มินามาตะ เรื่องราวที่มากกว่าโรคร้าย ภาค 11
สมาชิกเลขที่118626 | 07 ส.ค. 55
2.5K views

มินามาตะ เรื่องราวที่มากกว่าโรคร้าย ภาค 11

ความหมายของตุ๊กตาหินสลัก

ทะเลเบื้องหน้าสงบนิ่ง ไร้คลื่นลมและความพลุกพล่านของเรือประมง ห่างฝั่งไปไม่มากนัก เกาะขนาดย่อม 2 - 3 เกาะตั้งโดดเด่นเสมือนหมุดยักษ์ที่ปักกั้นระหว่างทะเลตอนในกับทะเลตอนนอกที่กว้างใหญ่สุดสายตา

ชายฝั่งที่พวกเรายืนอยู่ไม่มีสภาพของหาดทรายเหลือให้เห็น แต่เป็นขั้นบันไดปูนแข็งแรงที่ทอดขึ้นไปยังลานคอนกรีตกว้างสะอาดตา ห่างออกไปทางด้านซ้ายมีสวนสาธารณะ ที่นั่นเต็มไปด้วยตุ๊กตาหินสลักขนาดย่อมหลายสิบตัว ตั้งประดับบนพื้นหญ้ากระจายห่างกันเป็นจุดๆ แต่ละตัวต่างอิริยาบถ หากทว่าสายตาทุกคู่ล้วนมองออกไปสู่ทะเลกว้าง

ที่นี่มีผู้คนบางตา บ้างนั่งพักผ่อน บ้างเดินเล่น บนสันเขื่อนคอนกรีตริมทะเลมีคนนั่งนิ่งพร้อมเบ็ดคันใหญ่ในมือ การรอคอยของเขาเริ่มตั้งแต่ก่อนเรามาถึงและดูเหมือนจะยังคงเนิ่นนานต่อไป ดวงอาทิตย์ดวงโตกำลังทอแสงทองสุดท้ายของวันขณะค่อยๆ เลื่อนตัวต่ำลงข้างเกาะเบื้องหน้า 

ภาพที่เห็นช่างสงบงาม เราคงดื่มด่ำกับบรรยากาศยามเย็นและความงามของที่นี่อย่างรื่นรมย์หากไม่ต้องรับรู้ว่า ณ ที่แห่งนี้แฝงฝังไว้ด้วยโศกนาฏกรรมครั้งเลวร้ายที่สุดของมนุษยชาติที่เกิดขึ้นจากมลพิษอุตสาหกรรม

“ที่แถบนี้เรียกว่าท่าเรือเฮียกเคง ใต้พื้นคอนกรีตที่เรากำลังยืนอยู่คือสารปรอทปริมาณมหาศาลที่ขุดขึ้นมาจากอ่าวมินามาตะ ที่เคยสะสมจนหนาเกือบสี่เมตรและกระจายเป็นบริเวณกว้างมาก” เป็นเสียงของโยจิ ทานิ เลขาธิการเครือข่ายความสมานฉันท์แห่งเอเชียและมินามาตะ ที่ดังแทรกห้วงคำนึงขึ้นมา

ตลอดเวลา 2 เดือนที่มินามาตะแห่งนี้ ทานิซังให้เวลากับเราอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย ทั้งยังช่วยจัดการการเดินทางสู่ที่อื่นๆ ในญี่ปุ่นด้วย

ทานิอธิบายต่อถึงเรื่องโครงการฟื้นฟูอ่าวมินามาตะว่า ทางจังหวัดคุมาโมโตทำแผนมาตั้งแต่ปี 2510 ด้วยการขุดบริเวณที่ปนเปื้อนสารปรอทขึ้นมากองรวมกัน พร้อมกับกวาดจับปลาในอ่าวขึ้นมา แล้วฝังไว้ด้วยกัน ก่อนจะถมพื้นที่แถบนี้ทั้งหมดทับสารปรอทอีกที โดยระเบิดภูเขาจากเกาะที่อยู่ไม่ห่างออกไปมาใช้ จากนั้นก็ตกแต่งขึ้นมาเป็นสวนสาธารณะเรียกว่า “สวนสาธารณะเพื่อนิเวศน์” อย่างที่พวกเราเห็นอยู่ตรงหน้า งานทั้งหมดเพิ่งเสร็จเมื่อปี 2533

“แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่หนึ่งด้วยการทำลายสิ่งแวดล้อมอีกที่หนึ่ง” นั่นคือบทสรุปทิ้งท้ายจากทานิซัง ก่อนก้าวนำเราออกจากสวนสาธารณะเพื่อนิเวศน์ ซึ่งมีสารปรอทปริมาณมหาศาลที่เป็นตัวก่อ “โรคมินามาตะ” อันแสนทุกข์ทรมานถูกฝังอยู่ข้างใต้

เราหันมองหมู่ตุ๊กตาหินสลักอีกครั้ง ครุ่นคิดไปถึงเจตนารมณ์ของบรรดาผู้ป่วยและผู้ช่วยเหลือสนับสนุนการต่อสู้ทั้งหลายที่ร่วมกันสร้างตุ๊กตาเหล่านั้นขึ้นมา เพื่อเป็นตัวแทนแสดงความรู้สึกต่างๆ ทั้งความสำนึกเสียใจต่อบาปที่มนุษย์เป็นผู้กระทำ ทั้งการรำลึกถึงผู้ที่ต้องตายและทุกข์ทนด้วยพิษปรอท ทั้งปลอบประโลมและขอบคุณสำหรับความเข้มแข็งอดทนของผู้คนทั้งหลายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงความหวังที่ว่า ดินแดนแห่งโรคร้ายและความตายนี้จะแปรเปลี่ยนเป็นแผ่นดินอันสะอาดบริสุทธิ์ได้สักวัน

Share this