มินามาตะ เรื่องราวที่มากกว่าโรคร้าย ภาค 10
สมาชิกเลขที่118626 | 07 ส.ค. 55
1.8K views

มินามาตะ เรื่องราวที่มากกว่าโรคร้าย ภาค 10

บาดแผลทางสังคม


ผู้ป่วยโรคมินามาตะไม่เพียงทุกข์ทรมานทางร่างกายเท่านั้น แต่พวกเขายังถูกกระทำซ้ำในทางจิตใจและทางสังคมอย่างรุนแรง

ด้วยสภาพของร่างกายและอาการของโรคที่แสดงออกมาอย่าน่ากลัว ในระยะแรกผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้จึงถูกตั้งข้อรังเกียจว่าป่วยเป็นโรคประหลาด ยิ่งมีการสันนิษฐานทางการแพทย์ในเบื้องต้นว่านี่เป็นโรคติดต่อร้ายแรง การกีดกันจากสังคมก็ยิ่งรุนแรง ดังกรณีของครอบครัวทานากะ เมื่อชิซุโกะและจิตสึโกะถูกแยกไปอยู่อาคารผู้ป่วยติดเชื้อร้ายแรง ครอบครัวนี้ก็กลายเป็นที่รังเกียจของเพื่อนบ้าน ไม่มีใครอยากสมาคมด้วย

สิ่งเดียวนี้เกิดขึ้นกับครอบครัวของผู้ป่วยรายอื่นๆ ด้วย ปรากฏการณ์เช่น เจ้าของร้านชำไม่ยอมขายของและรับเงินจากเด็กป่วยที่มาซื้อของที่ร้าน เพื่อนบ้านเลิกคบ ญาติไม่มาเยี่ยนเยียน เหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยทั่วไป กระทั่งผู้ป่วยและสมาชิกในครอบครัวเองก็ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น เมื่อพบปะคนรู้จักระหว่างทาง พวกเขาต้องรีบเดินหลีกหนีไปไกล หลายคนต้องหลบไปเดินตามทางรถไฟระหว่างบ้านกับโรงพยาบาลเพื่อหนีสายตาผู้คน

นอกจากนี้ ชาวเมืองมินามาตะทั่วไปยังตั้งข้อรังเกียจบรรดาผู้ป่วย ด้วยเหตุว่าพวกเขาทำให้เมืองมินามาตะเสื่อมเสียชื่อเสียง เพราะในขอบเขตที่กว้างขึ้น ชาวมินามาตะทั้งหมดก็กลายเป็นคนที่สังคมข้างนอกกลัวและรังเกียจเช่นเดียวกัน ดังปรากฏว่า บุตรหลานจากเมืองนี้มักถูกปฏิเสธการจ้างงานจากเมืองอื่นๆ ถูกปฏิเสธโอกาสในการศึกษาและการแต่งงาน ผลผลิตจากการทำประมงของเมืองนี้ก็ไม่สามารถขายให้ใครได้ ครั้งหนึ่งจึงเคยมีความพยายามที่จะเปลี่ยนชื่อเมืองมินามาตะไปเป็นชื่ออื่น

สภาพเลวร้ายนี้รุนแรงอย่างยิ่งในช่วงแรกที่ไม่สามารถบอกได้ว่าโรคนี้เกิดขึ้นจากอะไร แต่แม้ต่อมาจะมีการยืนยันแล้วว่าโรคนี้เกิดจากสารพิษในน้ำเสียของโรงงานชิสโสะ การเหยียดหยามกลุ่มผู้ป่วยก็ยังมิได้ลดน้อยลง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ต่อสู้เพื่อเรียกค่าชดเชยจากบริษัทต่างถูกประณามทั้งจากเพื่อนบ้านและสังคมภายนอกต่างๆ นานา ด้วยข้อหาหลักๆ คือ เป็นพวกเห็นแก่เงิน เห็นแก่ตัว ไม่รู้จักพอ และไม่รักบ้านเกิด

ขณะเดียวกัน นักการเมืองหลายคนก็ประณามกลุ่มผู้ป่วยที่ต่อสู้ให้ได้รับการรับรองการเป็นโรคนี้จากรัฐบาลและการเรียกค่าชดเชยอย่างรุนแรง เช่น สมาชิกสภาจังหวัดคุมาโมโตคนหนึ่งกล่าวเมื่อปี 2518 ว่า “คณะกรรมการรับรองผู้ป่วยลำบากใจมากที่จะแยกความจริงออกจากความเท็จ บางคนสายตาไม่มีปัญหาอะไรเลยเวลาไปสมัครขอใบขับขี่ แต่เมื่อมาตรวจสุขภาพเพื่อขอการรับรอง กลับบอกว่า สายตามีขอบเขตที่มองเห็นได้จำกัด”

หรือสมาชิกคนหนึ่งของพรรคแอลดีพี กล่าวเมื่อปี 2522 ว่า “ในจังหวัดคุมาโมโต คนพากันสมัครขอการรับรองว่าเป็นโรคเพราะอยากจะได้เงิน ผมคิดว่าอีกหน่อยประชากรของจังหวัดนี้คงมาขอรับรองจากรัฐบาลว่าเป็นโรคมินามาตะกันหมด ผมก็อยากอยู่จังหวัดนี้ด้วยและอยากให้รับรองผมว่าป่วยเป็นโรคนี้ด้วยเหมือนกัน”

Share this