มินามาตะ เรื่องราวที่มากกว่าโรคร้าย ภาค 3
สมาชิกเลขที่118626 | 03 ส.ค. 55
998 views

มินามาตะ เรื่องราวที่มากกว่าโรคร้าย ภาค 3

การค้นหาสาเหตุในท่ามกลางการปกปิด

ภายหลังจากข่าวการระบาดของโรคประหลาดแพร่สะพัดออกไป สมาคมแพทย์แห่งมินามาตะจึงตั้งคณะกรรมการแพทย์เฉพาะกิจขึ้นมาหนึ่งชุดเรียกว่า “คณะกรรมการการรับมือโรคประหลาดของมินามาตะ” โดยระดมแพทย์และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานสาธารณสุขมินามาตะ โรงพยาบาลประจำโรงงานของบริษัทชิสโสะ และโรงพยาบาลประจำเมือง 

แล้วในวันที่ 28 พฤษภาคม ปี 2499 นั้นเองแพทย์ชุดนี้ก็ออกตรวจสอบพื้นที่ที่มีข่าวว่าโรคระบาด ผู้ป่วยที่ค้นพบในระยะแรกล้วนเป็นเด็กเล็กทั้งสิ้น ทำให้เข้าใจว่าเกิดโรคโปลิโอระบาด แต่ในเวลาไม่นานก็ค้นพบผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่ด้วย

นพ. โฮโซคาวา ซึ่งร่วมอยู่ในคณะแพทย์ชุดนี้จึงเริ่มย้อนนึกได้ถึงผู้ป่วยบางรายที่เขาเคยรักษาเมื่อ 2-3 ปีก่อนหน้า ซึ่งได้เสียชีวิตไปแล้วโดยไม่สามารถหาสาเหตุของโรคได้ ผู้ป่วยเหล่านั้นมีอาการแบบเดียวกัน นั่นคือ อาการผิดปกติที่ระบบประสาทส่วนกลาง แขนและขาสูญเสียความรู้สึก ปวดศีรษะ พูดและเดินได้ยากลำบาก 

ในเดือนต่อมา คณะกรรมการแพทย์ค้นพบผู้ป่วยอีกหลายรายในพื้นที่เล็กๆ จึงสันนิษฐานว่า อาจเป็นโรคติดต่อร้ายแรง จากคำเรียกว่า “โรคประหลาด” จึงแปรเปลี่ยนเป็น “โรคติดต่อ” ซึ่งส่งผลในทางทำร้ายจิตใจผู้ป่วยมากยิ่งขึ้นไปอีก เนื่องจากคนจำนวนมากพากันรังเกียจและกลัว เด็กทั้งหมดที่ป่วยด้วยโรคประหลาดถูกแยกไปอยู่ยังหอผู้ป่วยที่ห่างออกไปจากกลุ่มผู้ป่วยทั่วไป พร้อมทั้งมีการพ่นยาฆ่าเชื้อที่บ้านด้วย

ด้วยความคลุมเครือและความรุนแรงของปัญหา กลุ่มแพทย์ในมินามาตะชุดนี้จึงติดต่อคณะแพทยศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยคุมาโมโต เพื่อขอความช่วยเหลือในการศึกษาวิจัยค้นหาสาเหตุของโรค ในวันที่ 24 สิงหาคม มหาวิทยาลัยคุมาโมโตจึงแต่งตั้ง “กลุ่มแพทย์เพื่อศึกษาวิจัยโรคมินามาตะ” ขึ้น ประกอบด้วยแพทย์จากสาขาต่างๆ

แพทย์กลุ่มนี้พยายามค้นคว้าหาสาเหตุของโรคด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งเก็บตัวอย่างปลาและหอยจากทะเลมาวิเคราะห์ เก็บเครื่องปรุงและเครื่องประกอบอาหาร เช่น ซอสถั่วเหลือง ทำการชันสูตรศพ ฯลฯ โดยในระหว่างนั้นก็มีผู้ป่วยรายใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ขณะที่บางรายก็เสียชีวิตไป

แม้กลุ่มแพทย์มีข้อสันนิษฐานในเบื้องต้นแล้วว่า โรคที่เกิดขึ้นมีความเกี่ยวข้องกับน้ำเสียจากโรงงานของบริษัทชิสโสะอย่างแน่นอน เนื่องจากผลการตรวจวิเคราะห์น้ำเสียและกากตะกอนที่เก็บจากจุดระบายและในอ่าวมินามาตะ พบโลหะหนักหลายชนิด เช่น แมงกานีส ตะกั่ว ธัลเลียม เซเลเนียม แต่คณะแพทย์ก็ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า สารพิษตัวไหนคือสาระสำคัญที่เป็นต้นเหตุของโรค เนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลหรือล่วงรู้ได้ว่า โรงงานผลิตอะไรและมีกระบวนการผลิตอย่างไร ในขณะที่ทางโรงงานชิสโสะก็ปิดข้อมูลทุกอย่างเป็นความลับสุดยอด

ต้องใช้เวลามากกว่า 3 ปี กลุ่มแพทย์จากมหาวิทยาลัยคุมาโมโตจึงได้ข้อสรุปและเรียกโรคนี้ว่า “โรคมินามาตะ” โดยอธิบายว่าเป็นโรคที่เกิดจาก methyl mercury อันเป็นสารประกอบอินทรีย์ของปรอท ซึ่งปนเปื้อนอยู่ในน้ำเสียที่โรงงานของบริษัทชิสโสะระบายทิ้งลงสู่อ่าว ปริมาณปรอทที่สูงนั้นพบได้ตลอดชายทะเลชิรานุย โดยเฉพาะในเขตมินามาตะ สารพิษเหล่านั้นได้เข้าไปสะสมอยู่ในตัวปลาและหอยที่ชาวประมงจับขึ้นมาขายและรับประทาน

ในวันที่ 21 กรกฎาคม ปีเดียวกันนั้นเอง นพ. โฮโซคาวา ก็เริ่มต้นทำการทดลองเพื่อหาสาเหตุของโรค ด้วยการให้อาหารที่เจือปนน้ำเสียของโรงงานแก่แมวจำนวนหนึ่งทุกๆ วัน มีแมวตัวหนึ่งที่ได้รับอาหารปนน้ำเสียจากส่วนที่ผลิตกรดอะเซติกในปริมาณ 20 กรัมต่อวัน แมวตัวนี้เรียกกันในเวลาต่อมาตามรหัสที่ใช้ในการทดลองว่า “แมวหมายเลข 400”

ผ่านไปประมาณ 2 เดือนครึ่ง เจ้าแมวหมายเลข 400 ก็แสดงกลุ่มอาการแบบเดียวกับโรคมินามาตะออกมา จากการศึกษาทางพยาธิวิทยาพบว่า เซลล์สมองส่วนกลางบางส่วนของแมวถูกทำลายไปและบางส่วนมีความผิดปกติเกิดขึ้น ทั้งยังไม่มีการสร้างเซลล์ใหม่ขึ้นมาทดแทน

นพ. โฮโซคาวาได้ส่งข้อมูลดังกล่าวไปยังมหาวิทยาลัยโตเกียวเพื่อวิเคราะห์ต่อ แต่เขามารู้ภายหลังว่าข้อมูลที่ส่งไปนั้นสูญหาย ขณะที่รายงานที่ส่งให้ฝ่ายบริหารของบริษัทชิสโสะก็ถูกเก็บเป็นความลับ อีกทั้งในเวลาต่อมาทางบริษัทยังสั่งให้ยกเลิกการทดลองนี้ พร้อมกับมีคำสั่งไม่ให้นักวิจัยที่ล่วงรู้ผลการศึกษาเปิดเผยเรื่องนี้ออกไป แม้ไม่นานต่อมา นพ. โฮโซคาวาจะเขาเกษียณอายุและออกจากโรงพยาบาลชิสโสะไปแล้วก็ยังคงเก็บงำเรื่องนี้ไว้

อย่างไรก็ดี ในที่สุดผลการทดลองดังกล่าวก็ได้รับการเปิดเผยออกมา โดย นพ. โฮโซคาวาเองเป็นผู้ให้การเกี่ยวกับเรื่องนี้ต่อศาลในคดีที่ผู้ป่วยฟ้องบริษัท ทั้งที่กำลังนอนป่วยด้วยโรคมะเร็งอยู่บนเตียงของโรงพยาบาล วันนั้นคือวันที่ 14 กรกฎาคม 2513 หรือประมาณ 11 ปีหลังจากการทดลอง แล้วเพียง 3 เดือนต่อมา นพ. โฮโซคาวาก็ลาจากโลกนี้ไป

Share this