มินามาตะ เรื่องราวที่มากกว่าโรคร้าย ภาค 7
สมาชิกเลขที่118626 | 07 ส.ค. 55
1.4K views

มินามาตะ เรื่องราวที่มากกว่าโรคร้าย ภาค 7

การต่อสู้คดีครั้งประวัติศาสตร์

ก่อนที่กลุ่มผู้ป่วยที่มินามาตะจะตัดสินใจฟ้องคดี กลุ่มผู้ป่วยโรคมินามาตะแห่งเมืองนีกะตะได้นำคดีขึ้นสู่ศาลไปแล้วเมื่อเดือนมิถุนายน 2510

 

โรคมินามาตะที่นีกะตะเกิดขึ้นจากน้ำเสียปนเปื้อนสารปรอทที่โรงงานของบริษัทโชวะ เดงโกะ คาโนเซะ ปล่อยลงสู่แม่น้ำอกาโนกาวา ทำให้แม่น้ำทั้งสายปนเปื้อนมลพิษสร้างความเสียหายแก่ไร่นาและสะสมอยู่ในปลา การต่อสู้ด้วยกระบวนการทางกฎหมายของกลุ่มผู้ป่วยแห่งเมืองนีกะตะนับเป็นแรงกระตุ้นสำคัญที่ทำให้กลุ่มประชาชนจากหลายสาขาอาชีพรวมตัวกันเป็น “สมัชชาประชาชนโรคมินามาตะ” เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคนี้ในทั้งสองพื้นที่ 

เมื่อกลุ่มผู้ป่วยที่มินามาตะฟ้องร้องคดีก็ยิ่งทำให้กลุ่มคนต่างๆ มารวมตัวกันกว้างขวางขึ้น สหภาพแรงงานชิสโสะเองก็ประกาศสนับสนุนด้วย หลังจากที่นิ่งเฉยกับความทุกข์ของผู้ป่วยมานานหลายปี การช่วยเหลือจากสหภาพแรงงานชิสโสะมีผลสำคัญไม่น้อยในการทำให้ฝ่ายผู้ป่วยได้รับข้อมูลหลักฐานสำคัญที่เป็นประโยชน์ในชั้นศาล

นอกจากนี้ แพทย์ นักวิจัย นักศึกษา รวมถึงนักกฎหมาย ทั้งจากจังหวัดคุมาโมโตและจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศอีกหลายร้อยคน ก็ได้รวมตัวกันเป็นพันธมิตรเข้ามาช่วยเหลือการฟ้องคดี ทำให้สื่อมวลชนหันมาจับตาและติดตามความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด กลุ่มผู้สนับสนุนการต่อสู้จึงยิ่งขยายวงกว้างขวางออกไป กลายเป็นการเคลื่อนไหวภาคประชาชนที่ทรงพลังมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่น 

ในวันที่ศาลนัดไต่สวนคดี ผู้คนที่มาสนับสนุนผู้ฟ้องคดีหลั่งไหลมาจากทั่วทุกมุมของประเทศจนเนืองแน่นล้นศาล

อย่างไรก็ตาม กลุ่มทนายและผู้สนับสนุนผู้ป่วยมีความวิตกพอควร เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่เคยมีคำวินิจฉัยของศาลที่สามารถใช้เป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาคดีนี้ได้ ขณะเดียวกันในขณะนั้นยังไม่มีกฎหมายที่ใช้บังคับการประกอบกิจกรรมด้านอุตสาหกรรมที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สำหรับกฎหมายควบคุมคุณภาพน้ำและกฎหมายควบคุมสิ่งปนเปื้อนจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ตราขึ้นในปี 2501 ก็ไม่ได้ควบคุมไปถึงโรงงานผลิตสารเคมีและสารประกอบอะเซทัลดีไฮด์เช่นที่มินามาตะ ในขณะที่ประเด็นการต่อสู้ของบริษัทไม่ได้ปฏิเสธการเป็นต้นเหตุของโรค เนื่องจากที่ผ่านมามีการพิสูจน์และประกาศของทางการไปแล้ว แต่ชิสโสะต่อสู้ว่า การเกิดและแพร่กระจายของโรคมินามาตะนั้นเป็นเรื่องที่ยากจะคาดการณ์ถึง และเป็นเรื่องของอุบัติเหตุที่ไม่สามารถป้องกันหรือหลีกเลี่ยงได้

ในการต่อสู้คดี ทางฝ่ายโจทก์จึงมีการตั้งกลุ่มศึกษาวิจัยอย่างจริงจังจากองค์ประกอบหลายฝ่าย

คดีศาลชั้นต้นคุมาโมโตใช้เวลาในการไต่สวนและพิจารณาเกือบ 4 ปี แล้วในที่สุดศาลก็มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2516 ให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะ โดยบริษัทต้องจ่ายเงินชดเชยความเสียหาย 18 ล้านเยนให้แก่ครอบครัวผู้ป่วยที่เสียชีวิต และ 16 - 18 ล้านเยนสำหรับผู้ป่วยที่ยังมีชีวิตอยู่ ทั้งนี้ผู้พิพากษาชี้ว่า บริษัทชิสโสะได้ละเลยหน้าที่ในการระวังและคาดการณ์อันตรายจากน้ำเสียของโรงงานที่อาจเกิดขึ้นต่อมนุษย์ ยิ่งกว่านั้นแม้ว่าที่ผ่านมายังไม่เคยมีโรคมินามาตะเกิดขึ้นมาก่อน แต่เมื่อรู้ว่าเกิดโรคขึ้นแล้วก็ควรรีบดำเนินมาตรการเพื่อควบคุมโดยทันที แต่ทางบริษัทกลับปล่อยให้ปัญหาลุกลามออกไป

หลังจากนั้น ยังมีการฟ้องคดีกับเอาผิดกับชิสโสะติดตามมาอีกหลายคดี เช่น คดีที่คันไซ (ศาลชั้นต้นโอซากา) ซึ่งเริ่มเมื่อ 28 ตุลาคม 2525 คดีที่โตเกียว เริ่ม 2 พฤษภาคม 2527 คดีที่เกียวโต เริ่มเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2528 และคดีที่ฟูกูโอกะ ซึ่งเริ่มเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2531 รวมแล้วจำนวนโจทย์ที่ยื่นฟ้องในคดีเหล่านี้มีเกินกว่า 2,000 คน 

อย่างไรก็ดี ในบรรดาคดีทั้งหมดที่กล่าวมา ยกเว้นคดีคันไซ ล้วนสิ้นสุดลงแล้วด้วยการไกล่เกลี่ยโดยคณะอนุญาโตตุลาการเมื่อเดือนกันยายน 2538 โดยฝ่ายโจทก์หรือผู้ป่วยตกลงใจยอมรับข้อเสนอของรัฐที่จะรับค่าชดเชยรายละ 2.6 ล้านเยน โดยรัฐบาลไม่ต้องแถลงยอมรับผิดอย่างเป็นทางการ

ภายใต้บทลงเอยลักษณะนี้ทำให้ดูเหมือนว่าเหตุการณ์เกี่ยวกับโรคมินามาตะสิ้นสุดลงแล้ว ในขณะที่ประเด็นสำคัญบางประเด็นยังคงคลุมเครือ นั่นคือ ประเด็นที่ว่าผู้ป่วยเหล่านั้นเป็นโรคมินามาตะหรือไม่ และปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นรัฐบาลต้องรับผิดชอบด้วยหรือไม่

 

Share this