ประวัติของพระนางครีโอพัตรา
สมาชิกเลขที่95771 | 28 ก.ค. 55
20.8K views

พระบรมรูปของคลีโอพัตราที่ 7 จากพิพิธภัณฑ์เบอร์ลิน

คลีโอพัตราที่ 7 ฟิโลปาตอร์ (กรีก: Κλεοπάτρα θεά φιλοπάτωρ; หรือรู้จักทั่วไปในนาม คลีโอพัตรา) (มกราคม ปีที่ 69 ก่อนคริสตกาล - 30 พฤศจิกายน ปีที่ 30 ก่อนคริสตกาล) เป็นราชินีแห่งอียิปต์โบราณและเชื้อพระวงศ์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ปโตเลมีแห่งมาเซโดเนีย ดังนั้นจึงเป็นผู้ปกครองอียิปต์ที่มีเชื้อสายกรีกคนสุดท้าย บิดาของพระนางคือปโตเลมีที่ 12 โอเลเตส และคาดว่าพระมารดาเป็นเชษฐภคินีของโอเลเตส ทรงพระนามว่า คลีโอพัตราที่ 5 ทรีฟาเอนา ชื่อ "คลีโอพัตรา" เป็นภาษากรีก แปลว่า "ความเจริญรุ่งเรืองของบิดา" พระนามเต็มของพระนางคือ "คลีโอพัตรา เธอา ฟิโลปาตอร์" ซึ่งหมายถึง "เทพีคลีโอพัตรา ผู้เป็นที่รักของบิดา" พระนางทรงมีพระปรีชาสามารถมาก ทรงแตกฉานถึง 14 ภาษา เช่น ภาษาฮิบรู, ภาษาละติน, ภาษามาซิโดเนีย, ภาษาเอธิโอเปียน, ภาษาซีเรีย, ภาษาเปอร์เซีย, และภาษาอียิปต์ ซึ่งแม้แต่ในราชวงศ์ก็น้อยคนนักที่จะแตกฉานในภาษานี้

ในปัจจุบัน คลีโอพัตราที่ 7 ฟิโลปาตอร์ นับได้ว่าเป็นผู้ปกครองอียิปต์โบราณที่มีชื่อเสียงมากที่สุด นิยมเรียกพระนามสั้นๆ ว่า คลีโอพัตรา ซึ่งทำให้ราชินีองค์ก่อนๆ ที่ทรงพระนามคล้ายคลึงกับพระนางถูกลืมไปสิ้น ในความเป็นจริงพระนางไม่เคยปกครองอียิปต์ตามลำพัง แต่ครองราชย์ร่วมกับพระบิดา, พระอนุชา ,สวามีผู้เป็นอนุชาของพระองค์ หรือไม่ก็พระโอรส อย่างไรก็ดีการครองราชย์ร่วมกันดังกล่าวมีผู้ร่วมบัลลังก์เป็นเพียงกษัตริย์ตามพระยศเท่านั้น อำนาจแท้จริงอยู่ในมือของคลีโอพัตราเองทั้งสิ้น

พระราชประวัติ

วัยเยาว์

คลีโอพัตราที่ 7 เป็นชาวกรีกที่กำเนิดในดินแดนอเล็กซานเดรีย, อียิปต์โบราณ ได้ขึ้นครองราชย์หลังจากที่ ปโตเลมีที่ 12 แห่งอียิปต์ ขณะนั้นพระนางเบเนไซน์และแม่ทัพอาร์เชลล์ได้ร่วมกันก่อการกบฏขึ้น ทำให้ฟาโรห์ปโตเลมีที่ 12 ออเลติส ต้องไปขอกำลังเสริมจากสภาซีเนตแห่งกรุงโรม ออกัส กาบิเนียส จึงได้ให้องค์ฟาโรห์จ่ายเงินเป็นจำนวน 10,000 เทลแลนด์ แต่องค์ฟาโรห์มีเงินไม่พอ จึงได้ไปขอยืมเงินจากคหบดีผู้ร่ำรวยนาม ราบีเรียส โพลตูมัส เมื่อได้กำลังเสริมแล้วก็กลับไปอียิปต์เพื่อจัดการกับผู้ก่อการกบฏ และได้สั่งประหารพระนางเบเนไซน์และแม่ทัพอาร์เชลล์ ทำให้ราบีเรียสได้เข้ามาเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายพระคลังของอียิปต์

 ขึ้นครองราชย์

ราบีเรียสได้รีดไถชาวอียิปต์อย่างหนัก ทำให้ชาวอียิปต์ไม่พอใจลุกฮือกันต่อต้านราบีเรียส ทำให้ราบีเรียสต้องรีบหนีกลับไปยังกรุงโรม เมื่อพระบิดาของพระนางสวรรคตในช่วงฤดูใบไม้ผลิของปีที่ 51 ก่อนคริสตกาล พระนางเป็นพระราชธิดาองค์โตของออเลติส เมื่อพระเชษฐภคินีอีกสองพระองค์สิ้นพระชนม์ลง พระนางยังมีพระขนิษฐาอีกองค์ที่มีชื่อว่าอาร์สิโนเอ ในช่วงแรกของการขึ้นครองราชย์ พระนางได้ครองราชย์ร่วมกับพระบิดาเป็นระยะเวลาสั้นๆ ต่อมาก็ได้ครองราชย์ร่วมกับพระอนุชาอีกสองพระองค์ ได้แก่ ปโตเลมีที่ 13 ผู้ซึ่งต่อต้านการปกครองของพวกโรมันและปโตเลมีที่ 14 แต่เนื่องด้วยการสืบราชบัลลังก์ของราชวงศ์ปโตเลมีนั้นนิยมการสืบเชื้อสายทางมารดา พระอนุชาทั้งสองพระองค์จึงต้องเข้าพิธีอภิเษกสมรสกับพระเชษฐภคินีคือคลีโอพัตรา เพื่อจะสามารถขึ้นครองราชย์ได้อย่างถูกต้องตามกฎมนเทียรบาล ภายหลังจากที่กษัตริย์ผู้เป็นพระอนุชาและสวามีของพระนางสวรรคตลงทั้งสองพระองค์ คลีโอพัตราได้แต่งตั้งให้โอรสของพระนางเป็นกษัตริย์องค์ต่อไป มีพระนามว่าปโตเลมีที่ 15 ซีซาเรียน โดยการครองบัลลังก์ร่วมกัน ระหว่างปีที่ 44 - 30 ก่อนคริสตกาล

ความสัมพันธ์กับจูเลียส ซีซาร์

ในปีที่ 48 ก่อนคริสตกาล คณะที่ปรึกษาของปโตเลมีที่ 13 นำโดยขันทีโปธินุส ได้ยึดอำนาจของคลีโอพัตราและบังคับให้พระนางหนีไปจากอียิปต์ โดยมีอาร์สิโนเอ พระขนิษฐาของพระนางติดตามไปด้วย ต่อมาในปีเดียวกันนี้ อำนาจของปโตเลมีที่ 13ได้ถูกริดรอนเมื่อนำตัวเองเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับโรม เมื่อนายพลปอมเปอุส มักนุส (ผู้ซึ่งแต่งงานกับลูกสาวของจูเลียส ซีซาร์ โดยที่นางได้เสียชีวิตขณะคลอดบุตรชาย) ที่กำลังหลบหนีจูเลียส ซีซาร์ ได้มาหาที่หลบซ่อนในเมืองอเล็กซานเดรีย ก็ถูกปโตเลมีที่ 13ปลิดชีพ เพื่อสร้างความดีความชอบแก่ตนให้ซีซาร์ได้เห็น จูเลียส ซีซาร์รู้สึกขยะแขยงกับแผนการอันโสมมดังกล่าว จึงได้ยกทัพบุกเข้ายึดเมืองหลวงของอียิปต์ และตั้งตนเป็นผู้ตัดสินคดีชิงบัลลังก์ระหว่างปโตเลมีที่ 13 และคลีโอพัตรา หลังจากการสู้รบช่วงสั้นๆ ปโตเลมีที่ 13 ก็ถูกสังหาร และ จูเลียส ซีซาร์ได้คืนบัลลังก์ให้แก่คลีโอพัตรา โดยมีปโตเลมีที่ 14 เป็นผู้ครองบัลลังก์ร่วม

จูเลียส ซีซาร์ได้พำนักในอียิปต์ตลอดช่วงฤดูหนาว ระหว่างปีที่ 48 ก่อนคริสตกาล - 47 ก่อนคริสตกาล และคลีโอพัตราได้สร้างความได้เปรียบทางการเมืองให้แก่ตนด้วยการเป็นคนรักของซีซาร์ ทำให้อียิปต์ยังคงเป็นความเป็นเอกราชไว้ได้ แต่ยังคงมีกองกำลังทหารโรมันสามกองประจำการอยู่ ความสัมพันธ์ระหว่างคลีโอพัตรากับซีซาร์ในช่วงฤดูหนาวได้ทำให้นางตั้งครรภ์และให้กำเนิดพระโอรสชื่อปโตเลมี ซีซาร์ (หรือมีชื่อเล่นว่าซีซาเรียน ซึ่งแปลว่าซีซาร์น้อย) อย่างไรก็ดี จูเลียส ซีซาร์ปฏิเสธการให้ซีซาเรียนเป็นผู้สืบทอดของตน และได้แต่งตั้งให้หลานชายชื่อ ออกุสตุส ซีซาร์ อ็อกตาเวียน เป็นผู้สืบทอดอำนาจแทน

คลีโอพัตรากับซีซาเรียนได้ไปเยือนกรุงโรมในระหว่างปีที่ 46 ก่อนคริสตกาล และ 44 ก่อนคริสตกาล และอยู่ในเหตุการณ์ขณะที่ซีซาร์ถูกลอบสังหาร ก่อนเดินทางกลับถึงอียิปต์เพียงเล็กน้อย ปโตเลมีที่ 14 ก็สวรรคตอย่างลึกลับ คลีโอพัตราจึงได้แต่งตั้งให้ซีซาเรียนเป็นผู้ครองบัลลังก์ร่วมกับพระนาง มีการสันนิษฐานว่านางได้ลอบวางยาพิษปโตเลมีที่ 14 ผู้เป็นอนุชาของตนเอง

ความสัมพันธ์กับมาร์ค แอนโทนี

ในปีที่ 42 ก่อนคริสตกาล มาร์ค แอนโทนี หนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการชุดที่สองของโรม ผู้ซึ่งปกครองกรุงโรมในช่วงที่เกิดสูญญากาศทางอำนาจ หลังการถึงแก่อสัญกรรมของซีซาร์ ได้ขอให้คลีโอพัตราเดินทางมาพบเขาที่เมืองทาร์ซุส ในแคว้นซิลิเซีย เพื่อตอบคำถามเกี่ยวกับความจงรักภักดีของพระนางต่ออาณาจักรโรมัน เมื่อคลีโอพัตราเดินทางมาถึง เสน่ห์ของพระนางทำให้มาร์ค แอนโทนีเลือกที่จะใช้เวลาช่วงฤดูหนาวระหว่างปีที่ 42 ก่อนคริสตกาล - ปีที่ 41 ก่อนคริสตกาล กับพระนางในอเล็กซานเดรีย ในช่วงฤดูหนาวนั้น พระนางได้ทรงพระครรภ์เป็นโอรส - ธิดาฝาแฝด ผู้มีพระนามว่าอเล็กซานเดอร์ เฮลิออส และ คลีโอพัตรา เซเลเน

สี่ปีต่อมาในปีที่ 37 ก่อนคริสตกาล มาร์ค แอนโทนี ได้เดินทางเยือนอเล็กซานเดรียอีกครั้ง ระหว่างทางไปออกรบกับจักรวรรดิพาร์เธีย เขาได้สานสัมพันธ์กับคลีโอพัตรา และถือเอาอเล็กซานเดรียเป็นบ้านนับแต่นั้นเป็นต้นมา มาร์ค แอนโทนีอาจจะเข้าพิธีอภิเษกสมรสกับคลีโอพัตราตามประเพณีอียิปต์ (ตามที่กล่าวไว้ในจดหมายของสุเอโตนิอุส) แต่อย่างไรก็ดี เขาได้แต่งงานแล้วกับอ็อกตาเวีย น้องสาวของเพื่อนชื่ออ็อกตาเวียน หนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการชุดที่สองของโรม เขามีบุตรกับคลีโอพัตราอีกหนึ่งคน ชื่อว่าปโตเลมี ฟิลาเดลฟุส ในพิธีมอบดินแดนอเล็กซานเดรียเป็นของขวัญชิ้นใหญ่แก่คลีโอพัตราและโอรสธิดา ช่วงปลายปีที่ 34 ก่อนคริสตกาล หลังจากที่มาร์ค แอนโทนีได้มีชัยเหนืออาร์เมเนีย คลีโอพัตรากับซีซาเรียนได้ปกครองอียิปต์กับไซปรัสร่วมกัน อเล็กซานเดอร์ เฮลิออส ได้เป็นกษัตริย์ปกครองอาร์เมเนีย เมเดีย และ พาร์เธีย คลีโอพัตรา เซเรเน ได้เป็นราชินีปกครองซีเรไนกา และ ลิเบีย ส่วนปโตเลมี ฟิลาเดลฟุสได้เป็นกษัตริย์ปกครองโฟนิเซีย, ซีเรีย และ ซิลิเซีย นอกจากนี้แล้วคลีโอพัตรายังดำรงตำแหน่งราชินีแห่งราชาทั้งปวงอีกด้วย

มีเหตุการณ์อันโด่งดังเกี่ยวกับคลีโอพัตราหลายเหตุการณ์ แต่เรื่องที่เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายที่สุดและไม่อาจตรวจสอบได้ว่าจริงหรือไม่ ได้แก่เหตุการณ์เกี่ยวกับพระกระยาหารค่ำของพระนางกับมาร์ค แอนโทนีมื้อหนึ่งที่มีราคาแพงลิบ พระนางได้หยอกเย้ากับมาร์ค แอนโทนีด้วยการพนันกันว่า เขาเชื่อหรือไม่ว่าพระนางจะสามารถใช้เงินสิบล้านเซสเตอร์ซีอุสกับพระกระยาหารมื้อเดียวได้ ซึ่งเขาก็รับพนัน ในคืนต่อมา พระนางได้เสิร์ฟพระกระยาหารค่ำธรรมดาไม่ได้หรูหราอะไร ทำให้พระนางถูกมาร์ค แอนโทนีล้อ แต่พระนางก็ได้รับสั่งให้เสิร์ฟพระกระยาหารสำรับต่อมา ซึ่งมีเพียงน้ำส้มสายชูอย่างแรงหนึ่งถ้วย จากนั้นพระนางก็ถอดต่างหูไข่มุกอันประมาณค่ามิได้ของพระนางออก หย่อนลงไปในน้ำส้มสายชู ปล่อยให้ไข่มุกละลาย แล้วดื่มส่วนผสมนั้น

พฤติกรรมของมาร์ค แอนโทนี นับว่ากระด้างกระเดื่องมากในสายตาของพวกโรมัน อ็อกตาเวียนจึงได้โน้มน้าวให้วุฒิสภาเปิดสงครามกับอียิปต์ ในปีที่ 31 ก่อนคริสตกาล กองกำลังของมาร์ค แอนโทนีได้เผชิญหน้ากับทหารโรมันด้วยทัพเรือนอกชายฝั่งแอคติอุม คลีโอพัตราได้ร่วมออกรบโดยมีทัพเรือของพระนางเอง แต่พระนางก็ได้เห็นกองเรือของมาร์ค แอนโทนี ที่มีเรือขนาดเล็กและขาดแคลนยุทโธปกรณ์ต้องพ่ายแพ้กับกองเรือโรมันที่มีเรือขนาดใหญ่กว่า พระนางต้องหลบหนีและมาร์ค แอนโทนีได้เลิกรบและหนีตามพระนางไป

สิ้นพระชนม์

อัตวินิบาตกรรมของคลีโอพัตรา โดย เรจินัลด์ อาร์เธอร์

หลังจากการรบที่อ่าวแอคติอุม อ็อกตาเวียนก็ได้ยกพลขึ้นบกบุกอียิปต์ ในขณะที่ทัพของอ็อกตาเวียนเกือบจะถึงอเล็กซานเดรีย กองกำลังทหารของมาร์ค แอนโทนีก็หนีทัพไปร่วมกับกองกำลังของอ็อกตาเวียน คลีโอพัตรากับมาร์ค แอนโทนีตัดสินใจปลิดชีพตนเองด้วยกันทั้งคู่ โดยที่คลีโอพัตราได้ใช้งูพิษปลิดชีพพระองค์เองเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม ในปีที่ 30 ก่อนคริสตกาล ซีซาเรียน โอรสของพระนางที่เกิดกับจูเลียส ซีซาร์ก็ถูกอ็อกตาเวียนปลงพระชนม์ โอรสธิดาอีกสามพระองค์ที่เกิดกับมาร์ค แอนโทนีได้รับการไว้ชีวิตและนำกลับไปยังกรุงโรมโดยอ็อกตาเวีย อดีตภรรยาของมาร์ค แอนโทนี

มักกล่าวกันว่าคลีโอพัตราได้ใช้ แอสพฺ (งูพิษชนิดหนึ่ง) ปลิดชีพพระองค์เอง "asp" เป็นศัพท์เทคนิค หมายถึงงูพิษหลากหลายประเภทในอาฟริกาและยุโรป แต่ในที่นี้ หมายถึงงูเห่าอียิปต์ ซึ่งใช้ในการประหารนักโทษในบางครั้ง ยังมีเรื่องเล่าว่าคลีโอพัตราได้ทดสอบวิธีการฆ่าตัวตายต่างๆนานากับข้าราชบริพารหลายคน ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกวิธีการที่พระนางเห็นว่ามีประสิทธิภาพที่สุด

ด้วยที่เป็นชนเชื้อสายกรีก - มาเซโดเนีย ทั้งในด้านภาษาและวัฒนธรรม คลีโอพัตรามีชื่อเสียงในแง่ที่ว่า ตลอดระยะเวลากว่า 300 ปีที่ราชวงศ์ปโตเลมีปกครองอียิปต์นั้น พระนางเป็นสมาชิกคนแรกของปโตเลมีในที่เรียนรู้ภาษาอียิปต์ได้แตกฉาน และยังเรียนรู้ภาษาต่างประเทศถึง 14 ภาษา ได้แตกฉาน

Share this