ในร่างกายของคนหรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นพืชหรือสัตว์ หรือจุลินทรีย์นั้น มีหน่วยพันธุกรรมที่ควบคุมการแสดงออกของลักษณะต่างๆ เป็นต้นว่า ทำให้มีตาสีฟ้า ตาสีดำ มีผิวเหลือง ผิวขาว หน่วยพันธุกรรมดังกล่าวเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ยีน (gene) โดยยีนนี้มีส่วนประกอบที่สำคัญคือ DNA เมื่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เจริญขึ้น มีการศึกษาค้นคว้าวิเคราะห์โครงสร้างของยีน และได้ทดลองทำการตัดต่อยีน โดยนำยีนของสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง ใส่เข้าไปในสิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่ง และทำให้สิ่งมีชีวิตชนิดหลัง แสดงลักษณะบางประการของสิ่งมีชีวิตชนิดแรกออกมา การทดลองดังกล่าวเป็นที่มาของ GMOs โดยคำว่า GMOs นั้นมาจากคำว่าGenetically Modified Organisms ซึ่งแปลว่า สิ่งมีชีวิตที่ผ่านการดัดแปลง หรือตบแต่งด้วยกรรมวิธีทางพันธุวิศวกรรม (Genetic Engineering) การดัดแปลงหรือตัดต่อยีนนั้น นิยมทำในพืช เพราะทำได้ง่ายกว่า และสามารถศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นได้จากหลายชั่วอายุ ใช้เวลาน้อยกว่าศึกษาในสัตว์ เนื่องจากแต่ละช่วงอายุของสัตว์ใช้เวลายาวนานกว่าพืช ตัวอย่างของพืชที่ผ่านการตัดต่อทางพันธุกรรม เพื่อให้มีความต้านทานโรคและแมลงได้ดียิ่งขึ้น เช่น ฝ้าย ข้าวโพด และมันฝรั่ง เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์ทราบว่า สารที่สกัดมาจากแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า บีที หรือ Bacillus Thuringlensis สามารถกำจัดแมลงกลุ่มหนึ่งได้ จึงได้มีการนำเอายีนของแบคทีเรียชนิดนั้น มาตัดต่อและถ่ายฝากเข้าไปในพืช ทำให้พืชนั้นแสดงลักษณะของแบคทีเรียบีทีออกมา และต้านทานแมลงกลุ่มดังกล่าวได้.