การเกิดเด็กแฝด
สมาชิกเลขที่44889 | 27 เม.ย. 54
34.9K views

กำเนิดของฝาแฝด 

" ฝาแฝดเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่น่าอัศจรรย์ เพราะธรรมดามนุษย์เราจะมีบุตรทีละ 1 คนเท่านั้น แต่สำหรับคนคูณสองอย่างฝาแฝดจึงเป็นกรณีพิเศษครับ" 

คือความหมายของฝาแฝดจากคำบอกเล่าของน.พ.มฆวัน ธนะนันท์กุล สูติแพทย์ผู้มากด้วยประสบการณ์ ซึ่งจะมาช่วยไขข้อข้องใจในเรื่องแฝดๆ ให้ได้ทราบกันค่ะ 

" ฝาแฝดนั้นมีอยู่ด้วยกัน 2 แบบ ครับคือ 

1. เด็กแฝดที่เกิดจากการปฏิสนธิจากไข่ 1 ใบ (Indentical twins) เด็กจะรูปร่างหน้าตาเหมือนกัน เพศเดียวกัน 1 ใบ ออกมาทุกเดือน หากมีเพศสัมพันธ์ตัวอสุจิก็จะเข้าไปผสมในท่อรังไข่ จะเกิดเป็นเด็ก 1 เซลล์ จากไข่ 1 ใบ เป็นเด็ก 1 คน วันต่อมาไข่ใบนี้ก็จะแบ่งเป็น 2 เซลล์ วันต่อมาเป็น 4 เซลล์ และ 8 เซลล์ตามลำดับ ซึ่งจะเยอะขึ้นเป็น 64 เซลล์ เพื่อพร้อมจำแนกเซลล์และสร้างอวัยวะ หลังจากนั้นวันที่ 5-6 ไข่ก็จะเดินทางมาถึงมดลูก ฝังตัว เติบโตและกลายเป็นเด็ก 1 คน 

แต่ในกรณีที่เป็นเด็กแฝดจากไข่ใบเดียวกัน เด็กจะแบ่งตัวเป็น 2 ส่วนตั้งแต่ 3-4 วันแรก สมมติว่าไข่ที่ถูกผสมแบ่งตัวเป็น 2 ส่วนตั้งแต่ 3-4 วันแรก สมมติว่าไข่ที่ถูกผสมแบ่งตัวออกเป็น 4 เซลล์ แล้ว 1 ใน 4 เซลล์เกิดแบ่งตัวออกมาเองกลายเป็น 3 เซลล์อันหนึ่ง และ 1 เซลล์อันหนึ่ง ก็จะเกิดความเหมือนกันทุกอย่าง เพราะเกิดมาจากเซลล์ๆ เดียวกันแต่มีการแบ่งตัวเท่านั้น การพัฒนาและการเติบโตของเซลล์ก็จะดำเนินไปเหมือนเดิม เดินทางไปยังมดลูก และฝังตัวเหมือนกันทั้ง 2 เซลล์ฉะนั้นเขาก็จะมีถุงน้ำและรกเป็นคนละอันกัน 


หากเด็กไม่มีการแบ่งเซลล์ เขาก็จะเป็นคนๆ เดียว แต่ถ้าเกิดแบ่งตัวหลังจากนั้นหรือตอนโตแล้ว ก็จะเกิดการวิปริต ซึ่งเป็นสาเหตุของความพิการแต่กำเนิดเพราะเซลล์ต่างๆ เริ่มสร้างอวัยวะแล้ว 

อย่างฝาแฝดอินจันเกิดจากการแบ่งตัวภายหลัง ตัวเด็กที่กำลังถูกสร้างเกิดการแบ่งตัวก็เลยติดกัน เราจะห้ามไม่ได้ว่าเขาจะแบ่งตัวตอนไหน เวลาใด และความจริงอินจันเขาต้องเกิดมาเป็นคนๆ เดียว แต่เกิดมาแบ่งตัวตอนที่ไม่ควรแบ่งแล้วอย่างคนอื่นก็อาจมีกรณีอย่างนี้ เช่น หัวติดกัน ท้องติดกัน เป็นต้น 

2. เด็กแฝดที่เกิดจากการปฏิสนธิจากไข่มากกว่า 1 ใบ (Fraternal twins) จะมีรูปร่างหน้าตาไม่เหมือนกัน ซึ่งอาจเป็นคนละเพศกันก็ได้ เกิดจากแม่มีไข่ตกมากกว่า 1 ใบ และไข่มีความสมบูรณ์มากกว่า 1 ใบ ตัวอสุจิจึงเข้าไปผสมตามจำนวนไข่ที่สมบูรณ์ หากมีไข่ 3 ใบ ก็มีสิทธิ์ที่จะเป็นแฝด 3 ได้ จึงเป็นฝาแฝดที่แยกกันตั้งแต่ตอนเป็นไข่แล้ว ฝาแฝดชนิดนี้จึงมีความคล้ายพี่น้องมากกว่าความเหมือนของฝาแฝด มีสิทธิ์จะเป็นคนละเพศหรือเพศเดียวกันก็ได้ เพราะไข่คนละใบ อสุจิคนละตัวกันคะ" 

  ปัจจัยเกิดแฝด

" จากการสำรวจเด็กแฝดที่เกิดจากไข่ 1 ใบ หรือที่เรียกว่าแฝดเหมือน จะมีอุบัติการณ์เท่ากันทุกเชื้อชาติ คือ 1 คู่ / 250 คน ส่วนเด็กแฝดที่เกิดจากไข่มากกว่า 1 ใบ จะมีปัจจัยดังนี้ครับ 

1. กรรมพันธุ์ เครือญาติของแม่ที่มีแฝด จะมีโอกาสได้ลูกแฝดมากกว่าเครือญาติของพ่อที่มีลูกแฝด อย่างเช่น ผมเคยทำคลอดรายหนึ่งตัวคุณแม่เป็นแฝด ลูกเขาก็แฝด และยายของหลานแฝดก็เป็นแฝด ซึ่งมันเป็นเรื่องของกรรมพันธุ์ 

2. เชื้อชาติ เช่น ในฝรั่งผิวขาวชาวยุโรปจะเกิดฝาแฝด 1 คู่ต่อหญิงตั้งครรภ์ 100 คน ส่วนหญิงนิโกรจะเกิด 1 คู่ต่อหญิงตั้งครรภ์ 80 คน 

3. อายุของแม่และจำนวนครั้งของการตั้งครรภ์ก็มีส่วนอย่างยิ่ง เพราะยิ่งอายุ และจำนวนครั้งของการตั้งครรภ์มากเท่าไร ไข่จะมีโอกาสตกเยอะขึ้น โอกาสตั้งครรภ์แฝดก็มากขึ้นตาม อย่างในประเทศไนจีเรีย หญิงตั้งครรภ์จะมีโอกาสเป็นแฝดได้ร้อยละ 2 แต่หญิงที่ตั้งครรภ์ครั้งที่ 6 หรือมากกว่าจะมีโอกาสตั้งครรภ์แฝดได้ถึงร้อยละ 6.6

4. หญิงที่มีน้ำหนักตัวมากโดยสาเหตุมาจากการกินเยอะ จะมีโอกาสตั้งครรภ์แฝดมากกว่าหญิงรูปร่างผอม ที่เกิดจากภาวะทุพโภชนาการหรือขาดอาหาร ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับความสมบูรณ์ของร่างกายครับ 

5. การได้รับสารหรือยากระตุ้นให้ตกไข่มากกว่า 1 ใบ ซึ่งอยู่ในกลุ่มยาฮอร์โมน 

6. การทำเด็กหลอดแก้ว 

7. การกินยาคุมกำเนิดเป็นเวลานาน ประมาณ 3 ปีขึ้นไป เพราะยาคุมจะมีฤทธิ์ไปกดต่อมฮอร์โมนใต้สมองไม่ให้ไข่ตก แต่ถ้าเราเกิดอยากมีลูกและหยุดคุมขึ้นมาฮอร์โมนที่ถูกกดไว้มันจะเป็นอิสระ ทำให้ตกไข่ทีละหลายๆ ใบ จึงเกิดโอกาสเป็นเด็กแฝดได้มากกว่าคนปกติครับ 

                รู้ได้ไหมหากตั้งท้องแฝด

" คุณแม่เมื่อมีลูกแฝดอาจจะมีอาการแพ้ท้องมากกว่าปกติ กินเท่าไรก็ไม่พอ เมื่อท้องไปสักพักแล้วรู้สึกว่าท้องมันใหญ่กว่าปกติมาก เช่นท้อง 3 เดือนเท่า 5 เดือนแล้ว หรือลูกดิ้นมากซ้ายทีขวาทีเต็มไปหมด ก็จะเป็นตัวบ่งชี้ แต่การอัลตราซาวนด์จะให้ผลแม่นยำที่สุด แค่อายุครรภ์ประมาณ 6 สัปดาห์ ก็จะเห็นแล้วว่าเป็นเด็ก 2 คน อยู่คนละถุงกัน" 

แต่การตั้งครรภ์เด็กแฝดจะทำให้คุณแม่มีความเสี่ยงกว่าครรภ์ทั่วไปนะครับ เช่น 

§         มีโอกาสแท้งและคลอดก่อนกำหนดสูงกว่าครรภ์ปกติ 

§         โอกาสที่เด็กจะตายในครรภ์และแรกคลอด สูงมากกว่าปกติถึง 2 เท่า 

§         เด็กอาจมีน้ำหนักน้อยกว่า 2,500 กรัม 

§         มีความผิดปกติแต่กำเนิดสูงกว่าครรภ์ปกติ 

§         แม่เกิดอาการแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ เช่น ครรภ์เป็นพิษ โลหิตจาง รกเกาะต่ำ รกลอกตัวก่อนกำหนด เด็กอยู่ในท่าผิดปกติ โพรงมดลูกใหญ่มากๆ 

§         อาการแทรกซ้อนขณะคลอด เช่น มดลูกบีบตัวไม่ดี สายสะดือย้อยๆ จึงทำให้เพิ่มอัตราการผ่าตัดคลอดทางหน้าท้องแม่ 

§         อาการแทรกซ้อนหลังคลอด เช่น ตกเลือด และการติดเชื้อฯ 


 
ปัญหาเด็กแฝดที่พบบ่อย

เด็กแฝดในครรภ์จะเติบโตไม่เต็มที่ ยกตัวอย่าง เมื่อเด็กแฝดน้ำหนักตัวคนละ 2,000 กรัม คูณสองก็เท่ากับ 4,000 กรัม มดลูกก็จะเริ่มบีบตัวให้คลอดแม้ยังไม่ถึงกำหนด เพราะขนาดมดลูกจำกัดและรับไม่ไหว เด็กที่คลอดก็จะตัวเล็ก 

§         เด็กต้องการอาหารมากพอสำหรับ 2 คน แต่แม่ก็กินได้จำกัด และยังมีปัจจัยเรื่องมดลูกอีก เพราะหากมดลูกของแม่ดีแข็งแรง อาหารที่ส่งมาก็จะมาก พบว่าแฝดในแม่อายุมากมดลูกจะไม่แข็งแรง ลูกได้รับอาหารน้อยหรือไม่ก็แย่งอาหารกันเองเมื่อเด็กคลอดจะมีอาการหายใจหอบ ติดเชื้อ อ่อนแอ ซึ่งเป็นโรคของเด็กที่มีน้ำหนักตัวน้อย 

§         กรณีแย่งอาหารกัน ถ้าเป็นแฝดเหมือนเกิดจากไข่ใบเดียวกัน บางทีรกอาจจะเชื่อมกัน เด็กอีกคนก็จะดูดเลือดจากเด็กอีกคนไป เด็กที่ดูดเยอะก็จะตัวใหญ่ ส่วนอีกคนก็จะผอมแห้งเหี่ยว แต่เด็กที่ได้เลือดเยอะใช่ว่าจะดี เพราะมีโอกาสหัวใจวายได้เหมือนกัน แต่เด็กที่แย่จะเป็นคนที่ถูกแย่งเลือดไปมากกว่า จึงต้องดูแลเป็นพิเศษมากกว่าครรภ์อื่นๆ 

§         หากคุณแม่มีเด็กแฝดในท้องเยอะ ประสิทธิภาพ ความสามารถ ความฉลาดและพัฒนาการจะไม่เท่าเด็กที่เกิดมาเดี่ยวๆ ได้

Share this