เรืออาร์เอ็มเอส ไททานิก
สมาชิกเลขที่115986 | 04 ส.ค. 55
5.2K views

RMS Titanic 3.jpg

อาร์เอ็มเอส ไททานิก (อังกฤษ: RMS Titanic) เป็นเรือโดยสารซึ่งจมลงสู่ก้นมหาสมุทรแอตแลนติกเมื่อวันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 1912 หลังชนเข้ากับภูเขาน้ำแข็งระหว่างการเดินทางเที่ยวแรกจากเซาท์แทมป์ตัน สหราชอาณาจักร ไปนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา การจมของไททานิก ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 1,514 ศพ นับเป็นหนึ่งในภัยพิบัติทางทะเลในยามสงบครั้งที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ไททานิก เป็นเรือลำใหญ่ที่สุดที่ลอยอยู่ขณะการเดินทางเที่ยวแรกของมัน เป็นหนึ่งในสามเรือโดยสารชั้นโอลิมปิกซึ่งดำเนินการโดยไวต์สตาร์ไลน์ สร้างขึ้นระหว่าง ค.ศ. 1909-1911 โดยอู่ต่อเรือฮาร์แลนด์แอนดวูล์ฟฟ์ในเบลฟาสต์ บรรทุกผู้โดยสาร 2,223 คน

ผู้โดยสารบนเรือมีบรรดาบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก เช่นเดียวกับผู้อพยพกว่าพันคนจากบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ สแกนดิเนเวีย เป็นต้น ซึ่งกำลังแสวงหาชีวิตใหม่ในทวีปอเมริกาเหนือ เรือได้รับการออกแบบให้มีความสะดวกสบายและความหรูหราที่สุด โดยบนเรือมียิมเนเซียม สระว่ายน้ำ ห้องสมุด ภัตตาคารชั้นสูงและห้องจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีโทรเลขไร้สายทรงพลังซึ่งจัดเตรียมไว้เพื่อความสะดวกของผู้โดยสาร เช่นเดียวกับการใช้เชิงปฏิบัติการ แต่แม้ ไททานิก จะมีคุณลักษณะความปลอดภัยที่ก้าวหน้า เช่น ห้องกันน้ำและประตูกันน้ำที่ทำงานด้วยรีโมต ก็ยังขาดเรือชูชีพที่เพียงพอสำหรับบรรทุกผู้โดยสารทุกคนบนเรือ เนื่องจากระเบียบความปลอดภัยในทะเลที่ล้าสมัย จึงมีเรือชูชีพเพียงพอสำหรับผู้โดยสาร 1,178 คนเท่านั้น เกินครึ่งของผู้ที่เดินทางไปกับเรือในเที่ยวแรกเล็กน้อย และหนึ่งในสามของความจุผู้โดยสารและลูกเรือทั้งหมดเท่านั้น

หลังเดินทางออกจากเซาท์แทมป์ตันเมื่อวันที่ 10 เมษายน ค.ศ. 1912 ไททานิก ถูกเรียกที่เชอร์บูร์ก (Cherbourg) ในฝรั่งเศส และควีนส์ทาวน์ (ปัจจุบันคือ โคฟ, Cobh) ในไอร์แลนด์ ก่อนมุ่งหน้าไปทางตะวันตกมุ่งสู่นิวยอร์ก วันที่ 14 เมษายน ค.ศ. 1912 ห่างจากเซาท์แทมป์ตันไปทางใต้ราว 600 กิโลเมตร ไททานิก ชนเข้ากับภูเขาน้ำแข็งเมื่อเวลา 11.40 น. (ตามเวลาเรือ GMT-3) การชนแฉลบทำให้แผ่นลำเรือไททานิก งอเข้าในตัวเรือหลายจุดบนฝั่งกราบขวา และเปิดห้องกันน้ำห้าจากสิบหกห้องสู่ทะเล อีกสองชั่วโมง สามสิบนาทีต่อมา น้ำค่อยๆ ไหลเข้ามาในเรือและจมลง ผู้โดยสารและสมาชิกลูกเรือบางส่วนถูกอพยพในเรือชูชีพ โดยมีเรือชูชีพจำนวนมากถูกปล่อยลงน้ำไปทั้งที่ยังบรรทุกไม่เต็ม ชายจำนวนมาก กว่า 90% ของชายในที่นั่งชั้นสอง ถูกทิ้งอยู่บนเรือเพราะระเบียบ "ผู้หญิงและเด็กก่อน" ตามด้วยเจ้าหน้าที่ซึ่งบรรทุกเรือชูชีพนั้น ก่อน 2.20 น. เล็กน้อย ไททานิก แตกและจมลงโดยยังมีอีกกว่าพันคนอยู่บนเรือ คนที่อยู่ในน้ำเสียชีวิตภายในไม่กี่นาทีจากภาวะตัวเย็นเกิน (hypothermia) อันเกิดจากการจุ่มในมหาสมุทรที่เย็นจนเป็นน้ำแข็ง ผู้รอดชีวิต 710 คนถูกนำขึ้นเรืออาร์เอ็มเอส คาร์พาเธีย (RMS Carpathia) อีกไม่กี่ชั่วโมงให้หลัง

ภัยพิบัติดังกล่าวทำให้ทั่วโลกตกตะลึงและโกรธจากการสูญเสียชีวิตอย่าง ใหญ่หลวง และความล้มเหลวของกฎระเบียบและปฏิบัติการซึ่งนำไปสู่ภัยพิบัตินั้น การไต่สวนสาธารณะในอังกฤษและสหรัฐอเมริกานำมาซึ่งพัฒนาการหลักในความปลอดภัย ในทะเล หนึ่งในมรดกสำคัญที่สุด คือ การจัดตั้งอนุสัญญาความปลอดภัยของชีวิตในทะเลระหว่างประเทศ (SOLAS) ใน ค.ศ. 1914 ซึ่งยังควบคุมความปลอดภัยในทะเลตราบจนทุกวันนี้ ผู้รอดชีวิตหลายคนสูญเสียเงินและทรัพย์สินทั้งหมดและถูกทิ้งให้อดอยากแร้น แค้น หลายครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งของสมาชิกลูกเรือจากเซาท์แทมป์ตัน สูญเสียเสาหลักของครอบครัวไป พวกเขาได้รับความช่วยเหลือจากความเห็นใจสาธารณะและการบริจาคของมูลนิธิที่ หลั่งไหลเข้ามา

เบื้องหลัง

ในยุคช่วงประมาณ 100 ปีก่อน ยังไม่มีเครื่องบิน การเดินทางข้ามมหาสมุทรไป ไกลๆ ต้องใช้เรือเท่านั้น จึงเกิดสายการเดินเรือขึ้นมาเป็นจำนวนมาก ด้วยอุดมการณ์การเดินเรือที่ต่างกัน บ้างก็เน้นความใหญ่ บ้างก็เน้นความหรูหรา บ้างก็เน้นความประหยัด บ้างก็เน้นความเร็ว บ้างก็เน้นการรักษาสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ซึ่งมีสถิติมากมาย ที่สายการเดินเรือต่างๆ ต้องพยายามแข่งขันกัน เพื่อครองสถิติให้ได้มากๆ

ในปี ค.ศ. 1858 สายการเดินเรือ "อีสเทิร์น สตีม เนวิเกชั่น คอมพานี" (Eastern Steam Navigation Company) ได้สร้างเรือยักษ์ เอสเอส เกรทอีสเทิร์น (SS Great Eastern) ซึ่งเป็นเรือโดยสารที่ใหญ่ที่สุดในโลกในยุคนั้น SS Great Eastern มีขนาด 18,915 ตัน ใหญ่กว่าเรือโดยสารที่ใหญ่ที่สุดลำก่อนหน้ามันมากกว่า 4.5 เท่า แต่ใช้ได้เพียง 9 ปี ก็ต้องเลิกใช้ไปใน ค.ศ. 1867 และหลังจากสูญเสียมันไปนานกว่า 30 ปี ยังไม่มีเรือโดยสารลำใดที่ใหญ่กว่า SS Great Eastern

แต่ใน ค.ศ. 1901 สายการเดินเรือไวต์สตาร์ไลน์ ได้ตัดสินใจสร้างเรือโดยสารที่ใหญ่กว่าเรือ SS Great Eastern เป็นลำแรก โดยจัดทำเป็นโครงการสร้างเรือใหญ่ 4 ลำ

เรือทั้งสี่จะมีขนาดกว่า 20,000 ตัน เน้นการออกแบบภายในเรือที่สะดวกสบาย โดยเรือลำแรกของโครงการดังกล่าว คือเรือ อาร์เอ็มเอส เคลติค (ค.ศ. 1901) (RMS Celtic) ปล่อยลงน้ำครั้งแรกในวันที่ 4 เมษายน ค.ศ. 1901 กลายเป็นเรือใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยขนาด 21,035 ตัน ตามมาด้วยเรือ อาร์เอ็มเอส เซดริก (RMS Cedric) แต่มันไม่ได้เป็นเรือโดยสารที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ใน ค.ศ. 1905 เอสเอส อเมริกา (SS America) ของสายการเดินเรืออื่นสร้างเสร็จ แย่งตำแหน่งเรือโดยสารที่ใหญ่ที่สุดในโลกไปจาก Celtic แต่อยู่ในตำแหน่งได้ไม่ทันจบปี ค.ศ. 1905เรือ โดยสารลำที่ 3 ของโครงการสร้าง 4 เรือยักษ์ ชื่อ อาร์เอ็มเอส บอลติก (ค.ศ. 1903) (RMS Baltic) สร้างเสร็จในปีเดียวกัน ชิงตำแหน่งเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลกกลับคืนสู่สายการเดินเรือไวต์สตาร์ไลน์ได้ 1 ปี ก่อนจะถูกสายการเดินเรืออื่นแย่งตำแหน่งไปอีก

และเรือลำสุดท้ายของโครงการ สร้างเสร็จใน ค.ศ. 1907 คือเรือ อาร์เอ็มเอส เอเดรียติก (RMS Adriatic) แต่เรือลำนี้ไม่ได้เป็นเรือโดยสารที่ใหญ่ที่สุดในโลก

สายการเดินเรือไวต์สตาร์นั้น เชื่อเสมอว่าคนทั่วไปสามารถโดยสารกับเรือได้นาน ถ้าเรือนั้นมี ความเพรียบพร้อมในการบริการที่ดีเยี่ยม สะดวกสบายราวกันอยู่บ้าน และความเร็วเรือที่ได้ต้องใช้เชื้อเพลิงซึ่งเป็นถ่านหินจำนวนมาก ไม่ดีต่อสิ่งแวดล้อม (ไวต์สตาร์เป็นพวกนักอนุรักษ์) ดังนั้นเรือทั้งสี่ลำนี้จึงมีความเร็วบริการประมาณ 16-17 น็อต (29.632-31.484 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ซึ่งความเร็วระดับนี้น้อยเกินกว่าจะสู้เรือของสายการเรืออื่น ๆ ได้

เรือ SS Kaiserin Auguste Victoria (RMS Empress of Scotland (1906)) จากสายการเดินเรืออื่น แย่งตำแหน่งเรือโดยสารที่ใหญ่ที่สุดในโลกไปจาก RMS Baltic ในปี ค.ศ. 1906

ต่อมา สายการเดินเรือคูนาร์ด (Cunard Line) ซึ่งเป็นคู่แข่งรายสำคัญของไวต์สตาร์ไลน์ ได้ต่อเรือ อาร์เอ็มเอส ลูซิทาเนีย (RMS Lusitania) ต่อขึ้นในอู่ต่อเรือ John Brown ใน ค.ศ. 1907 เป็นเรือโดยสารที่ใหญ่ที่สุดในโลกแทนเรือ SS Kaiserin Auguste Victoria[3]

และในปีเดียวกัน คูนาร์ดก็สร้าง อาร์เอ็มเอส มอริทาเนีย หรือ อาร์เอ็มเอส มอร์ทาเนีย (RMS Mauretania) ที่ต่อขึ้นในอู่ต่อเรือ Tyneside ได้ออกบริการในปีเดียวกัน เป็นเรือโดยสารที่ใหญ่ที่สุดในโลกแทน RMS Lusitania ทั้งคู่มีขนาดใหญ่กว่า 30000 ตัน แล่นด้วยความเร็ว 24 นอต (44.448 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) เป็นเรือแฝดรุ่นใหม่ของคูนาร์ด ล้ำหน้ากว่าเรือ 4 ลำของไวต์สตาร์ ทั้งด้านความเร็ว และขนาด[3]

ใน ค.ศ. 1907 หรือปีที่เรือแฝดคูนาร์ดออกบริการนั่นเอง บุคคลสำคัญของสายการเดินเรือไวต์สตาร์ได้ร่วมจัดงานเลี้ยงอาหารค่ำที่บ้าน downshire Belgrave Square ในกรุงลอนดอน เพื่อร่วมกันคิดรูปแบบเรือลำที่ดีกว่าเรือแฝดคู่นั้น และนั่นก็เป็นสาเหตุในการต่อเรือไททานิก[3]

Postcard ของ เรือไททานิก

หลัง RMS Mauretania เป็นเรือโดยสารใหญ่ที่สุดในโลกมาราว 4 ปี เรือลำแรกในโครงการต่อเรือ 3 ลำของไวต์สตาร์ไลน์ (เป็นการต่อเรือขนาดใหญ่ 3 ใบเถา เน้นรูปแบบการบริการของสายการเดินเรือที่หรูหราเป็นหลักความเร็วเป็นรอง) ชื่อ RMS Olympic สร้างเสร็จใน ค.ศ. 1911 มีขนาดใหญ่กว่าเรือ RMS Mauretania มากกว่า 40% ทำให้กลายเป็นเรือโดยสารที่ใหญ่ที่สุดในโลก และต่อมา เรือลำที่สองในโครงการ ชื่อ RMS Titanic สร้างเสร็จใน ค.ศ. 1912 เป็นเรือโดยสารใหญ่ที่สุดในโลกแทนโอลิมปิก[3]

และเรือลำสุดท้ายของโครงการ ตอนแรกจะใช้ชื่อ อาร์เอ็มเอส ไจแกนติก หรือ อาร์เอ็มเอส ไกแกนติก (RMS Gigantic) แต่ว่า มันสร้างเสร็จใน ค.ศ. 1914 ภายหลังการล่มของไททานิก โดยคาดว่าจะใช้รับส่งผู้โดยสารเพื่อข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก แต่ก็เป็นแค่ความฝันเพราะตรงกับช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 พอดี ส่งผลให้ใน ค.ศ. 1915 มันถูกเปลี่ยนจากเรือสำราญเป็นเรือพยาบาล รับ-ส่ง ทหารในต่างแดนในคาบสมุทรเมดิเตอร์เรเนียน แทน และเปลี่ยนชื่อเป็น เอชเอ็มเอชเอส บริแทนนิก (HMHS Britannic) แม้บริแทนนิกจะใหญ่กว่าไททานิกกว่า 1,800 ตัน แต่บริแทนนิก ไม่มีโอกาสได้เป็นเรือโดยสารที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพราะสายการเดินเรือฮาเป็ก (Hapag หรือ Hamburg Amerika Line) จากเยอรมนี ได้สร้างเรือ SS Imperator (RMS Berengaria ของสายการเดินเรือคูนาร์ด) ที่ใหญ่กว่าบริแทนนิก เสร็จก่อนบริแทนนิก แต่เป็นที่น่าเศร้าเพราะในปี 1916 เรือได้อัปปางลงในทะเลอีเจียน เนื่องจากโดนทุ่นระเบิดจากเรือดำน้ำฝ่ายเยอรมัน ที่ยังหลงเหลือจากการกู้ระเบิดในเส้นทางดังกล่าว จึงส่งผลให้เรือเสียหายหนักและอัปปางลงในระยะเวลา 55 นาที หลังการเดินทางเพียง 6 ครั้ง เท่านั้น

ในการออกแบบขั้นต้นเรือทั้ง 3 ลำมีโครงสร้างคล้ายคลึงกัน และทั้งสามมีขนาดใหญ่กว่าเรือแฝดของคูนาร์ด ขับเคลื่อนด้วย 2 ใบจักร 2 เครื่องยนต์กระบอกสูบ แต่ต่อมาเพิ่มเครื่องยนต์เทอร์ไบน์อีกกลายเป็น 3 ใบจักร เนื่องจากเรือรุ่น 4 ลำก่อนมีเพียง 2 เครื่องยนต์สามารถทำความเร็วได้ต่ำ ในขนาดที่เรือคู่แข่งมี 4 เครื่องยนต์ เรือทั้งสามมีเสากระโดงเรือ 2 หรือ 3 แห่ง ปล่องไฟ 3 ปล่อง แต่ต่อมาเพิ่มเป็น 4 ให้เท่ากับจำนวนปล่องบนเรือ Mauretania และ Lusitania เพื่อให้เรือดูสมดุล (และหลอกว่ามีกำลังขับเคลื่อนสูง) โดย 3 ปล่องแรกจะไว้ใช้ระบายอากาศจากเครื่องยนต์ แต่ปล่องสุดท้ายไว้ใช้ระบายอากาศภายในเรือ[3]

ส่วนเรือไททานิกนั้น ก็มิได้ใหญ่โตถึงขนาดว่าไม่มีใครทำลายสถิติมันได้ลง ต่อให้มันไม่จม ก็จะเสียตำแหน่งเรือสำราญที่ใหญ่ที่สุดในโลกให้กับ RMS Olympic เพราะภายหลังไททานิกจม ในปีเดียวกันนั้น มีการนำเรือโอลิมปิกไปต่อเติมซ่อมแซมจนมีขนาดใหญ่กว่าไททานิก 110 ตัน

หลังจากนั้น ตำแหน่งเรือสำราญที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็เปลี่ยนมือไปเรื่อยๆ จนในปัจจุบัน เรือสำราญที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นเรือแฝด 3 ลำ คือ MS Liberty of the Seas , MS Freedom of the Seas และ MS Independence of the Seas ซึ่งมีขนาดถึง 154,407 ตัน ใหญ่กว่าไททานิกถึง 3.333 เท่า

แต่อย่างไรก็ตาม ไททานิกก็เป็นที่โดดเด่นในประวัติศาสตร์มากกว่า

ลักษณะเฉพาะของเรือ

Deckplan เรือไททานิก
มุมมองจากด้านล่างของบันไดแกรนด์อันหรูหรา ในบริเวณของผู้โดยสารชั้น First Class

ไททานิกเป็นเรือที่เปิดศักราชใหม่ให้กับอุตสาหกรรมเรือเดินสมุทร เนื่องจากเป็นเรือลำแรกๆ ของโลกที่สร้างโดยโลหะและรองรับผู้โดยสารได้ถึง 2,435 คน ยาว 269.0622 เมตร กว้าง 28.194 เมตร ขนาดของเรือ 46,328 ตัน แบ่งเป็น 9 ชั้น เรียงจากชั้นบนลงชั้นล่างได้ดังนี้[6]

  • 9. ดาดฟ้า สงวนไว้ให้ผู้โดยสารชั้นหนึ่งและชั้นสอง มีปล่องไฟ 4 ตัว สูงตัวละ 19 เมตร และห้องยิมเนเซียม[7]
  • 8. ชั้น A ห้องนั่งเล่น ห้องสมุด[7] ห้องสูบบุหรี่ คาเฟ่ขนาดเล็ก และเนิร์สเซอรี่ของผู้โดยสารชั้นหนึ่ง
  • 7. ชั้น B ห้องอาหาร a la carte ร้านกาแฟแบบปารีสของผู้โดยสารชั้นหนึ่ง [8] และห้องสูบบุหรี่ผู้โดยสารชั้นสอง
  • 6. ชั้น C ห้องสมุดของผู้โดยสารชั้นสอง ห้องเอนกประสงค์ของผู้โดยสารชั้นสาม
  • 5. ชั้น D ห้องอาหารของผู้โดยสารชั้นหนึ่งและชั้นสอง
  • 4. ชั้น E ห้องนอนของผู้โดยสารชั้นหนึ่ง สอง สาม ลูกเรือ
  • 3. ชั้น F ห้องอาหารของผู้โดยสารชั้นสาม
  • 2. ชั้น G สระว่ายน้ำ ห้องอาบน้ำแบบตุรกี[7] และห้องเก็บกระเป๋าเดินทาง
  • 1. ชั้นห้องเครื่อง มี 16 ห้อง หม้อน้ำรวม 29 ชุด ส่งเชื้อเพลิงให้เครื่องยนต์ 3 ตัว เครื่องยนต์ 3 ตัว หมุนใบจักร 3 ใบ รวม 50000 แรงม้า เร่งความเร็วเรือได้สูงสุด 23 น็อต (42.596 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ความเร็วมาตรฐาน 21 น็อต (38.892 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ห้องเครื่องทั้ง 16 ห้องมีกำแพงสูงถึงชั้น F และมีประตูกลซึ่งจะปิดลงมาทุกบานทั่วลำเรือเมื่อพบเหตุผิดปกติที่ห้อง เครื่องใดห้องเครื่องหนึ่ง ซึ่งถ้าหากไม่เกิดรอยรั่วในหลายห้องเครื่องจนเกินไป ตามหลักการลอยตัวแล้ว เรือจะไม่จม ถึงแม้จะเป็นจุดอ่อนที่สุดของเรือซึ่งก็คือหัวเรือ ก็ยังรับรอยแตกได้ถึง 4 ห้องเครื่องติดกันโดยไม่จม[9]

ไททานิก มีลิฟต์ 4 ตัว ในจำนวนนี้ 3 ตัว ถูกสงวนมีไว้สำหรับผู้โดยสารชั้นหนึ่ง อีก 1 ตัว มีไว้สำหรับผู้โดยสารชั้นสอง ส่วนผู้โดยสาร ชั้นสามไม่มีสิทธิ์ใช้ลิฟต์!

ในการบรรจุผู้โดยสาร โดยปกติ เรือไททานิก สามารถจุผู้โดยสารได้ 2,435 คน โดยแบ่งเป็น ชั้นสาม 1,026 คน , ชั้นสอง 674 คน และชั้นหนึ่ง 735 คน และลูกเรีออีก 892 คน รวมผู้โดยสารและลูกเรือ 3,327 คน แต่ถ้าในอนาคต ถ้าสายการเดินเรือต้องการเพิ่มความจุผู้คน จะสามารถดัดแปลงเรือให้จุผู้โดยสารและลูกเรือได้มากขึ้นอีก 220 คน เป็น 3,547 คน (แต่ยังไม่ได้รับการดัดแปลง) แต่ในการเดินทางเที่ยวแรก มีผู้โดยสารประมาณ 2,208 คน

แต่ว่าเรือสำรองช่วยชีวิตหรือเรือบดนั้นเพียงพอสำหรับผู้โดยสารเพียง 1,178 คนเท่านั้น โดยจะแบ่งเป็น 20 ลำ ในจำนวนนี้ 14 ลำ จุได้ 65 คน , 4 ลำ จุได้ 47 คน และอีก 2 ลำ จุได้ 40 คน[7]

การเดินทางครั้งแรก เริ่มการเดินทางที่เมืองเซาท์แธมตัน ประเทศอังกฤษ (Southampton, England) ในวันที่ 10 เมษายน ค.ศ. 1912 ควบคุมโดยกัปตัน เอ็ดเวิร์ด เจ. สมิธ (Edward J. Smith) เพื่อเดินทางไปยังนิวยอร์ก, สหรัฐอเมริกา ในการเดินทางครั้งนั้น มีผู้เดินทางรวมทั้งหมด 2,208 คน แบ่งเป็นลูกเรือ 891 คน , ผู้โดยสารชั้นสาม 708 คน , ผู้โดยสารชั้นสอง 285 คน และผู้โดยสารชั้นหนึ่ง 324 คน

ข้อมูลทั่วไปของเรือ

สัดส่วนเรือ

  • ความยาว: ความยาวตลอดลำ 883 ฟุต 9 นิ้ว ยาวกว่าเรือโอลิมปิก 3 นิ้ว[8] โดยมีความยาวแนวน้ำ 710 ฟุต 5 นิ้ว[7]
  • ความกว้าง: วัดที่แนวน้ำกลางลำเรือ 92 ฟุต 6 นิ้ว[7]
  • กินน้ำลึก: วัดจากกลางท้องเรือถึงแนวน้ำ 59 ฟุต 2 นิ้ว[7]
  • ความสูง: วัดจากแนวน้ำถึงดาดฟ้าเรือบด 60ฟุต 6 นิ้ว และวัดจากกระดูกงูถึงปลายปล่องไฟ 175 ฟุต[7]
  • ขนาด: 46,439 ตันเนจ, ระวางขับน้ำ 52,310 ตัน[7]

ลักษณะทั่วไป

  • ปล่องไฟ: 4 ปล่อง[1] ติดหวูดไอน้ำทุกปล่อง ใช้เส้นเคเบิลตรึงปล่องละ 12 เส้น โดยแต่ละปล่องทำมุม 3.27 องศาจากแนวตั้งฉาก ใช้งานจริง 3 ปล่องแรก ปล่องสุดท้ายให้ระบายอากาศและทำให้ดูสมดุล
  • การทาสี: ปลายปล่องไฟทาสีดำ ตัวปล่องทาสีเหลืองอ่อนเนื้อลูกวัว ซุเปอร์สตรัคเจอร์ทาสีขาวงาช้าง ตัวเรือทำสีดำ โดยมีแถบสีทองคาดกลางระหว่างตัวเรือและซุเปอร์สตัคเจอร์ตลอดความยาวเรือ ท้องเรือใต้แนวน้ำทางสีแดง ใบจักรสีทองบรอนซ์
  • หัวเรือ: ออกแบบให้มีที่ตัดน้ำแข็งทางหัวเรือ โดยมี สมอเรือ 2 ตัว ปั่นจั่น 1 ตัว เสากระโดงเรือ 1[1] ต้องและช่องขนสินค้า
  • ท้ายเรือ: หางเสือ 1 ตัว, สะพานเทียบเรือ, ปั้นจั่นยกสินค้า 2 ตัว
  • ประเภทวัสดุสร้างเรือ: เฟรม ทำจาก เหล็ก, โครงสร้างภายใน ทำจาก ไม้, เปลือกเรือภายในและภายนอก ทำจาก เหล็กกล้า พื้นดาดฟ้าเรือ ปูด้วย ไม้สัก ปล่องไฟ ทำจาก เหล็กกล้า, เสากระโดงเรือ ทำจาก ไม้สนสพรูซ (spruce) ท้องเรือ 2 ชั้น มีปีก stabilizer และมีเข็มทิศขนาดใหญ่บนดาดฟ้าชั้น Sun Deck ระหว่างปล่องไฟหมายเลข 2 และ 3
  • ดาดฟ้า: 10 ชั้น; 7 ชั้นสำหรับผู้โดยสาร, 3 ชั้นสำหรับลูกเรือ โดยมี Sun deck, Boat (ชั้น เอ), Promenade (ชั้น บี), decks ซี-จี, ชั้นท้องเรืออีก 2 ชั้น (เป็นพื้นที่สำหรับหม้อน้ำ, เชื้อเพลิง, เครื่องยนต์, ห้องผนึกน้ำ, ประตูกั้นน้ำ หรือพื้นทีสำหรับเพลาใบจักร เป็นต้น)
  • ตำแหน่งห้องวิทยุสื่อสาร: ชั้นเรือบด กราบซ้าย ถัดจากห้องสะพานเดินเรือ
  • ตะเกียงส่งสัญญาณ: 2 ดวง ติดตั้งทั้งกราบซ้ายและขวา บริเวณปีกสะพานเดินเรือชั้นเรือบด
  • สมอเรือ: 2 ตัว ตำแหน่งกราบซ้ายและขวาหัวเรือ หนัก 27 ตัน/ตัว
  • ปั้นจั่นไฟฟ้า: 9 ตัว โดยมี 1 ตัว ที่หัวเรือสำหรับสมอเรือ; 2 ตัว บนชั้น ซี ด้านหน้าของซุเปอร์สตรัคเจอร์ ใกล้กับช่องสินค้า (Well deck) ; 2 ตัว บนชั้น บี ค่อนไปทางท้ายเรือ; 2 ตัว บนชั้น ซี ด้านหลังของซุเปอร์สตรัคเจอร์ ใกล้กับช่องสินค้า (Well deck)
  • โกดังสินค้า: 9 แห่ง (ห้องมาตรฐาน 6 ห้อง ห้องแช่แข็ง 2 ห้อง และห้องไปรษณีย์ ห้อง)
  • ลิฟต์สินค้า: 2 ตัว (ตัวแรกจากชั้น เอ ไป ชั้น ดี ตัวที่สอง จากชั้น ดี ไปชั้น จี และลงท้องเรือโดยบันได)
  • ฝากั้นน้ำ: 15 แนวแบ่งเป็น 16 ห้อง พร้อมประตูประตูผนึกน้ำทำงานด้วยไฟฟ้า
  • ความจุผู้โดยสาร: แบบพักเดี่ยว 1,324 คน (ชั้นหนึ่ง 329 คน ชั้นสอง 285 คน และชั้นสาม จำนวน 710 คน) และสามารถปรับเปลี่ยนเป็นพักแบบคู่ในบางห้องได้เป็น 2,435 คน ( ชั้นหนึ่ง 735 คน, ชั้นสอง 674 คน และชั้นสาม 1,026 คน )
  • ความจูสูงสุด: 3,547 คน
  • เสื้อชูชีพ: 3,560 ชุด[7]
  • ห่วงชูชีพ: 49 ห่วง
  • เรือชูชีพ: เรือบด 20 ลำ ความจุ 1,178 ชีวิต เป็นเรือไม้ 14 ลำ (ขนาดลำเรือยาว 30 ฟุต กว้าง 9 ฟุต 1 นิ้ว สูง 4 ฟุต จุ 65 ชีวิต) เรือเร็ว (Cutter) 2 ลำ (ขนาดลำเรือยาว 25 ฟุต 2 นิ้ว กว้าง 7 ฟุต 2 นิ้ว สูง 3 ฟุต จุ 40 ชีวิต) เรือผ้าใบ 4 ลำ (ขนาดลำเรือยาว 27 ฟุต 5 นิ้ว กว้าง 8 ฟุต สูง 3 ฟุต จุ 47 ชีวิต)
  • ลูกเรือ: 899 คน[7]

พนักงานประจำเรือ

  • กัปตันเรือ: เอ็ดเวิร์ด จอห์น สมิธ[1]
  • หัวหน้าเจ้าหน้าที่: เฮนรี่ ทิงเกิล ไวด์[2]
  • เจ้าหน้าที่ชั้นหนึ่ง: วิลเลียม แม็คมาสเตอร์ เมอร์ด็อก[2]
  • เจ้าหน้าที่ชั้นสอง: ชาร์ลส์ เฮิร์บเบิร์ต ไลโทเลอร์[2]
  • เจ้าหน้าที่ชั้นสาม: เฮิร์บเบิร์ต จอห์น พิตแมน[2]
  • เจ้าหน้าที่ชั้นสี่: โกร์ฟ โจเซฟ บ็อกซ์ฮอล[2]
  • เจ้าหน้าที่ชั้นห้า: ฮาโรลด์ ก็อดเฟรย์ โลว์[2]
  • เจ้าหน้าที่ชั้นหก: เจมส์ เพล มุดดี้[2]
  • โดยรวมทั้ง สจ็วตชายและหญิง สาวใช้ บริกรชายและหญิง คนครัว แพทย์ กลาสี ช่างไฟฟ้า ช่างน้ำมัน คนเติมถ่านหิน กรีเซอร์ ผู้ช่วยห้องเครื่อง ผู้ดูแลพื้นที่ผู้โดยสารหรือสัตว์เลี้ยง ผู้ดูแลอาหารและบัญชี เสมียน วงดนตรี เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ผู้ควบคุมปั่นจั่น ผู้สังเกตการณ์บนเสากระโดงเรือ ซีแมน พนักงานประจำลิฟต์ พนักงานห้องซักล้าง พนักงานห้องวิทยุโทรเลข เป็นต้น
  • เจ้าหน้าที่สังเกตการณ์บนเสากระโดงเรือ: ก่อนเที่ยงวัน ริชาร์ด ไซมอนส์ และ อาร์คิบัลด์ เจเวล และ หลังเที่ยงวัน เฟร็ดเดอริก ฟลีต และ เรจจิโนลด์ ลี
  • พนักงานประจำห้องวิทยุสื่อสาร: แจ็ค ฟิลลิปส์ และ ฮาโรลด ไบรด์ จาก บริษัท มาร์โคนี เทเลกราฟ, นิวยอร์ก

ระบบขับเคลื่อน

  • เครื่องยนต์: 2 ชุดเครื่องยนต์ 4 กระบอกสูบไอน้ำTriple Expansion ขับเคลื่อนโดยตรงกับใบจักรข้างซ้าย-ขวา ให้กำลัง 30,000 แรงม้า 75 รอบ/นาที และไอน้ำความดันต่ำที่ผ่านการใช้เครื่องยนต์กระสอบสูบทั้งสองชุดเข้าสู่ เครื่องยนต์เทอร์ไบน์ขับเคลื่อนผ่านชุดเกียร์สู่ใบจักรกลาง ให้กำลัง 16,000 แรงม้า 165 รอบ/นาที[7]
  • ใบจักร: 3 ใบ ทำจากสัมฤทธิ์ โดยใบจักรกลางขนาด 16 ฟุต ดุมใบจักรเป็นกรวยครอบ พวงใบจักรมี 4 ใบ และใบจักรข้างทั้งสอง ขนาด 23 ฟุต 6 นิ้ว ไม่มีกรวยครอบที่ดุม พวงใบจักรมี3 ใบ[7]
  • หม้อน้ำ: 29 ตัว ผลิตโดย เดนนี่ แอนด์ ซันส์ ในลิเวอร์พูล 24 ตัวเป็นแบบเติมถ่านได้ 2 ฝั่ง (6 ช่องเตาต่อหม้อน้ำ 1 ตัว) อีก 5 ตัวเติมถ่านได้ฝั่งเดียว (3 ช่องเตาต่อหม้อน้ำ 1 ตัว) รวมพื้นที่นำความร้อน (Active Heat Surface) 144,142 ตารางฟุต
  • เชื้อเพลิง: ถ่านหิน 825 ตัน/วัน
  • น้ำจืด: 14,000 แกลลอน/วัน
  • หางเสือ: 1 ตัว ตำแหน่งท้ายเรือตรงกลาง หนัก 100 ตัน, ยึดด้วยบานพับ 6 จุด
  • ความเร็วเรือออกแบบ: 20-23 นอต[7]
  • ความเร็วเรือตอนปะทะภูเขาน้ำแข็ง: 20-21 นอต
  • ความเร็วสูงสุด: ไม่เคยทดสอบอย่างจริงจัง คาดว่าประมาณ 21 นอต[7]

สภาพภายในเรือ

ภายในเรือไททานิก จะกั้นอาณาเขตไว้อย่างชัดเจน ว่าบริเวณใด เป็นส่วนของผู้โดยสารชั้นใด และผู้โดยสารในเรือจะต้องอยู่ในบริเวณที่เป็นชั้นของตนเองเท่านั้น [7][11]

ชั้นสาม (Third class)

ชั้นนี้ เป็นชั้นที่ราคาตั๋วต่ำ แต่ค่าตั๋วของเรือจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ท่าเรือที่ขึ้นโดยสาร (เรือออกท่าแรกที่เซาธ์แธมป์ตัน แวะรับที่เชอร์เบิร์ก และแวะรับอีกที่ควีนส์ทาวน์) อายุผู้โดยสาร ตำแหน่งที่ตั้งของห้อง ลักษณะห้อง บริการ สิทธิต่างๆ บนเรือ และปัจจัยอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้ค่าตั๋วแม้ในชั้นเดียวกันสามารถแตกต่างกันได้เป็นอย่างมาก จากบันทึกการจองตั๋ว ราคาตั๋วชั้นสามที่ถูกสุดที่ขายในการเดินทางเที่ยวแรก เป็นตั๋วเด็ก ขายในราคา 3 ปอนด์ 3 ชิลลิง 5 เพนนี (3.17 ปอนด์ คิดเป็นประมาณ 297 ปอนด์[12] หรือ 14,900 บาทในปัจจุบัน) สำหรับตั๋วผู้ใหญ่ทั่วไปมักจะมีราคาระหว่าง 7-9 ปอนด์ (650-840 ปอนด์ หรือ 33,000-42,000 บาทในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นราคาที่นับว่าประหยัด เมื่อเทียบกับการเดินทางทางทะเลด้วยระยะเวลากว่าสัปดาห์ แต่ก็มีผู้โดยสารชั้นสามพอสมควรที่ค่าตั๋วมากกว่าสิบปอนด์[13]

บริเวณของผู้โดยสารชั้นสามส่วนใหญ่จะอยู่ในชั้น F กับชั้น G ผู้โดยสารชั้นประหยัด สิทธิหลายอย่างถูกจำกัด เช่น สิทธิในการใช้ลิฟต์ สิทธิในการขึ้นชั้นดาดฟ้า

ห้องของชั้นสามมีตั้งแต่ห้องขนาด 2 เตียงนอน ไปจนถึง 8 เตียงนอน ห้องพักแม้จะแคบ แต่สะอาดเรียบง่าย และดูสว่างสดใส และการที่อยู่ในท้องเรือลึกๆ ทำให้อากาศอุ่นสบายกว่าอาณาเขตชั้นอื่น

ห้องของชั้นสามที่มีราคาถูกที่สุด จะอยู่ท้ายเรือ เพราะห้องเหล่านั้นจะอยู่ใกล้ใบจักรขับเคลื่อนเรือมากๆ ดังนั้นในบริเวณนั้น จะโคลงเคลงและสั่น ผู้ที่ไม่ชินกับทะเล จะเกิดอาการเมาเรือได้ถ้าอยู่ในบริเวณนั้นนานๆ (ถึงแม้จะเป็นเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็ตามที) [13]

ชั้นสอง (Second class)

เช่นเดียวกับราคาตั๋วขั้นอื่นๆ ราคาตั๋วชั้นสองมีความหลากหลาย โดยทั่วๆ ไปจะอยู่ที่ระหว่าง 10.5-16 ปอนด์ (คิดเป็นเงินไทย 49,500 - 75,400บาทในปัจจุบัน) แต่ห้องชั้นสองบางส่วนก็มีราคาแพงกว่า โดยอยู่ที่ราคาประมาณ 30 ปอนด์[14] ใกล้เคียงราคาตั๋วห้องชั้นหนึ่งแบบมาตรฐาน

บริเวณของผู้โดยสารชั้นสองส่วนใหญ่ จะอยู่ในชั้น E ผู้โดยสารชั้นสองจะได้รับความหรูหราพอๆ กับโรงแรมทั่วๆ ไป แม้จะยังไม่หรูหราเท่าชั้นหนึ่ง ห้องของชั้นสองมี 2 ขนาด คือขนาด 2 กับ 4 เตียงนอน ภายในห้องไม่แออัด มีเฟอร์นิเจอร์ที่ทันสมัยในยุคนั้น โซฟาพักผ่อนในห้องส่วนตัว

ชั้นหนึ่ง (First Class)

ห้องรับแขกของผู้โดยสารชั้นหนึ่ง

คลาสนี้มีสองแบบคือแบบห้องธรรมดากับแบบห้องชุดพิเศษ

ราคาตั๋วชั้นหนึ่งมีช่วงกว้างมาก ไม่สามารถกำหนดช่วงออกมาได้ เริ่มต้นที่ 26 ปอนด์ (2,400 ปอนด์ หรือ 122,000 บาทในปัจจุบัน) ไปจนถึงหลายร้อยปอนด์ ราคาตั๋วที่สูงสุดที่จำหน่ายจริงในการโดยสารเที่ยวแรกมีราคา 512 ปอนด์ 6 ชิลลิง 7 เพนนี (48,000 ปอนด์ หรือ 2,400,000 บาทในปัจจุบัน[15] ซึ่งตั๋ว 512 ปอนด์นี้ขายได้ถึง 4 ใบ โดยเป็นสามี-ภรรยา พร้อมซื้อตั๋วให้ผู้รับใช้และแม่บ้านส่วนตัวมาพร้อมกัน) ผู้โดยสารชั้นนี้จะได้รับความหรูหราเต็มพิกัด [16]

บริเวณของผู้โดยสารชั้นหนึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในชั้น A , B , C, D และบางส่วนของชั้น E ห้องพักแบบธรรมดายังมีการจัดระดับแยกอีก 2 แบบอีกด้วย คือ แบบห้องสวีท (ห้องชุด) บนชั้น B และ C ผู้โดยสารจะได้รับความหรูหรามากกว่าโรงแรมแทบทั้งหมดในอังกฤษหรือในอเมริกา ผู้โดยสารสามารถเลือกลักษณะห้องพักของตนได้ เพราะห้อง First Class ถูกเตรียมไว้ถึง 11 รูปแบบ ตั้งแต่สไตล์อิตาเลียนเรเนอซองส์ , ดัตช์โบราณ , ดัตช์สมัยใหม่ , รีเจนซี่, อดัมส์, จักรพรรดิ์, หลุยส์ที่ 14, หลุยส์ที่ 15, หลุยส์ที่ 16 ควีนแอน และจอร์เจียน นอกจากนี้ ยังมีการตกแต่งในรูปแบบพิเศษอีก 2 ที่ออกแบบโดยอู่ต่อเรือฮาร์แลนด์แอนด์วูลฟ์อีกด้วย โดยใช้ชื่อว่า Bedroom A ที่ดัดแปลงมาจากสไตล์ฝรั่งเศสลดทอนรายละเอียดลง ใช้ผนังไม้โอ๊ก และ Bedroom B คล้ายรูปแบบอดัมส์ โดยผนังไม้ส่วนบนแกะสลักเรียบง่ายสีขาว ผนังไม้ส่วนล่างจากพื้น 3 ฟุตเป็นมะฮอกกานี

และห้องพักชั้นหนึ่งแบบธรรมดาจะมีการแตกแต่งแบบเรียบง่าย อีกทั้งขนาดห้องเล็กกว่า ซึ่งทุกห้อง ถูกผสมผสานเข้ากับความเป็นสมัยใหม่ได้ลงตัวมาก ทุกห้องมีเทคโนโลยีทำความร้อนจากไฟฟ้าและหลอดไฟฟ้า โดยห้องพักแบบนี้พบตามชั้น A ถึง D และมากสุดชั้น E

ห้องที่แพงที่สุดบนเรือคือชั้นหนึ่งแบบห้องชุดพิเศษ (Parlor Suite) นั้น ในฤดูกาลท่องเที่ยว (High-Season) จะราคาสูงถึง 870 ปอนด์ (81,530 ปอนด์ หรือ 3,970,000 บาทในปัจจุบัน) คุณภาพที่ได้รับก็สมราคา เพราะผู้โดยสารที่ซื้อตั๋ว จะมีห้องนอน 2 ห้อง ห้องนั่งเล่นพักผ่อนส่วนตัว ห้องแต่งตัว ห้องน้ำส่วนตัว โดยห้องพัก Millionair Suite บนเรือไททานิกมีอยู่ 4 ห้องโดย 2 ห้องแรกบนชั้น B จะมีระเบียงชมทะเลส่วนตัวขนาดยาว 50 ฟุต และอีก 2 ห้องบนชั้น C[17]

ออกเดินทางเที่ยวแรก [18]

เรือไททานิกและเรือโอลิมปิก

วันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ. 1911

เรือไททานิกถูกปล่อยลงน้ำเป็นครั้งแรก[1] โดยใช้เวลาเพียง 62 วินาทีเรือ ก็ลงสู่น้ำเป็นที่เรียบร้อย ไททานิกที่ต่อเสร็จแล้วได้กลายเป็นพาหนะที่ใหญ่ที่สุดในโลกในยุคนั้น มีความยาว 268 เมตร กว้าง 28 เมตร และความสูงวัดจากท้องเรือถึงสะพานเดินเรือ (สะพานเดินเรือหมายถึงห้องควบคุมเรือที่อยู่บนดาดฟ้า) 30 เมตร พิธีปล่อยเรือถูกจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่และมีผู้เข้าชมถึง 100,000 คน

หลังจากใช้เวลาตกแต่งหลายเดือน ในที่สุด ไททานิกก็กลายเป็นเรือเดินสมุทรสุดหรูหรา ไททานิกมีระวาง 46,300 ตัน[1] ใหญ่กว่าเรือโอลิมปิก 1,000 ตัน บรรทุกผู้โดยสารและลูกเรือได้เต็มที่ถึง 3,547 คน มีเครื่องยนต์ที่มีพลังแรงถึง 46,000 แรงม้า (เปรียบเทียบกับรถยนต์นั่งขนาดกระบอกสูบ 2,000 ซีซี. มีกำลังราว 130-140 แรงม้า) ทุ่มค่าก่อสร้างไปถึง 7,500,000 ดอลลาร์และค่าตกแต่งอีก 2,500,000 ดอลลาร์ รวมเป็น 10 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถ้าคิดเทียบเป็นค่าของเงินในปัจจุบันจะเป็นมูลค่าถึง 400 ล้านดอลลาร์ (ราวสองหมื่นล้านบาท) ทีเดียว

วันที่ 10 เมษายน ค.ศ. 1912

เรือไททานิก, เรือ อาร์เอ็มเอส โอเชียนิก (ค.ศ. 1899) (RMS Oceanic) และ เรือ เอสเอส นิวยอร์ก (SS City of New York)
กับตัน เอ็ดเวิร์ด จอห์น สมิธ กัปตันของไททานิก

 

เรือไททานิกออกจากท่าเรือเซาแทมป์ตันในการเดินทางครั้งแรก

สายการเดินเรือไวต์สตาร์จัดการเดินทางรอบปฐมฤกษ์ของเรือไททานิกในวันที่ 10 เมษายน ค.ศ. 1912 โดยเดินทางจากท่าเรือเซาแทมป์ตันของอังกฤษไปยังเมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในการเดินทางรอบปฐมฤกษ์นี้เป็นแผนการประชาสัมพันธ์เรือไททานิกด้วย ดังนั้นจึงมีบุคคลสำคัญและบุคคลในวงสังคมชั้นสูงทั้งของอังกฤษ ยุโรป และสหรัฐอเมริการ่วม เดินทางไปด้วยเป็นจำนวนมาก รวมทั้ง เจ. พี มอร์แกน เจ้าของไวต์สตาร์ เจ. บรูซ อิสเมย์ ผู้จัดการไวต์สตาร์ รวมทั้งยังมีโทมัส แอนดรูวส์ จูเนียร์ วิศวกรอาวุโสของอู่ต่อเรือฮาร์แลนด์และวูลฟฟ์ผู้ออกแบบและควบคุมการต่อเรือ ไททานิก แต่ต่อมามอร์แกนยกเลิกการเดินทางกะทันหันเนื่องจากล้มป่วย[3]

กัปตันเรือไททานิกก็ไม่ใช่ใครอื่น กัปตันเอ็ดเวิร์ด จอห์น สมิธ นั่นเอง กัปตันสมิทเป็นกัปตันเรือที่เก่งกาจและมีค่าตัวแพงที่สุดในยุคนั้น การเดินทางในเที่ยวนี้จะเป็นเที่ยวสั่งลาในอาชีพกัปตันเรือเพราะหลังจากนั้น กัปตันสมิทก็จะเกษียณแล้ว[3]

แม้ไททานิกจะถูกออกแบบมาให้เป็นเรือที่ใช้ในได้ในทุกฤดูกาลของปี แต่การเดินทางในช่วงนี้ก็ต้องระวังเป็นพิเศษเพราะธารน้ำแข็งแถบกรีนแลนด์จะละลายและก่อให้เกิดภูเขาน้ำแข็งเคลื่อนตัวลงมาในมหาสมุทรแอตแลนติกตอนเหนือและลอยตามกระแสน้ำในมหาสมุทรลงมาทางใต้

เรือไททานิกออกเดินทางเที่ยวปฐมฤกษ์จากท่าเรือเซาแทมป์ตันในอังกฤษโดยมีจุดหมายปลายทางคือเมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ผู้โดยสารในเที่ยวนั้นประกอบด้วยบุคคลชั้นสูงในวงสังคมของอังกฤษ ยุโรป และสหรัฐอเมริกาจำนวนมาก

ในเช้าวันเดินทาง ตามกฎการเดินเรือ เจ้าหน้าที่ประจำเรือจะต้องมีการฝึกซ้อมการใช้เรือชูชีพในกรณีเกิดเหตุฉุก เฉิน การฝึกซ้อมในเช้านั้นทำขึ้นพอเป็นพิธีเท่านั้น ดังนั้นจึงมีลูกเรือมาฝึกซ้อมเพียงไม่กี่นาย แต่เดิมไททานิกถูกออกแบบมาให้มีเรือชูชีพ 32 ลำ แต่ต่อมาถูกตัดออกเหลือเพียง 20 ลำซึ่งจุผู้โดยสารรวมกันได้เพียง 1,178 คนเท่านั้น เนื่องจากเห็นว่าเกะกะ อีกทั้งเห็นว่าจำนวนเพียงเท่านี้ก็เหลือเฟือแล้วตามกฎหมายการเดินเรือในยุค นั้นที่กำหนดจำนวนเรือชูชีพตามน้ำหนักเรือเป็นเกณฑ์โดยไม่คำนึงถึงจำนวนผู้ โดยสาร ซึ่งในกรณีของไททานิก เรือชูชีพเพียงแค่ 962 ที่ก็เป็นการเพียงพอแล้วตามกฎหมาย

ครั้นเวลาเที่ยง เรือไททานิกก็ออกเดินทางจากท่าเรือเซาแทมป์ตัน เมื่อเรือเริ่มออกจากท่าก็หวุดหวิดจะเกิดอุบัติเหตุเนื่องจากในช่วงนั้นเป็น ช่วงที่พนักงานเหมืองถ่านหินทำการประท้วงและนัดหยุดงาน ส่งผลให้เรือหลายลำต้องจอดแช่อยู่ที่ท่าเรือเนื่องจากไม่มีถ่านหินเป็นเชื้อ เพลิงสำหรับการเดินทาง แต่เนื่องจากไวต์สตาร์เป็นสายการเดินเรือใหญ่ จึงมีถ่านหินตุนอยู่บ้างทำให้ไททานิกสามารถออกเดินทางได้[1]

จากการที่ท่าเรือค่อนข้างคับคั่ง เมื่อไททานิกอันเป็นเรือขนาดใหญ่มหึมาออกจากท่า ผลจากการเคลื่อนตัวของเรือทำให้น้ำกระเพื่อมและเกิดแรงดูดอันมหาศาลดึงเรือ ที่อยู่ใกล้เคียงเข้าหาเรือไททานิก เรือ เอสเอส นิวยอร์ก (SS City of New York) ถูกกระแสน้ำดูดจนเกือบชนเรือไททานิกโดยห่างเพียงหนึ่งเมตรกว่าๆเท่านั้นเอง โชคดีที่เบนเรือออกทัน อุบัติเหตุในครั้งนี้ก็เป็นสาเหตุเดียวกับที่เรือโอลิมปิกเกิดอุบัติเหตุชน กันจนต้องซ่อมใหญ่ก่อนหน้านี้นั่นเอง[19]

เมื่อออกจากท่าเรือเซาแทมป์ตัน ไททานิกมุ่งหน้าไปยังเมืองแชร์บูร์กของฝรั่งเศส[1] เพื่อแวะรับผู้โดยสาร[20]

11 เมษายน

ไททานิกแวะที่ท่าเรือเมืองควีนส์ทาวน์ในไอร์แลนด์ และในเวลา 13.30 น. ไททานิกก็ถอนสมอและมุ่งหน้าไปยังสหรัฐอเมริกา แต่ใครจะทราบเล่าว่าการถอนสมอครั้งนั้นเป็นการถอนสมอครั้งสุดท้ายและเรือไททานิกจะจากไปอย่างไม่มีวันกลับ[1][20]

12 - 13 เมษายน

ทะเลสงบและอากาศแจ่มใส การเดินทางเป็นไปอย่างราบรื่น ผู้โดยสารบนเรือต่างรื่นเริงกับการเดินทางอันหรูหราในครั้งนี้[2]

14 เมษายน

ตามกำหนดการเดิม เช้าวันอาทิตย์ที่ 14 นี้จะต้องมีการซ้อมการใช้เรือชูชีพโดยมีผู้โดยสารร่วมฝึกซ้อมด้วย แต่การฝึกซ้อมได้ถูกยกเลิกไป

แม้ในสมัยนั้นจะมีระบบโทรศัพท์เกิดขึ้นแล้วก็ตาม แต่การติดต่อด้วยเสียงพูดระหว่างเรือหรือระหว่างเรือกับแผ่นดินยังไม่สามารถทำได้ ระบบที่มีอยู่ในตอนนั้นคือวิทยุโทรเลขซึ่งเป็นการส่งรหัสมอร์ส (Morse code) ด้วยคลื่นวิทยุ ในเรือแต่ละลำจะมีห้องวิทยุโทรเลขซึ่งมีเจ้าหน้าที่คอยรับส่งข้อความโดยเฉพาะเพราะต้องเป็นผู้ที่รู้จักรหัสมอร์ส[21]

ห้องส่งวิทยุโทรเลขบน เรือเดินสมุทรในยุคนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อบริการแก่ผู้โดยสาร เป็นหลัก เพราะการเดินทางโดยทางเรือนั้นต้องใช้เวลานาน จากหลายวันถึงเป็นเดือน ดังนั้นการติดต่อกับผู้ที่อยู่บนบกจึงเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับผู้โดยสาร ส่วนการใช้เพื่อประโยชน์ในการเดินเรือนั้นเป็นวัตถุประสงค์รอง[22]

ในเรือไททานิกนี้ก็เช่นกัน ห้องวิทยุโทรเลขมีไว้เพื่อบริการผู้โดยสารเป็นหลัก เจ้าหน้าที่วิทยุโทรเลขนี้ไม่ใช่พนักงานประจำเรือ แต่เป็นพนักงานของบริษัทมาร์โคนีซึ่งเป็นต้นตำรับในการสื่อสารด้วยวิทยุโทรเลข แม้แต่ใบโทรเลขในยุคนั้นที่จริงก็ไม่ได้เรียกว่า โทรเลข (telegram) แต่เรียกว่า มาร์โคนีแกรม (marconigram) อัตราค่าส่งวิทยุโทรเลขบนเรือไททานิกคิดเป็นเงิน 3.12 ดอลลาร์หรือเทียบเท่ากับ 36 ดอลลาร์ในสมัยนี้ซึ่งนับว่าสูงอยู่ในระดับหลักพันบาทไทย[21]

เนื่องจากไททานิกเป็นเรือขนาดใหญ่ จุผู้โดยสารได้มาก ดังนั้นปริมาณการใช้บริการส่งวิทยุโทรเลขก็ต้องมากเป็นธรรมดา พนักงานรับส่งวิทยุโทรเลขจึง ต้องทำงานค่อนข้างหนักมาก เมื่อว่างเว้นจากงานบริการผู้โดยสารแล้วจึงค่อยมาสะสางเรื่องการติดต่อเพื่อ การเดินเรือ อีกทั้งในสมัยนั้นยังไม่มีขั้นตอนการนำส่งข้อความแก่กัปตันเรืออย่างเป็น ระบบ ดังนั้นจึงไม่มีหลักประกันแต่อย่างใดว่าข่าวสารจะถึงมือกัปตันหรือไม่ หรือถึงช้าเร็วเพียงใด[21]

เช้าวันที่ 14 เมษายน กัปตันสมิทสั่งเดินเครื่องเรือไททานิกเต็มที่ สำหรับสาเหตุของการเร่งเครื่องครั้งนี้มีผู้อยู่ในเหตุการณ์เล่าว่าเป็นไป ตามความต้องการของอิสเมย์ ผู้จัดการไวต์สตาร์ ที่ต้องการทำเวลาเพื่อให้ไปถึงนิวยอร์กก่อนกำหนดและเพื่อเป็นการลบสถิติที่ เรือโอลิมปิกซึ่งเป็นเรือพี่ในชุด 3 ใบเถานี้เคยทำไว้ ไททานิกจึงแล่นด้วยความเร็วถึง 22.5 นอต (1 นอตคือ 1 ไมล์ทะเลต่อชั่วโมง, 1 ไมล์ทะเลหรือ nautical mile นี้เท่ากับ 1.852 กิโลเมตร) ซึ่งเกือบถึงความเร็วสูงสุดของเรือ (23 นอต) [2]

และในวันเดียวกันนี้เอง ไททานิกได้รับวิทยุโทรเลขเตือนเรื่องภูเขาน้ำแข็งในเส้นทางเดินเรือถึง 7 ครั้ง (เอกสารบางแหล่งระบุว่า 6 ครั้ง) จากเรือเดินสมุทรในสายแอตแลนติกเหนือ อาทิ จากเรือ อาร์เอ็มเอส แคโรเนีย (RMS Caronia), อาร์เอ็มเอส บอลติก (ค.ศ. 1903) (RMS Baltic), เอสเอส อเมริกา (SS Amerika) [23], เอสเอส แคลิฟอร์เนียน (SS Californian) และ เอสเอส เมซาบา (SS Mesaba) ฯลฯ และที่ร้ายก็คือ เมื่อเวลา 21.45 น. ไททานิกได้รับวิทยุโทรเลขเตือนว่ามีภูเขาน้ำแข็งและน้ำแข็งกระจัดกระจายอยู่ในเส้นทางข้างหน้า แต่พนักงานวิทยุโทรเลขไม่ได้ส่งข้อความนั้นให้แก่กัปตันหรือเจ้าหน้าที่เรือคนใดเลย ทั้งนี้ เพราะมัวยุ่งอยู่กับการส่งวิทยุโทรเลขให้แก่ผู้โดยสารในเรือนั่นเอง

Share this