ความขัดแย้งไทย-กัมพูชา
สมาชิกเลขที่79400 | 27 พ.ค. 55
5.5K views

ความขัดแย้งไทย-กัมพูชา เป็นเหตุการณ์ที่เริ่มต้นในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2551 เหนือกรณีพิพาทพรมแดนพื้นที่ปราสาทพระวิหาร หลังจากนั้น ก็ได้มีการปะทะระหว่างกำลังทหารทั้งสองฝ่ายหลายครั้ง พร้อมกับการอ้างสิทธิ์ของแต่ละฝ่ายเหนือดินแดนพิพาทดังกล่าว เหตุปะทะกันบริเวณชายแดน พ.ศ. 2554

 กุมภาพันธ์

เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ระหว่างการปะทะกันนานถึง 4-5 ชั่วโมง สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า ทหารไทยเสียชีวิต 7 นาย ส่วนทหารกัมพูชาเสียชีวิต 1 นาย และได้รับบาดเจ็บ 4 นาย ส่วนหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์รายงานว่าทหารไทยได้รับบาดเจ็บ 2-3 นาย ทหารกัมพูชาเสียชีวิต 1 นาย และมีการจับกุมทหารไทยไป 5 นาย พลเรือนไทยคนหนึ่งเสียชีวิตจากกระสุนปืนใหญ่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ ทหารไทยและกัมพูชาปะทะกันอีกรอบ ทหารไทย 1 นาย ถูกจับกุมระหว่างการปะทะวันที่ 6 กุมภาพันธ์ CNN รายงานว่า ไทยได้ถล่มกัมพูชายับเยินโดยยิงปืนใหญ่ 155 มม. ปูพรมไปทั่วแดนกัมพูชา ถนนและฐานทหารเสียหายมากมาย รถถังและรถหุ้มเกราะกัมพูชาเสียหายใช้การไม่ได้กว่าสามสิบคัน ส่วนรายชื่อผู้เสียชีวิตของทหารกัมพูชายังมิอาจประเมินได้เนื่องจากพื้นที่ไฟไหม้ แต่คาดว่าไม่น่าจะต่ำกว่าหกร้อยนาย วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยประกาศ พื้นที่ตำบลเสาธงชัย หมู่ที่ 2 3 9 10 12 13 และตำบลรุง หมู่ที่ 5 7 10 อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ อันเนื่องจากกองกำลังจากนอกประเทศ พร้อมจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยจังหวัดศรีสะเกษ ณ ที่ว่าการอำเภอกันทรลักษณ์ ส่วนรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศทำหนังสือชี้แจงถึงคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

ทางการมีการประกาศให้ประชาชนเข้าไปในหลุมหลบภัย และมีการอพยพย้ายออกจากพื้นที่ของประชาชน เพื่อป้องกันการที่ฝ่ายกัมพูชาใช้อาวุธหนักยิงเข้ามา ด้าน พันเอกสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก ให้สัมภาษณ์ว่า การปะทะกันของทหารทั้ง 2 ฝ่ายเริ่มขึ้นเมื่อเวลา 18.40 น. เริ่มจากทางทหารกัมพูชายิงพลุส่องสว่างเข้ามาตกที่บริเวณภูมะเขือ อ.กันทรลักษ์ หลังจากนั้นทหารกัมพูชายิงปืนใหญ่ของรถถังเข้ามาอีก ทำให้ทหารไทยต้องใช้มาตรการตอบโต้ โดยยิงเครื่องยิงลูกระเบิดสวนกลับไป

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2554: ที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ได้ลงความเห็นปฏิเสธข้อเรียกร้องของสมเด็นฮุน เชน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่ต้องการให้จัดประชุมฉุกเฉินประเทศสมาชิกคณะมนตรีฯ 15 ชาติและส่งกำลังทหารเข้ามารักษาความสงบในพื้นที่พิพาท โดยระบุควรแก้ไขปัญหากันเองในระดับภูมิภาค วันเดียวกัน ไม่มีเหตุปะทะกันเพิ่มเติม แต่มีรายงานว่าทหารกัมพูชาได้ใช้ช่วงที่ยังหยุดยิงกันอยู่นี้ขุดที่ตั้งใหม่และจัดตั้งกระสอบทรายเพิ่มเติม ทหารไทยนายหนึ่งซึ่งได้รับบาดเจ็บจากการยิงปืนใหญ่เมื่อวันที่ 6 เสียชีวิตเนื่องจากพิษบาดแผลที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 นายกษิต ภิรมย์ได้แถลงด้วยวาจาต่อประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่นครนิวยอร์ก ในถ้อยแถลงการณ์ของรัฐมนตรีต่างประเทศระบุใจความตอนหนึ่งว่าฝ่ายกัมพูชาละเมิดข้อตกลงหยุดยิง ที่ได้ตกลงกันใน วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ณ ช่องสะงำในจังหวัดศรีสะเกษ ที่ทั้งสองฝ่ายได้บรรลุข้อตกลงที่จะหยุดยิงทันที ผู้บังคับการทหารระดับภูมิภาคของไทยและฝ่ายกัมพูชา เป็นตัวแทนเจรจา

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ ได้เกิดการปะทะกันรอบใหม่ขึ้น เหตุยิงกันดังกล่าวกินเวลาไม่กี่นาที ถึงแม้ว่าสื่อท้องถิ่นจะรายงานว่าทหารไทยได้รับบาดเจ็บ 5 นาย แต่กองทัพออกมาระบุว่ามีทหารได้รับบาดเจ็บ 1 นายจากการสู้รบ

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ การปะทะกันทวีความรุนแรงขึ้น โดยมีการปะทะกันถึงสามครั้งในวันนี้ (5.00 น., 20.00 น., 22.00 น.) แต่ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากทั้งสองฝ่าย โฆษกกองทัพบกไทย สรรเสริญ แก้วกำเนิด ระบุว่า ฝ่ายกัมพูชาเป็นผู้เริ่มโจมตีก่อน โดยใช้ปืนครกและอาร์พีจี ทำให้ฝ่ายไทยต้องทำการตอบโต้ อย่างไรก็ตาม ปาย สิฟาน โฆษกคณะรัฐมนตรีกัมพูชาปฏิเสธว่ากัมพูชาเป็นฝ่ายเริ่มก่อน และกล่าวตรงกันข้าม กัมพูชาต้องการความช่วยเหลือจากนานาชาติเพื่อป้องกันมิให้มีการสู้รบเกิดขึ้นต่อไป ขณะที่ไทยกล่าวว่าปัญหาดังกล่าวควรได้รับการแก้ไขในระดับทวิภาคี ในวันเดียวกัน มีรายงานที่ไม่ได้รับการยืนยันว่ารถถังเวียดนามได้มุ่งหน้ามายังชายแดนไทย-กัมพูชา อย่างไรก็ตาม ฮุน เซน ปฏิเสธรายงานดังกล่าว

ในความตกลงซึ่งบรรลุในการประชุมอาเซียนในจาการ์ตา กัมพูชาและไทยตกลงที่จะให้ผู้สังเกตการณ์ชาวอินโดนีเซียสังเกตพื้นที่พิพาทพรมแดน โดยมีทั้งทหารและพลเรือนรวม 40 คน ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียออกมาระบุว่า คณะที่ส่งไปนั้นมิใช่เพื่อรักษาสันติภาพหรือใช้กำลังให้เกิดสันติภาพ โดยคณะดังกล่าวจะไม่ติดอาวุธ

เมษายน- พฤษภาคม

เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2554 ทางการไทยได้ยอมรับว่ามีการใช้กระสุนระเบิดทวิประสงค์ (DPICM) ระหว่างการปะทะกันจริง ซึ่งถูกระบุตามจากกลุ่มเครือข่ายความร่วมมือต่อต้านระเบิดลูกปราย (CMC) ว่าเป็นระเบิดลูกปรายประเภทหนึ่ง โดยอาวุธดังกล่าวประกอบด้วยระเบิดมือขนาดเล็กนับหลายร้อยลูก หรือลูกปราย ซึ่งกระจายไปกินอาณาบริเวณกว้าง และถูกห้ามโดยประเทศส่วนใหญ่ตามอนุสัญญาว่าด้วยระเบิดลูกปราย ประเทศไทยไม่ได้ลงนามในสนธิสัญญา แต่ได้ให้สัญญาอย่างเปิดเผยว่าจะไม่ใช้อาวุธดังกล่าว ทาง CMC กล่าวว่าเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นการใช้ระเบิดลูกปรายที่ได้รับการยืนยันครั้งแรกนับตั้งแต่อนุสัญญาได้กลายมาเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ

ปราสาทตาเมือนธม

วันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2554 ในช่วงเช้าได้เกิดการปะทะกันขึ้นบริเวณจังหวัดสุรินทร์ ด้านปราสาทตาควาย ต.บักได อ.พนมดงรัก เรื่อยมาจนถึงปราสาทตาเมือนธม ต.ตาเมียง อ.พนมดงรัก ทำให้ทหารไทยเสียชีวิต 4 นาย และบาดเจ็บอีก 14 นาย มีการพบลูกกระสุนปืนใหญ่ฝ่ายทหารเขมรยิงเข้าตกมายังฝั่งไทยที่บริเวณฝายน้ำล้น บ้านสายโท 12 ต.สายตะกู อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ 1 ลูก พร้อมได้ยินเสียงปืนดังตลอดเวลาจึงต้องทำการอพยพ ชาวบ้าน ราว 2,500 คนออกจากพื้นที่ ทางกระทรวงต่างประเทศไทยส่งหนังสือประท้วงอย่างรุนแรงที่สุดผ่านเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย หลังจากเกิดเหตุการณ์การปะทะผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ได้ประกาศอำเภอบ้านกรวดเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติภาวะสงครามทั้งอำเภอ ชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ประกาศให้ บริเวณปราสาทตาเมือนธม หมู่ที่ 8 ตำบลตาเมียง พื้นที่ หมู่ที่ 1-15 ตำบลแนงมุด หมู่ที่ 1-14 ตำบลโคกตะเคียน หมู่ที่ 1-20 ตำบลกาบเชิง หมู่ที่ 1-18 ตำบลด่าน หมู่ที่ 1-9 ตำบลตะเคียน อำเภอพนมดงรัก ในพื้นที่หมู่ที่ 1-20 ตำบลบักได หมู่ที่ 1-12 ตำบลตาเมียง หมู่ที่ 1-12 ตำบลจีกแดก หมู่ที่ 1-11 ตำบลโคกกลาง จังหวัดสุรินทร์ ทั้ง 2 ตำบล เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ อันเนื่องจากกองกำลังจากนอกประเทศและพลเอก ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้แถลงตอนหนึ่งว่า ในเวลานี้ไม่จำเป็นต้องเจรจากับใครหากชาติไทยถูกลุกล้ำ หรือถูกภัยคุกคามประเทศ ก็พร้อมที่จะใช้กำลังตอบโต้จนถึงที่สุด และได้สั่งการเตรียมพร้อมยกระดับแผนป้องกันประเทศ

วันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2554 นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ประกาศให้ อำเภอกาบเชิง ยกเว้นอำเภอคูตัน อำเภอปราสาท บางอำเภอ จังหวัดสุรินทร์เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ อันเนื่องจากกองกำลังจากนอกประเทศและมีทหารไทยเสียชีวิตเพิ่ม 1 นาย ด้านกัมพูชามีการอพยพประชาชนราว 5,000 คนในจังหวัดบันเตียเมียนเจย โดยย้ายออกไป 30 กิโลเมตรจากเขตสู้รบ

วันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2554 ได้มีการปะทะกันเป็นวันที่สาม ทหารไทยเสียชีวิต 1 นายได้รับบาดเจ็บ 6 นาย

วันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2554 ได้มีการปะทะกันเป็นวันที่สี่ อาสาสมัครทหารพรานเสียชีวิต 1 นาย นายเสริม ไชยณรงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ได้ประกาศให้พื้นที่ หมู่ที่ 1, 4, 6, 7, 9, 12, 13, 16, 18 ตำบลโคกสะอาด และหมู่ที่ 4,12 ตำบลโชคนาสาม อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ อันเนื่องจากกองกำลังจากนอกประเทศ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา ได้ชี้แจงผ่านสื่อมวลชนว่าการจะประกาศสงครามกับประเทศกัมพูชาจำเป็นต้องให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบก่อน กษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของไทย ประกาศทบทวนนโยบายต่างประเทศกับประเทศกัมพูชาทั้งหมด โดยอ้างว่าทางการกัมพูชาไม่ต้องการการเจรจาจึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการ

วันที่ 26 เมษายน พ.ศ.2554 โฆษกกระทรวงกลาโหมของไทย ได้แถลงว่ากองทัพมีความพร้อมทางยุทโธปกรณ์ ที่จะปกป้องอธิปไตยของประเทศและตอบโต้ตามความเหมาะสม กับปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ถ้อยแถลงนี้เกิดขึ้นมีขึ้นหลังจากการประชุมสภากระทรวงกลาโหมได้เสร็จสิ้นลง และหลังจากรัฐมนตรีต่างประเทศประกาศทบทวนนโยบายด้านการต่างประเทศกับประเทศกัมพูชาทั้งหมด ในขณะที่การปะทะได้ลุกลามออกไปที่จังหวัดศรีสะเกษ ตำบลเสาธงชัย อำเภอกันทรลักษ์ มีรายงานว่าจนถึงขณะนี้ ทหารไทยเสียชีวิต 5 นาย และได้รับบาดเจ็บมากกว่า 35 นาย ส่วนทหารกัมพูชาเสียชีวิต 7 นาย ได้รับบาดเจ็บ 17 นาย และอีก 1 นายหายสาบสูญ

วันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2554 ชาวบ้านอำเภอกาบเชิง เสียชีวิต 1 คน รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของไทยเดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน โดยเป็นไปตามคำเชิญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจีน ทั้งนี้คาดว่าเป็นการหารือเรื่องความขัดแย้งไทย-กัมพูชา เนื่องจากกองทัพกัมพูชาได้รับการสนับสนุนจากประเทศจีน ซึ่งจากเหตุการณ์ดังกล่าว ได้มีสื่อกัมพูชาบางแห่งรายงานว่าไทยได้ยอมรับความพ่ายแพ้ที่เกิดขึ้น

วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2554 มีการยืนยันว่าทหารไทยเสียชีวิตเพิ่มอีก 2 นายตั้งแต่เวลา 20.20 น.ทหารกัมพูชายิงปืน ค.60 เข้ามาบริเวณปราสาทตาควาย 4 ลูก ส่งผลให้ทหารไทยได้รับบาดเจ็บ ส่วนประเทศกัมพูชาได้ยื่นคำร้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เพื่อขอให้ศาลตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ. 2505ที่ศาลได้ตัดสินเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2505 และในวันเดียวกันประเทศกัมพูชาได้ยื่นคำร้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเพื่อขอให้ศาลระบุมาตรการคุ้มครองชั่วคราวเพื่อรักษาสิทธิของกัมพูชาอย่างเร่งด่วน วันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2554 ทหารไทยเสียชีวิตเพิ่มอีก 1 คน โฆษกกองทัพไทยระบุว่าทหารไทยได้รับบาดเจ็บเพิ่มอีก 11 นาย รวมมีทหารได้รับบาดเจ็บรวม 58 นาย

วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2554 การสู้รบดำเนินต่อไปเป็นวันที่เก้า ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตหรือทหารไทยบาดเจ็บ 10 นาย  วันเดียวกัน แม่ทัพภาคที่ 2 พลโท ธวัชชัย สมุทรสาคร ได้อาศัยอำนาจพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2547 ให้พื้นที่ตำบลเสาธงชัย อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นพื้นที่ภัยสงคราม นับเป็นครั้งแรกที่ทหารใช้อำนาจตามประกาศพระราชบัญญัติ กฎอัยการศึก พ.ศ.2547 ซึ่งประกาศมาตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2550โดยขับไล่ประชาชนไม่อนุญาตให้อยู่ในพื้นที่ และประกาศเป็นเขตภัยสงครามพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณเดินทางกลับจากสาธารณรัฐประชาชนจีน

วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ทหารไทยได้รับบาดเจ็บสองนายจากการปะทะ ที่ บริเวณปราสาทตาควาย ต.บักได อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ ประชาชนเสียชีวิตที่ศูนย์อพยพสองรายสาเหตุจากความเครียดจากการปะทะตามแนวชายแดน ฝ่ายกัมพูชามีทหารเสียชีวิต 1 นาย ทำให้เหตุการณ์ปะทะกันตั้งแต่เดือนเมษายนมีผู้เสียชีวิตแล้วรวม 17 คน แบ่งเป็นทหารกัมพูชา 9 นาย ทหารไทย 7 นาย และพลเรือนชาวไทยเสียชีวิต 1 คน ส่วนจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บนั้น ชาวไทยได้รับบาดเจ็บทั้งสิ้น 95 คน แบ่งเป็นทหาร 50 นาย และทหารกัมพูชาได้รับบาดเจ็บ 18 นาย ด้านโฆษกกองทัพไทย พันเอกประวิทย์ หูแก้ว ระบุว่า ทั้งสองฝ่ายได้ปะทะกันด้วยอาวุธปืนอัตโนมัติตลอดคืนวันดังกล่าว และทางการไทยอ้างว่าไม่มีทหารไทยคนใดเสียชีวิตในเหตุปะทะกันดังกล่าว ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมกัมพูชาออกแถลงการณ์ซึ่งประณามไทยจากเหตุปะทะกันนานสิบวัน มีใจความว่า "การรุกรานกัมพูชาของทหารไทยซ้ำแล้วซ้ำเล่าได้สร้างความเสียหายแก่กัมพูชาทีละน้อย นี่เป็นพฤติการณ์ที่ไม่อาจยอมรับได้"

วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ผู้บัญชาการทหารบกสั่งเตรียมเคลื่อนย้ายกำลังกรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์หน่วยพร้อมรบเคลื่อนที่เร็ว (อาร์ทีเอฟ) ของกองทัพบกนอกจากนี้ผู้บัญชาการทหารบกสั่งเตรียมเคลื่อนย้ายกำลังกองทัพภาคที่ 3 โดยมีการสนธิกำลังจาก กองพลทหารราบที่ 4 (พล.ร. 4 ) จำนวน 1 กองพัน ทหารไทยเสียชีวิต 1 นาย

วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 รัฐมนตรีต่างประเทศของไทย นายกษิต ภิรมย์ เดินทางไปยัง กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อหารือกับ คณะที่ปรึกษาทางกฎหมายต่างชาติ เพื่อต่อสู้คดีภายหลังประเทศกัมพูชา ยื่นคำร้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ

วันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ชาวบ้าน ต.บักได อ.พนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ทำการอพยพ หลังจากทราบข่าวว่ามีการเคลื่อนกำลังของกองทัพกัมพูชา บริเวณช่องกร่าง ซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างปราสาทตาควายกับปราสาทตาเมือนธม

วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ชาวบ้าน ต.บักได อ.พนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ ได้รับการแจ้งว่ากองทัพกัมพูชากำลังทดสอบอาวุธปืนใหญ่ บริเวณชายแดนเพื่อปรับพิกัดอาวุธปืน จึงได้ยินเสียงปืนใหญ่เป็นระยะ ๆ ในวันเดียวกันแม่ทัพภาคที่สองสั่งให้ทำการปิดพรมแดน โดยกล่าวว่ามีการส่งออกน้ำมันและยุทธปัจจัยไปยังประเทศกัมพูชา

วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 และ วันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 กองทัพกัมพูชาทำการทดสอบอาวุธปืนใหญ่เป็นวันที่สองและสามส่งผลให้ชาวบ้านได้ยินเสียงปืนใหญ่มาจากฝั่งชายแดนประเทศกัมพูชาเป็นระยะ ๆ

 มิถุนายน

วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2554 อ.กันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ชาวบ้านได้ยินเสียงปืนเอ็ม61 วัลแคนเอ็ม 16ปืนสั้นดังมาจากบริเวณภูมะเขือยาวนานกว่า 6 นาทีสร้างความหวาดกลัวแก่ชาวบ้าน

 การตีความคำพิพากษา

หลังความขัดแย้งได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2554 กัมพูชาได้ยื่นคำร้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเพื่อขอให้ศาลตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ. 2505 และในวันเดียวกันประเทศกัมพูชาได้ยื่นคำร้องต่อศาลเดียวกันเพื่อขอให้ศาลระบุมาตรการคุ้มครองชั่วคราวเพื่อรักษาสิทธิของกัมพูชาอย่างเร่งด่วน ปัจจุบันคดีดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างกระบวนพิจารณาของศาล

Share this