ถ้ายังนึกไม่ออกว่า ฮอโลแกรม คืออะไร แต่ถ้าบอกว่า รู้จักสตาร์วอร์สในฉาก การปรากฎกายแบบฮอโลแกรมแบบเจ้าหญิงเลอาแห่งสตาร์วอร์ส กำลังสนทนากับลุค สกายวอล์เกอร์ ตัวเอกของเรื่องผ่านฮอโลแกรม แต่ที่เห็นผ่านหน้าจอครั้งนี้จาก CNN เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 5 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับช่วงค่ำวันที่ 4 พ.ย.เวลาสหรัฐฯ คือการรายงานผลการเลือกตั้งแบบสดๆ จริงๆ
ฮอโลกราฟี (holography) หมายถึง กระบวนการสร้างภาพฮอโลแกรม ซึ่งเป็นภาพ 3 มิติ แตกต่างจากการสร้างภาพเชิง 3 มิติ โดยฮอโลแกรมนั้นเป็นภาพที่บันทึกลงบนฟิล์ม หรือ แผ่นเคลือบด้วยสารสำหรับบันทึกแสง ซึ่งผ่านเทคนิคการบันทึกด้วยการใช้ แสงที่มีหน้าคลื่นสอดคล้องกัน (coherence) เช่น แสงเลเซอร์ และเมื่อถูกส่องสว่างอย่างเหมาะสม
จะแสดงให้เห็นภาพที่มีลักษณะ 3 มิติ ถ้าจะกล่าวในคำพูดที่เป็นเชิงวิชาการมากขึ้น ก็อาจกล่าวได้ว่า ฮอโลแกรม ก็คือ บันทึกของรูปแบบการแทรกสอดของลำแสง ที่มีหน้าคลื่นสอดคล้องกัน 2 ลำ
แต่ที่จะนำมาให้ดูในวันนี้เป็นการสัมภาษณ์ เจสซิกา เยลลิน (Jessica Yellin) รายงานสดจากชิคาโก ผ่าน "ฮอโลแกรม" (Hologram) แถมด้วย วิล.ไอ.แอม (Will.I.Am) แห่งวงแบล็ก อายด์ พีส์ ก็โผล่มาแบบ 3 มิติให้สัมภาษณ์สดๆ ในฐานะผู้สนับสนุนโอบามา
นี่คือเทคโนโลยีที่คอหนังหนังไซ-ไฟคุ้นเคยเป็นอย่างดี ประหนึ่งฉากเจ้าหญิงเลอาแห่งสตาร์วอร์ส กำลังสนทนากับลุค สกายวอล์เกอร์ ตัวเอกของเรื่องผ่านฮอโลแกรม แต่ที่เห็นผ่านหน้าจอครั้งนี้คือการรายงานผลการเลือกตั้งแบบสดๆ จริงๆ
แล้วซีเอ็นเอ็นทำได้อย่างไร?
งานนี้โอลิเวอร์ เบิร์กแมน (Oliver Burkeman) ผู้สื่อข่าวของเดอะการ์เดียนแห่งอังกฤษ ซึ่งเกาะติดการเลือกตั้งสหรัฐฯ ได้เขียนบันทึกลงไดอารีออนไลน์ ถึงเบื้องหน้าเบื้องหลังการเตรียมรายงานข่าวเลือกตั้งของซีเอ็นเอ็นก่อนวัน จริง โดยระบุว่า การรายงานข่าวครั้งนี้ จะเป็นสิ่งที่เยี่ยมที่สุดเท่าที่เคยมีมา
"แทน ที่จะแบ่งหน้าจอสลับคนละครึ่ง ระหว่างห้องส่งกับผู้ที่ถูกสัมภาษณ์อยู่ภาคสนาม หรือที่อื่นๆ อย่างที่เห็นกันปกติทั่วไป แต่โฆษกประจำตัวของโอบามาจะปรากฎในลักษณะ 3 มิติผ่านฮอโลแกรม อีกทั้งซีเอ็นเอ็นยังมีแผนสัมภาษณ์ผู้แทนของแมคแคนในลักษณะเดียวกันนี้" เบิร์กแมนว่าไว้ก่อนวันยิงเทคโนโลยีจริง
เบิร์กแมนบอกว่า ซีเอ็นเอ็นได้วางแผนเตรียมกล้องบันทึกภาพวิดีโอความละเอียดสูง 44 ตัว (HD camera) ประจำไว้ที่ชิคาโกและแอริโซนา และส่งภาพต่างๆ ผ่านคอมพิวเตอร์ 20 เครื่อง เพื่อประมวลผลให้ได้ภาพผู้ที่ถูกสัมภาษณ์ออกมา 360 องศา ส่งถึงห้องส่งในนิวยอร์ก เพื่อให้ผู้ประกาศในห้องส่งสัมภาษณ์
ในส่วนของรายละเอียดของการสร้างภาพเหมือนผู้สื่อข่าว 3 มิตินั้น กิซโมโด (gizmodo.com) อธิบายว่า ที่ภาคสนามซึ่งต้องส่งภาพผู้สื่อข่าวหรือผู้ถูกสัมภาษณ์เข้ามา ได้ตั้งกล้องวิดีโอความละเอียดสูง 35 ตัว ล้อมวัตถุ (ซึ่งก็คือเจสซิกาและวิล.ไอ.แอม) ในลักษณะล้อมเป็นวงแหวน
ทั้งนี้ ภาพที่บันทึกได้จะต้องเป็นจากมุมต่างๆ ไม่ซ้ำกัน เพื่อให้ได้ภาพร่างกายของบุคคลผู้นั้นทั้งหมด อีกทั้งกล้องที่บันทึกจะต้องเชื่อมต่อกับกล้องในห้องส่งเพื่อซิงค์เทียบมุมและสัดส่วนของภาพให้ถูกต้องตรงกัน
จากนั้น จะส่งภาพทั้งหมดถึงคอมพิวเตอร์ 20 ตัว เพื่อใช้ประมวลผลภาพที่บันทึกออกมาให้ได้ 3 มิติ
ส่วนนักข่าวภาคสนาม จะได้เห็นภาพของตัวเองผ่าน จอขนาด 37 นิ้ว หลังจากประมวลผลแล้วกลับมา เพื่อให้ได้เห็นภาพของตัวเอง จะได้ตรวจสอบความผิดพลาด อย่างพวกเสื้อผ้าหน้าผม
ส่วนที่ห้องส่งของซีเอ็นเอ็นนั้น ก็ใช้กล้องเพียงแค่ 2 ตัวเพื่อจะบันทึกภาพผู้ประกาศจากห้องส่งออกไปตามปกติ แม้ว่าในการรายงานครั้งนี้ จะเหมือนว่าผู้ประกาศในห้องส่งได้คุยกับนักข่าวฮอโลแกรม แบบตัวต่อตัว เหมือนในสตาร์วอร์ทว่าแท้จริงแล้ว ผู้ประกาศไม่ได้มองเห็นทั้งเจสซิกา หรือ วิล.ไอ.แอม เขาก็ยังคงคุยผ่านทางเสียง เหมือนการโฟนอินหรือการสลับหน้าจอปกติ
ส่วนภาพ 3 มิติจากภาคสนามนั้น ใช้คอมพิวเตอร์จัดการให้อยู๋ในเฟรมเดียวกันกับผู้ประกาศในห้องส่งก่อนนำออกอากาศ
เมื่อคอมพิวเตอร์ประมวลผล โดยรวมภาพจากห้องส่งและจากฮอโลแกรมเข้าด้วยกัน ก็จะยิงสัญญาณสู่จอทีวีของเรา แต่สิ่งที่ต้องกังวลอีกขั้นคือสัญญาณฮอโลแกรมที่ได้รับมาจะดีเลย์ ซึ่งต้องอาศัยดาวเทียมเพื่อหน่วงสัญญาณก่อนกระจายเสียงสู่โทรทัศน์ เพื่อผู้ชมจะได้ไม่ทันสังเกตว่ามีการดีเลย์ ระหว่างที่ผู้ประกาศถาม นักข่าวฮอโลแกรมอาจตอบมาช้ากว่า เพราะขั้นตอนของการส่งสัญญาณ
ยังไงก็ลองเข้าไปชมภาพการสัมภาษณ์โดยใช้โปรแกม ฮอโลแกรม ได้ที่เว็บไซต์ด้านล่างนี้นะครับ