ตอนที่4 ชวนลูกดูนก
สมาชิกเลขที่6035 | 08 ก.พ. 53
903 views
ด้วยเหตุนี้แหละครับ ผมจึงอยากเชิญชวน คุณพ่อคุณแม่ คุณครู มาช่วยกันปลูกฝังความรัก ความเข้าใจและสร้างจิตสำนึกต่อการดูแล รักษาธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมในหมู่ลูกและศิษย์ของเรา
แต่แน่นอนครับ การปลูกฝัง สร้างความรู้ความเข้าใจในธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมไม่ใช่อยู่ๆจะเนรมิตขึ้นมาหรือเพียงวันเดียวแล้วเด็กจะรักธรรมชาติ อีกอย่างปัญหาธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมที่เป็นอยู่มันคงเป็นโจทย์เริ่มต้นที่ใหญ่เกินไปสำหรับเด็กๆ และเราคงไม่สร้างบทเรียนให้เด็กๆด้วยการแนะนำพวกเขาว่าป่าถูกทำลายเพราะมีคนหากินกับการทำลายป่า เพราะฉะนั้นเด็กๆจะต้องไปห้ำหั่นกับ พวกตัดไม้ทำลายป่าหรือบอกพวกเด็กๆว่าโรงงานนั้น หมู่บ้านนี้ปล่อยน้ำเสีย หรือสร้างมลพิษ เราต้องถือป้ายไปขับไล่ออกไป หรือจะไปบอกเด็กๆว่าใครทำร้ายธรรมชาติต้องไปจัดการให้สิ้น
ครูอาจารย์มักจะถามผมว่า แล้วเราจะเริ่มต้นหรือเปิดประตู ขบวนการปลูกฝังลูกและศิษย์ของเราอย่างไรเพื่อเป็นการสร้างพื้นฐานความรัก ความสนใจและเกิดทัศนคติที่ดีต่อการดูแลธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม
ผมคิดว่า พ่อแม่ ครูอาจารย์อย่าอาย อย่ากลัวว่าเราจะรู้น้อยไปกว่าเด็กๆ แต่เราควรเรียนรู้ไปพร้อมกับเด็กๆและหากิจกรรมง่ายๆและเป็นพื้นฐานการก้าวสู่การเรียนรู้ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมกับลูกและศิษย์ ซึ่งผมขอแนะนำ “กิจกรรมดูนก” เพราะ “ กิจกรรมดูนก ” เป็นบทเรียนเบื้องต้นที่ไม่ยากเกินไปในการรู้จักกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และเป็นการเริ่มต้นที่ไม่มีพิษมีภัย เป็นแนวทางในเชิงบวก เพราะ นกเป็นตัวแทนธรรมชาติที่หาดูได้ง่าย ใกล้ชิดกับพวกเรา มีพฤติกรรมน่าเรียนรู้ สีสันสวยงาม
พูดถึงการดูนกในเมืองไทย คุณพ่อคุณแม่ คุณครูอย่าไปเข้าใจว่าเราเลียนแบบฝรั่งมังค่านะครับ ผู้เชี่ยวชาญการดูนกบ้านเรายืนยันว่าการดูนกของคนไทยเกิดขึ้นมานานตั้งแต่ สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย มีวรรณคดีไทยหลายเรื่องกล่าวถึงความประทับใจในความสวยงามของนกในธรรมชาติ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลงานของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศไชยเชษฐสุริยวงศ์หรือที่รู้จักกันในนามของ”เจ้าฟ้ากุ้ง” ที่นำเรื่องราวของนกมาบรรยายไว้ในบทประพันธ์เช่น บทเห่ชมนก ตอนหนึ่งที่กล่าวว่า
นกแก้วแจ้วแจ่มเสียง จับไม้เรียงเคียงคู่สอง
เหมือนพี่นี่ประคอง รับขวัญน้องต้องมือเรา
ไก่ฟ้ามาตัวเดียว เดินท่องเที่ยวดลี้ยวเหลี่ยมเขาเหมือนพรากจากนงเยาว์ เปล่าใจเปลี่ยวเหลียวหานาง
แขกเต้าเคล้าคู่เคียง เรียงจับไม้ไซ้ปีกหางดุเหว่าเจ่าจับร้อง สนั่นก้องซ้องเสียงหวาน
นอกจากนี้ยังมี ท่านสุนทรภู่ กวีเอกของไทยก็เป็นนักดูนกตัวยง ดังจะเห็นจาก โคลง กลอนที่ท่านแต่งก็มีเรื่องราวของนกอยู่ในเรื่องตลอดเวลา
จนมาถึง พ.ศ.2505 ได้มีการตั้ง Bangkok Bird Club ขึ้นมา โดยเป็นส่วนหนึ่งของสมาคมนิยมไพร โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะรวมกลุ่มนักดูนก ทั้งมืออาชีพมือสมัครเล่น รวมทั้งนักปักษีวิทยา เพื่อออกไปดูนกและแลกเปลี่ยนข่าวสารเกี่ยวกับนก
ตอนที่ผมเริ่มทำงานส่งเสริมกิจกรรมด้านธรรมชาติกับเด็กๆในปี 2537หรือ 10 ปีที่แล้ว กิจกรรมดูนก ดูหนูเป็นกิจกรรมที่อยู่ในวงแคบๆของกลุ่มคนที่ชอบเดินป่าหรือดูนกเป็นงานอดิเรกหรือเป็นความชอบส่วนตัว เพราะกลุ่มคนที่ดูนกสมัยนั้นก็เป็นผู้ใหญ่ในแวดวงป่าไม้ นักวิชาการ หรือนักศึกษาที่เรียนทางด้านป่าไม้ของมหาวิทยาลัย นักนิยมไพรและคนที่พอจะมีสตุ้งสะตังค์ เนื่องจากการดูนกมักจะนิยมเข้าไปดูในป่าในเขา จำเป็นต้องมีอุปกรณ์ที่เรียกว่ากล้องส่องทางไกล มีตำหรับ ตำรา ตัวอย่างภาพของนก มีรถมีราพอจะพาไปบุกป่าฝ่าดง
แต่หลังจากมีการนำกิจกรรมการดูนกมาเป็นกิจกรรมการเรียนรู้ ศึกษา ธรรมชาติในหมู่เด็กนักเรียนปฐมวัยไล่ขึ้นไปประถมศึกษา มัธยมศึกษาจนถึงขั้นมหาวิทยาลัย กิจกรรมการดูนกก็เริ่มเป็นที่รู้จัก ยอมรับและเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา เรียนรู้ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จนกลายเป็นกระแสใหม่ของการเรียนรู้เรื่องราวของธรรมชาติ และนำไปสู่การเกิดกิจกรรมต่อเนื่องที่ตามมาหลายรูปแบบ เกิดกระบวนการของเด็กๆที่สนใจเรื่องการดูนก เป็นกลุ่ม เป็นชมรม ดูนก ทั้งในเมืองและชนบท ขึ้นมา อย่างน่ายินดี