เทพีดีมีเตอร์ (Demeter) เทพีแห่งการเกษตร
…ซูสเทพปริณายก มีเทวีภคินี 3 องค์ ในจำนวนนี้ 2 องค์เป็นคู่พิศวาสของซูสด้วย องค์หนึ่งคือเจ้าแม่ฮีรา ที่เราได้รู้จักกันมาแล้ว อีกองค์ทรงนามว่า ดีมิเตอร์ (Demeter) ตามชื่อกรีกหรือภาษาโรมันว่า ซีริส (Ceres) เป็นเทวีครองข้าวโพด ซึ่งหมายถึงการเกษตรกรรมนั่นเอง
เจ้าแม่ดีมิเตอร์มีธิดาองค์หนึ่งทรงนามว่า โพรสเสอพิน (Proserpine) หรือ เพอร์เซโฟนี (Persephone) เป็นเทวีครองฤดูผลิตผลของพืชทั้งปวง เพื่ออธิบายธรรมชาติของการผลัดฤดู กวีกรีกโบราณจึงผูกเรื่อง ให้เทวีองค์นี้ถูกฮาเดสลักพาตัวไปเป็นคู่ครองในยมโลก ดังมีเรื่องพิสดารดังนี้
ฮาเดสปกครองยมโลกอยู่คนเดียว โดดเดี่ยวไร้คู่ปฏิพัทธ์มาเป็นเวลานาน หามีเทวีองค์ใดไยดีที่จะร่วมเทวบัลลังก์กับเธอ เทวีแต่ละองค์ที่เธอทอดเสน่หา ต่างองค์ต่างก็ไม่สมัครรักใคร่เธอ ด้วยไม่ปรารถนาจะลงไปอยู่ในใต้หล้าแดนบาดาล อันดวงสุริยาไม่สามารถทอแสงลงไปถึง ทำให้เธอมึนตึงหมางหทัยนัก ในที่สุดจึงต้องตั้งปณิธานจะไม่ทอดเสน่หาใครอีกเป็นอันขาด หากปฏิพัทธ์สวาทกับใคร ก็จะฉุดคร่าพาเอาลงไปบาดาลดื้อ ๆ
วันหนึ่งเพอร์เซโฟนีพร้อมเพื่อนเล่นทั้งมวลชวนกันลงเที่ยวสวนดอกไม้ เที่ยวเด็ดดอกไม้อันจรุงกลิ่น สอดสร้อยร้อยมาลัยอยู่เป็นที่สำราญ บังเอิญฮาเดสขับรถทรงแล่นผ่านมาทางนั้น ได้ยินสรวลสรรหรรษาร่าเริงระครเสียงขับร้องของ เหล่านางอัปสรสาวสวรรค์ลอยมา เธอจึงหยุดรถทรงลงไปเยี่ยมมองทางช่องสุมทุมพุ่มไม้ ครั้นพบเทวีรุ่นสะคราญทรงโฉม วิลาสลิไลนักให้นึกรักจะเอาไปไว้ในยมโลก เธอจึงก้าวกระชากชิงอุ้มเพอร์เซโฟนีเทวีขึ้นรถไปในทันที
ฮาเดสขับรถเร่งไปจนถึงแม่น้ำไซเอนี (Cyane) ซึ่งขวางหน้าอยู่เห็นน้ำในแม่น้ำเกิดป่วนพล่านแผ่ ขยายท่วมท้นตลิ่งสกัดกั้นเธอเอาไว้ จึงชักรถไปทางอื่น ใช้มือถือคู่หัตถ์มีง่าม 2 แฉก กระแทกกระทุ้งแผ่นดินให้แยก ออกเป็นช่องแล้วขับรถลงไปยังบาดาล ในขณะเดียวกันนั้นเพอร์เซโฟนีแก้สายรัดองค์ขว้างลงในแม่น้ำไซเอนี พลางร้องบอกนางอัปสรประจำแม่น้ำให้เอาไปถวายเจ้าแม่ดีมิเตอร์ ผู้มารดาด้วย
ฝ่ายดีมิเตอร์แม่โพสพกลับมาจากทุ่งข้าวโพดไม่เห็นธิดา เที่ยวเพรียกหาก็ไม่พานพบวี่แววอันใด เว้นแต่ ดอกไม้ตกเรี่ยราดกลาดเกลื่อนอยู่ เจ้าแม่เที่ยวหากระเซอะกระเซิงไปตามที่ต่าง ๆ พลางกู่เรียกไปจนเวลาเย็นให้อาดูรโทมนัสนัก ล่วงเข้าราตรีกาลเจ้าแม่ก็ไม่หยุดพักการเสาะหาธิดา จนถึงรุ่งอรุรของวันใหม่ แม้กระนั้นเจ้าแม่ก็ไม่ลดละความพยายาม คงดั้นด้นเรียกหาธิดาไปตามทางอีก มิได้ห่วงถึงภาระหน้าที่ประจำที่เคยปฏิบัติแต่อย่างใด ดอกไม้ทั้งปวง จึงเหี่ยวเฉาเพราะขาดฝนชโลมเลี้ยง ติณชาติตายเกลี้ยงไม่เหลือ พืชพันธุ์ธัญญาหารถูกแดดแผดเผาซบเซาหมด ในที่สุดเจ้าแม่ก็สิ้นหวังระทดระทวยหย่อนองค์ลงนั่งพักที่ริมทางใกล้นครอีลูสิส ความระทมประดังขึ้นมาสุดที่จะหักห้าม เจ้าแม่ก็ซบพักตร์กันแสงไห้ตามลำพัง
ในระหว่างที่ยังไม่พบธิดานี้ มีเรื่องแทรกเกี่ยวกับเจ้าแม่ดีมิเตอร์เกิดขึ้นเรื่องหนึ่ง สมควรจะเล่าไว้เสียด้วย
เพื่อมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดรู้จัก เจ้าแม่ดีมิเตอร์ได้จำแลงองค์เป็นยายแก่ ในขณะที่เจ้าแม่นั่งพัก พวกธิดาของเจ้านครอีลูสิสรู้ว่ายายแก่มานั่งคร่ำครวญคิดถึงลูก บังเกิดความสังเวชสงสาร และเพื่อที่จะให้ยายหายโศกเสร้า นางเหล่านั้นจึงชวน ยายแก่เข้าไปในวังให้ดูแลกุมาร ทริปโทลีมัส (Triptolemus) ผู้น้อง ซึ่งยังเป็นทารกแบเบาะอยู่
เจ้แม่ดีมิเตอร์ยอมรับภาระนี้ พอลูบคลำโอบอุ้มทารก ทารกก็เปล่งปลั่งมีนวลขึ้นเป็นที่อัศจรรย์แก่เจ้านครและบริษัท บริวารยิ่งนัก ตกกลางคืนขณะที่เจ้าแม่อยู่ตามลำพังกับทารก เจ้าแม่คิดใคร่จะให้ทารกได้ทิพยภาพเป็นอมรรตัยบุคคล จึงเอาน้ำต้อยเกสรดอกไม้ชะโลมทารกพลางท่องบทสังวัธยายมนต์ แล้ววางทารกลงบนถ่านไฟอันเร่าร้อน เพื่อให้ไฟลามเลียเผา ผลาญธาตุมฤตยู ที่ยังเหลืออยู่ในกายทารกให้หมดสิ้น
ฝ่ายนางพญาของเจ้านคร ยังไม่วางใจยายแก่นัก ค่อยย่องเข้าไปในห้องเพื่อคอยดู ประจวบกับตอนเจ้าแม่ดีมิเตอร์กำลังทำพิธีชุบทารกอยู่พอดี นางตกใจนักหวีดร้องเสียงหลง พลางถลันเข้าฉวยบุตรออกจากไฟ ครั้นเห็นบุตรสุดสวาทไม่เป็นอันตรายแล้ว จึงหันกลับมาจะไล่เบี้ยเอากับยายแก่เสียให้สาสมกับความโกรธแค้น แต่แทนที่จะเห็นยายแก่ กลับเห็นรูปเทวีประกอบด้วยรัศมีเรืองรองอยู่ตรงหน้า เจ้าแม่ตรัสพ้อนางพญาโดยสุภาพ ในการที่เข้าไปขัดขวางการพิธีเสีย ทำให้มนต์เสื่อมและชุบทารกอีกไม่ได้ แล้วเจ้าแม่ดีมิเตอร์ก็ออกจากเมืองอีลูสิสเที่ยวหาธิดาต่อไป
วันหนึ่งเจ้าแม่ดีมิเตอร์พเนจรเลียบฝั่งแม่น้ำอยู่ พลันได้ประสบวัตถุแวววาวสิ่งหนึ่งอยู่แทบบาท เจ้าแม่จำได้ ทันทีว่าเป็นวายรัดองค์ของธิดา คือสายรัดองค์ที่เพอร์เซโฟนีทิ้งฝากนางอัปสรแห่งแม่น้ำไซเอนีไว้ เมื่อตอนรถทรงของฮาเดสจะลงสู่บาดาล เจ้าแม่ได้ของสิ่งนี้ยินดียิ่งนัก แสดงว่าธิดาอยู่ใกล้ที่นั้น จึงรีบดำเนินไปจนถึงน้ำพุแก้วแห่งหนึ่ง รู้สึกเมื่อยล้าจึงลงพักทอดองค์ตามสบาย พอรู้สึกเคลิ้มจะหลับเสียงน้ำพุก็ฟ่องเฟื่องยิ่งขึ้นเหมือนเสียงพูดพึมพำ ในที่สุดเจ้าแม่ก็จับความได้ว่า เป็นความประวัติของตนให้เจ้าแม่สดับฟังและต้องการจะแจ้งข่าวของธิดาเจ้าแม่ว่าเป็นประการใด น้ำพุเล่าประวัติของตนเองว่า เดิมตนเป็นนางอัปสรขื่อว่า แอรีธูซา (Arethusa) บริวารของเทวีอาร์เตมิส (Artemis) วันหนึ่งลงอาบน้ำในแม่น้ำแอลฟีอัส (Alpheus) เทพประจำน่านน้ำนั้นหลงรัก แต่นางไม่ไยดีด้วยจึงหนีไป ส่วนเทพนั้นก็ติดตามไม่ลดละ นางหนีเตลิดข้ามเขาไปตลอดแว่นแคว้น ซ้ำผ่านแดนบาดาลไปตลอดอาณาเขตของฮาเดส ได้เห็นเพอร์เซโฟนีประทับบัลลังก์อาสน์อยู่ในที่ราชินีแห่งยมโลก ครั้นกลับขึ้นมาอ่อนแรงเห็นไม่พ้นเทพแอลฟีอัส นางเสี่ยงบุญอธิษฐานยึดเอาเจ้าแม่ของนางเป็นที่พึ่ง เทวีเดียนาจึงโปรดบันดาลให้นางกลายเป็นน้ำพุอยู่ ณ ที่นั่น
เมื่อได้รู้ถึงที่อยู่ของธิดาดังนี้แล้ว เจ้าแม่ดีมิเตอร์จึงรีบไปอ้อนวอนเทพปริณายกให้ช่วย ซูสอนุโลมตามคำวอนขอ โดยมีเงื่อนไขว่า ถ้าเพอร์เซโฟนีไม่ได้เสพเสวยสิ่งใดในระหว่างที่อยู่บาดาล จะให้ฮาเดสส่งเพอร์เซโฟนีขึ้นมาอยู่กับมารดา แล้วมีเทวบัญชาให้เฮอร์มีสลงไปสื่อสารแก่ฮาเดสในยมโลก เจ้าแดนบาดาลจำต้องยอมโอนอ่อนจะส่งเพอร์เซโฟนีคืนสู่ เจ้าแม่ดีมิเตอร์ แต่ในขณะนั้นภูตครองความมืดเรียกว่า แอสกัลลาฟัส (Ascalaphus) ร้องประกาศขึ้นว่า ราชินีแห่งยมโลกได้เสวยเมล็ดทับทิมแล้ว 6 เมล็ด ในที่สุดจึงตกลงกันเป็นยุติว่า ในปีหนึ่ง ๆ ให้เพอร์เซโฟนีเทวีอยู่กับฮาเดสใน ยมโลก 6 เดือน สำหรับเมล็ดทับทิมที่เสวยเมล็ดละเดือน แล้วให้กลับขึ้นมาอยู่กับมารดาบนพิภพอีก 6 เดือน สลับกันอยู่ทุกปีไป ด้วยเหตุนี้เมื่อเพอร์เซโฟนีเทวีอยู่กับมารดา โลกจึงอยู่ในระยะกาลของวสันตฤดู พืชพันธุ์ธัญญาหารนานาชนิดผลิดอก ออกผล และเมื่อเพอร์เซโฟนีเทวีลงไปอยู่ในบาดาล โลกก็ตกอยู่ในระยะกาลของเหมันตฤดู พืชผลทั้งปวงร่วงหล่นซบเซา อันเป็นความเชื่อของชาวกรีกและโรมันโบราณ ตามเรื่องที่เล่ามาฉะนี้
ยังมีเรื่องที่ต้องเล่าต่ออีกเล็กน้อย คือเมื่อเจ้าแม่ดีมิเตอร์พบธิดาแล้ว ก็กลับไปยังเมืองอีลูสิสอีก เพราะว่าเจ้า ครองนครกับนางพญาปลูกวิหารถวายเจ้าแม่ไว้ที่นั่น เพื่อให้มนุษย์รู้จักการทำไร่ ไถนา เจ้าแม่ได้สั่งสอนทริปโทลีมัส ซึ่งเติบโตเจริญวัยเป็นผู้ใหญ่แล้ว ให้รู้จักใช้ไถ จอบ และเคียว สั่งสอนชาวนาสืบ ๆ กันมาจนตราบเท่าบัดนี้
เทพีฮีร่า (Hera) หรือ จูโน (Juno) เทพีแห่งสวรรค์
…ฮีร่า (Hera) หรือภาษาโรมันว่า จูโน (Juno) เป็นราชินีของเทพธิดาทั้งหลาย เพราะเป็นชายาของซูส
ฮีร่าเป็นธิดาองค์ใหญ่ของเทพไทแทน โครนัสกับเทพมารดารีอา ต่อมาในตอนหลังได้อภิเษกสมรสกับ ซูสเทพบดีอนุชาของนาง ทำให้นางกลายเป็นราชินีสูงสุดในสวรรค์ชั้นโอลิมปัสที่ไม่ว่าผู้ใดก็คร้ามเกรง เทวีฮีร่าไม่ ชอบนิสัยเจ้าชู้ของซูส ด้วยเหตุที่ซูสเป็นคนเจ้าชู้ ทำให้ฮีร่ากลายเป็นคนขี้หึงและคอยลงโทษหรือพยาบาทคนที่มา เป็นภรรยาน้อยของซูสอยู่เสมอ
เมื่อแรกที่ซูสขอแต่งงานด้วยฮีร่าปฏิเสธ และปฏิเสธเรื่อยมาจนถึง 300 ปี วันหนึ่งซูสคิดทำอุบายปลอมตัว เป็นนกกาเหว่าเปียกพายุฝนไปเกาะที่หน้าต่าง ฮีร่าสงสารก็เลยจับนกมาลูบขนพร้อมกับพูดว่า "ฉันรักเธอ" ทันใด นั้นซูสก็กลายร่างกลับคืนและบอกว่า ฮีร่าต้องแต่งงานกับพระองค์
แต่ทว่าชีวิตการครองคู่ของเทวีฮีร่ากับเทพปริณายกซูสไม่ค่อยราบรื่นเท่าใดนัก มักจะทะเละเบาะแว้งเป็น ปากเสียงกันตลอดเวลา จนเป็นเหตุให้ชาวกรีกโบราณเชื่อกันว่า ในเวลาที่เกิดฟ้าคะนองดุเดือดขึ้นเมื่อไร นั่นคือ สัญญาณว่าซูสกับฮีร่าต้องทะเลาะกันเป็นแน่ เพราะ 2 เทพนี้เป็นสัญลักษณ์ของสรวงสวรรค์ เมื่อท้องฟ้าเกิดอาเพศก็ เหมาเอาว่า เป็นเพราะการขัดแย้งรุนแรงของ 2 เทพคู่นี้
แม้ว่าเทวีฮีร่ามีศักดิ์ศรีเป็นถึงราชินีแห่งสวรรค์หรือเทพมารดาแทนรีอา แต่ความประพฤติและอุปนิสัยของเจ้าแม่ไม่อ่อนหวานมีเมตตาสมกับเป็นเทพมารดาเลย โดยประวัติของเจ้าแม่นั้นมีทั้งโหดร้าย ไร้เหตุผล เจ้าคิดเจ้าแค้นและอาฆาตพยาบาทจนถึงที่สุด ผู้ใดก็ตามที่ ถูกเทวีฮีร่าอาฆาตไว้ มักมีจุดจบที่ไม่สวยงามนัก ว่ากันว่าชาวกรุงทรอยทั้งเมืองล่มจมลงไปเพราะเพลิงอาฆาตแค้นของเจ้าแม่ฮีร่านี้เอง สาเหตุเกิดจากเจ้าชายปารีสแห่งทรอยไม่เลือกให้เจ้าแม่ชนะเลิศในการตัดสินความงาม ระหว่าง 3 เทวีแห่งสวรรค์ คือเทวีฮีร่า เทวีเอเธน่า และเทวี อโฟรไดที
รูปเขียนรูปสลักของชาวกรีกโบราณมักทำรูปของเจ้าแม่ฮีร่า เป็นเทวีวัยสาวที่สวยสง่า ซึ่งความจริงก็เป็นเช่นนั้น ว่ากันว่ามีคน หลงใหลความงามของเจ้าแม่จนคลั่งไคล้หลายคน โดยเฉพาะ อิกซิออน (Ixion) ราชาแห่ง ลาปิธี (Lapithae) ต่อมาถูกซูสเทพบดีลงโทษอย่างรุนแรง และบางทีอาจเป็นเพราะทรนงตนว่ามีสิริโฉมงดงามก็ได้ที่มำให้เทวีฮีร่าเป็นเดือดเป็นแค้นนักที่สวามีปันใจให้สตรีอื่น จึงต้องราวีอย่างถึงที่สุดเสมอ ความร้ายกาจของเจ้าแม่เคยถึงขนาดคิดปฏิวัติโค่นอำนาจของสวามีจนเกือบสัมฤทธิ์ผล
เรื่องมีอยู่ว่า เจ้าแม่โกรธแค้นความไม่ซื่อสัตย์ของสวามีขึ้นมาอย่างเต็มกลืน จึงร่วมมือกับเทพโปเซดอน จ้าวสมุทร เชษฐาของซูสเอง และเทพอพอลโลกับเทวีเอเธน่าด้วย ช่วยกันกลุ้มรุมจับองค์เทพซูสมัดพันธการไว้แน่นหนา จนเป็นเหตุให้เทพปริณายกซูสจวนเจียนจะสูญเสียอำนาจอยู่รำไร ก็พอดีชายาอีกองค์ของซูสนามว่า มีทิส (แปลว่าภูมิปัญญา) ได้นำผู้ช่วยเหลือมากู้สถานการณ์ทันเวลา โดยไปพา อาอีกีออน (Aegaeon) ซึ่งเป็นอสูรร้อยแขนที่น่าประหวั่นพรั่นพรึงมาช่วยเหลือเทพบดีซูส อสูรตนนี้มีฤทธิ์อำนาจมากเสียจนเทพเทวา น้อยใหญ่ต้องยอมศิโรราบไปตาม ๆ กัน เมื่ออาอีกีออนมาแก้ไขให้ซูส และนั่งเฝ้าอยู่ข้างบัลลังก์ของไท้เธอ บรรดาผู้คิดกบฎปฎิวัติก็หน้าม่อยชวนกันหนีหน้าไปหมด แผนการณ์จึงล้มครืนด้วยประการฉะนี้
องค์เทพซูสเองก็เคยร้ายกาจกับราชินีเทวีฮีร่าเหมือนกัน ทรงลงโทษลงทัณฑ์แก่เจ้าแม่อย่างไม่ไว้หน้าอยู่บ่อย ๆ นอกจากทุบตีอย่างรุนแรงแล้ว ไท้เธอยังใส่โซ่ตรวนที่บาทของเจ้าแม่ กับผูกข้อหัตถ์และพาหาติดกันมัดโยงโตงเตงอยู่บนท้องฟ้า จนเป็นเหตุให้เกิดตำนานเกี่ยวกับเทพฮีฟีสทัส ขึ้นมาว่า จากการวิวาทครั้งนี้ เทพฮีฟีสทัสผู้เป็นโอรสเข้าขัดขวางมิให้พระบิดากระทำ รุนแรงแก่พระมารดา จึงซูสเทพบดีที่กำลังโกรธกริ้ว จับตัวฮีฟีสทัสขว้างลงมาจากสวรรค์ กลายเป็นเทพพิการไปเลย
เทวีฮีร่านอกจากขี้หึงแล้วยังช่างริษยามากอีกด้วย ครั้งหนึ่งเมื่อซูสทรงมีราชธิดานามว่า เอเธน่า ออกมาได้โดยไม่ต้องพึ่งใคร ซึ่งกระโดดออกจากเศียรของไท้เธอเอง เจ้าแม่ฮีร่าก็ริษยายิ่งนัก ตรัสว่าเมื่อสวามีทรงมีกุมารีด้วยองค์เองได้ นางเองก็มีได้เช่นกัน ทว่าบุตรที่เกิดจากตัวเจ้าแม่เองนั้นกลับมิได้สะสวยเรืองฤทธิ์เช่นเอเธน่า แต่เป็นอสูรร้ายน่าเกลียดน่ากลัวยิ่ง (แต่บาง ตำนานกล่าวว่าบุตรที่จากเทวีฮีร่าก็คือ ฮีฟีทัสนั่นเอง) คืออสูร้าย ไทฟีอัส (Typheus) ซึ่งผู้ใดเห็นก็หวาดกลัว เลยทำให้เทพปริณายกซูสกริ้วใหญ่ และการวิวาทบาดหมางก็เกิดขึ้นอีก
เจ้าแม่ฮีร่ามีโอรสธิดากับเทพบดีซูส 4 องค์ นามว่า เฮบี้ (Hebe) อิลลิธธียา (Ilithyia) เอเรส (Ares) และฮีฟีสทัส (Hephaestus) เทพ 2 องค์หลัง นี้เป็นที่รู้จักกันดี เพราะเทพเอเรส คือ เทพแห่งสงคราม ส่วนเทพฮีฟีสทัสคือเทพถลุงเหล็กหรือเทพแห่งงานช่าง
แม้ว่าชีวิตสมรสของเจ้าแม่ฮีร่าจะไม่ราบรื่นนัก แต่ในฐานะที่เป็นราชินีหรือเป็นมารดาแห่งสวรรค์ ฮีร่าเป็นเทพที่คุ้มครองการแต่งงาน มีหลายครั้งที่เธอคอยดลใจให้วีรบุรุษได้แสดงความกล้าหาญ จึงทำให้เป็นที่เคารพนับถือในเขตโอลิมปัส เทวาลัยที่เป็นที่บูชาขนาดใหญ่ที่สุดของเทวีฮีร่าอยู่ที่เมืองอาร์กอสเรียกว่า เดอะฮีร่าอีอุม (Heraeum)
สัญลักษณ์ของฮีร่าคือ วัว นกยูง และสิงโต พฤกษาประจำตัวของเจ้าแม่คือ ผลทับทิม และนกแขกเต้า
เทพีเฮสเทีย (Hestia) เทพีแห่งเตาไฟผู้คุ้มครองบ้านเรือน
ในคณะเทพโอลิมเปียนมีเทวีพรหมจารีอยู่ 3 องค์ ทรงนามตามลำดับว่า เฮสเทีย (Hestia) เอเธน่า (Athene) อาร์เตมิส (Artemis) องค์แรกเป็นเทวีภคินีของเทพปริณายกซูส ส่วน 2 องค์หลังเป็นธิดา แต่ละองค์มีประวัติและความสำคัญดังจะกล่าวต่อไปนี้
เฮสเทีย (Hestia) ในภาษาโรมันว่า เวสตา (Vesta) เป็นที่เคารพนับถือในฐานะอัคนีเทวีผู้ครองไฟ โดย เฉพาะไฟเตาผิงตาม เคหสถานบ้านช่อง เพราะฉะนั้นจึงถือกันว่าเจ้าแม่ย่อมคุ้มครองชีวิตความเป็นอยู่ในบ้านด้วย เตาไฟผิงเป็นที่ ศักดิ์สิทธิ์มากสำหรับครอบครัวกรีก และโรมันจนเกือบจะเรียกว่า ที่บูชาก็ได้ ด้วยเขาถือว่า ไฟที่ลุกบนเตานั้นเป็นไฟของเจ้าแม่ เมื่อ มีเด็กเกิดใหม่ในบ้านกรีก พอเด็กอายุได้ 5 วัน พ่อของเด็กจะอุ้มลูกไปเวียนรอบเตาผิง ซึ่งในสมัยโน้นอยู่กลางเคหสถาน ไม่ได้อยู่ ติดฝาเหมือนสมัยนี้ การอุ้มลูกไปเวียนรอบเตาผิงนั้นก็เพื่อให้ เป็นเครื่องหมายว่า เจ้าแม่จะได้รับเด็กนั้นไว้ในความอารักขา คุ้มครองของเจ้าแม่ โดยเฉพาะเวลาที่เด็กเริ่มเดิน
เฮสเทียเป็นพี่สาวคนโตของซูส เป็นเทวีที่รักษาความโสดอย่างดียิ่ง ประชาชนจึงเคารพนับถือเฮสเทียด้วยเหตุผลนี้อีก อย่างหนึ่งด้วย เฮสเทียไม่ยอมเป็นชายาของซูส แม้โปเซดอนซึ่งเป็นพี่ชายขอแต่งงานด้วยเฮสเทียก็ไม่ยินยอม และอพอลโลซึ่ง เป็นหลานก็ถูกปฏิเสธเช่นกัน
วิหารของเจ้าแม่เฮสเทีย มีลักษณะเป็นวงกลม และมีเจ้าพิธีเป็นหญิงพรมหมจารี ผู้สละการวิวาห์อุทิศถวายเจ้าแม่ ทำหน้าที ่คอยเติมไฟในเตาไฟสาธารณะ ซึ่งมีประจำทุกนคร มิให้ดับ
ชาวโรมันเชื่อว่า ลัทธิบูชาเจ้าแม่เฮสเทียแผ่ไปถึงถื่นประเทศของตน โดยมีวีรบุรุษ อีเนียส (Aeneas) เป็นผู้นำเอาเข้า ไป แล้ว นูมาปอมปิเลียส (Numa Pompilius) กษัตริย์กรุงโรมจึงสร้างศาลเจ้าอุทิศถวายเจ้าแม่ขึ้นในกลางยี่สานโรมัน ซึ่งเรียกว่า Roman Forum เขาเชื่อกันเป็นมั่นเหมาะแน่นแฟ้นว่า สวัสดิภาพของกรุงโรมทั้งมวล และการแผ่นดินทั้งปวงนั้นขึ้นอยู่ที่ การรักษาเปลวไฟศักดิ์สิทธิ์ ณ วิหารนั้ให้ดำรงอยู่เป็นสำคัญ
หญิงพรหมจารีผู้ทำหน้าที่คอยอารักขาเปลวไฟแห่งวิหารนี้เรียกว่า เวศตัล (Vestal) ในชั้นเดิมมี 4 คน ต่อมาในชั้นหลังเพิ่มขึ้นเป็น 6 คน อยู่ในความควบคุม ของจอมอาจารย์บัญชาการศาสนาของโรมเรียกว่า Pontifex Maximus เมื่อคณะเวสตัลพรหมจารีขาดจำนวนลง จอมอาจารย์ผู้นี้จะเลือกผู้สืบแทนในตำแหน่งที่ ว่างจากเวสตัลสำรองทั้งหมดด้วยวิธีการจับสลาก ผู้สมัครเป็นเวสตัลสำรองนั้นจะต้องมีอายุในระหว่าง 6-10 ขวบ มีร่างกายและจิตใจสมประกอบ และมีชาติกำเนิดเป็นชาวอิตาลี เวสตัลสำรองจะต้องรับการฝึกฝนอบรมเป็นเวลา 10 ปี แล้วเลื่อนขึ้นเป็นเวสตัลปฏิบัติหน้าที่ในวิหารศักดิ์อีก 10 ปี เมื่อพ้นกำหนดนั้นแล้วต้องทำหน้าที่สั่งสอนอบรมเวสตัล สำรองต่อไปอีก 10 ปี จึงครบเกษียณอายุราชการ ปลดเป็นไทเมื่ออายุ 40 ถ้าพึงประสงค์ก็อาจประกอบอาชีพอย่างอื่นและมีสามีได้ในตอนนั้น
นอกจากหน้าที่คอยเติมไฟศักดิ์สิทธิ์มิให้ขาดเชื้อแล้วพรหมจารีเวสตัลยังมีภาระกิจที่จะต้องกระทำอีก 2 อย่าง อย่างหนึ่งคือ ต้องไปตักน้ำจากบ่อน้ำพุ อิจีเรีย (Egeria) ที่ชานกรุงโรมทุกวัน ความสำคัญของน้ำพุนี้มีตำนานเล่ากันว่า เดิมอิจีเรียเป็นนางอัปสรบริวารของเทวีอาร์เตมิส นางมีความเฉลียวฉลาด และเป็นคู่หูของ ท้าวนูมาปอมปิเลียส ซึ่งโปรดหารือการแผ่นดินทั้งปวงกับนางมิได้ขาด กวีโอวิคถึงแก่ระบุว่า นางเป็นชายาของท้าวนูมาด้วยซ้ำ แต่กวีคนอื่นกล่าวว่านางเป็นเพียงที่ปรึกษา เท่านั้น อิทธิพลของชื่ออิจีเรียมีเพียงใดจะเห็นได้จากตอนท้าวนูมาบัญญัติกฎหมายและระเบียบตามแบบแผนใหม่ ๆ มักจะประกาศแก่ราษฎรว่ากฎหมายและระเบียบแบบ แผนนั้น ๆ ได้รับการเห็นชอบของนางอิจีเรียแล้วด้วยเสมอ เมื่อท้าวนูมาทิวงคต นางอิจีเรียเศร้าโศกนักหนา เอาแต่ร้องไห้คร่ำครวญจนกลายเป็นน้ำพุไป ชาวโรมันจึงถือกัน ว่า น้ำพุอิจีเรียเป็นน้ำพุบริสุทธิ์ด้วยเหตุนี้
หน้าที่พิเศษของพรหมจารีเวสตัลนั้นได้แก่การอารักขาวัตถุลึกลับและศักดิ์สิทธิ์มากอันหนึ่ง เรียกว่า พัลเลเดียม (Palladium) เชื่อกันว่าเป็นวัตถุที่อีเนียสนำไปจากกรุงทรอย แต่ไม่มีใคร นอกจากคณะเวสตัลทราบว่าเป็นอะไรกันแน่ บ้างว่าเป็นรูปประติมาของ เจ้าแม่เอเธน่า แต่บ้างก้ว่าเป็นโล่ อันหนึ่งตกลงมาจากสวรรค์ เมื่อครั้งศึกกรุงทรอย พวกกรุงทรอยถือเป็นของคู่เมืองว่าตราบใดของนี้ ยังอยู่ ในกรุงทรอย ตราบนั้นบ้านเมืองจะไม่แตกเป็นอันขาด ต่อเมื่อยูลิซิสกับไดโอมิดิสทหารเอกฝ่ายกรีกลักเอา ของนี้ไป กรุงทรอย จึงแตก แต่มีตำนานหลายเรื่องแก้ว่าทรอยแตกเพราะเสียขวัญ และเสียกลแก่กรีก มากกว่า ด้วยว่าของที่กรีกขโมยไปนั้น เป็นของ กำมะลอที่ฝ่ายกรุงทรอยทำเอาไว้กันของแท้ถูกขโมย ส่วน พัลเลเดียมของจริงยังอยู่ในกรุงทรอย เมื่อพวกกรีกเข้าเมืองได้ อีเนียสพาเอาไปด้วยจนถึงอิตาลี แล้วภาย หลังชาวโรมันเอาเก็บรักษาไว้ในที่ซ่อนมิดชิดในวิหารเจ้าแม่เฮสเทีย อยู่ในความอารักขา คุ้มครองของ คณะเวสตัลพรหมจารีอย่างเคร่งครัด
พรหมจารีเวสตัลไม่แต่จะมีหน้าที่สำคัญดังกล่าวแล้วเท่านั้น หากยังมีเอกสิทธิ์เหนือสามัญชน หลายประการอีกด้วย อาทิเช่น เมื่อมีงานเฉลิมฉลองสมโภช การเล่นรื่นเริงและการแข่งขันสาธารณะ เขาจัดที่พิเศษสำหรับคณะเวสตัลพรหมจารีโดยเฉพาะเป็น เกียรติยศ เมื่อเวสตัลพรหมจารีไปต่างแดน มี เจ้าพนักงานถือมัดขวานเรียกว่า fasces นำหน้าเป็นเครื่องหมายถึงอำนาจเทียบเท่า ด้วยอำนาจ ตุลาการ มัดขวานนั้นคือขวานที่หุ้มด้วยไม้กลมเล็ก ๆ กระหนาบรอบขวานมัดไว้ด้วยกันส่วนขวานโผล่บน ยอดหันคมออก เป็นของสำหรับเจ้าพนักงานถือนำหน้าตุลาการ แสดงถึงอำนาจในการตัดสินอรรถคดี เมื่อ พรหมจารีเวสตัลให้การเป็นพยานในศาล สถิตยุติธรรมก็ไม่ต้องสาบานว่าจะพูดความจริง เพียงให้การลุ่นๆ เท่านั้นศาลก็รับฟัง ถ้าบังเอิญเวสตัลคนหนึ่งคนใดพบนักโทษเข้า ในระหว่างทางที่เขาพาเอาไปจะประหาร ชีวิต ถ้าพึงประสงค์ก็อาจจะให้อภัยโทษปล่อยนักโทษนั้นให้เป็นไทได้ ณ ที่นั้นโดยพลการ
ชาวโรมันนับถือเจ้าแม่เฮสเทียมั่นคงตลอดมาจนลุถึงคริสตศักราชปีที่ 380 จึงยุติ ด้วยอธิราช ธีโอโดเซียสให้ระงับการ เติมไฟศักดิ์สิทธิ์ และยุบเลิกคณะพรหมจารีเวสตัลเสีย
เทพีอาร์เทมีส (Artemis) เทพีแห่งจันทรา
อาร์เทมิส จันทราเทพีแห่งกรีก
เมื่อคราวที่แล้วกล่าวถึงเทพอะพอลโล สุริยเทพสุดหล่อไปแล้ว ครั้งนี้คงไม่พูดไม่ได้แล้ว สำหรับ เทพีอาร์เทมิสผู้เลอโฉมและสง่างามไม่แพ้เทพอะพอลโลผู้เป็นพระเชษฐา ทั้งสองพระองค์ทรงเป็นพี่น้องฝาแฝดชายหนุ่มแห่งยุคเลยทีเดียว เทพีอาร์เทมิสทรงเป็นพระธิดาในเทพซีอุสกับเทพีแลโตนา ชีวิตของพระองค์ในวัยเยาว์นั้นทรมานและลำบากมาก อย่างที่เคยเล่าไปแล้วในตอน เทพอะพอลโล สุริยเทพแห่งกรีก
เทพีอาร์เทมิสยังเป็นจันทราเทพี เทพีผู้ครองช่วงเวลาแห่งราตรีกาลและเทพีผู้ประทานแสงสว่างแก่รัตติกาลอีกด้วย แต่พระเทพียังมีความสามารถที่ดูจะออกแนวบู้ๆคือ การล่าสัตว์ พระเทพีโปรดการล่าสัตว์ พระองค์จะมีคันธนูและลูกศรติดตัวเสมอ แต่พระองค์ถูกนับถือในนาม เทพีผู้คุ้มครองสัตว์ป่าเสียมากกว่า หากใครเข้าไปในเขตป่าของพระองค์โดยยิงหรือจับสัตว์ีป่าที่อยู่ในอาณาเขตของพระองค์ หากพระเทพีทราบเข้าผู้นั้นอาจต้องถูกสังหารถึงฆาตด้วยลูกธนูแห่งเทพีอาร์เทมิส
เทพีอาร์เทมิสยังทรงเป็นเทพีผู้ถือพรหมจรรย์เจริญรอยตาม เทพีเฮสเทียและเทพีอธีน่า ด้วยเหตุเพราะพระองค์ทรงเห็นความทุกข์ของเทพีแลโตนาผู้เป็นมารดาที่ต้องลำบากลำบนกับความรักที่มาเป็นพระชายาเทพซีอุึสที่ถูกเทพีเฮร่าตามราวี จึงทำให้พระเทพีมิโปรดและกลัวที่จะออกเรือน จึงปฏิญาณว่าจะไม่ขอมีครอบครัวและจะรักษาพรหมจรรย์ไว้ให้ยิ่งชีพ แต่ก็ยังมีตำนานบางตอนที่กล่าวถึงพระเทพีหลงรักกับบุรุษรูปงาม2คน คือ ไอโอออน กับ เอนดิเมียน แต่ก็มักจะจบไม่ดีทุกครั้ง เอาไว้จะเล่าในตอนต่อไป ความรักของเทพช่างน่าสงสารจริงๆมักเป็นรักที่จะไม่ค่อยสมหวังเสียจริงๆ
ถึงเทพีอาร์เทมิสจะมีรูปโฉมที่งดงาม เป็นที่เคารพในนาม เทพีแห่งแสงจันทร์ก็ตาม แต่มีบางตำนานที่กล่าวว่าพระองค์ทรงโหดเหี้ยมผิดวิสัยแห่งพระเทพี เช่น ตำนานของนายพรานที่น่าสงสารนามว่า "แอคเตียน" ที่บังเอิญหลงทางเข้าไปยังป่าต้องห้ามที่เป็นอาณาเขตที่พำนักแห่งเทพีอาร์เทมิส และบังเอิญยิ่งที่พบเข้ากับเทพีอาร์เทมิสกำลังสรงน้ำอย่างสบายพระทัย โดยมีเหล่านางไม้ค่อยปรมนิบัติอยู่ข้างๆ เจ้านายพรานหนุ่มก็อาจดูไม่ขาดตา ผิวอันขาวนวลดังแสงจันทร์ที่กระจ่าง เส้นผมอันเป็นประกายดั่งทองคำเมื่อต้องแสงอาทิตย์ ถึงแม้นายพรานก็เกรงกลัวในอำนาจแห่งเทพเจ้า แต่ด้วยความราคะก็แอบดูในพุ่มไม้บริเวณที่ใกล้ๆนั้น พระเทพีบังเอิญอีกเหมือนกัน ดันเห็นแสงประกายประหลาดจากพุ้มไม้เห็นว่าผิดสังเกต พระเทพีจึงรับรู้ได้ว่ามีคนกำลังแอบดูพระองค์ พระเทพีจึงพิโรธเป็นอันมาก นายพรานรู้ตัวแล้วว่าพระเทพีรู้ว่าตนแอบดู จึงหมายจะหนี แต่พระเทพีได้ใช้มือตัดน้ำขึ้นและสาดไปเต็มแรง น้ำนั้นกระเด็นไปต้องนายพรานหนุ่ม จากนั้นร่างของนายพรานหนุ่มก็กลายเป็นกวางไป นายพรานในร่างกวางก็วิ่งพยายามขอความช่วยเหลือดันไปพบกับสุนัขล่าเนื้อที่เป็นสุนัขของตนตามไล่กัด คิดว่าเป็นกวางโดยหารู้ไม่ว่ากวางตัวนี้เป็นนายของมัน และนายพรานหนุ่มก็จบชีวิตลงโดยสุนัขล่าเนื้อของตนอย่างน่าอนาถ
ยังไม่จบเพียงเรื่องนี้เท่านั้น ยังมีต่อ มีชายหนุ่มนามว่า "แอดมีทัส" เป็นสาวกผู้มีหน้่าที่ถวายเครื่องสักการะแด่เทพีอาร์เทมิส แต่เมื่อเขาได้พบรักหญิงงามและขอเธอเป็นภรรยา เธอยินดีที่จะเป็นภรรยาเขา และเขาก็ปราบปลื้มปิติและวุ่นวายกับการจัดงานแต่งของตน จนลืมหน้าที่ที่จะต้องถวายเครื่องสักการะแด่พระเทพี พระเทพีทราบว่า แอดมีทีสลืมหน้าที่ๆพึ่งกระทำ พระองค์โกรธกริ้วมากจึงเสกให้ห้องหอของแอดมีทีสกัีบเจ้าสาวของเขาเต็มไปด้วยงูพิษ
ยังมีเรื่องต่อ พระราชานามว่า "ท้าวโอนีอัส" แห่งเมืองคาลีดอน เกิดลืมการถวายเครื่อสักการะแด่พระเทพี พระเทพีกริ้วอีกแล้ว…ทรงบันดาลให้วัวป่าที่บ้าคลั่งเข้าโจมตีทำลายเมืองคาลีดอน และวัวป่านั้นสังหารเชื้อพระวงศ์และครอบครัวของท้าวโอนีอัสสิ้นพระชนม์สิ้น นี้เป็นการลงโทษอย่างรุนแรงและโหดเหี้ยมจากพระเทพีพระองค์นี้
ยังมีอีก พระเทพีเคยลงทัณฑ์นางไม้ผู้น่าสงสารที่ถูกเทพซีอุสปลุกปล้ำจนได้นางเป็นชายา นางคือ "คัสลิสโต" เทพีอาร์เทมิสอาจจะว่าอะไรเทพซีอุสผู้เป็นบิดาได้ จึงลงมือกับนางไม้คัสลิสโตผู้น่าสงสารโดยสาปในนางกลายเป็นหมีไป แค่นั้นไม่พอ นางคัสลิสโตมีพระโอรสให้เทพซีอุส แต่ไม่ทราบว่าหมีตัวนั้นเป็นพระมารดาจึงสังหารยิงหมีตัวนั้นตายกับหมี มาทราบภายหลังว่าหมีนั้นเป็นพระมารดาที่ถูกเทพีอาร์เทมิสสาป เขาฆ่าแม่ของเขาลงกับมือ และเขาก็ฆ่าตัวเองตายตามผู้เป็นมารดาไป เทพีอาร์เทมิสทราบว่าพระองค์ผิดจึงเนรมิตให้สองแม่ลูกไปเป็นดวงดาวบนท้องฟ้า คือ ดาวหมีเล็ก กับ ดาวหมีใหญ่
เทพีอาร์เทมิส ถึงดูภายนอกของพระองค์จะเป็นเทพีผู้แข็งแกร่ง เพราะทรงโปรดกิจกรรมที่เป็นของบุรุษอย่างการล่าสัตว์ ผิดวิสัยแห่งสตรี พระองค์คงเกิดมาจากอุดมคติแห่งสตรีในสมัยกรีกโบราณที่อย่างจะทำการใดได้เหมือนดั่งบุรุษบ้าง ถึงอย่างไรเทพก็เสมือนเงากระจกที่สะท้อนกลับของมนุษย์นั่นอยู่ดี…
เทพีอาเทน่า (Athena) เทพีแห่งสงครามและปัญญา
ในคณะเทพโอลิมเปียนมีเทพีพรหมจารีอยู่ 3 องค์ ทรงนามตามลำดับว่า เฮสเทีย (Hestia) เอเธน่า (Athene) อาร์เตมิส (Artemis) องค์แรกเป็นเทพีภคินีของเทพปริณายกซูส ส่วน 2 องค์หลังเป็นธิดา แต่ละองค์มีประวัติและความสำคัญดังจะกล่าวต่อไปนี้
อันเทวดาของกรีกนั้นถึงแม้ไม่ตายก็หาความรู้สึกเจ็บปวดในกายองค์ไม่ การถือกำเนิดของเอเธน่านั้น กล่าวกันว่า ครั้งหนึ่ง ซูส เทพบดีได้รับคำทำนายว่า โอรสธิดาที่ประสูติแต่มเหสีเจ้าปัญญานาม มีทิส (Metis) นั้นจะ มาโค่นบัลลังก์ ของพระองค์ ไท้เธอก็แก้ปัญหาด้วยการจับเอามีทิสซึ่งทรงตั้งครรภ์แก่นั้นกลืนเข้าไปในท้อง แต่เวลาไม่ นานนัก เทพปริณายกซูสบังเกิดอาการปวดเศียรขึ้นมา ให้รู้สีกปวดร้าวเป็นกำลัง ไท้เธอจึงมีเทวโองการสั่งให้เรียก ประชุมเทพ ทั้งปวงบนเขาโอลิมปัส ให้ช่วยกันหาทางบำบัดเยียวยา แต่ความอุสาหพยายามของทวยเทพก็ไม่เผล็ดผล ซูส ไม่อาจทนความ เจ็บปวดต่อไปได้ ในที่สุดจึงมีเทวบัญชาสั่งโอรสองค์หนึ่งของไท้เธอ คือ ฮีฟีสทัส (Hephaestus) หรือ วัลแคน (Vulcan) ให้ใช้ขวานแล่งเศียรของไท้เธอออก เทพฮีฟีสทัสปฏิบัติตาม เอาขวานจามลงไป ยังไม่ทัน เศียรซูสจะแยกดี เทพีเอเธน่าก็ผุด ขึ้นมาจากเศียรเทพบิดา ในลักษณะเจริญวัยเต็มที่แต่งฉลององค์หุ้มเกราะแวววาว พร้อมสรรพ ถือหอกเป็นอาวุธ และประกาศ ชัยชนะเป็นลำนำกัมปนาทเป็นที่พิศวงหวั่นหวาดแก่ทวยเทพเป็นที่สุด พร้อมกันนั้นทั่วพื้นพสุธาและมหาสมุทร ก็บังเกิด อาการสั่นสะเทือนเลื่อนลั่นอย่างใหญ่ ประกาศกำเนิดเทพีองค์นี้สนั่นไป ทั้งโลก
การอุบัติของเทพีองค์นี้ถือว่าเป็นไปเพื่อยังสันติสุขให้บังเกิดในโลกและขจัดความโฉดเขลาที่ครองโลกจนตราบ เท่าบัดนั้นให้สิ้นไป ด้วยว่าพอเจ้าแม่ผุดจากเศียรซูส เทพีแห่งความโฉดเขลาซึ่งไม่ปรากฏรูป ก็ล่าหนีให้เจ้าแม่เข้า ครองแทนที่ ด้วยเหตุนี้เทพีเอเธน่าจึงเป็นที่นับถือบูชาในฐานะเทพีครองปัญญา นอกจากนั้น เจ้าแม่ยังมีฝีมือในการ เย็บปักถักร้อย และการยุทธศิลปป้องกันบ้านเมือง
ภายหลังการอุบัติของเจ้าแม่เอเธน่าไม่นาน มีหัวหน้าชนชาวฟีนิเชียคนหนึ่งชื่อว่า ซีครอบส์ (Cecrop) พาบริษัทบริวาร อพยพเข้าไปในประเทศกรีซเลือก ได้ชัยภูมิอันตระการตาแห่งหนึ่งในแคว้น อัตติกะ (Attica) ตั้งภูมิลำเนาก่อสร้างบ้านเรือน ขึ้นเป็นนครอันสวยงามนครหนึ่ง เทพทั้งปวงเฝ้าดูงานสร้างเมืองนี้ด้วยความ เลื่อมใสยิ่ง ในที่สุดเมื่อเห็นว่าเมืองมีเค้าจะกลาย เป็นนครอันน่าอยู่ขึ้นมาแล้ว เทพแต่ละองค์ต่างก็แสดงความปรารถนาใคร่จะได้เอกสิทธิ์ประสาทชื่อนคร จึงประชุมกันถกถึงเรื่องนี้ เมื่อมีการอภิปรายโต้แย้งกันพอสมควรแล้ว เทพส่วนใหญ่ในที่ประชุมก็พากันยอมสละสิทธิ์ คงเหลือแต่เทพโปเซดอนและเทพีเอเธน่า 2 องค์เท่านั้นยังแก่งแย่งกันอยู่
เพื่อยุติปัญหาว่าใครควรจะได้เอกสิทธิ์ประสาทชื่อนคร เทพปริณายกซูสไม่พึงประสงค์จะชี้ขาดโดยอำนาจตุลาการที่ไท้เธอ จะพึงใช้ได้ด้วยเกรงว่าจะเป็นที่ครหาว่าเข้า ข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไท้เธอจึงมีเทวโองการว่านครนั้นพึงอยู่ในความคุ้มครองของเทพ หรือเทพี ซึ่งสามารถเนรมิตของที่มีประโยชน์ที่สุดให้มนุษย์ใช้ได้ และมอบหน้าที่ตัดสิน ชี้ขาดให้แก่ที่ประชุม
เทพโปเซดอนเป็นฝ่ายเนรมิตก่อน เธอยกตรีศูลคู่หัตถ์ขึ้นกระแทกลงกับพื้น บันดาลให้มีม้าลำยองตัวหนึ่งผุดขึ้นท่าม กลางเสียงแสดงความพิศวงและชื่นชมของ เหล่าเทพ เมื่อเทพผู้เนรมิตม้าอธิบายคุณประโยชน์ของม้าให้เป็นที่ตระหนักแก่เทพ ทั้งปวงแล้ว เทพต่างองค์ต่างก็คิดเห็นว่า เทพีเอเธน่าคงไม่สามารถเอาชนะเนปจูนเสีย เป็นแน่แล้ว ถึงกับพากันแย้มศรวลด้วย เสียงอันดังแกมเย้ยหยันเอาเสียด้วย เมื่อเจ้าแม่เอเธน่าเนรมิตต้นมะกอกต้นหนึ่งขึ้นมา แต่ครั้นเจ้าแม่อธิบายถึงคุณประโยชน์ ของต้นมะกอก ที่มนุษย์จะเอาไปใช้ได้นานัปการนับตั้งแต่ใช้เนื้อไม้ ผล กิ่งก้าน ไปจนใบ กับซ้ำว่ามะกอกยังเป็น เครื่องหมายถึงสันติภาพและความรุ่งเรืองวัฒนาอีกด้วย และเพราะฉะนั้นจึงเป็นที่พึงประสงค์ยิ่งกว่าม้า ซึ่งเป็นเครื่องหมายของ สงครามดังนี้ มวลเทพก็เห็นพ้องต้องกันว่า ของที่เจ้าแม่เอเธน่าเนรมิตมีประโยชน์กว่า จึงลงมติตัดสิน ชี้ขาดให้เจ้าแม่เป็นฝ่าย ชนะ
เพื่อเป็นเครื่องระลึกถึงชัยชนะครังนี้ เจ้าแม่เอเธน่าได้ประสาทชื่อนครนั้น ตามนามของเจ้าแม่เองว่า เอเธนส์ (Athens) และสืบจากนั้นมาชาวกรุงเอเธนส์ก็ นับถือบูชาเจ้าแม่ในฐานะเทพีผู้ปกครองนครของเขาอย่างแน่นแฟ้น
ตามที่อ่านกันมานั้น เห็นได้ว่าเรื่องนี้ใช่จะแสดงตำนานที่มาของชื่อกรุงเอเธนส์เท่านั้นไม่ หากยังเป็นตำนานกำเนิดของม้าในเทพปกรณัมกรีก และเป็นต้นเรื่อง ของการที่ชาวตะวันตกถือว่า ช่อมะกอกเป็นสัญลักษณ์ของ สันติภาพสืบ ๆ กันมาจนตราบทุกวันนี้
ยังมีอีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับเทพีเอเธน่า แสดงที่มาหรือกำเนิดของสิ่งธรรมชาติสนองความอยากรู้ของคนโบราณดังจะ เล่าต่อไปนี้
ในประเทศกรีซสมัยดึกดำบรรพกาลโพ้น มีดรุณีน้อยคนหนึ่งประกอบด้วยรูปโฉมสะคราญตาน่าพิสมัย ยิ่ง จนถึงแก่ว่า ถ้านางไม่มีความหยิ่งผยองในฝีมือทอผ้าและปั่นด้ายเป็นยอดเยี่ยมเสียอย่างเดียวเท่านั้น นางก็ คงจะเป็นที่รักของเทพและ มนุษย์ทั้งมวลอย่างไม่ต้องสงสัย
แน่งน้อยมีชื่อว่า อาแรคนี (Arachne) ด้วยความลุ่มหลงทะนงตนนางสำคัญว่าไม่มีผู้ใดอีกแล้วจะมี ฝีมือเสมอกับนาง ในที่สุดจึงกำเริบถึงแก่คุยฟุ้งเฟื่องไปว่า ถึงเจ้าแม่เอเธน่าจะลงมาประกวดฝีมือกับเธอ นางก็ ยินดีจะขันสู้ไม่รอช้าเลย นางโอ้อวดดังนี้เนือง ๆ จนเจ้าแม่เอเธน่าสุดแสนจะทนรำคาญต่อไปได้ ต้องลงมาจาก เขาโอลิมปัสเพื่อลงโทษนางอาแรคนีมิให้ ใครเอาเป็นเยี่ยงอย่างสืบไป
เจ้าแม่จำแลงองค์เป็นยายแก่ เดินเข้าไปในบ้านของนางอาแรคนี และนั่งลงชวนคุย ชั่วประเดี๋ยว เดียวนางแน่งน้อยก็จับคุยถึงฝีมือตน และเริ่มโวเรื่องจะแข่งขัน ประกวดฝีมือกับเจ้าแม่เอเธน่าอีก เจ้าแม่ ตักเตือนโดยละม่อมให้นางยับยั้งคำไว้เสียบ้าง เกลือกว่าคำของนางซึ่งพูดเอาเองเป็นเหตุให้เทพเจ้าขัดเคืองจะ ทำให้นางเคราะห์ร้าย แต่นางอาแรคนีมีจิตมืดมนมัวเมาไปในความทรนงตนเสียแล้วจนไม่แยแสต่อคำตักเตือน กลับพูดสำทับว่า นางอยากให้เจ้าแม่ได้ยินและลงมาท้าประกวดฝีมือเสียด้วยซ้ำ นางจะได้แสดงความสามารถให้เป็นที่ประจักษ์เพื่อพิสูจน์ว่า คำกล่าวอ้างของนางเป็นความจริง เพียงใด ไม่ใช่พูดเอาเอง คำหยาบหยามนี้ยั่วโมสะเจ้าแม่ถึงขีดสุด ถึงกับ สำแดงองค์ให้ปรากฏแก่อาแรคนีตามจริงและรับคำท้านั้นทันที
ทั้ง 2 ฝ่ายจัดแจงตั้งหูก แล้วต่างฝ่ายต่างทอลายผ้าอันงามวิจิตรขึ้น เทพีเอเธน่าเลือกเอาภาพตอนเจ้าแม่แข่งขันกับเทพโปเซดอน ส่วนนางอาแรคนีเลือกเอาภาพซูส ลักพานางยูโรปาเป็นลาย ครั้นทอเสร็จ ต่างฝ่ายต่างเอาลายผ้ามาเทียบเคียงกัน สาวเจ้าอาแรคนีรู้สึกทันทีว่าของนางแพ้หลุดลุ่ย ลายรูปโคโลดแล่นลุยไปในทะเล มีคลื่นซัด สาดออกเป็นฟองฝอยกับนางยูโรปาเกาะเขาอยู่ดูอาการกึ่งยิ้มกึ่งตกใจประกอบด้วยเกศาและผ้าสไบปลิวสยายด้วยแรงลม ไม่สามารถจะเทียบกับลายรูปชมรมทวยเทพพร้อม ด้วยรูปม้าและต้นมะกอกเนรมิต ซึ่งดูประหนึ่งมีชีวิตกระดุกกระดิกได้นั้นเลย อาแรคนีแน่งน้อยเสียใจนัก ทั้งเจ็บทั้งอายในความผิดพลาดของตนไม่อาจทนอยู่ได้ เอาเชือก ผูกคอหมายจะแขวนตัวตาย เจ้าแม่เอเธน่าเห็นนางจะด่วนหนีโทษทัณฑ์ไปดังนั้น จึงรีบแปรเปลี่ยนร่างของนางให้กลายเป็นแมงมุมห้อยโหนโตงเตง กับสาปนางให้ต้องปั่น และทอใยเรื่อยไปไม่มีเวลาหยุด เป็นการเตือนมนุษย์ผู้ทรนงทั้งปวงมิให้หลงไปว่าตนอาจจะเทียมเทพไดเป็นอันขาด
ตามปกติเทพีเอเธน่าประทับอยู่เคียงข้างซูสเทพบิดามิได้ขาด ด้วยซูสมักจะโปรดหารือฟังความเห็น คำแนะนำอันแยบคายของเจ้าแม่เนือง ๆ ยามมีศึกสงคราม เกิดขึ้นในโลกเจ้าแม่ขอประทานยืมโล่อันพึงสยบสยอนของเทพบิดาสพายลงมาสนับสนุน ฝ่ายที่มีเหตุผลอันชอบธรรมในการสงครามเป็นนิตย์ ดังเช่น สงครามกรุงทรอยอัน ลือลั่นนั้น เอเธน่าก็เข้าร่วมด้วย โดยยืนอยู่ข้างฝ่ายกรีก ในขณะที่เทพองค์อื่น ๆ เช่น เทพีอโฟร์ไดท์กับเทพเอเรสเข้าข้างฝ่ายทรอย เรื่องราวความสามารถในการสงครามของ เทพีเอเธน่า จึงทำให้เจ้าแม่กลายเป็นเทพีอุปถัมภ์ของบรรดานักรบ อีกอย่างหนึ่งด้วย วีรบุรุษคนสำคัญ ๆจะไม่เกิดขึ้น หากขาดความช่วยเหลือของเจ้าแม่ เอเธน่าเคยช่วย เฮอร์คิวลิส ในการทำงาน 12 อย่างตามคำสั่งของเทพีฮีร่า เคยช่วยเปอร์เซอุสสังหารนางการ์กอนเมดูซ่า ช่วยโอดีสซีอุส (หรือยูลิซิส) ให้เดินทางกลับบ้านจากยุทธภูมิทรอย อย่างปลอดภัย กับทั้งยังช่วยเหลือเตเลมาคัส บุตรชายของโอดีสซีอุสให้ตามหาพ่อจนสำเร็จ
ชาวกรีกนับถือเจ้าแม่อย่างแพร่หลายอยู่มาก ถึงกับสร้างวิหารและที่บูชาอุทิศถวายเจ้าแม่ไว้ เป็นจำนวนมากนับ ไม่ถ้วน ที่มีชื่อเสียงที่สุดได้แก่ วิหาร พาร์ธีนอน ณ กรุงเอเธนส์ ซึ่งเดี๋ยวนี้เหลือ แต่ซาก แต่ก็ยังมีเค้าของฝีมือก่อสร้าง อย่างวิจิตรพิสดารปรากฏอยู่ให้เห็น
นอกจากชื่อเอเธน่าหรือมิเนอร์วาแล้ว ชาวกรีกและโรมันยังรู้จักเจ้าแม่ในชื่ออื่น ๆ อีกหลาย ชื่อ ในจำนวนนี้มี ชื่อที่แพร่หลายกว่าเพื่อนได้แก่ พัลลัส (Pallas) จนบางทีเขาเรียกควบกับชื่อ เดิมว่า พัลลัสเอเธน่า ก็มี ว่ากันว่า มูลเหตุของชื่อนี้สืบเนื่องมาจากพฤติกรรมตอนเจ้าแม่ปราบยักษ์ชื่อ พัลลัส ซึ่งไม่ปรากฏตำนานชัดแจ้ง อาศัยเหตุที่ เจ้าแม่ถลกหนังยักษ์มาคลุมองค์ คนทั้งหลายเลยพลอย เรียกเจ้าแม่ในชื่อของยักษ์นั้นด้วย และเรียกรูปประติมา หรือ อนุสาวรีย์อันเป็นเครื่องหมายถึงเจ้าแม่ ว่า พัลเลเดียม (Palladium) ในที่สุดคำว่า Palladium ก็มีที่ใช้ใน ภาษาอังกฤษถึงภาวะหรือ ปัจจัยที่อำนวยความคุ้มครองหรือความปลอดภัยให้เกิดแก่ชุมชน ทำนอง Palladium ที่ชาวโรมัน อารักขาไว้ในวิหารเวสตาฉะนั้น
เกี่ยวกับการครองความบริสุทธิ์ของเจ้าแม่ มีเรื่องเล่าว่า เทพฮีฟีสทัสหมายปองเจ้าแม่ใคร่จะได้วิวาห์ด้วย ได้ทูลขอต่อเทพ บิดา เทพบิดาประทานโปรดอนุญาต แต่ให้ฮีฟีทัสทาบทามความสมัครใจของเจ้าแม่เอาเอง เทพฮีฟีทัส ไปทำรุ่มร่ามเข้าอย่างไรไม่ปรากฏ เจ้าแม่ไม่เออออด้วย ในที่สุดฮีฟีสทัสก็เดินแบบเจ้าชู้ยักษ์ หมายจะรวบรัด ในระหว่างการ ฉุกละหุกอุตลุดนั้นของไม่บริสุทธิ์ของฮีฟีทัสตก ลงมายังพื้นโลก เป็นเหตุให้เกิดทารกผุดขึ้นมาเป็นเพศชาย เจ้าแม่รอดพ้น มลทินแปดเปื้อน แต่รับทารกไว้ในปกครอง เอาทารกบรรจุ หีบให้งูเฝ้า และฝากไว้ให้ลูกสาวท้าวซีครอปส์ดูแล โดยห้ามเด็ดขาด มิให้เปิดหีบดู แต่ลูกสาวท้าวซีครอปส์ไม่เชื่อฟัง พยายามจะเปิดหีบ ครั้นเห็นงูเข้าก็ตกใจวิ่งหนีตกเขาตาย ทารกนั้นได้ขนาน ชื่อว่า อิริคโธเนียส (Erichthonius) และดำรงชีวิตอยู่สืบมาจนภายหลัง ได้ครองกรุงเอเธนส์ ส่วนเจ้าแม่เอเธน่าก็ไม่ได้รับ การเกี้ยวพานของเทพองค์หนึ่งองค์ใดอีกต่อไปตั้งแต่บัดนั้น แม้ว่าจะมีบางตำนาน กล่าวว่าเอเธน่าเคยแอบรักบุรุษรูปงาม คนหนึ่งชื่อว่า เบลเลอโรฟอน จนถึงกับเอาอานม้าทองคำมาให้เขาในความฝัน เนื่องจาก เบลเลอโรฟอนต้องการขี่ม้าวิเศษ เปกาซัส แต่ไม่ปรากฏว่าเจ้าแม่ได้สานเรื่องราวระหว่างเจ้าแม่กับเบลเลอโรฟอนต่อไปแต่อย่างใด แต่ทว่าบุรุษหนุ่มผู้นั้นเสีย อีกที่เกิดตกม้าตายในตอนหลัง เทพีเอเธน่ามีต้นโอลีฟเป็นพฤกษาประจำตัว และนกฮูกเป็นนกคู่ใจ