ตอนที่2สอนลูกรักธรรมชาติ…กว่าจะถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว
สมาชิกเลขที่6035 | 02 ก.พ. 53
1.6K views
เมื่อตอนผมเริ่มต้นงานส่งเสริมกิจกรรมเด็กๆ และเยาวชน เมื่อประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาก่อนที่พระราชบัญญัติการศึกษา พ.ศ.2542 จะประกาศใช้เป็นกฏหมายเพื่อปฏิรูปการศึกษาของสังคมไทย ผมก็ไม่ต่างจากคุณครู ผู้ปกครอง ว่ากิจกรรมการดูนกจะเปลี่ยนแปลงความคิดและสร้างจิตสำนึกในการรักและหวงแหนธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมกับเด็กๆได้อย่างไร คิดว่ามันเป็นเรื่องยากอย่างยิ่ง ทำไมเราต้องมาปลูกฝังความรัก ความสนใจในเรื่องของธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมกับเด็กๆด้วย จะเป็นเรื่องไกลตัวเด็กเกินไปหรือไม่ รอให้โตหน่อยแล้วค่อยส่งเสริมกันไม่ดีหรือ
จากบทเรียนครั้งนั้น ทำให้ผมพบว่าครอบครัวไทยและระบบการศึกษาของไทยขาดกระบวนการปลูกฝัง ความรู้ ความเข้าใจในสิ่งที่เราแต่ละคนเกี่ยวพันกับธรรมชาติ ธรรมชาติคืออะไร ก็ไม่รู้ ไม่มีหลักสูตรหรือวิชาพื้นฐานว่าด้วยการเรียนรู้ศึกษาธรรมชาติ ทั้งๆที่ประเทศของเรานั้น มีทรัพยากรธรรมชาติในแต่ละท้องถิ่นมากมายมหาศาลที่จะให้ได้เด็กศึกษาเรียนรู้ เด็กๆจะเรียนรู้เรื่องของการปลูกถั่วงอกมากกว่า ป่าเขาลำเนาไพรด้วยซ้ำ ยิ่งเรื่องของกระบวนกิจกรรมที่จะเปิดโลกการเรียนรู้และสัมผัสกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมให้กับเด็กๆ ไม่ต้องพูดถึง เพราะเรายังคงเน้นไปในเรื่องของการท่องจำจากตำรา ไม่ได้มีวิธีการคิดหรือปฏิบัติจากของจริง หรือการเรียนรู้นอกตำรา หรือภาษาสมัยใหม่ว่า คิดนอกกรอบเลย
ในทางตรงกันข้าม ในชีวิตประจำวันทั่วไปนั้น เด็กไทยได้พบเห็นพฤติกรรมที่ปล่อยปละละเลยธรรมชาติกันตลอดเวลา เช่น ยังเห็นผู้คนในสังคมทิ้งขยะลงแม่น้ำ เพราะมีคำตอบว่า ทิ้งกันมาแต่รุ่นก่อน จนผมไม่แน่ใจว่าการทิ้ง เป็น “วัฒนธรรม” ของสังคมไทยไปแล้วหรือไม่ หรืออย่างการไปเที่ยวน้ำตก คนไทยไปเที่ยวน้ำตก เพื่อความสนุก เพลิดเพลินกับการกินเหล้าเมายา แล้วก็ฝากขวดน้ำเมาไว้กับน้ำตก หรือเวลาไปเที่ยวทะเลเราจะเห็นการเก็บและทำลายธรรมชาติโดยไม่รู้ตัว ยกตัวอย่างสัตว์ทะเลอย่าง “ปูเสฉวน” ต้องประสบกับภาวะไร้ที่อยู่ เพราะคนเก็บเปลือกหอยที่มันใช้เป็นที่หลบภัยหรือป้องกันตัวไปเป็นที่ระลึก หรือเด็กวัยรุ่นยามไปเที่ยวป่า ติดนิสัยต้องมีฉิ่งฉาบโดยไม่รู้ว่าสัตว์ป่าจะรู้สึกอย่างไร หรือเวลานักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวในอุทยานแห่งชาติต่างๆ นั้น เราไม่ได้ปลูกฝังว่า อะไรควรทำหรือไม่ควรทำเมื่อเราเข้าไป แต่เราก็ยังเห็นขยะ ขวด ฯล ฯ เกลื่อนกลาด โดยหารู้ไม่ว่าสิ่งนี้เป็นการฆ่าตัดตอนชีวิตสัตว์ป่า เช่น กวางที่เขาใหญ่เสียชีวิตจากกินถุงพลาสติกเข้าไป
มันเป็นเรื่องที่ท้าทายทั้งผู้ปกครองและครูไทยว่า เราจะทำอย่างไรให้ลูกและศิษย์ของเรา เรียนรู้ว่า “วัฒนธรรมพรรค์นี้” เป็นสิ่งที่ควรละเลิก และหันมาสร้าง “วัฒนธรรมใหม่”ที่จะให้ความเคารพ เรียนรู้และช่วยกันรักษาธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ให้พวกเด็กๆ รับรู้ว่าคนรุ่นพวกเขาอาจจะมีชีวิต ความเป็นอยู่ที่ยากลำบากจากปัญหาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมลง หากไม่ช่วยกันดูแลรักษา
แล้วอย่างนี้ เราคิดว่า เรื่องการปลูกฝังความรู้ความเข้าใจและความรักธรรมชาติจะรอให้โตก่อนดีหรือไม่ แต่สำหรับผม คิดว่า มันเรื่องเดียวกับการปลูกฝังเรื่องต่างๆกับเด็ก เพราะ กว่าจะถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว
และจากประสบการณ์ของผมพบว่าเด็กในวัยอนุบาลถึงชั้นประถมเป็นช่วงสำคัญของการปลูกฝังให้เด็กๆมีความสุข สนุกกับการเรียนรู้เรื่องราวของธรรมชาติดีกว่าเมื่อพวกเขาเติบโตเป็นวัยรุ่น