ทุกวันนี้ใครๆ ก็หันมาดื่มชา ด้วยสาเหตุหลายประการ ส่วนใหญ่จะนึกถึงประโยชน์สารพัดของการดื่มเครื่องดื่มประเภทนี้ ขณะที่หลายคนยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับใบชา
ดังนั้น ก่อนดื่มชาหรือหาใบชามาชงดื่มที่บ้าน ควรหาความรู้เกี่ยวกับใบชา สรรพคุณ สารที่อยู่ในใบชา ประโยชน์และสิ่งสำคัญ โทษและข้อควรระวังในการดื่มชา เพื่อว่าการดื่มชาของคุณจะได้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ร่างกาย
เภสัชกรหญิง ร.ท.หญิง วิภาพร เสรีเด่นชัย กลุ่มวิชาเภสัชเวท คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เผยว่า ทุกวันนี้ผู้คนส่วนใหญ่นิยมดื่มชา การดื่มชาจึงเป็นที่รู้จักแพร่หลายทั่วโลก ทั้งในอเมริกา ยุโรป เอเชียและในบาง ประเทศของทวีปแอฟริกา แต่ผลผลิตชาส่วนใหญ่อยู่ในทวีปเอเชียโดยพื้นที่ซึ่งปลูก ชามากอยู่ระหว่างแนวเหนือ-ใต้ ตั้งแต่ประเทศญี่ปุ่น- อินโดนีเซียและแนวตะวันออก -ตะวันตก จากประเทศอินเดีย-ญี่ปุ่น ด้วยเหตุที่พื้นที่บริเวณนี้อยู่ในเขตมรสุม มีอากาศอบอุ่น ปริมาณน้ำฝนมาก เหมาะกับการเจริญเติบโตของต้นชา
เราแบ่งชาตามกรรมวิธีผลิตได้เป็น 3 กลุ่ม
1.ชาเขียว (green tea) เป็นชาที่ได้จากยอดใบชา รู้จักดีในชื่อของ ชาญี่ปุ่น เป็นชาที่ผ่านการอบแห้งโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการหมัก ทำให้ได้ใบชาที่ยังคง สีเขียวอยู่
2.ชาจีน (red tea ; Oolong tea) เป็นชาที่คนไทยคุ้นเคยที่สุด ผ่านกระบวนการหมักในระยะสั้นๆ มีรสจัดกว่าชาเขียว น้ำชามีสีแดงเข้ม ชาจีนที่ดีควรเป็นชาที่เก็บจากภูเขาสูงและเป็นชาที่เก็บในช่วงฤดูหนาว เชื่อกันว่าเป็นชาชั้นยอดและ มีกลิ่นหอมพิเศษ
3.ชาหมัก หรือชาฝรั่ง (black tea) เป็นชาที่ผ่านกระบวนการหมักอย่างเต็มที่ รสชาติชาที่ได้เข้มข้นมาก นอกจากนี้ ยังนิยมนำชาชนิดนี้แต่งกลิ่นแต่งรส ทำให้ได้รสชาติที่หลากหลายมากขึ้น ชาชนิดนี้เป็นที่นิยมมากในแถบยุโรป
ปัจจุบันมีชาอีกประเภทหนึ่งที่เรียกกันว่า ชาขาว เป็นชาที่ได้จากช่อใหม่ของต้นชาหรือยอดชาอ่อน และผ่านกระบวนการ ผลิตโดยใช้ความร้อนน้อยที่สุดจึงทำให้คุณค่าทางโภชนาการและศักยภาพในการต้านอนุมูลอิสระสูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบ กับชาชนิดอื่นๆ
ชาเป็นเครื่องดื่มที่มีธาตุอาหารหลายชนิดที่ช่วยบำรุงร่างกายให้มีสุขภาพดี ช่วยกระตุ้นให้ระบบประสาทและร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะในใบชามีสารกาเฟอีน ช่วยกระตุ้นระบบประสาทกลางและระบบ หมุนเวียนโลหิต มีอิทธิพลต่อกระบวนการเมตาบอลิซึมของเซลล์ภายใน ร่างกาย ใช้ผสมยาแก้ปวด รักษาโรคไมเกรน เพื่อเพิ่มฤทธิ์ในการรักษา และให้ยาออกฤทธิ์ได้นานขึ้น
สารกลุ่มแซนธีนในใบชา มีผลต่อระบบหัวใจและการไหลเวียนโลหิต ช่วยขยายหลอดเลือด ป้องกันโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน ซึ่งการดื่มชายัง สามารถรักษาอาการเจ็บหน้าอก และกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
นอกจากนี้ การดื่มชามีผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ และช่วยสลายไขมันได้เป็น อย่างดี ลดระดับคอเลสเตอรอล โดยไปเพิ่มการขับคอเลสเตอรอลในร่างกาย ผ่านทางน้ำดีในอุจจาระ
ในประเทศจีนรู้กันมานานแล้วว่า ชาจีนสามารถควบคุมการเกิดโรคอ้วน ได้ดี มีฤทธิ์ต้านจุลชีพ ช่วยฆ่าเชื้อโรค ลดการอักเสบ สมานแผล ขับและชำระ สารพิษในร่างกาย เพราะในใบชามีสารพอลิฟีนอล สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ได้ ในส่วนฤทธิ์การต้านการ อักเสบเชื่อว่าชาสามารถป้องกันโรคที่ก่อการอักเสบเรื้อรัง เช่น ข้ออักเสบรูมาตอยด์
คนญี่ปุ่นเชื่อว่าการดื่มชาเขียวจะช่วยลดการเกิดโรคมะเร็งในกระเพาะอาหาร มีฤทธิ์ช่วยต้านอนุมูลอิสระและเสริม สุขภาพ โดยเฉพาะชาเขียวมีวิตามินซี วิตามินบีรวม และกรดแพนโธเทนิก รวมทั้งวิตามินบี ช่วยให้หลอดเลือดมีการซึมผ่าน ได้ดีขึ้น ช่วยไม่ให้เส้นเลือดแข็งตัวง่าย กรดแพนโธเทนิกในชา ช่วยให้ผิวหนังชุ่มชื้น วิตามินบี 1 ช่วยส่งเสริมการเจริญ เติบโตของเม็ดเลือด วิตามินบี 2 ช่วยลดการอักเสบ ชาช่วยแก้กระหายและช่วยในการย่อยอาหาร
ในช่วงอากาศร้อนการดื่มชาจะช่วยให้รู้สึกสดชื่นขึ้น เนื่องจากในใบชามีสารพอลิฟีนอล คาร์โบไฮเดรต และกรดอะมิโน เป็นองค์ประกอบ เมื่อสารเหล่านี้เกิดปฏิกิริยากับน้ำลายจะช่วยกระจายความร้อนส่วนเกินในร่างกาย ชายังให้สารไอโอดีน และฟลูออไรด์ซึ่งเป็นสารป้องกันภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป ซึ่งฟลูออไรด์ในจำนวนที่เพียงพอกับความต้องการ จะช่วยป้องกันฟันผุและเสริมมวลกระดูก
หลังรับประทานอาหารควรดื่มชาแก่ๆ สักถ้วย จะช่วยกระตุ้นการหลั่งน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร ช่วยย่อยอาหารจำพวก วิตามินกลุ่มต่างๆ
เภสัชกรหญิง ร.ท.หญิง วิภาพร กล่าวว่า แม้เครื่องดื่มชาจะมีประโยชน์มากมาย แต่โทษที่อยู่ในใบชาก็มีไม่น้อย ใบชามีกรดแทนนิก อยู่มาก โดยเฉพาะชาหมักมีกรดแทนนิกมากกว่าชาเขียว
ใบชาที่คุณภาพต่ำจะมีกรดแทนนิกอยู่มาก มีผลต่อ trace element ในกระเพาะอาหารหรือลำไส้ เช่น ธาตุเหล็ก แคลเซียม แมกนีเซียม สังกะสี ส่งผลให้ดูดซึมอาหารได้ไม่เต็มที่ ซึ่งอาจนำไปสู่การเจ็บป่วยด้วยอาการขาดธาตุเหล็กในเลือด เมื่อแทน นิกรวมตัวกับโปรตีนจะทำให้ย่อยโปรตีนยากขึ้น
การดื่มชาที่เข้มข้นมากๆ มีผลในกระเพาะอาหารดูดซับ อาหารได้น้อยลง ระบบย่อยอาหารผิดปกติซึ่งจะทำให้ท้องผูก ยิ่งถ้าดื่มชาเข้มข้นในช่วงท้องว่างติดต่อกันเป็นเวลายาวนาน อาจทำให้เป็นโรคกระเพาะอาหารได้ แต่ควรดื่มชาหลังรับ ประทานอาหารแล้ว 2-3 ชั่วโมง
สำหรับบางคน การดื่มชาอาจไม่เหมาะสมและทำให้เกิด โทษได้ จึงไม่ควรดื่มชา ซึ่งผู้ที่ไตทำงานบกพร่องหรือมีอาการ ไตวาย ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะอาหารและลำไส้ เด็กที่อายุต่ำกว่า 3 ขวบ สตรีที่รับประทานยาคุมกำเนิด สตรีตั้งครรภ์ สตรีให้นมบุตร ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง หรือโรคหัวใจ ผู้ที่มีไข้สูง
นอกจากนี้ คนที่คิดจะดื่มชาควรจะมีความรู้และพึงระวังคือ ไม่ควรดื่มชาขณะกินยา ไม่ว่ายาแผนปัจจุบันหรือยาแผนโบราณ ไม่ควรดื่มชาก่อนนอนสำหรับผู้ที่นอนหลับยากหรือเป็นโรคนอนไม่หลับ ไม่ควรดื่มชาที่ร้อนจัดเพราะความร้อนจะไปทำลายเนื้อเยื่อในช่องปากจนทำให้เกิดอันตรายในช่องปาก ลำคอ ลำไส้ได้ ไม่ควรดื่มชาที่ชงค้างคืนหรือชงไว้นานหลายชั่วโมง เพราะชาอาจบูดซึ่งชาที่ชงทิ้งค้างไว้นานๆ พบว่ามีกรดแทนนิกสูง และสารต่างๆ ในน้ำชาอาจทำปฏิกิริยาจนกลายเป็นสารพิษได้
ที่มา : http://www.tlcthai.com/webboard/view_topic.php?table_id=1&cate_id=67&post_id=9944