มินามาตะ เรื่องราวที่มากกว่าโรคร้าย ภาค 5
ความฉ้อฉลและกลลวง
ภายหลังการออกมายอมรับของรัฐบาล เอกาชิระ ยูตาคะ ประธานบริษัทชิสโสะจึงได้ออกมากล่าวขอโทษต่อผู้ป่วยและครอบครัว ทั้งยังเดินทางไปเยี่ยมตามบ้าน พร้อมกับรับปากที่จะเจรจากับกลุ่มผู้ป่วย ทำให้แนวโน้มสถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้นมาก แต่ผลที่ปรากฏในเวลาต่อมาก็พิสูจน์ให้เห็นว่า คำขอโทษนั้นเป็นเพียงลมปากและการเจรจาไม่สามารถนำพาไปสู่บทสรุปที่เป็นธรรมได้
แท้ที่จริง ชาวมินามาตะต้องต่อสู้กับบริษัทชิสโสะมาก่อนการค้นพบโรคเสียด้วยซ้ำ เพราะนับตั้งแต่ทางบริษัท Nihon Carbide Company ตั้งโรงงานเสร็จสิ้นในปี 2451 ต่อเนื่องด้วยการขยายกิจการเรื่อยมา น้ำเสียของโรงงานก็กลายเป็นมลพิษที่ทำลายสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ทำให้ชาวประมงต้องเดือดร้อนและตื่นตัวต่อปัญหาเป็นกลุ่มแรก
ในช่วงปี 2468 – 2469 กิจการประมงในเมืองมินามาตะเสียหายอย่างหนัก ทางสหกรณ์ประมงจึงยื่นเรื่องร้องเรียนถึงฝ่ายโรงงาน ซึ่งทางบริษัทยอมจ่ายเงินเป็นค่าปลอบขวัญให้ แต่มีเงื่อนไขว่า ห้ามมีการร้องเรียนเข้ามาอีก
แต่แล้วในปี 2486 ปัญหามลพิษที่ก่อความเสียหายแก่กิจกรรมประมงก็ลุกลามขึ้นมาอีก การเจรจาและทำสัญญาจ่ายเงินชดเชยระหว่างบริษัทและสหกรณ์ประมงจึงเกิดขึ้นอีกครั้ง ครั้งนี้ทางบริษัทยินยอมจ่ายเงินจำนวน 152,500 เยนเป็นค่าชดเชยความเสียหายทั้งที่เกิดขึ้นไปแล้วและที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคตจากน้ำเสียของโรงงานและสิ่งปนเปื้อนอื่นๆ
ท่ามกลางสถานการณ์ที่ย่ำแย่ขึ้นเรื่อยๆ ปริมาณปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ ในทะเลลดน้อยลงอย่างผิดปกติ ในปี 2497 ทางบริษัทก็ได้ขอซื้อสิทธิการทำประมงในแถบฮาจิมังเพื่อถมทะเล สหกรณ์ชาวประมงซึ่งตั้งขึ้นใหม่ก่อนหน้านั้น 5 ปี แทนชุดเดิมที่ยุบไปหลังสงครามโลกครั้งที่สอง จึงเรียกเงินจำนวน 500,000 เยนเป็นค่าชดเชยความเสียหายสำหรับอดีตและอนาคตที่จะเกิดขึ้น
จากนั้นมาการจับปลาในทะเลบริเวณนี้ก็ลดฮวบลงอย่างน่าตกใจ รายได้ของชาวประมงลดลงไปอย่างมาก แต่พวกเขาก็อดทนรักษาสัญญา
กระทั่งในช่วงปลายปี 2502 หลังจากที่คณะแพทย์จากคุมาโมโตชี้ชัดออกมาแล้วว่า น้ำเสียจากโรงงานที่ปล่อยลงสู่อ่าวมินามาตะเป็นต้นเหตุทำให้เกิดโรค สหกรณ์ประมงซึ่งมีสมาชิกจากชุมชนประมงริมฝั่งทะเลชิรานุยจึงร่วมกันเรียกร้องให้ทางโรงงานปิดทางระบายน้ำลงอ่าว แต่โรงงานกลับปฏิเสธที่จะเจรจา ทำให้ความอดกลั้นของชาวประมงถึงขีดสุด ในวันที่ 2 พฤศจิกายน ชาวประมงกว่า 4,000 คนจึงพังประตูโรงงานเข้าไป ฝ่ายบริษัทได้ขอระดมกำลังตำรวจปราบจลาจลเข้ามาปราบปราม จากเหตุการณ์ครั้งนั้นมีชาวประมงถูกจับไปกว่าร้อยคนและถูกตัดสินว่ากระทำผิดข้อหาบุกรุกและทำลายทรัพย์สินของโรงงาน ในที่สุดกลุ่มประมงนี้ก็ถูกบีบให้จำยอมรับเงินค่าชดเชยความเสียหายที่เกิดกับกิจการประมงในอัตราต่ำ หลายคนกลายเป็นผู้ป่วยโรคมินามาตะในเวลาต่อมา
ในเดือนถัดมา กลุ่มผู้ป่วยนำโดยสมาคมช่วยเหลือครอบครัวผู้ป่วยโรคมินามาตะ ซึ่งเพิ่งตั้งขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม 2501 พากันไปนั่งชุมนุมประท้วงหน้าประตูทางเข้าโรงงานเพื่อเรียกร้องเงินชดเชยความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น การประท้วงของผู้ป่วยเป็นไปอย่างโดดเดี่ยว ไร้การสนับสนุนช่วยเหลือไม่ว่าจากสหกรณ์ประมง คนงาน หรือคนทั่วไป
ในช่วงเดียวกันนั้นเอง กลไกการรับรองผู้ป่วยก็ถูกพัฒนาขึ้น โดยในวันที่ 25 ธันวาคม รัฐบาลได้ตั้งสภาเพื่อการรับรองผู้ป่วยโรคมินามาตะ ภายใต้การควบคุมของกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการ เพื่อทำหน้าที่พิจารณาและลงมติให้การรับรองผู้ป่วยอย่างเป็นทางการ สภาชุดนี้ซึ่งมีคณะกรรมการที่ล้วนเป็นข้าราชการทั้งหมด 8 คน จึงกลายเป็นผู้ผูกขาดการชี้ขาดว่า ใครเป็นผู้ป่วยหรือไม่เป็น
นพ. มาซาซูมิ ฮาราดะ หนึ่งในคณะกรรมการวิจัยโรคประหลาดที่มินามาตะซึ่งเป็นคณะแพทย์ที่ทำการสอบสวนและสืบหาสาเหตุของโรคนี้มาตั้งแต่ต้น วิจารณ์สภาชุดนี้ว่า เสมือนเป็นผู้รับเหมาช่วงของบริษัทชิสโสะที่คอยทำหน้าที่กลั่นกรองว่าผู้ป่วยคนไหนมีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชยจากบริษัทบ้าง
หลังสภาดังกล่าวจัดตั้งขึ้นได้เพียง 5 วัน คณะกรรมการอีกชุดหนึ่ง นำโดยผู้ว่าราชการจังหวัดคุมาโมโตก็เข้ามาไกล่เกลี่ยให้กลุ่มผู้ป่วยและครอบครัวยอมรับ “เงินทำขวัญ” ที่ทางโรงงานยินดีจ่ายให้ ภายใต้เงื่อนไขที่ติดมากับสัญญาว่า “ในอนาคตหากมีการพิสูจน์ว่าน้ำเสียของโรงงานเป็นต้นเหตุของปัญหา จะต้องไม่มีการเรียกร้องค่าชดเชยใดๆ อีก”
ข้อตกลงนี้ทำให้ผู้ป่วยมินามาตะหยุดเคลื่อนไหวในปีถัดๆ มา ส่วนโรงงานยังคงปล่อยน้ำเสียตามเดิม และการเจรจายอมความลักษณะนี้กลายเป็นวิธีการทรงประสิทธิภาพที่โรงงานนิยมใช้ในเวลาต่อๆ มา
นอกเหนือจากจัดการกับการประท้วงได้ราบคาบ ในช่วงไล่เลี่ยกันนี้ ชิสโสะยังได้ตอบสนองต่อปัญหาโดยการติดตั้งอุปกรณ์บำบัดน้ำเสีย ซึ่งแล้วเสร็จในวันที่ 19 ธันวาคม ในการจัดงานเปิดตัวอุปกรณ์ดังกล่าว ประธานบริษัทชิสโสะได้แสดงการดื่มน้ำที่ผ่านกระบวนการบำบัดนั้นต่อหน้าแขกทั้งหมด อันมีผู้ว่าราชการจังหวัดรวมอยู่ด้วย
ในเวลานั้นไม่มีใครรู้ความจริงว่า เครื่องดังกล่าวยังมิได้เปิดใช้การ น้ำที่ประธานบริษัทดื่มเป็นน้ำสะอาดที่ไม่ได้ผ่านขั้นตอนการผลิตใดๆ ของโรงงาน แต่กว่าที่ความจริงข้อนี้จะปรากฏก็ใช้เวลาถึง 10 ปี เมื่อมีการพิจารณาคดีเกี่ยวกับโรงมินามาตะที่เมืองนีกะตะ และผู้บริหารของบริษัทที่ก่อมลพิษให้การต่อศาลว่า ฝ่ายบริหารของบริษัทชิสโสะเคยบอกกับเขาว่า ระบบบำบัดน้ำเสียที่ติดตั้งขึ้นนั้นไม่สามารถจำกัด methyl mercury ได้