รัชกาลที่6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
สมาชิกเลขที่79400 | 27 พ.ค. 55
1.3K views

รัชกาลที่6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ 6 ครองราชย์ ๑๖ ปี (พ.ศ. ๒๔๕๓-๒๔๖๘)พระชนมายุ ๔๖ พรรษา เสด็จพระราชสมภพ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๒๓ พระนามเดิมว่า สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ
เป็นพระราชโอรส ในพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จเจ้าฟ้า กรมขุนเทพทวาราวดี เมื่อ พระชนมายุได้ ๘ พรรษา เมื่อพระชนมายุได้ ๑๑ พรรษา ได้เสด็จ ไปศึกษาวิชาการที่ประเทศอังกฤษ ทรงศึกษาใน มหาวิทยาลัย ออกซ์ฟอร์ด และศึกษาวิชาการทหารบก ที่โรงเรียนนายร้อย แซนด์เฮิสต์ ได้รับสถาปนา เป็นสมเด็จพระบรม โอรสาธิราช สยามมงกุฎราชกุมาร เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๗ เสด็จกลับประเทศไทยแล้ว ทรงเข้ารับราชการในตำแหน่งจเรทัพบก และทรงบัญชาการ ทหารมหาดเล็ก ดำรงพระยศพลเอก เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ ได้ทรงปรับปรุง ด้านการศึกษาของไทย โปรดให้ตราพระราชบัญญัติประถมศึกษา ให้เป็นการศึกษาภาคบังคับ ทรงตั้งกระทรวงการทหารเรือ กองเสือป่า และกองลูกเสือ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กรมศิลปากร โรงไฟฟ้าหลวงสามเสน คลังออมสิน กรมสถิติพยากรณ์ กรมสรรพากร กรมตรวจเงินแผ่นดิน กรมมหาวิทยาลัย กรมรถไฟหลวง และเปิดเดินรถไฟไปเชื่อมกับมลายู ตั้งสถานเสาวภาและกรมร่างกฎหมาย ทรงเปลี่ยนการใช้ รัตนโกสินทรศก (ร.ศ) เป็นพุทธศักราช (พ.ศ.) พระองค์ได้ทรงปลูกฝัง ความรักชาติให้เกิดขึ้น ในหมู่ประชาชาวไทย ทรงเป็นศิลปิน และส่งเสริมงานประพันธ์เป็นอย่างมาก ทรงเป็นผู้นำในการประพันธ์วรรณคดีไทย ทั้งที่เป็น ร้อยแก้ว และร้อยกรอง ทรงเขียนหนังสือ ทางด้านประวัติศาสตร์ และด้าน การทหารไว้เป็น จำนวนมาก ประมาณถึง ๒๐๐ เรื่อง พระองค์จึงได้รับ ถวายพระราชสมัญญานามว่า สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ทรงเป็นนักปราชญ์ที่ยิ่งใหญ่ พระองค์หนึ่งของไทย การปกครองประเทศ ได้ทรงเจริญรอยตามสมเด็จพระราชบิดา สานต่องานที่ยังไม่เสร็จสิ้น ใน รัชสมัยของพระองค์ ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ โดยมีสมรภูมิอยู่ในทวีปยุโรป ทรงตัดสินพระทัยประกาศสงคราม กับเยอรมัน โดยเข้าร่วมกับสัมพันธมิตร ได้ส่งทหารไทยไปร่วมรบ ณ ประเทศฝรั่งเศส ผลที่สุดได้ เป็นฝ่ายชนะสงคราม ทำให้ไทยได้รับการแก้ไขสนธิสัญญา ที่ไทยเสียเปรียบต่างประเทศได้เป็นอันมาก
ด้านการศึกษา
จัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกฐานะ โรงเรียน ข้าราชการพลเรือนฯ ขึ้นเป็น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ นับเป็นมหาวิทยาลัย แห่งแรกของไทย
ทรงตราพระราชบัญญัติประถมศึกษา ปีพ.ศ. ๒๔๖๔ ให้บิดามารดาส่งบุตรเข้าโรงเรียนโดยไม่เสียค่าเล่าเรียน
ด้านเศรษฐกิจ
จัดตั้งธนาคารออมสินขึ้น เพื่อให้ประชาชนรู้จักออมทรัพย์ และเชื่อมั่นในสถาบันการเงิน เนื่องจาก มีธนาคารพาณิชย์เอกชน ที่ฉ้อโกง และต้องล้มละลายปิดกิจการ ทำให้ผู้ฝากเงินได้รับความเสียหายอยู่เสมอ
ใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อหุ้นของ ธนาคารสยามกัมมาจล ทุนจำกัด(ปัจจุบันคือ ธนาคารไทยพาณิชย์) ซึ่งมีปัญหา การเงิน ทำให้ธนาคารของคนไทยแห่งนี้ดำรงอยู่มาได้
ทรงริเริ่มตั้ง บริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด ซึ่งได้เป็นกิจการ อุตสาหกรรมสำคัญของไทยต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน

ด้านการแพทย์และสาธารณสุข
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และวชิรพยาบาลเพื่อรักษาพยาบาลประชาชนที่เจ็บไข้ได้ป่วย
ทรงเปิดสถานเสาวภา เมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๕ เพื่อผลิตวัคซีน และเซรุ่ม เป็นประโยชน์ ทั้งแก่ ประชาชนชาวไทยและประเทศใกล้เคียงอีกด้วย ทรงเปิดการประปากรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๗

ด้านกิจการ

เสือป่าและลูกเสือ ทรงจัดตั้งกองเสือป่าขึ้นเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๔โดยมีพระราชประสงค์จะฝึกอบรมข้าราชการให้มีระเบียบวินัย มีความสามัคคี มีน้ำใจเป็นสุภาพบุรุษ
ประพฤติตนดี รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นกำลังของชาติในยามคับขัน ทรงจัดตั้งกองลูกเสือขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ เพื่อฝึกเยาวชนให้มีความสามัคคีมานะอดทน เสียสละเพื่อส่วนรวม และเป็นผู้ช่วยรบได้ในยามคับขัน พระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ ๖เป็นรูปวชิราวุธ ยอดมีรัศมี ประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า ซึ่งตั่งอยู่เหนือตั่ง มีฉัตรกลีบ บัวตั้งอยู่สองข้างเป็นสัญลักษณ์ พระบรมนามาภิไธย "วชิราวุธ" หมายถึง อาวุธของพระอินทร์

รัชกาลที่7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ 7 ครองราชย์ ๙ ปี (พ.ศ. ๒๔๖๘-๒๔๗๗)พระชนมายุ ๔๘ พรรษา เสด็จพระราชสมภพ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๓๖พระนามเดิมว่า สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์
ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์เล็กของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ได้รับสถาปนาเป็น กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา เมื่อพระชนมายุ ได้ ๑๒ พรรษา ได้เสด็จไป ศึกษาวิชาการทหารบก ที่ประเทศอังกฤษ และฝรั่งเศส สำเร็จการศึกษาแล้ว เสด็จกลับ ประเทศไทย เข้ารับราชการที่ กองพันทหารปืนใหญ่ ที่ ๑ รักษาพระองค์ ในตำแหน่งผู้บังคับกองร้อย ต่อมาได้รับราชการ ในตำแหน่ง ผู้บังคับการ โรงเรียนนายร้อยทหารบกชั้นปฐม ปลัดกรมเสนาธิการทหารบก ผู้บัญชาการกองพลทหารบกที่ ๒ แล้วได้ทรง กรมเป็นกรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา
เสด็จขึ้น ครองราชสมบัติ เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ ในช่วงเวลาที่ เศรษฐกิจของประเทศ และของโลกกำลังทรุดหนัก อันเป็นผลเนื่องมาจาก สงครามโลก ครั้งที่ ๑ ซึ่งพระองค์ก็ได้ทรงแก้ไข อย่างเต็มพระกำลังความสามารถ จนประเทศไทย ได้รอดพ้นจาก วิกฤติการณ์นั้นได้ ในรัชสมัยของพระองค์ ไทยสามารถ ติดต่อกับ นานาประเทศทางวิทยุ และโทรเลขได้โดยทั่วไป เป็นครั้งแรก ทรงพระราชทานนาม หอสมุดแห่งชาติ พิมพ์พระไตรปิฎก เล่มใหม่ สร้างโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย เปิดเดินรถไฟไปถึง ชายแดนไทยติดต่อกับเขมร แก้ไขระบบการ จัดเก็บ ภาษีอากรใหม่ ตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียง แห่งประเทศไทย ประกาศพระราชบัญญัติเงินตรา และทรงตรากฎหมายอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก สร้างสะพานพระปฐมบรมราชานุสรณ์ (สะพานพระพุทธยอดฟ้า ฯ) วันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ คณะราษฎร์ ได้ปฏิวัติเปลี่ยนแปลง การปกครอง
ต่อมาเมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ พระองค์ได้ตัดสิน พระทัย สละราชสมบัติ ต่อมาได้เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ณ ประเทศอังกฤษ พระราชหัตถเลขา ที่ทรงลาออกจากราชบัลลังค์ มีความตอนหนึ่งว่า "ข้าพเจ้ามีความเต็มใจ ที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่เดิม ให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ ยินยอมยกอำนาจทั้งหลาย ของ ข้าพเจ้าให้ แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจ โดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียง อันแท้จริงของ ประชาราษฎร" พระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ ๗ เป็นรูปพระแสงศร ๓ องค์ คือ พระแสงศรพรหมมาสตร์ พระแสงศร ประลัยวาต และพระแสงศรอัคนีวาต บนราวพาดพระแสง เหนือขึ้นไปเป็น ดวงตรามหาจักรีบรมราชวงศ์ ภายใต้ พระมหาพิชัยมงกุฎ ด้านซ้ายและขวา ตั้งบังแทรก มีลายกนกแทรกอยู่ บนพื้น ตอนบนของดวงตรา พระแสงศร ๓ องค์ นี้เป็นพระราชสัญลักษณ์ของพระบรม นามาภิไธย "ประชาธิปกศักดิเดชน์" "เดชน์" แปลว่า ลูกศร

Share this