เพตรา มหานครศิลาสีชมพู
สมาชิกเลขที่110332 | 27 พ.ค. 55
1.5K views

 

        เรื่องราวที่มาของมหานคร Petra เคยเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชาวอีโดไมท์ จวบจนกระทั่งถึงยุครุ่งเรืองเฟื่องฟูในการเข้ามาครอบครองดินแดนของชาวอาหรับเผ่าเร่ร่อนนาบาเตียน (Nebataean) ในช่วงระหว่าง 100 ปี ก่อนคริสตกาล – ปี ค.ศ 100 ซึ่งเป็นสายหนึ่ง ของเผ่าเบดูอิน เบดูอิน เป็นต้นตระกูลของ ชาวตะวันออกกลางหลายชาติ ยกเว้นอิหร่าน ชนเผ่านาบาเตียนร่อนเร่มานานจนกระทั่ง ได้พบเทือกเขา ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ของประเทศจอร์แดนในปัจจุบันนี้ จึงตั้งถิ่นฐานโดยอาศัยอยู่ในถ้ำซึ่งมีอยู่เป็นอันมากตลอดแนวเทือกเขานี้และมีอาชีพให้ความคุ้มครอง แก่กองคาราวานขนสินค้า ที่เดินทางผ่านดินแดนแถบนี้ ไปค้าขายยังอาณาจักรไกลๆ เช่น เมืองท่าในอียิปต์ หรือดามัสกัสในซีเรียซึ่งต้องผ่านเส้นทางนี้ทั้งนั้น และต่อมาชาวนาบาเตียนที่มีหัวการค้าก็แต่งกองคาราวาน ซื้อสินค้าจากเมืองหนึ่งเดินทางไปทำการค้าขายในดินแดนไกลๆ

ด้วยเหตุที่ชาวนาบาเตียนเดินทางไกลเพื่อค้าขาย ไปถึงไอยคุปต์และจีน จึงรับเอาความเจริญ ของชนเหล่านี้มา ชาวนาบาเตียนมีอักขระใช้ เป็นของตนเอง มีกฎหมายที่เข้มงวดรัดกุม และมีระเบียบวินัยกว่าชนเร่รอนอื่นๆ เป็นอันมาก ชาวเมืองนาบาเตียนจึงเจริญถึงกับรู้จักการใช้เทคโนโลยี แบบใหม่มาสร้างความสุขสบายให้กับตนเอง นั่นคือสามารถขุดคลองส่งน้ำเป็นระยะไกลๆ เข้าสู่ที่ตั้งของเมือง รวมทั้งการแกะสลักอาคารบ้านเรือนในหน้าผาได้อย่างน่าอัศจรรย์ เหตุใด Petra ซึ่งตั้งอยู่ในหุบเขาที่แห้งแล้ง ซึ่งมีฝนตกไม่เกินปีละ 2 ซม.จึงสามารถมีสวนได้ เพราะว่าชาว Nabataean มีวิธีทดน้ำ และมีความรู้ด้านวิศวกรรมชลประทานสูง จึงสามารถทดน้ำจากภูเขามาหล่อเลี้ยงผู้คน 20,000 คนในเมืองได้ การขุดพบท่อลำเลียงน้ำที่ทำด้วยดินเหนียวขนาดกว้าง 7 นิ้ว ซึ่งสามารถลำเลียงน้ำได้นาทีละ 4 แกลลอน จึงยืนยันว่า ชนเผ่า Nabataean เก่งในการขุดหาน้ำจริงสมชื่อที่มาจากคำอาหรับ anbata ซึ่งแปลว่า ค้นหาน้ำ 
เพตราในยุคนั้นมีทุกอย่างสมบูรณ์พร้อม มี วิหาร “เอ็ด-เดียร์” ซึ่ง กว้าง 150 ฟุต และสูง 130 ฟุต โอ่โถงงดงามด้วยลวดลายแกะสลักสวยงาม และมีอาคารที่เรียกว่า “พระคลังสมบัติ” (Treasury) อีกด้วย 
ที่น่าทึ่งมากคือโรงมหรสพกลางแจ้ง ที่เจาะในหน้าผาเช่นกัน ชาวนาบาเตียนไม่ปลูกอาคารลอยตัวเลย อาศัยขุดเจาะหน้าผาทั้งนั้น เมืองของเขาจึงไม่เหมือนใครทั้งนั้นในโลก 
นครอันมหัศจรรย์นี้เจริญมาถึงปี ค.ศ. 106 ก็เสียเอกราช (ประมาณ 100 ปีก่อน ค.ศ. หรือ2000กว่าปีมานี้เอง) โดยปิดทางเข้าเมือง และตัดท่อน้ำ จนในที่สุดจึงตกอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรโรมันที่นำโดย กษัตริย์ทราจัน และได้ผนึกเมืองแห่งนี้ให้เป็นหนึ่งในอาณาจักรโรมันแห่งแหลมอาระเบียตะวันออก 
ชาวโรมันซึ่งมีนิสัย รักความสวยงามรักศิลปะ ครั้นมาเห็นนคร นี่น่าพิศวง คือ เพตราเข้าก็ชอบใจ จึงส่งช่างมาตกแต่งดัดแปลงนคร ในเทือกเขาแต่เดิมให้วิลิศมาหรายิ่งขึ้น มีการเติมเสาแบบโรมัน เข้าไปเป็นอันมาก ตัดถนนหลายสาย และสร้างอาคารลอยตัวเพิ่มอีกหลายแห่ง เพตราจึงยิ่งเจริญและงดงามมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า 
มหานครเพตราก็รุ่งเรืองสวยงามอยู่ไม่นาน ประมาณ ค.ศ. 400 นั่นเอง เพตราก็เริ่มเสื่อมลงทั้งในด้านเศรษฐกิจและอื่นๆ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะการค้าขายเปลี่ยนไป เส้นทางลำเลียงทางเรือที่ค้นพบใหม่ ทำให้กองคาราวานอูฐไม่มีความหมาย พ่อค้าวาณิชหันไปใช้เส้นทางเรือกันเป็นส่วนใหญ่ กิจการของเพตราก็เลยเสื่อมลงทุกที การค้าขายฝืดเคืองเพราะสู้พวกที่ล่องทะเลไม่ได้ เพราะสามารถเดินทางได้รวดเร็วกว่า ครั้นจะเปลี่ยนไปใช้เส้นทางเรือก็ไม่ชำนาญ จึงยากจนลงไปเรื่อยๆ 
จนถึง ค.ศ. 710 ชาวโรมันแห่งอาณาจักรโรมันตะวันออก สิ้นอำนาจวาสนาลง เพตราก็เลยเสื่อมสลายตามไปด้วย ชาวเมืองเพตราถึงกับต้องทิ้งบ้านเมืองของตนไปหาที่ทำกินที่อื่นเพื่อความอยู่รอด ชั่วเวลาไม่นาน หลังจากนั้นนครอันน่าอัศจรรย์นี้ก็เกือบร้าง กลายเป็นที่อยู่ของพวกร่อนเร่ เบดูอินอื่นๆ ที่เข้ามาอาศัยอยู่ในอาคารที่เจ้าของทิ้งไปเสียแล้ว 
เพตราตายซากมานานจนเกือบ 2 พันกว่าปีถัดมา ได้มีหนุ่มนักสำรวจสายเลือดสวิสชื่อ อย่าง โยฮัน ลุดวิก เบิร์กฮาร์ดต์มาพบเข้าในปี 1812 ซึ่งเป็นช่วงที่เขากำลังสำรวจเส้นทางระหว่างดามัสกัส ไปยังไคโร แต่ไปได้ยินเรื่องราวของนครเพตราเข้า ทำให้เบิร์กฮาร์ดต์เกิดแรงบันดาลใจที่จะค้นหานครที่หายสาบสูญนี้ให้ได้ หนุ่มนักสำรวจไฟแรงเริ่มลงมือเรียนภาษาอาหรับ จนพูดได้คล่อง จากนั้นก็ปลอมตัวเป็นชาวอาหรับ เข้าไปคลุกคลีกับชาวเบดูอิน ซึ่งเป็นผู้รู้เส้นทางไปสู่นครเพตรา จนในที่สุดชาวเบดูอินใจอ่อนยอมพาเขาเข้าไปสำรวจซากเมืองนี้ 
จากหมู่บ้านเอลจี เบดูอินพาเบิร์กฮาร์ดต์เดินลัดเลาะไปตามเส้นทางที่ทอดยาวผ่าน วาดี มูสา และเข้าไปอยู่ในวงล้อมของหุบเขา จนเมื่อเห็นเมืองอันกว้างใหญ่อยู่ตรงหน้า มีทั้งความใหญ่โตโอ่อ่าของวิหาร สุสานของเมืองหิน เขาถึงกับตกตะลึง เมื่อมีจังหวะเหมาะเขาจึงแอบสเก็ตช์ภาพของเมืองลับแลแห่งนี้ออกมา เมื่อรูปที่เบิร์กฮาร์ดต์เขียนถึงเพตรา ถูกเผยแพร่ออกไป ในหนังสือที่เขาเขียนชื่อ “TRAVEL IN SYRIA” ผู้คนต่างพากันตื่นเต้นและตื่นตาตื่นใจกับความงามแปลกตาน่าฉงนของนครลับแล จากนั้นราวปี 1826 นักสำรวจชาวฝรั่งเศสอีก 2 คน คือ เคาน์ท ลีออง เดอ ลาบอร์เด และ มัวรีส ลีโนต์ เดินทางเข้าไปสำรวจเพตราอีกครั้ง และสเก็ตช์ภาพที่สมบูรณ์แบบมากขึ้นออกมาเผยแพร่ จากนั้นความงดงามและความอัศจรรย์ของเมืองลับแลที่ชื่อเพตราก็ถูกเปิด เผยสู่โลกปัจจุบันอีกครั้ง

 

Share this