20 อันดับเมืองเก่าแก่ที่สุดในโลก
สมาชิกเลขที่79400 | 08 ส.ค. 55
3.7K views

สำนักพิมพ์เทเลกราฟ เผยรายชื่อ “20 อันดับเมืองเก่าแก่ที่สุดในโลก”(พิจารณาจากระยะเวลาในการตั้งถิ่นฐานอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่อดีตตราบจนปัจจุบัน) ซึ่งคัดมาจากหนังสือ “ไทม์เอาท์’ส  ไกด์ ทู เดอะ เวิลด์’ส เกรทเทส ซิตี้”

20. เมืองพาราณสี (Varanasi) ประเทศอินเดีย

เริ่มมีการตั้งรกรากของประชากรเมื่อราว 1,000 ปีก่อนคริสตกาล

“เมืองพาราณสี” ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำคงคา เดิมมีชื่อว่า “เบนาเรส” ถือเป็นเมืองอันศักดิ์สิทธิ์ทั้งในศาสนาพุทธและฮินดู ตามตำนานเล่าว่าเมืองพาราณสีสร้างขึ้นโดยพระศิวะเมื่อเกือบ 5 พันปีก่อน แต่นักวิชาการสมัยใหม่เชื่อว่าพาราณสีน่าจะมีอายุกว่า 3 พันปีเท่านั้น

 

19. เมืองคาดิซ (Cadiz) ประเทศสเปน

เริ่มมีการตั้งรกรากของประชากรเมื่อราว 1,100 ปีก่อนคริสตกาล

เมืองคาดิซตั้งอยู่บนแหลมที่ยื่นออกไปใน อ่าวคาดิซ (มหาสมุทรแอตแลนติก) เป็นที่ตั้งของกองทัพเรือสเปนมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 18 ในยุคแรกๆ เมืองนี้เคยถูกพ่อค้าชาวฟีนิเชียใช้เป็นจุดซื้อขาย แลกเปลี่ยนสินค้า ต่อมาได้ตกเป็นอาณานิคมของชาวคาร์เธจ (ราว 500 ปีก่อนคริสตกาล) และได้กลายเป็นฐานในการแย่งชิงดินแดนในคาบสมุทรไอบีเรียของแม่ทัพฮานนิบาล ในเวลาต่อมาเมืองคาดิซได้ตกเป็นของชาวโรมัน และมัวร์ ตามลำดับ ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance) ในยุคการสำรวจทางทะเล

* 3 อันดับต่อไปนี้ก่อตั้งในเวลาใกล้เคียงกัน *

16. เมืองธีบส์ (Thebes) ประเทศกรีซ

เริ่มมีการตั้งรกรากของประชากรเมื่อราว 1,400 ปีก่อนคริสตกาล

ซากป้อมปราการในยุคโบราณ

 

ในอดีตธีบส์ เคยเป็นศัตรูตัวฉกาจของชาวเอเธนส์โบราณ ทั้งยังเป็นเมืองใหญ่ที่สุด (และเป็นผู้นำ) แห่งแคว้นโบเธีย ซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างสปาร์ตากับเอเธนส์ (ในสมัยโบราณดินแดนต่างๆ ของกรีก มักจะทำสงครามสู้รบกันเอง) แม้ จะอยู่ในดินแดนกรีกแต่ธีบส์กลับเลือกยืนอยู่ข้างชาวเปอร์เซีย ซึ่งเป็นศัตรูที่มักบุกเข้ามาทำสงครามกับกรีกหลายครั้ง ถึงขนาดให้ความช่วยเหลือกษัตริย์เซอร์เซส ที่นำกองทัพเปอร์เซียบุกเข้าโจมตีกรีก เมื่อ 480 ปีก่อนคริสตกาล จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่าชนเผ่าไมซีเนียนเป็นผู้บุกเบิกและเข้ามาก่อตั้ง ถิ่นฐานที่เมืองธีบส์เป็นกลุ่มแรกๆ  ปัจจุบัน อาณาจักรที่เคยยิ่งใหญ่อย่างเมืองธีบส์กลับกลายเป็นเพียงมาร์เก็ตทาวน์เล็กๆ แต่เนื่องจากมีทัศนียภาพที่งดงามจึงมีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเดินทางมา เยี่ยมเยียนเสมอ

16. เมืองลาร์นาคา (Larnaca) ประเทศไซปรัส

เริ่มมีการตั้งรกรากของประชากรเมื่อราว 1,400 ปีก่อนคริสตกาล

เมืองลาร์นาคา ก่อตั้งโดยชาวฟีนิเชีย ในอดีตมีชื่อว่า “Citium” ปัจจุบัน เป็นเมืองท่าที่สำคัญและเป็นเมืองรีสอร์ทริมทะเลที่ขึ้นชื่อ โดยมีเอกลักษณ์อันโดดเด่นเป็นแนวต้นปาล์มที่สวยงามริมชายหาด ซึ่งมีอยู่หลายแห่งด้วยกัน

16.  เมืองเอเธนส์ (Athens) ประเทศกรีซ

เริ่มมีการตั้งรกรากของประชากรเมื่อราว 1,400 ปีก่อนคริสตกาล

เอเธนส์ เป็นจุดเริ่มต้นของอารยธรรมตะวันตกและเป็นต้นกำเนิดของประชาธิปไตย ทั้งยังเป็นที่ตั้งของวิหารพาร์เธนอนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลก เมื่อปี พ.ศ. 2530 รวมทั้งโบราณสถานเก่าแก่สมัยกรีก โรมัน ไบแซนไทน์ และออตโตมัน ปัจจุบัน ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของโลก และมีนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากเดินทางไปเยือนในแต่ละปี

15. เมืองบัลข์ (Balkh) ประเทศอัฟกานิสถาน

เริ่มมีการตั้งรกรากของประชากรเมื่อราว 1,500 ปีก่อนคริสตกาล

กำแพงแห่งบัลข์

 

บัลข์ หรือที่รู้จักกันในยุคกรีกโบราณภายใต้ชื่อ “แบคตรา” (เป็นเมืองหลวงของอาณาจักร  “แบคเตรีย” หรือดินแดนโบราณยุคประวัติศาสตร์ในเอเชียกลาง) ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศอัฟกานิสถาน ครั้งหนึ่งเคยได้รับสมญานามจากชาวอาหรับว่าเป็น ‘Mother of Cities’  มีความเจริญรุ่งเรืองมากในสมัย  2,500-1,900 ปีก่อนคริสตกาล ก่อนที่อาณาจักรเปอร์เซียและมีเดียจะเรืองอำนาจ ปัจจุบัน ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการผลิตฝ้ายประจำภูมิภาค

14. เมืองกีร์กูก  (Kirkuk) ประเทศอิรัก

เริ่มมีการตั้งรกรากของประชากรเมื่อราว 2,200 ปีก่อนคริสตกาล

กีร์กูก อยู่ห่างไปทางตอนเหนือของกรุงแบกแดดราว 150 ไมล์ (241 ก.ม.) ตั้งอยู่บนพื้นที่ๆ ครั้งหนึ่งเคยเป็นเมืองหลวงของจักรวรรดิแอสซีเรีย (ส่วนหนึ่งของเมโสโปเตเมีย) ที่มีชื่อว่า “Arrapha” แม้ว่าปัจจุบัน  กีร์กูก จะกลายเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมปิโตรเลียมของอิรัก แต่กำแพงและซากปรักหักพังของป้อมปราการเก่าแก่อายุเกือบ 5 พันปียังคงปรากฏให้เห็นตราบจนกระทั่งทุกวันนี้

13. เมืองอาร์บิล (Arbil) ประเทศอิรัก

เริ่มมีการตั้งรกรากของประชากรเมื่อราว 2,300 ปีก่อนคริสตกาล

เมืองอาร์บิล ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเมืองกีร์กูก  ในอดีตเคยตกอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิแอสซีเรีย เปอร์เซีย ซาสซาเนีย  อาหรับ และออตโตมัน   ทั้งยังเคยเป็นเมืองสำคัญบนเส้นทางสายไหมในสมัยโบราณ  ปัจจุบัน ป้อมปราการและกำแพงเมืองเก่าแก่ที่อยู่สูงจากระดับพื้นดิน 26 เมตรของเมืองอาร์บิล ยังคงปรากฏให้เห็นและถือเป็นแลนด์มาร์กสำคัญที่ตั้งอยู่ในย่านใจกลางเมือง

12. เมืองไทร์ (Tyre) ประเทศเลบานอน

เริ่มมีการตั้งรกรากของประชากรเมื่อราว 2,750  ปีก่อนคริสตกาล

เมืองไทร์ เป็นต้นกำเนิดของตำนาน “เทพียูโรปา” และ “เจ้าหญิงดิโด้ (Dido) หรือ Elissa” นักประวัติศาสตร์ชาวกรีกที่มีชื่อว่า เฮโรโดตัส (Herodotus) ซึ่งได้รับสมญานามว่า “บิดาแห่งประวัติศาสตร์” เป็นผู้บันทึกเอาไว้ว่าเมืองไทร์ก่อตั้งขึ้นเมื่อราว 2,750  ปีก่อนคริสตกาล ในอดีตเมืองนี้เคยถูกอเล็กซานเดอร์มหาราช (กรีก) บุกเข้ายึดครองต่อมาได้รับเอกราชและกลายเป็นจังหวัดหนึ่งของโรมันปัจจุบัน เมืองไทร์เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ เนื่องจากมีโบราณสถานและสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “โรมัน ฮิปโปโดรม” ที่ได้รับการจดทะเบียนให้เป็นมรดกโลกจากองค์การยูเนสโก เมื่อปี ค.ศ. 1979 (พ.ศ. 2522 )

11. เมืองเยรูซาเลม (Jerusalem) ประเทศอิสราเอล

เริ่มมีการตั้งรกรากของประชากรเมื่อราว 2,800  ปีก่อนคริสตกาล

เยรูซาเล็ม เป็นศูนย์กลางแห่งจิตวิญญาณของชาวยิว และเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อันดับที่ 3 ในศาสนาอิสลาม ทั้งยังเป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญทางศาสนาหลายแห่ง อาทิ โดมทองแห่งเยรูซาเล็ม (ในภาพ) ที่ได้ชื่อว่าเป็นสิ่งปลูกสร้างของอิสลามที่เก่าที่สุดในโลก, กำแพงตะวันตก หรือกำแพงร้องไห้,  โบสถ์แห่งสุสานศักดิ์สิทธิ์ และสุเหร่า อัล-อักซา เป็นต้น ในอดีตเยรูซาเล็มเคยถูกข้าศึกล้อม 23 ครั้ง ถูกโจมตี 52 ครั้ง ถูกยึด 44 ครั้ง และถูกทำลาย 2 ครั้ง

10. เมืองเบรุต (Beirut) ประเทศเลบานอน

เริ่มมีการตั้งรกรากของประชากรเมื่อราว 3,000  ปีก่อนคริสตกาล

เบรุต เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานถึง 5 พันปี ปัจจุบันเป็นทั้งเมืองหลวง ศูนย์กลางการบริหาร วัฒนธรรม  และเศรษฐกิจ ของประเทศเลบานอน จากการขุดค้นทางโบราณคดีปรากฏหลักฐานของชาวฟินิเชีย อารยธรรมเฮลเลนิสติก โรมัน อาหรับ และออตโตมัน (ทั้งยังถูกกล่าวถึงเป็นลายลักษณ์อักษรในจดหมายที่ส่งถึงกษัตริย์ฟาโรห์แห่ง อียิปต์ ในสมัยศตวรรษที่ 14 ก่อนคริสตกาลอีกด้วย) หลังสิ้นสุดสงครามกลางเมือง เบรุต ได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ทันสมัยและมีชีวิตชีวา จึงได้รับการจัดอันดับจากหนังสือพิมพ์นิวยอร์ค ไทม์ ว่าเป็นสุดยอดสถานที่ที่ควรไปเยือนในปี 2009 และได้รับการจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 10 เมืองที่มีชีวิตชีวามากที่สุดในโลก ประจำปี 2009 โดยโลนลี่ แพลนเน็ตอีกด้วย

9. เมืองกาเซียนเต็ป (Gaziantep) ประเทศตุรกี

เริ่มมีการตั้งรกรากของประชากรเมื่อราว 3,650  ปีก่อนคริสตกาล

เมืองกาเซียนเต็ป ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศตุรกี ใกล้พรมแดนประเทศซีเรีย มีประวัติศาสตร์อันยาวนานนับตั้งแต่ยุคของชาวฮิทไทท์ซึ่งเป็นชนโบราณ บริเวณใจกลางเมืองเป็นที่ตั้งของป้อมปราการราวันด้า ที่ถูกบูรณะซ่อมแซมโดยอาณาจักรไบแซนไทน์ในสมัยศตวรรษที่ 6  และเป็นที่ซึ่งมีการค้นพบศิลปะแบบโมซาอิของชาวโรมัน

* 3 อันดับต่อไปนี้ก่อตั้งในเวลาใกล้เคียงกัน *

6. เมืองพลอฟดิฟ (Plovdiv) ประเทศบัลแกเรีย

เริ่มมีการตั้งรกรากของประชากรเมื่อราว 4,000  ปีก่อนคริสตกาล

พลอฟดิฟ เป็นเมือง (จังหวัด) ที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศบัลแกเรีย ก่อตั้งโดยชาวเทรเชียนโบราณ ต่อมาได้กลายเป็นเมืองสำคัญของชาวโรมัน หลังจากนั้นจึงตกอยู่ภายใต้การครอบครองอาณาจักรไบแซนไทน์ และออตโตมัน ก่อนที่จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศบัลแกเรีย เมืองนี้เป็นศูนย์กลางด้านวัฒนธรรมที่สำคัญ ทั้งยังมีโบราณสถานและอารยธรรมโบราณหลายแห่งหลงเหลือให้เห็นในปัจจุบัน อาทิ อัฒจันทร์และรางน้ำสมัยโรมัน ตลอดจนโรงอาบน้ำของจักรวรรดิออตโตมัน เป็นต้น

6. เมืองไซดอน (Sidon) ประเทศเลบานอน

เริ่มมีการตั้งรกรากของประชากรเมื่อราว 4,000  ปีก่อนคริสตกาล

เมืองไซดอน อยู่ห่างไปทางตอนใต้ของเมืองเบรุตราว 25 ไมล์ (40 ก.ม.) ถือเป็นเมืองสำคัญที่สุด และ (อาจ) เก่าแก่ที่สุดของชาวฟินิเชีย ทั้งยังเป็นรากฐานด้านการค้าอันยิ่งใหญ่ในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนของชาวฟิ นิเชียอีกด้วย กล่าวกันว่า ครั้งหนึ่งพระเยซูและเซนต์ปอล เคยเดินทางไปเยือนเมืองไซดอน รวมทั้งอเล็กซานเดอร์มหาราชที่บุกยึดเมืองกล่าวเมื่อ 333 ปีก่อนคริสตกาลด้วย

6. เมืองฟายุม (Faiyum) ประเทศอียิปต์

เริ่มมีการตั้งรกรากของประชากรเมื่อราว 4,000  ปีก่อนคริสตกาล

ฟายุม ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองไคโร บนพื้นที่ๆ เคยเป็นส่วนหนึ่งของเมือง “Crocodilopolis” หรือ “อาร์สินี” ในสมัยอียิปต์โบราณซึ่งเคารพบูชาจระเข้ศักดิ์สิทธิ์ที่มีชื่อว่า “Petsuchos “  ปัจจุบัน เมืองฟายุม มีห้างร้านขนาดใหญ่ มัสยิด และโรงอาบน้ำหลายแห่ง ทั้งยังมีปิรามิด  Lehin และ Hawara ตั้งอยู่บริเวณด้านนอกของตัวเมืองอีกด้วย

5. ซูซา (Susa) ประเทศอิหร่าน

เริ่มมีการตั้งรกรากของประชากรเมื่อราว 4,200  ปีก่อนคริสตกาล

ในอดีต “ซูซา” เคยเป็นเมืองหลวงของเอลามหรือจักรวรรดิเอลาไมท์ ก่อนที่จะถูกจักรวรรดิอัสซีเรียเข้ายึดครอง ต่อมาเมืองซูซาได้ถูกจักรวรรดิเปอร์เชียอคีเมนียะห์  ภายใต้การปกครองของจักรพรรดิไซรัสมหาราชเข้ารุกราน และได้กลายเป็นเมืองหลวงของจักรวรรดิดังกล่าวในเวลาต่อมา… เมืองซูซายังเป็นต้นกำเนิดของละครเรื่อง “เดอะ เปอร์เซียน” ซึ่งแต่งโดยนักประพันธ์ชาวกรีกที่มีชื่อว่า “เอสชิลุส” (บิดาแห่งโศกนาฎกรรมกรีก) และได้ชื่อว่าเป็นละครเก่าแก่ที่สุดที่ยังคงถูกนำมาแสดงอยู่ตราบจนปัจจุบัน ทุกวันนี้เมืองซูซาโบราณได้กลายเป็นเมืองยุคใหม่ภายใต้ชื่อ “ชูสห์”  ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดคูเซสถานและมีประชากรอาศัยอยู่ไม่ถึง 1 แสนคน

* 2  อันดับต่อไปนี้ก่อตั้งในเวลาใกล้เคียงกัน *

3. เมืองดามัสกัส (Damascus) ประเทศซีเรีย

เริ่มมีการตั้งรกรากของประชากรเมื่อราว 4,300  ปีก่อนคริสตกาล

บางตำราระบุว่า “ดามัสกัส” เป็นเมืองเก่าแก่ที่สุดในโลก โดยระบุว่าอาจมีการตั้งถิ่นฐานของประชากรมาตั้งแต่สมัย 10,000 ปีก่อนคริสตกาล (ยังคงเป็นที่ถกเถียงอยู่ในปัจจุบัน) อย่างไรก็ตาม การตั้งรกรากถาวรที่ปรากฏให้เห็นเด่นชัดเริ่มต้นขึ้นหลังจากชาวอา ราเมียนอพยพเข้ามา พร้อมทั้งริเริ่มระบบชลประทาน (คู คลอง) ซึ่งยังคงถูกนำมาใช้เป็นแนวทางในการก่อสร้างระบบชลประทานในปัจจุบัน… ดามัสกัส ถูกรุกรานจากชาติตะวันตกเป็นครั้งแรกโดยอเล็กซานเดอร์มหาราช หลังจากนั้นได้ตกอยู่ในครอบครองของจักรวรรดิโรมัน ชาวอาหรับ และจักรวรรดิออตโตมันตามลำดับ ปัจจุบัน ดามัสกัส เป็น เมืองหลวงของซีเรียและเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเมืองเก่าซึ่งมีโบราณสถานและสถานที่สำคัญทางประวัติ ศาสตร์ให้เยี่ยมชมและศึกษามากมาย

3. เมืองอเล็ปโป้ ประเทศซีเรีย

เริ่มมีการตั้งรกรากของประชากรเมื่อราว 4,300  ปีก่อนคริสตกาล

อเล็ปโป้ เดิมมีชื่อว่าฮาลับ เป็นเมืองที่มีประชากรมากที่สุดในประเทศซีเรีย (ราว 4.4 ล้านคน) น่าเสียดายที่เมืองใหม่ในปัจจุบันถูกสร้างทับพื้นที่ๆ เป็นเมืองโบราณ ทำให้การสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีทำได้ยากมาก… ในสมัย 800 ปีก่อนคริสตกาลเมืองฮาลับเคยตกอยู่ภายใต้การปกครองของชาวฮิทไทท์ ก่อนที่จะตกอยู่ภายใต้น้ำมือของจักรวรรดิอัสซีเรีย กรีก และชาวเปอร์เซีย หลังจากนั้น เมืองฮาลับยังถูกยึดครองโดยชาวโรมัน ไบแซนไทน์  อาหรับ และเคยถูกล้อมกรอบ 2 ครั้งในช่วงสงครามครูเสด หลังจากนั้นจึงตกเป็นของชาวมองโกล และจักรวรรดิออตโตมัน ตามลำดับ

2. เมืองบิบลอส (Byblos) ประเทศเลบานอน

เริ่มมีการตั้งรกรากของประชากรเมื่อราว 5,000  ปีก่อนคริสตกาล

เดิมที เมืองนี้ถูกชาวฟินิเชียตั้งชื่อว่า “เกบัล” ภายหลังถูกตั้งชื่อใหม่เป็น “บิบลอส” โดยชาวกรีกที่นำเข้าต้นกกหรือปาปิรุสจากเมืองดังกล่าว… บิบลอส มีประวัติศาสตร์อันยาวนานนับตั้งแต่ยุคหินใหม่ (ซากโบราณสถานในยุคดังกล่าวยังคงปรากฏให้เห็นตราบจนปัจจุบัน) จึงมีสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญมากมาย  อาทิ วัดของชาวฟินีเชีย ปราสาทบิบลอส โบสถ์เซนต์จอห์น เดอะ แบพทิสต์ (สร้างในสมัยสงครามครูเสด) และกำแพงเมืองในยุคกลาง เป็นต้น

1. เมืองเยริโค (Jericho) ในเขตเวสต์แบงก์ ดินแดนปาเลสไตน์

เริ่มมีการตั้งรกรากของประชากรเมื่อราว 9,000  ปีก่อนคริสตกาล

เยริโค ตั้งอยู่ในเขตเวสต์แบงก์ ใกล้กับแม่น้ำจอร์แดน ได้ชื่อว่าเป็นเมืองเก่าแก่ที่สุดในโลกที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมานักโบราณคดีได้ขุดพบหลักฐานทางโบราณคดีมากกว่า 20 แห่งที่บ่งบอกว่ามีการตั้งถิ่นฐานอย่างต่อเนื่องในเมืองเยริโค โดยโบราณสถานเก่าแก่ที่สุดมีอายุมากถึง 11,000 ปี หรือเมื่อ 9,000  ปีก่อนคริสตกาล ปัจจุบัน เป็นบ้านของประชากรราว 20,000 คน

ที่มา....http://paow007.wordpress.com

Share this