านครอบครัวได้ร่วมกันจัดทำนโยบายและแผนการพัฒนาสถาบันครอบครัวขึ้นเป็นครั้งแรก  คือ ร่างนโยบายและแผนระยะยาวด้านครอบครัว พ.ศ.2537 –2546  เพื่อเป็นนโยบายที่มุ่งเน้นการพัฒนาครอบครัวที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น และวันที่ 26  สิงหาคม 2540  คณะรัฐมนตรี

    นโยบาย

1.สนับสนุนให้สถาบันครอบครัวมีความมั่นคงเพื่อทำหน้าที่ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ตาม   คุณลักษณะของครอบครัวไทยที่พึงประสงค์

2.ส่งเสริมให้สมาชิกครอบครัวได้เข้าในบทบาทของสามีภรรยา  บิดา มารดาลูกหลาน และผู้สูงอายุ  เพื่อให้ประสานเกื้อกูลความสัมพันธ์ภายในครอบครัวให้แน่นแฟ้นมากขึ้น

3.ปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับครอบครัว เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดี และการเคารพในคุณค่าและสิทธิของกันและกันในระหว่างสมาชิกภายในครอบครัว                                                                         

4.รณรงค์ให้มีการคุ้มครองครอบครัว  ตลอดจนสวัสดิการและบริการต่าง ๆ เพื่อพัฒนา   ครอบครัวส่งเสริมการศึกษาวิจัยด้านครอบครัวให้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล ข้อสนเทศเกี่ยวกับครอบครัว

6  ให้มีกลไกดำเนินงาน  การจัดการ การประสานงานและการติดตามและประเมินผลงาน

สนับสนุนให้องค์กรเอกชน  ภาคธุรกิจเอกชน องค์กรชุมชนและประชาคม รวมทั้งเด็ก เยาวชน ผู้ใหญ่มีส่วนร่วมในการพัฒนาครอบครัวอย่างต่อเนื่องและจริงจัง

แผนงาน

   1 แผนพัฒนาศักยภาพครอบครัว         

            ให้ความรู้ด้านการเป็นสามีภรรยาที่ดีและการเป็นบิดามารดาที่เหมาะสม และรับผิดชอบกับคู่สมรสก่อนแต่งงานและเพิ่งแต่งงาน เพื่อเตรียมพร้อมจะมีครอบครัวและเป็นการป้องกันปัญหาครอบครัว    ให้ความรู้เกี่ยวกับบทบาทและหน้าที่ของสามี ภรรยาที่ดี  มีคุณธรรมและการดำเนินชีวิตครอบครัวให้ร่มเย็นเป็นสุข ให้ความรู้ด้านจิตวิทยาของผู้สูงอายุแก่ทั้งผู้สูงอายุและครอบครัวที่มีผู้สูงอายุ รวมทั้งการเตรียมตัวเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ

   2 แผนพัฒนาด้านกฎหมาย

      ปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบที่เกี่ยวกับครอบครัว เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดี

และการเคารพในคุณค่าและสิทธิของกันและกันระหว่างสมาชิกในครอบครัวเผยแพร่กฎหมาย กฎ ระเบียบ ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับครอบครัวและเกี่ยวกับการดำเนินการด้านนิติกรรมที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในครอบครัว

           

3 แผนงานด้านคุ้มครองและสวัสดิการ

         พัฒนาคุณภาพและขยายบริการแนะแนวและบริการให้คำปรึกษา หารือเกี่ยวกับปัญหาครอบครัวให้กระจายตัวมากขึ้น

       รณรงค์ให้หน่วยงานราชการและภาคเอกชนจัดบริการช่วยแก้ไขปัญหาแก่ครอบครัว  และให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เพิ่มอัตราเจ้าหน้าที่ด้านนี้ให้แก่  องค์กรที่เกี่ยวข้อง

4   แผนงานด้านวิจัยและด้านข้อมูลข้อสนเทศ

         ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการดำเนินการศึกษาวิจัยในงานด้านต่าง ๆ เช่น การวิจัยศึกษาสภาวะ โครงสร้าง   เป็นต้น   การวิจัยเปรียบเทียบเรื่องครอบครัวที่มาจากลักษณะเศรษฐกิจและสังคมต่าง ๆ การศึกษาและพัฒนาระบบสวัสดิการครอบครัวที่เหมาะสมกับสภาพสังคมไทย

5แผนพัฒนากลไก องค์กรชุมชนและประชาคม  การจัดการ  การระดมทรัพยากร  การติดตามและประเมินผลงาน

         ให้องค์กรปกครองท้องถิ่นทุกประเภทและระดับมีหน้าที่พัฒนาสถาบันครอบครัวรวมทั้งให้มีการสนับสนุนส่งเสริมให้ข้าราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เทศมนตรี อาสาสมัคร   ชุมชน เป็นต้น ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีในการเป็นสมาชิกครอบครัวที่รับผิดชอบ ตลอดจนยุติการใช้ความรุนแรงในครอบครัว

 

2.  ยุทธศาสตร์การพัฒนาสถาบันครอบครัวแบบบูรณาการ

       มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่  20  เมษายน  2547   เห็นชอบในกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาสถาบันครอบครัวแบบบูรณาการที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมตินำเสนอ โดยได้มอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ใช้เป็นกรอบในการจัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2547 –2556  และแผนปฏิบัติงานปี 2548  ยุทธศาสตร์การพัฒนาสถาบันครอบครัวแบบบูรณาการ ประกอบด้วยสาระสำคัญ ส่วน ดังนี้

1ยุทธศาสตร์การพัฒนา  ประกอบด้วย

      การพัฒนาศักยภาพของสมาชิกในครอบครัวอย่างเป็นองค์รวมโดย รณรงค์ให้ความรู้และปรับเจตคติของประชาชนให้มีทักษะชีวิตที่เหมาะสมในทุกช่วงวัย เช่น การเตรียมความพร้อมก่อนสมรส การเลี้ยงดูและอบรมบุตร การเสริมสร้างจริยธรรม คุณธรรมและจิตสำนึกสาธารณะ ฯลฯ

                การสร้างระบบและกลไกการบริหารจัดการให้เกื้อหนุนการสร้างครอบครัว ที่เข้มแข็ง โดยการสร้างและปรับระบบ/กลไกการบริหารจัดการส่งเสริมให้กลไกการทำงานของภาคีต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชนและชุมชนร่วมมือกันอย่างเป็นเครือข่ายในการจัดบริการแก่ครอบครัวแบบเบ็ดเสร็จ ครบวงจร (One stop service) สร้างเสริมความสัมพันธ์อันดีภายในครอบครัวและเครือญาติบนพื้นฐานวัฒนธรรมช่วยเหลือเกื้อกูลและเอื้ออาทรซึ่งกันและกันรณรงค์ให้มีการ  ลด ละ เลิกปัจจัยที่เป็นต้นเหตุของปัญหาครอบครัว เช่น อบายมุข สุรา สถานบันเทิง ฯลฯ

3.  นโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2547-2556

            ยุทธศาสตร์การพัฒนาสถาบันครอบครัวอย่างเป็นองค์รวมครอบคลุมทุกมิติ   ที่เกี่ยวข้องกับครอบครัว จำเป็นต้องคำนึงถึงแนวทางการดำเนินยุทธศาสตร์หลัก 4 แนวทาง ดังนี้

ยุทธศาสตร์หลักการพัฒนาศักยภาพของครอบครัวแบบองค์รวม

ยุทธศาสตร์หลักการสร้างหลักประกันคุ้มครองทางสังคมของครอบครัว

3   ยุทธศาสตร์หลักการสร้างระบบกลไกบริหารจัดการให้เกื้อหนุนความเข้มแข็งของครอบครัว

ยุทธศาสตร์หลักการพัฒนาศักยภาพของเครือข่ายทางสังคมเพื่อพัฒนาครอบครัว

 

หน่วยงานที่มีส่วนช่วยในการแก้ปัญหาครอบครัว

1 องค์การสหประชาชาติ

2 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

3 สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว

4 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  มหาวิทยาลัยมหิดล

5 ศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน

 

ข้อเสนอของกลุ่มในการแก้ปัญหาครอบครัว

 จากปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าวนั้นสมาชิกในกลุ่มจึงมีข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาเพื่อให้ชีวิตครอบครัวดำเนินไปอย่างราบรื่นดังนี้

  1.รู้จักการถนอมน้ำใจกัน   ในการอยู่ร่วมกัน  ต้องมีการรับผิดชอบมากกว่าเดิม เช่นในการ หาเลี้ยงชีพ  การเลี้ยงดู

2.ควรศึกษาพฤติกรรมและสุขภาพของแต่ละฝ่าย ในเรื่องของความพร้อม ความเป็นไปได้ ความเสี่ยงต่อปัญหาภายในอนาคต เช่น ความเป็นแม่ที่ดีของลูก หรือความเป็นพ่อในการแบกรับภาระ

3.มีการวางแผนชีวิตครอบครัวภายในอนาคต ควรเตรียมความพร้อมด้านการเงิน

4.ให้ความสำคัญกับผู้ที่อุปการะเลี้ยงดู คือบิดา มารดา เช่นการไปเยี่ยมเยื่อน การพูดคุย หรือมั่นทำกิจกรรมร่วมกัน ดูแลเอาใจใส่ เป็นต้น

5.ควรใช้หลักพื้นฐานในการเชื่อใจกัน รับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน เช่นการคบเพื่อนต่างเพศหรือเพื่อนฝูงเก่าๆในอดีต หรือข่าวลือด้านต่างๆ

บทที่  6   บทสรุป

จากสภาพปัญหาทางด้านครอบครัวที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจะเห็นได้ว่า ปัญหาที่เป็นประเด็นสำคัญ คือ ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากบิดามารดาต้องไปหางานทำ ซึ่งจะมีผลให้ครอบครัวไม่สามารถทำหน้าที่ บทบาทในการดูแล อบรมเด็กและเยาวชนในครอบครัวได้ดี ทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัว     ลดน้อยลง เด็กและผู้สูงอายุถูกทอดทิ้ง ความรุนรงในครอบครัวอันเนื่องมาจากความเครียดในการทำงาน นำไปซึ่งปัญหายาเสพติด       ดังนั้นครอบครัวจึงเป็นปัจจัยสำคัญในทุกๆด้าน การป้องกันแก้ไขปัญหาครอบครัวนั้น สมาชิกทุกคนต้องให้เวลาซึ่งกันและกัน เอาแลเอาใจใส่ ให้ความรักความอบอุ่น มีความเข้าใจกันเป็นพื้นฐาน

       รู้จักการถนอมน้ำใจกัน ในการอยู่ร่วมกัน การเลี้ยงดูลูกอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้คู่สมรสห่างกันไป  ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาความขัดแย้งทั้งสองฝ่ายพึงถนอมน้ำใจกัน  หันหน้าเข้าหากัน  ในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

 

Share this