ต้นไทร หรือ “นิโครธ” (อ่าน นิ-โค-ระ-ธะ) ในภาษาสันสกฤต, “บันฮัน” ในภาษาฮินดูบางที่เรียก “อชปาลนิโครธ” อันหมายถึงที่พักของคนเลี้ยงแพะ เนื่องจากคนเลี้ยงแพะเข้ามาอาศัยร่มไทรเลี้ยงแพะเสมอมา ต้นไทร มีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธองค์อยู่ 2 ครั้ง
หลังจากที่ทรงออกบรรพชามาได้ 6 ปี ในเช้าวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 อันเป็นวันเดียวกับที่ทรงตรัสรู้ ทรงประทับอยู่ที่โคนต้นไทร
เช้าวันนั้น นางสุชาดา นำบ้าวมธุปายาส อันเป็นข้าวที่หุงด้วยนมโคล้วน มายังโคนต้นไทรเพื่อบวงสรวงเทวดา พบพระพุทธองค์ประทับนั่งอยู่ นางเข้าใจว่าพระพุทธองค์เป็นรุกขเทวดา จึงถวายข้าวมธุปายาสนั้น เนื่องจากเห็นว่าพระองค์ไม่มีสิ่งใดรับเครื่องบวงสรวง นางจึงถวายข้าวพร้อมทั้งถาดทองที่ใส่มา
ข้าวมธุปายาสนี้ มีวิธีเตรียมที่ใช้เวลาและความพยายามเป็นอย่างมาก นั่นคือต้องต้อนแม่โค 1,00 0 ตัวให้ไปกินชะเอมเครือ กินอิ่มแล้ว จึงต้อนออกมา แบ่งแม่โคเป็นสองฝูง ฝูงละครึ่ง รีดนมจากฝูงหนึ่ง ไปให้อีกฝูงหนึ่งกิน แบ่ง และคัดแม่โคอย่างนี้จนเหลือแม่โค 8 ตัว จึงนำน้ำนมที่ได้ มาหุงข้าวมธุปายาส
เมื่อพระพุทธองค์รับข้าวนั้นแล้ว ทรงลุกจากอาสนะ ถือถาดทองไปริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา หลังจากที่ทรงสรงน้ำแล้ว ได้ทรงปั้นข้าวเป็น 49 ปั้น เสวยจนหมด หลังจากนั้นจึงทรงอธิษฐานว่า หากจะได้บรรลุโพธิญาณ ขอให้ถาดจงลอยทวนกระแสน้ำไป ถาดทองได้ลอยทวนน้ำไปไกลถึง 80 ศอก จนถึงวังน้ำวน ก็ดิ่งหายไปที่วังน้ำนั้น
จากนั้นจึงทรงไปประทับที่ดงไม้สาละ ตกเย็น จึงย้ายอาสนะไปประทับที่ต้นโพธิ
เหตุการณ์ที่ 2 คือ หลังจากที่ตรงตรัสรู้ใต้ต้นโพธิและได้ประทับเสวยวิมุตติสุขเป็นเวลา 7 วัน ก็เสด็จไปประทับใต้ต้นไทร อันอยู่ทางทิศตะวันออกของต้นโพธิต่ออีก 7 วัน
อรรถกถาจารย์ได้แต่งเรื่องขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองพระเกียรติพระพุทธองค์ภายหลังว่า ธิดาพญามารทั้ง 3 คือ ตัณหา ราคา และอรดี(ริษยา) ขันอาสาบิดามาประโลมล่อพระพุทธองค์ให้ตกในอำนาจ แต่พระพุทธองค์ผู้ทรงบริสุทธิ์แล้วอย่างสิ้นเชิง ไม่ทรงแสดงอาการผิดปกติ แม้แต่จะลืมพระเนตรขึ้นมอง
เรื่องธิดาพยามารนี้ มีการถอดความว่า ธิดาทั้งสาม ก็คือกิเลสนั่นเอง พระอาการที่ไม่ผิดปกติ คือพระองค์ห่างไกลกิเลสมาแล้วอย่างสิ้นเชิง
อีกเหตุการณ์หนึ่งคือ หลังจากที่ทรงตรัสรู้แล้ว ทรงแปรที่ประทับไปยังโคนต้นไม้ต่างๆ ต้นละ 7 วัน นั้นคือสัปดาห์แรกประทับโคนต้นพระศรีมหาโพธิ์ สัปดาห์ที่ 2 ที่ใต้ต้นไทร สัปดาห์ที่ 3 ใต้ต้นจิก สัปดาห์ที่ 4 กลับมาประทับใต้ต้นไทรอีกครั้ง
ที่ใต้ต้นไทรในครั้งนี้ ทรงเห็นว่าธรรมที่พระองค์ตรัสรู้นั้นมีความหมายสุขุมละเอียด ยากที่ผู้คนจะเข้าใจ จึงท้อพระทัยที่จะสั่งสอน จนท้าวสหัมบดีพรหมต้องลงมาอาราธนา ให้ทรงแสดงธรรมเพื่อให้ชาวโลกมีโอกาสพ้นทุกข์บ้าง
.................................................................................
อ้างอิงเรื่อง และรูป
เหม เวชกร สมุดภาพพระพุทธประวัติ ธรรมสภา 35/270 จรัลสนิทวงศ์ 62 บางพลัด บางกอกน้อย กรุงเทพ
เสถียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา เกษมอนันต์พริ้นติ้ง 02-809-7452-4
ศาสตรจารย์ พเยาว์ เหมือนวงษ์ญาติ ไม้พุทธประวัติ สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด้จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชวังดุสิต กรุงเทพ