ตำนานสุนัขผู้ซื้อสัตย์
สมาชิกเลขที่24347 | 13 ต.ค. 53
4.3K views

มาพบกันอีกแล้วนะคร๊าบบบบ อิอิ เมื่อวานนี้พอดีไปเช่าหนังเรื่องนึงมา ชื่อว่า ฮาจิ...หัวใจพูดได้ ดูแล้วซึ้งมากน้ำตาไหลเลย
หนังเรื่องนี้เป็นหนังดัดแปลงมาจากเรื่องจริงของตำนานสุนัขยอดกตัญญูที่เลื่องชื่อมากในญี่ปุ่น คือ ฮะจิโกะ ผมว่าเพื่อนๆน่าจะรู้จักกันนะครับแหะๆๆ เข้าเรื่องกันเลยดีกว่าวันนี้ผมจะมาอัพเรื่องเกี่ยวกับตำนานสุนัขผู้ซื่อสัตย์ วันนี้ผมจะยกมา 3 ตัว จาก 3 ประเทศ

 

สุนัขตัวแรก คือ เจ้าฮะจิโกะ : ฮะจิโกะ เป็นสุนัขพันธ์อากิตะ ลืมตาดูเรื่องเมื่อเดือนพฤศจิกายน 1923 ในจังหวัดอากิตะ ประเทศญี่ปุ่น โดยเมื่ออายุได้เพียง 2 เดือนเจ้าฮะจิโกะถูกส่งตัวไปอยู่กรุงโตเกียวกับเจ้านายของมันคือ เอซะบุโระ อุเอะโนะ ศาสตราจารย์ประจำคณะเกษตรศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยอิมพีเรียล(หรือมหาวิทยาลัยโตเกียวในปัจจุบัน) ฮะจิโกะเป็นที่ภาคภูมิใจของศาสตราจารย์เป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นสุนัขอากิตะสายพันธุ์แท้ซึ่งหาได้ยากในสมัยนั้น
ในวันที่เจ้านายต้องไปสอนหนังสือ ฮะจิโกะจะคอยส่งเจ้านายถึงประตูหน้าบ้าน โดยศาสตราจารย์อุเอะโนะต้องไปขึ้นรถไฟที่สถานีชิบูยะ จากนั้นเมื่อถึงเวลา 15.00 น. ซึ่งเป็นเวลาเลิกงานแล้ว เจ้าฮะจิโกะจะมากระดิกหางรอพบเจ้านายของมันที่สถานีรถไฟเสมอ แต่แล้ววันหนึ่งในวันที่ 21 เดือนพฤษภาคม 1925 ศาสตราจารย์ อุเอะโนะ เกิดอาการเส้นโลหิตในสมองแตก และเสียชีวิตขณะอยู่ที่มหาวิทยาลัย อย่างไรก็ตามในวันนั้น ฮะจิโกะยังคงมารอเจ้านายของมันที่สถานีรถไฟ โดยไม่มีทางรู้ได้เลยว่า มันจะไม่ได้พบกับเจ้านายของมันอีกแล้ว เนื่องจากเขาได้จากไปอย่างไม่มีวันกลับ หลังจากที่ศาสตราจารย์อุเอะโนะเสียชีวิต ภรรยาของเขาได้ย้ายบ้านไปและนำเจ้าฮะจิโกะไปให้กับญาติของศาสตราจารย์ที่อยู่ห่างออกไปจากสถานีรถไฟหลายกิโลเมตร แต่ว่าเจ้าสุนัขพันธุ์อากิตะผู้ซื่อสัตย์กลับไม่ยอมอยู่กับเจ้านายใหม่ของมัน ทุกวันเมื่อถึงเวลา 15.00 น. เจ้าฮะจิโกะจะวิ่งไปรอเจ้านายของมันที่สถานีรถไฟไม่เคยขาด ทำให้เรื่องราวความซื่อสัตย์ของมัน เริ่มเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อเรื่องราวของมันถูกตีพิมพ์ลงบนหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น ทำให้ผู้คนทั่วสารทิศเดินทางมาดู มาเล่นกับเจ้าฮาจิโกะ นอกจากนั้น ชาวญี่ปุ่นยังได้ยกให้เจ้าฮะจิโกะเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับเด็กๆอีกด้วย
ในเดือนเมษายน 1934 อันโดะ เทะรุ ศิลปินชื่อดังจึงได้ทำรูปหล่อทองแดงของเจ้าฮะจิโกะขึ้นมาเพื่อยกย่อง และนำไปตั้งไว้ที่สถานีรถไฟชิบูยะ อย่างไรก็ตามในเดือนมีนาคม 1935 ฮาจิโกะก็ได้กลับไปพบกับเจ้านายของมันอีกครั้ง โดยมีคนพบว่าฮะจิโกะนอนตายยังจุดที่มันคอยมารอเจ้านายของมันทุกวันมานานกว่า 10 ปี ซึ่งข่าวการตายของฮะจิโกะนั้นถือว่าเป็นข่าวใหญ่มากจนถูกตีพิมพ์ลงบนหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์ญี่ปุ่น สำหรับร่างของฮะจิโกะนั้นถูกนำไปเก็บรักษาเอาไว้ที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติในกรุงโตเกียว

 

สุนัขตัวที่สอง คือ เจ้าบ๊อบบี้ : บ๊อบบี้ เป็นสุนัขสายพันธุ์ Skye Terrier บ๊อบบี้เป็นสุนัขของ คุณ John Gray ซึ่งทั้งคู่อยู่ด้วยกันตลอดเวลาไม่เคยห่างกันเลยตลอดช่วงเวลา 2 ปีที่ทั้งคู่มีชีวิตอยู่ร่วมกัน จนกระทั่งวันนึง คุณ John Gray ได้เสียชีวิตลงด้วยโรควัณโรค เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 1858 ร่างของเค้าถูกฝังอยู่ที่ Greyfriars Kirkyard ในเมืองเอดินเบอระ สก็อตแลนด์ เจ้าบ๊อบบี้สุนัขที่แสนจะซื่อสัตย์ได้นั่งเฝ้าหลุมฝังศพของ คุณ John Gray ตลอด 14 ปี ที่มันมีชีวิตอยู่หลังจากที่คุณ John Gray เสียชีวิตไปโดยไม่ไปไหน นอกจากเวลาที่มันหิวซึ่งมันจะไปหาอาหารกินแถวๆ ร้านอาหารที่อยู่ใกล้ๆ กับหลุมฝังศพของเจ้านายมัน และ ในช่วงฤดูหนาวมันก็จะหาที่หลบหนาวอยู่แถวบ้านของคนที่อยู่ใกล้ๆ กับหลุมฝังศพเจ้านาย
บ็อบบี้เสียชีวิตในปี 1872 แต่ร่างของมันไม่สามารถถูกฝังอยู่ในป่าช้า (Greyfriars Kirkyard) ร่วมกับมนุษย์ได้ เพราะว่าสถานที่นั้นถือเป็นสถานที่ที่ศักดิ์สิทธิ์ แต่ด้วยเครดิตในความดีของมัน สุดท้ายก็มีการตกลงให้ฝังร่างของมันไว้ตรงบริเวณด้านในของประตูทางเข้าของ Greyfriars Kirkyard ซึ่งไม่ได้ไกลจากหลุมฝังศพของเจ้านายมันมากนัก
ปัจจุบัน อนุเสาวรีย์ของเจ้าบ็อบบี้ ถูกสร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงสุนัขตัวเล็กๆ ตัวนึงที่มีความซื่อสัตย์ จนมนุษย์อย่างเราบางคนคงต้องดูเป็นตัวอย่าง ซึ่งอันนี้ผมไม่ได้พูดเล่นๆ เพราะว่าจุดประสงค์ของผู้ที่สร้างมันขึ้นมามีความตั้งใจแบบนั้นจริงๆ

 

สุนัขตัวสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงมาจากประเทศไทยเรานี่แหละครับ เป็นสุนัขพันธุ์ทาง ขนปุย หางเป็นพวงสีขาว ที่มีชื่อว่า ย่าเหล
ย่าเหลเกิดในเรือนจำที่จังหวัดนครปฐม เดิมเป็นสุนัขของหลวงไชยราษฎร์รักษา เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังดำรงพระยศเป็นพระบรมโอรสาธิราชฯ ได้เสด็จฯ ไปตรวจเรือนจำจังหวัดนครปฐม และทอดพระเนตรเห็นสุนัขตัวนี้ และตรัสชมว่าน่าเอ็นดู หลวงชัยอาญาจึงน้อมเกล้าฯ ถวาย พระองค์จึงทรงรับมาเลี้ยง และพระราชทานนามว่า "ย่าเหล"
ย่าเหลเป็นสุนัขที่ฉลาดแสนรู้ และช่างประจบ คอยถวายความจงรักภักดีพระเจ้าอยู่หัวเสมือนเป็นทหารรักษาพระองค์ ทำให้เป็นที่โปรดปรานอย่างยิ่ง และด้วยเหตุนี้จึงสร้างความอิจฉาและเกลียดในหมู่ข้าราชบริพารบางคน หากข้าราชบริพารคนใดแต่งกายไม่เรียบร้อย ก็จะถูกย่าเหลกัดต่อหน้าพระที่นั่ง สร้างความละอายและเจ็บแค้นแก่ผู้ที่ถูกกัดนั้นเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นเมื่อพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินโดยลำพัง โดยมิได้นำย่าเหลไปด้วย จึงมีมหาดเล็กบางคนคอยทำร้ายเอาก็มี เล่ากันว่าย่าเหลชอบหนีออกไปเที่ยว เป็นเหตุให้พระเจ้าอยู่หัวต้องทรงตามหาอยู่หลายครั้ง ในภายหลังทรงโปรดฯ ให้ทำป้ายแขวนคอ เขียนบอกว่า สุนัขตัวนี้เป็นสุนัขของพระเจ้าอยู่หัว ผู้ใดพบนำคืน จะได้รับพระราชทานรางวัล
ในปีที่ 5 ที่ย่าเหลเข้ามาเป็นสุนัขหลวงในพระราชวัง วันหนึ่งผู้ไปพบย่าเหลนอนตายข้างกำแพงพระบรมมหาราชวัง ด้านวัดโพธิ์ ท่าเตียน มีรอยถูกปืนยิง ตามรูปการณ์เชื่อว่าคนที่ฆ่าย่าเหลต้องมิใช่มหาดเล็กธรรมดา เพราะผู้ที่มีปืนในสมัยนั้น จะต้องมียศฐาชั้นเจ้าคุณขึ้นไป หรืออาจเป็นชั้นเจ้านายก็เป็นได้
ในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงโทมนัสอย่างยิ่ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานศพแก่ย่าเหล มีหีบใส่ศพอย่างดี ปิดทองที่มุมโลง
และโปรดฯให้แกะสลักรูปย่าเหลวางไว้บนโลงด้วย ทั้งยังให้มหาดเล็กแต่งตัวเป็นสัตว์นานาชนิดเข้าร่วมขบวนแห่ศพด้วย
นอกจากนี้ยังมีของชำร่วยแจกในงานศพ เป็นผ้าเช็ดหน้าพิมพ์รูปย่าเหล และมีตราวชิระที่มุมด้านขวา พระราชทานเป็นของที่ระลึกแก่ทุกคนที่ไปร่วมงานด้วย หลังงานศพของย่าเหล พระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดฯ ให้สร้างอนุสาวรีย์ขึ้น หล่อรูปย่าเหลด้วยโลหะทองแดง ประดิษฐานไว้หน้าพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ในพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม และได้ทรงพระราชนิพนธ์บทกลอนไว้อาลัยแก่ย่าเหล จารึกไว้ที่ด้านข้างของอนุสาวรีย์

 

เพื่อนๆทุกคนคงได้เห็นแล้วว่าสุนัขนั้นเป็นสัตว์ที่ซื่อสัตย์แค่ไหน ดูตัวอย่างจากสุนัข 3 ตัวที่ยกมานี้ ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าสุนัขนั้นมีความซื่อสัตย์ต่อเจ้านายตัวเองแค่ไหน ผมจึงอยากจะขอว่าเวลาที่เพื่อนๆคิดจะเลี้ยงสุนัขหรือสัตว์ใดๆก้ตาม โปรดคิดดีๆว่าเราพร้อมที่จะดูแลและให้ความรักกับมันมั้ย ถ้านำมาเลี้ยงแล้วโปรดเลี้ยงให้ดีๆ และมันจะตอบแทนให้ความซื่อสัตย์แก่คุณเท่าที่มันจะทำให้ได้ และจงจำไว้ว่า สุนัขยังรักและซื่อสัตย์ต่อผู้มีพระคุณของมัน แล้วเราเป็นมนุษย์ก้ควรรู้จักที่จะรักและตอบแทนผู้มีพระคุณของเราด้วยเช่นกัน

Share this