จักรวรรดิไศเลนทร์ (1)
สมาชิกเลขที่110332 | 27 พ.ค. 55
10.2K views

นักโบราณคดีได้ขุดค้นโบราณสถานบริเวณลุ่มแม่น้ำสินธุ ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย ปัจจุบันก็คือประเทศปากีสถาน พบเมืองโบราณขนาดใหญ่ก่อสร้างด้วยหินและอิฐดินเผาอย่างมีระเบียบแบบแผนทางสถาปัตยกรรมประกอบด้วยถนนหนทางคูระบายน้ำและระบบสุขลักษณะอย่างครบถ้วนฝังจมอยู่ใต้พื้นดิน บริเวณโบราณสถานดังกล่าว ค้นพบศิลปวัตถุเครื่องมือเครื่องใช้จำนวนมาก เป็นหลักฐานบ่งบอกให้ทราบอย่างชัดเจนว่า เคยเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่โตมโหฬารและมีเคยมีความเจริญรุ่งเรืองในอดีตเมื่อหลายพันปีก่อน เรียกกันว่า “เมืองหารัปปา” และ “เมืองโมเหนจาดาโร” ต่อมาได้กลายเป็นชื่อของแหล่งอารยธรรมเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก สันนิษฐานว่าคงหมายถึง “เมืองสุทัศน์” ในตำนานเทพปรกรณัมของชาวอินเดียที่กล่าวถึงเรื่องราวปรัมปรากล่าวถึงการสู้รบในเทพนิยายเรื่อง “เทวอสูรสงคราม” การรบพุ่งแย่งชิงเมืองสวรรค์ชั้นฟ้ากันอย่างหฤโหดจนไม่ทราบว่าฝ่ายใดเป็น “เทพ” ฝ่ายใดเป็น “อสูร” แต่เชื่อกันว่าคงหมายถึงการทำสงครามกันระหว่างชนชาวอินเดียผิวดำเจ้าของถิ่นฐานบ้านเมืองดั้งเดิมเรียกกันว่า “ทราวิต” หรือ “มิลักขะ” กับชนชาวอารยันผิวขาวรูปร่างสูงใหญ่แบบฝรั่งผู้บุกรุกมาจากทะเลสาบแคสเปียน ในประเทศอิหร่าน ต่อมาได้กลายเป็นมหากาพย์บันลือโลกของอินเดียเรื่อง “รามายณะ” หรือ “รามเกียรติ์” ซึ่งบรรดาราชวงศ์กษัตริย์ทั้งหลายในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่างอ้างว่าปฐมราชวงศ์ของพระองค์สืบเชื้อสายมาจาก “พระราม”

กล่าวกันว่าชนชาวอินเดียพื้นเมืองผิวดำที่เรียกกันว่า “ทราวิต” หรือ “มิลักขะ” สร้างสรรค์อารยธรรมอันรุ่งเรืองขึ้นในแผ่นดินชมพูทวีปมาหลายพันปี ก่อนที่ชนชาวอารยันขาวยุคแรกจะบุกรุกเข้าไปแย่งชิงดินแดน ชาวอินเดียผิดดำเคยมีความคิดความเชื่อในทางศาสนาเกี่ยวกับการเคารพบูชาธาตุในธรรมชาติ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ นับถือว่าเป็นเทพเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์มีอำนาจยิ่งใหญ่ในการสร้างสรรค์สรรพสิ่งขึ้นมาในโลก ทวยเทพดังกล่าวสถิตอยู่ในวิมานบนสวรรค์และเหนือภูเขาหิมาลัยที่สูงเสียดฟ้า จึงมีความคิดในการสร้างสรรค์เกี่ยวกับการนับถือบูชาระบบธาตุอยู่ก่อนแล้ว

ต่อมาชาวอารยันผิวขาวรูปร่างสูงใหญ่แบบฝรั่งจากประเทศอิหร่าน ซึ่งมีความเจริญทางวัฒนธรรมและอารยธรรมสูงมีความคิดทางศาสนานับถือบูชา พระอาทิตย์ หรือ เทพสาวิตรี ผู้ศักดิ์สิทธิมีอำนาจยิ่งใหญ่เหนือกว่าทวยเทพทั้งหลายทั้งปวงสถิตอยู่เหนือยอดภูเขามิตตระ ผู้ทรงประทานแสงสว่างและความอบอุ่นให้แก่โลก สร้างสรรค์โลก จึงสร้างเทวสถานขึ้นเพื่อกราบไหว้นับถือบูชา “พระอาทิตย์” หรือ “ไฟในสวรรค์”

กล่าวกันว่าชนชาติอิหร่านในอดีตมีความรู้ในการใช้ไฟที่มีความร้อนสูงมาก หลอมละลายแร่เหล็กและไล่เอากากออกไปได้ แล้วนำเอาเหล็กบริสุทธิ์มาประดิษฐ์เป็นเครื่องใช้ที่แข็งแรงทนทานดียิ่งกว่าโลหะชนิดใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสามารถนำมาผลิตเป็นอาวุธภัณฑ์นานาประการ และสร้างสรรค์ “ผานไถเหล็ก” สำหรับใช้ในการทำไร่ไถนาในยุคเกษตรกรรมเริ่มแรก พัฒนาการบ้านเมืองจนมีความเจริญรุ่งเรือง กลายเป็นชาติมหาอำนาจเหนือกว่า อียิปต์ แห่งลุ่มแม่น้ำไลน์ และ อัสซีเรีย ในลุ่มแม่น้ำยูเปรดิสไตกริส หรือ ประเทศอีรัค ในปัจจุบันคำว่า “อารยัน” ซึ่งเป็นรากฐานที่มาของคำว่า “อารยะ” ซึ่งแปลว่า “ความเจริญ” แท้จริงแล้วมาจากมีนัยความหมายของคำว่า “ผานไถเหล็ก” ที่เกิดขึ้นในประเทศอิหร่านเป็นครั้งแรกในโลก

การสู้รบระหว่างชนพื้นเมืองผิวดำผู้เป็นเจ้าถิ่น กับชาวอารยันผิวขาวผู้บุกรุก ดังปรากฏเรื่องราวเค้าเงื่อนปรากฏอยู่ในตำนานปรัมปราเรื่อง “เทวอสุราสงคราม” หากหลักฐานในการค้นพบการใช้ความร้อนสูงในการหลอมละลายธาตุเหล็กจนสามารถพัฒนาเป็นอาวุธยุทธภัณฑ์ใช้ในการทำสงครามสมัยนั้นเป็นความจริงแล้ว ผลการสู้รบย่อมคาดหมายได้ว่าชนชาวอารยันย่อมเผด็จศึกชนชาวพื้นเมืองลงได้อย่างราบคาบ ชนชาวอินเดียผิวดำคงอพยพหลบหนี้ลี้ภัยลงไปทางภาคใต้ข้ามน้ำข้ามทะเลไปจนถึงเกาะลังกา ชนชาวอารยันผิวขาวจึงตั้งหลักแหล่งมั่นคงอยู่ในแถบลุ่มแม่น้ำยมุนา แม่น้ำคงคา ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย คือบริเวณเมืองอินทรปัสถ์ หรือ เมืองเดลฮี ในสมัยปัจจุบัน

ผู้นำของชนเผ่าชาวอารยันได้ยึดครองผืนแผ่นดินทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอินเดียสร้างอาณาจักรขึ้นมาปกครอง ดังปรากฏอยู่ในเรื่องราวมหากาพย์ภารตะเกี่ยวกับการสืบสายฝ่าย “สุริยวงศ์” หรือ “ราชวงศ์พระอาทิตย์”(Sun Dynasty) ในเรื่อง “รามายณะ” หรือในวรรณคดีไทยเรียกว่า “รามเกียรติ์” และเรื่องราวเกี่ยวกับสืบราชวงศ์ฝ่าย “จันทรา” หรือ “ราชวงศ์พระจันทร์”(Moon Dynasty) ในมหากาพย์เรื่อง “มหาภารตะยุทธ” ซึ่งเนื้อหาสารของหมากาพย์ดังกล่าวล้วนแต่เป็นการสดุดีวีรกรรมของนักรบในวรรณะกษัตริย์ ผู้ทำหน้าที่ปกป้องเผ่าพันธุ์และรักษาบ้านเมืองดุจดังพระนารายณ์ผู้สร้างโลกและควบคุมสรรพสิ่งในโลกให้เป็นไปตามความประสงค์ของพระองค์ แต่เมื่อใดเกิดยุคเข็ญก็จะอวตารลงมาช่วยระงับความเดือนร้อนโลกมนุษย์ ความคิดและความเชื่อดังกล่าวได้กลายเป็นรากฐานเกี่ยวกับหลักปรัชญาและคำสอนทางศาสนาของชาวอารยัน เมื่อผสมผสานเข้ามาผสมผสานเข้ากับความคิดความเชื่อทางศาสนาของชนชาวพื้นเมืองผิวดำ จึงเกิดเทพเจ้าผู้มีอำนาจยิ่งใหญ่และมีความศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมามาย การค้นหาแก่นความรู้อันลี้ลับที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในธรรมชาติ จนกระทั่งค้นพบ “ความจริงสูงสุด” หรือ “ปรมัตถ์สัจ” นำไปสู่ความขัดแย้งยุ่งยากทางศาสนาชนชั้นปกครองของภารตะในยุคดึกดำบรรพ์จึงพยายามประนีประนอมหล่อหลอมความคิดความเชื่อทางปรัชญาและศาสนาโดยศึกษาค้นหาความจริงเกี่ยวกับธรรมชาติในโลกและในจักรวาล จนกระทั่งค้นพบความจริงความลับที่ล้ำลึกของ “ความจริงสูงสุด” หรือ “ปรมัตถ์สัจ” ทั้งในระดับ “ตรีกาย” คือ “ระดับกายวัตถุ” (Physical) “ระดับจิตวิญญาณ” (Psychical) และ “ระดับจักรวาล” (Cosmic) ที่เชื่อมโยงต่อเนื่องถึงกันทั้ง 3 ด้วยไฟในสวรรค์

ความจริงสูงสุดของ “ตรีกาย” (Trilokayam) อันเป็นหลักอภิปรัชญาสูงสุดที่ศึกษาค้นคว้ากันมาก่อน “ยุคพระเวท” เมื่อราว 3000 ปีก่อน ก็คือ การค้นพบภาพลักษณ์ของสิ่งที่ทรงอำนาจสูงสุดของ “องค์พรหม” (Brahman) ที่แทรกซึมแพร่กระจายเป็นส่วนของสรรพสิ่งทั้งปวงในจิตวิญญาณของมนุษย์ที่เรียกว่า “อัตมัน” (Atman) ซึ่งไม่มีตัวตนเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ไม่มีหนทางใดที่จะรู้ความจริงแท้ที่อยู่เบื้องหลังได้ ทำได้เพียงหนทางเดียวก็คือ การบำเพ็ญภาวนาให้ดวงจิตบังเกิดสมาธิ (Jana) ด้วยพลังแห่ง “ปราณ” (Prana) เท่านั้น ที่จะบันดาลให้เกิดความรู้แจ้งถึงปรากฏการณ์ของภาพมายา ซึ่งเข้าใจกันว่าเป็นความจริงในโลก ก็คือ “ธรรมปัญญา” (Wisdom) อันเป็นต้นตอของหลักศาสนาทั้งหลายของอินเดีย ความรู้ถึงแก่นสารอันล้ำลึกดังกล่าวนี้รวบรวมอยู่ใน “พระคัมภีร์พระเวทอันศักดิ์สิทธิ์” ซึ่งเป็นศาสตร์เก่าแก่อันมีชื่อเสียงของโลกตะวันออก และเป็นบ่อเกิดของอารยธรรมที่รุ่งเรืองของอินเดีย พัฒนาการ เป็นอภิปรัชญาของศาสนาพราหมณ์ ศาสนาพุทธ ศาสนาเชน ศาสนาอินดู ในสมัยต่อมา

 

คำว่า “เวท” หรือ “เวทะ” ในภาษาอินเดีย แปลว่า ความรู้ หรือศาสตร์

 

คำว่า “พระ” เป็นคำนำหน้าเพื่อยกย่องสิ่งที่นับถือว่าศักดิ์สิทธิ์ตามธรรมชาติ เช่น พระธรณี พระคงคา พระเพลิง พระพาย หรือเทพเจ้า เช่น พระพรหม พระนารายณ์ พระอิศวร หรือดวงดาวที่ให้คุณให้โทษต่อโลกว่า ดาวพระเคราะห์หรือให้ยกย่องมนุษย์ผู้สูงศักดิ์ เช่น พระเจ้าแผ่นดิน หรือบรรดาศักดิ์ของนักบวช เช่น พระสังฆราช พระราชครู เป็นต้น
คัมภีร์พระเวท ตามนัยความหมายดั้งเดิมจึงเป็นเรื่องของความรู้ในทางโลกศาสตร์ที่ล้ำลึกยิ่งใหญ่และกว้างขวางยิ่งกว่าศาสตร์ใด ๆ ไม่ได้เกี่ยวกับหลักธรรมคำสอนของศาสนาแต่อย่างใด ชาวอินเดียมีความเชื่ออย่างมั่นคงว่า “คัมภีร์พระเวท” เป็นพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าทรงบอกกล่าววิชาความรู้ให้แก่เหล่าฤาษีผู้สำเร็จญาณชั้นสูง เพื่อให้นำมาสั่งสอนถ่ายทอดแก่มวลมนุษยชาติ ใช้สำหรับสร้างสรรค์อารยธรรมให้รุ่งเรืองขึ้นในโลก จึงไม่ใช่เป็นผลงานที่มนุษย์ธรรมดาเป็นผู้เรียบเรียงขึ้น “คัมภีร์พระเวท” แต่เดิมไม่ได้จดบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เหล่าฤาษีได้ท่องจำไว้ในใจ แล้วถ่ายทอดให้แก่ศิษย์ท่องจำสืบต่อกันมา “คัมภีร์พระเวท” ประกอบด้วยคัมภีร์สำคัญ คือ
คัมภีร์ฤคเวท คัมภีร์ยชุรเวท คัมภีร์สามเวท และคัมภีร์อาถรเวท

ผู้ที่ท่องจำคัมภีร์พระเวทสืบต่อจากเหล่าฤาษีเรียกว่า “พรามหณ์” แปลว่า ผู้สวด หรือ ผู้ท่องจำ มีหน้าที่ท่องจำทบทวนข้อความใน “คัมภีร์พระเวท” ให้ถูกต้องแม่นยำจนขึ้นใจ เพื่อนำไปสั่งสอนให้ศิษย์รุ่นต่อไป ไม่มีใครทราบว่าฤาษีผู้เป็นปฐมอาจารย์ซึ่งพระเจ้าทรงถ่ายทอดพระวัจนะให้เป็นครั้งแรกมีชื่อว่าอย่างไร “คัมภีร์อัมพัฎฐสูตร” และ “คัมภีร์เตวิชชสูตร” ของพระพุทธศาสนาฑีฆะนิกาย อ้างว่าพระพุทธเจ้าทรงตรัสถึงชื่อฤาษีว่ามี 10 ตน ไว้ดังนี้

  1. ฤาษีอัฎฐกะ
  2. ฤาษีวามกะ
  3. ฤาษีวามะเทวะ
  4. ฤาษีเวสามิตร
  5. ฤาษียมตัคคี
  6. ฤาษีอังคีรส
  7. ฤาษีภารทวาชะ
  8. ฤาษีวาเสฏฐะ
  9. ฤาษีกัสสปะ
  10. ฤาษีภคุ

ด้วยเหตุนี้นักประวัติศาสตร์อินเดียเรียกยุคที่ชาวอารยันผิวชาวบุกรุกเข้าไปตั้งถิ่นฐานมั่นคงอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอินเดียสมัยก่อนพุทธกาลว่า “ยุคพระเวท” เมื่อรวมกันพัฒนาการของอารยธรรมหารับปาโมเหนจาดาโร :ซึ่งมีมาก่อน “ยุคพระเวท” หลายพันปี อารยธรรมอินเดียจึงมีอายุเก่าแก่ในราว 4500 ปีเศษ
เป็นที่ยอมรับกันว่าอารยธรรมอินเดียเป็นต้นธารสำคัญแห่งความคิดทางศาสนาที่มีญาณวิทยาล้ำลึกกว้างขวางและมีแนวความคิดในเชิงอภิปรัชญาหยั่งรู้ครบถ้วนรอบด้านยิ่งกว่าชนชาติใดในโลก ต่อมาสามารถพัฒนาการเป็น “ลัทธิ” และ“ศาสนา” สำคัญ เช่น สางขยะลัทธิ ปรัชญาโยคะ ศาสนาพราหมณ์ ศาสนาเชน ศาสนาพุทธ ศาสนาฮินดู ล้วนแต่เป็นแนวความคิดเกี่ยวกับการแสวงหาหนทางหลุดพ้นทุกข์ในโลกนี้ และเพื่อแสวงหาความสุขในโลกหน้า ด้วยวิธีการละบาปทั้งปวงมุ่งบำเพ็ญบารมีธรรมทางด้านจิตใจเพื่อให้บรรลุความจริงสูงสุด ต่อมาอารยธรรมอันสูงส่ง ลัทธิ ศาสนา ที่เกิดขึ้นในประเทศอินเดียได้หลั่งไหลข้ามมหาสมุทรเข้ามามีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของมนุษย์ในดินแดนทวีปเอเชียและตะวันออกเฉียงใต้สืบมาจนถึงสมัยปัจจุบัน
แม้ว่ายังมีบ่อเกิดทางปรัชญาและอารยธรรมอันสำคัญอีกสายหนึ่งของโลกตะวันออกคือ ประเทศจีน เช่น ลัทธิเต๋าลัทธิขงจื้อ แต่กระแสความคิดทางปรัชญาและอารยธรรมของจีนไม่สามารถพัฒนาการเป็นศาสนาได้เหมือนอย่างอินเดีย คงแนะนำสั่งสอนให้คนยึดถือปฎิบัติแนวความคิดทางโลก แตกต่างกับปรัชญาและอารยธรรมอินเดียมีความเข็มข้นล้ำลึกล่วงรู้เกี่ยวกับ 3 โลก ที่เชื่อมโยงต่อเนื่องถึงกันด้วยไฟในสวรรค์ ซึ่งคงหมายถึง แสงอาทิตย์ แสงดาว สอดคล้องกับการค้นพบของนักวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์ในยุคปัจจุบัน หลักอภิปรัชญาที่ล้ำลึกจับใจจึงได้แทรกซึมเข้าไปมีอิทธิพลอยู่ในวิถีชีวิตของชนชาวจีนและบ้านเมืองที่นิยมวัฒนธรรมจีน เช่น ประเทศญี่ปุ่น เกาหลี มงโกเลีย ธิเบต นับถือปรัชญาทางศาสนาของอินเดียพร้อมกับยึดถือปรัชญาของจีนควบคู่กันไป ถึงกระนั้นก็ตามนักปราชญ์ได้แบ่งสายธารความคิดทางปรัชญาและอารยธรรมของโลกตะวันออกเป็น 2 สาย คือ

  • สายธารแห่งปรัชญาและอารยธรรมอินเดีย
  • สายธารแห่งปรัชญาและอารยธรรมจีน

ศาสตราจารย์ ดร.ราชกฤษณัน นักปรัชญาคนสำคัญทางภารตวิทยา ได้แบ่งยุคแห่งความคิดทางปรัชญาและอารยธรรมของอินเดียออกเป็น 3 ยุค คือ

 

  1. ยุคพระเวท เริ่มตั้งแต่พวกอารยันเข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่ในผืนแผ่นดินของอินเดียเมื่อราว 1000 ปี ก่อนสมัยพุทธกาล ได้พัฒนาความคิดทางศาสนาและปรัชญาของตนให้สอดคล้องกับความเชื่อถือของชนพื้นเมืองดั้งเดิม เกิดเทพเจ้าทางธรรมชาติขึ้นหลายองค์ พัฒนาการต่อเนื่องมาเป็น “ศาสนาพราหมณ์” เมื่อราว 100 ปี ก่อนพุทธกาล
  2. ยุคมหากาพย์ เป็นยุคที่ชาวอารยันจัดระเบียบการเมืองการปกครองขึ้นอย่างมั่นคงแล้ว ได้สร้างสรรค์อารยธรรมขึ้นในประเทศอินเดีย สืบทอดราชวงศ์กษัตริย์เมื่อประมาณ 100 ปีก่อนพุทธกาลจนกระทั่งถึง พุทธศักราช 700 ในยุคนี้มหากวีชาวภารตะได้รจนาประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับบ้านเมืองของตนไว้ในรูปมหากาพย์ที่มีชื่อเสียงบันลือโลก คือ “มหากาพย์ภารตะ” และ “มหากาพย์รามายณะ” ในตอนปลายยุคมหากาพย์ ได้เกิดนักคิดนักปรัชญาผู้ยิ่งใหญ่ขึ้นมีนามว่า “เจ้าชายมหาวีระ” ศาสดาของศาสนาเชน และ “เจ้าชายสิทธัตถะ” ศาสดาของศาสนาพุทธ ศาสนาที่สั่งสอนให้มนุษย์แสวงหาทางหลุดพ้นจากโลกด้วยตนเอง ชาวอินเดียนับถืออย่างแพร่หลายกลายเป็นคู่แข่งของศาสนาพราหมณ์
  3. ยุคปรัชญาฮินดูทั้ง 6 ระบบ คือ ปรัชญานยายะ ปรัชญาไวเศษิกะ ปรัชญาสางขยะ ปรัชญาโยคะ ปรัชญามีมามสา ปรัชญาเวทานตะ กล่าวกันว่าภายหลังจาก “พราหมณ์” ซึ่งแต่เดิมเป็นเพียงผู้สวดท่องจำ “คัมภีร์พระเวท” ให้ถูกต้องสืบต่อกันไป นานวันเข้า “คัมภีร์พระเวท” ตกอยู่ในมือของพวกพราหมณ์อย่างสิ้นเชิง พราหมณ์กลายเป็นผู้ที่มีอิทธิพลสูงสุดในสังคม เมื่อสามารถแก้ไขดัดแปลงต่อเติมข้อความใน “คัมภีร์พรเวท” ไว้ใน “คัมภีร์อุปนิษัท” อ้างว่าวรรณะพราหมณ์เกิดมาจากลมหายใจของพระเจ้า ผูกขาดการประกอบพิธียัญการรมอันสลับซับซ้อน นัยว่าเพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ ยกย่องว่า “พระอิศวร” ซึ่งเป็นเทพเจ้าของพราหมณ์เป็นผู้สร้างโลก มีฤทธาอานุภาพยิ่งใหญ่สามารถช่วยเหลือมนุษย์โดยไม่มีข้อจำกัด พราหมณ์จึงก้าวขึ้นสู่จุดสุดยอดมีอิทธิพลอยู่ในในราชสำนักทั้งหลาย พระราชาใหญ่น้อยต้องเคารพบูชา ศาสนาพราหมณ์จึงได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วประเทศอินเดีย และหลั่งไหลข้ามมหาสมุทรเข้ามายังคาบสมุทรอินโดจีน ต่อมาได้พัฒนาการเป็น “ศาสนาฮินดู” เมื่อราวต้นพุทธศักราช พ.ศ.700 เป็นต้นมา

ประเทศอินเดียบ่อเกิดของอารยธรรมอันรุ่งเรืองมาหลายพันปีแล้ว คัมภีร์ชาดกเก่าแก่มากมายกล่าวถึงพ่อค้า นักเดินเรือ นักผจญภัย นักสอนศาสนาชาวอินเดียในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ได้เดินเรือฝ่าคลื่นลมเข้าหมาสมุทรหลั่งไหลเข้ามาติดต่อค้าขายกับเมืองท่าตามชายฝั่งทะเลตะวันตกของคาบสมุทรอินโดจีน และตั้งหลักแหล่งรวบรวมสินค้าและรอฤดูลมมรสุมอยู่จนกระทั่งเกิดลมมรสุมใหม่ในปีถัดไปจึงเดินทางกลับ หรือไม่ก็ตั้งหลักปักฐานอยู่กับชนชาวพื้นเมืองในโลกใหม่โดยไม่กลับไปยังบ้านเมืองของตน พวกพราหมณ์ได้เข้ามาเผยแพร่ศาสนาให้แก่ประชาชน และประกอบพิธีกรรมยกย่องผู้นำชาวพื้นเมืองขึ้นเป็น “สมมุติเทพ” โดยอ้างว่าสืบเชื้อสายมาจากเทพเจ้าเพื่อมาช่วยมนุษย์โลก เรื่องราวของโลกใหม่ดินแดนที่ตั้งอยู่ห่างไกลไปทางทิศตะวันออกของประเทศอินเดีย ปรากฏอยู่ในมหากาพย์เรื่อง “รามายณะ” หรือวรรณคดีเรื่อง “รามเกียรติ์” อันเก่าแก่ของอินเดีย กล่าวถึงดินแดนที่อยู่ไกลแสนไกลดังกล่าวไว้อย่างเลือนราง ส่วนข้อความใน “คัมภีร์มโนรถปูรณี” กล่าวถึงดินแดน “สุวรรณภูมิ” ไว้แต่เพียงสั้น ๆ ว่า ระยะทางเดินเรือจาก เกาะลังกา ไปยัง สุวรรณภูมิ ห่างไกลกันในราว 700 โยชน์ ถ้าลมดีพัดส่งท้ายเรือ อาจแล่นไปถึงได้ภายในเวลา 7 วัน 7 คืน
แม้ว่าคำกล่าวในคัมภีร์มโนรถปูรณีอาจเกินความเป็นจริง เพราะไม่มีเรือสำเภาลำใดสามารถแล่นจาก เกาะลังกามาถึงชายฝั่งทะเลตะวันตกของคาบสมุทรภาคใต้ของประเทศไทยได้ภายใน 7 วัน 7 คืนก็ตามแต่เป็นคำอุปมาอุปไมยให้เข้าใจว่า “สุวรรณภูมิ” ไม่ได้อยู่ห่างไกลไปจากลังกามากนัก สอดคล้องกับข้อความในวรรณคดีรามเกียรติ์ที่กล่าวถึงชื่อดินแดนโลกใหม่นั้นว่า
“ยวาทวีป” และ “สุวรรณทวีป”

ดินแดนลับลึกที่ตั้งอยู่ห่างไกลไปทางทิศตะวันออกของประเทศอินเดีย มีมหาสมุทรกว้างใหญ่ขวางกั้นอยู่ เล่าลือกันว่าเป็นดินแดนที่อุดมไปที่ด้วย ทองคำ แร่ธาตุ และสิ่งของมีค่าหายากนานาชนิด แต่ก็เป็นคำกล่าวที่เลื่อนลอยไม่ได้ระบุถึงทิศและระยะทางตลอดจนสิ่งสำคัญทางภูมิศาสตร์ แสดงให้ทราบชัดเจนว่าตั้งอยู่ที่ไหน จนกระทั่งถึงสมัยต้นพุทธกาลเมื่อพระเจ้าอโศก ทรงหันมานับถือพุทธศาสนาในปลายพุทธศตวรรษที่ 2 ศิลาจารึกของพระองค์กล่าวว่าทรงโปรดให้พระเถระผู้มีชื่อเสียงเดินทางไปเผยแพร่พุทธศาสนายังนานาประเทศ จึงทำให้เริ่มทราบชัดเจนขึ้นจากข้อความใน “คัมภีร์สมันตปาสาทิกา” ของพุทธศาสนาจดบันทึกว่า

“พระโสณะเถระ กับ พระอุตรเถระ เดินทางไปยัง สุวรรณภูมิ”

นอกจากนั้นคัมภีร์เก่าแก่สมัยเริ่มต้นประวัติศาสตร์ลังกามีชื่อว่า “คัมภีร์มหาวงศ์พงศาวดารลังกา” ได้จดบันทึกถึงเรื่องราวเมื่อครั้ง “พระมหินทเถระ” เป็นหัวหน้าคณะธรรมทูตจากราชสำนักของพระเจ้าอโศก ซึ่งเดินทางไปเผยแพร่พุทธศาสนาถึง “อาณาจักรสิงหล” ในรัชกาล “พระเจ้าเทวนัมปิยติสสะ” เมื่อ พ.ศ. 296 กล่าวถึงรายละเอียดมากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อความที่กล่าวถึง “เจ้าชายสุมิตร” ราชโอรสของ “พระนางสังฆมิตรตาเถรี” และเป็นพระราชนัดดาของ “พระเจ้าอโศก” เสด็จลงเรือจาก “กรุงอนุราธปุระ” ไปยัง กรุงสุวรรณปุระ”

เรื่องราวของเจ้าชายแห่งราชวงศ์โมริยะเสด็จมายัง “กรุงสุวรรณปุระ” ในสมัยต้นพุทธศตวรรษที่ 3 ปรากฎหลักฐานอยู่ใน “ตำนานสุวรรณปุระวงศ์” และตำนานเก่าแก่ของประเทศศรีลังกาและอาณาจักรศรีวิชัยมากมาย ทำให้นักประวัติศาสตร์สงสัยว่า เจ้าชายแห่งราชวงศ์โมริยะพระองศ์นี้ อาจหมายถึงกษัตริย์ชาวอินเดียผู้หนึ่งซึ่ง “ราชทูตคังไถ่” แห่งราชสำนักเหลียง ที่เดินทางมาเจริญทางพระราชไมตรีกับราชสำนักฟูนัน ในรัชกาล “พระเจ้าฟันสุ่น” เมื่อ พ.ศ.788 มีพระนามเป็นภาษาจีนว่า “หวั่นถิ่น” ได้รับบัญชาจากเทพเจ้าให้ลงเรือจากอินเดียมายังฟูนัน ต่อมาได้อภิเษกสมรสนางพระยาพื้นเมืองมีนามว่า “พระนางหลิวเย” เป็นปฐมกษัตริย์ผู้สถาปนาราชวงศ์ขึ้นปกครอง “อาณาจักรฟูนัน” ภายหลังอาณาจักรนี้มีอำนาจแผ่ขยายอาณาเขตออกไปกว้างใหญ่ไพศาลทั่วคาบสมุทรอินโดจีน ข้าหลวงจีนในมณฑลตังเกี๋ย กราบทูลรายงานว่า “อาณาจักรฟูนัน” ได้ส่งกองทัพช่วยเหลือ “อาณาจักรจามปา” หรือ “หลินยี่ก๊ก” ทำสงครามแย่งชิงดินแดนของจีนสู้รบกันอยู่เป็นเวลานานจนกระทั่งถึงสมัย “พระเจ้าซุนกวน” หรือ “พระเจ้าซุนเฉียน” แห่งราชวงศ์เหลียง ทรงโปรดให้ราชฑูตเดินทางมาเจริญทางพระราชไมตรี เพื่อขอร้องไม่ให้ “อาณาจักรฟูนัน” ช่วยเหลือ “อาณาจักรเหลียง” ทำสงครามกับจีน ต่อมา “อาณาจักรฟูนัน” ถูกกองทัพเขมรโจมตีล่มสลายไปใน พ.ศ.1083 ถูกแบ่งแยกเป็น 2 อาณาจักร คือ

“เสียมก๊ก” หรือ “อาณาจักรสยาม” กับ “หลอหูก๊ก” หรือ “อาณาจักรละโว้”
“อาณาจักรสยามละโว้” หรือ “เสียมหลอก๊ก” หมายถึงชื่อของประเทศไทยในสมัยก่อนประวัติศาสตร์สุโขทัย ในปัจจุบันเป็นที่รู้แน่นอนและยอมรับกันแล้วว่า “อาณาจักรละโว้” หมายถึง “อาณาจักรลพบุรี” ซึ่งมี “เมืองละโว้” หรือ“เมืองลพบุรี” เป็นศูนย์กลางของอาณาจักร มีพื้นที่ครอบคลุมบ้านเมืองบริเวณรอบอ่าวไทยและเลยขึ้นไปถึง เมืองหริภุญชัยในลุ่มแม่น้ำปิง แต่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีนักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีคนใดรู้ว่า “อาณาจักรสยาม” ซึ่งเคยเป็นชื่อดั้งเดิมของ “ประเทศไทย” ตั้งอยู่ที่ไหน

เรื่องราวการเสด็จลงเรือจาลังกาทวีปมายัง “กรุงสุวรรณปุระ” ในสมัยตันพุทธศตวรรษที่ 3 ของ “เจ้าชายสุมิตรแห่งราชวงศ์โมริยะ แม้ว่าปรากฏอยู่แต่เฉพาะใน “คัมภีร์มหาวงศ์พงศาวดารลังกา” และตำนานเก่าแก่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ศรีวิชัย ที่รุ่งเรืองอยู่ในคาบสมุทรภาคใต้ แต่นักประวัติศาสตร์ต่างชาติกลับมีความเห็นว่า “อาณาจักรศรีวิชัย” เป็นประวัติศาสตร์ของชนชาวมาลายู เพราะไม่มีใครทราบว่าต่อมา “เจ้าชายสุมิตร” ได้อภิเษกสมรสกับราชธิดาของกษัตริย์กรุงสุวรรณปุระ เมื่อพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติทรงเป็นปฐมกษัตริย์ “สุวรรณปุระ” สืบราชวงศ์มาจนถึงสมัยเริ่มต้นประวัติศาสตร์ศรีวิชัย เมื่อครั้ง “ราชทูตเสียงจุ่น” แห่งราชสำนักสุย เดินทางมาเยือน “ราชสำนักเชี๊ยะโท้ว” ในปีพ.ศ. 1150 และเข้าเผ้าถวายพระราชสาส์นต่อ “พระเจ้าหลีฟูโตเส” ราชทูตจีนจดบันทึกว่า

กษัตริย์ผู้ครอง “กรุงเชี๊ยะโท้ว” แซ่เดียวกับพระพุทธเจ้า
การศึกษาค้นคว้าเพื่อทราบว่า “พระเจ้าหลีฟูโตเส” ย้อนหลังขึ้นไปถึงสมัย “เจ้าชายสุมิตร” แห่งราชวงศ์โมริยะซึ่งทรงเป็นพระราชนัดดา (หลานตา) ของ พระเจ้าอโศกมหาราช แห่งชมพูทวีป ซึ่งเสด็จมายัง “สุวรรณปุระ” ภายหลังได้ขึ้นครองราชย์สมบัติเป็นกษัตริย์ ทำให้ทราบเรื่องราวในอดีตว่า “พระเจ้าจันทรคุปต์” ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์โมริยะทรงมีเชื้อสาย “ศากยะวงศ์” บรรพบุรุษของพระองค์หลบหนีรอดพ้นจาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของ “พระเจ้าวิฑูทภะ” แห่งแคว้นโกศล ขึ้นไปหลบซ่อนอยู่บนภูเขาหิมาลัยซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของฝูงนกยูงป่า จึงขนานนามราชวงศ์ใหม่ว่า “ราชวงศ์โมริยะ”แปลว่า “ราชวงศ์นกยูง”

นอกจากนั้นเมื่อครั้ง “เจ้าชายอโศกกุมาร” เสด็จไปเป็นอุปราชปกครอง นครอุชเชนี พระองค์พบกับธิดาผู้เลอโฉมของพ่อค้าผู้มั่งคั่งเมืองเวทิศามีนามว่า “พระนางเวทิศาเทวี” และได้อภิเษกสมรสเป็นชายาของมหาอุปราช มีหลักฐานว่าบรรพบุรุษของ พระนางเวทศาเทวี ก็เป็นเชื้อสาย “ศากยะวงศ์” ซึ่งหลบหนี้ลี้ภัยรอดพ้นจาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ปลอมแปลงมาเป็นพ่อค้าอาศัยอยู่ในเมืองดังกล่าว “พระนางเทวิศาเทวี” ทรงเป็นพระราชมารดาของ “พระมหินทเถระ” และ“พระนังสังฆมิตตาเถรี” ด้วยเหตุนี้ “เจ้าชายสุมิตร” จึงทรงเป็นพระราชนัดดา (หลายยาย) ของ “พระนางเวทิศาเทวี” เมื่อพระนางสิ้นพระชนม์ พระเจ้าอโศกทรงสร้าง “มหาสถูปสาญจี” ขึ้นเหนือเนินเขาเมืองเวทิศา เพื่ออุทิศส่วนกุศลและเป็นอนุสรณ์แห่งความรักให้แก่พระนาง

นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าภายหลังจาก “เจ้าชายสุมิตร” ได้เป็นกษัตริย์ครอง “กรงสุวรรณปุระ” จึงเปลี่ยนนามราชวงศ์ใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับคามเป้ฯมาของบรรพบุรุษของพระองค์ว่า “ไศเลนทรวงศ์”แปลว่า พระอินทร์ผู้เป็นใหญ่เหนือภูเขา เพื่อแสดงนัยความหมายให้รู้ว่าทรงสืบเชื้อสาย “ศากยะวงศ์”มาอย่างไร

เรื่องราวที่ซ่อนเร้นอยู่ในมุมมืดหลงหูหลงตานักประวัติศาสตร์ อยู่นอกเหนือความสนใจของนักโบราณมาช้านาน อาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไม่มีใครรู้ประวัติความเป็นมาของ “อาณาจักรละโว้” ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังจาก “พระยาผาเมือง” ทำสงครามปลดแอกหลุดพ้นมาจากอำนาจของ “จักรวรรดิกัมพูชา” เมื่อปลายพุทธศตวรรษที่ 17 ดังปรากฏหลักฐานอยู่ใน “ศิลาจารึกวัดศรีชุม”

นอกจากพงศาวดารจีนสมัยราชวงศ์ซ้อง กล่าวถึง “อาณาจักรเฉิงเหลียง” หรือ “อาณาจักรเชลียงหลวง” ซึ่งกลุ่มชนพื้นเมืองที่ได้รับการสนับสนุนจากกษัตริย์ขอม และการติดต่อทางพระราชไมตรีกับอาณาจักรลึกลับแห่งหนึ่ง ซึ่งนักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดียังค้นหาไม่พบ มีชื่อในภาษาจีนว่า “อาณาจักรเจนลีฟู” เมื่อ พ.ศ. 1740 ต่อจากนั้นได้เกิดอาณาจักรขึ้นในดินแดนประเทศไทยหลายแห่ง เช่น “อาณาจักรอโยธยา” “อาณาจักรสุโขทัย” “อาณาจักรล้านนา” “อาณาจักรพระเยา” ซึ่งไม่มีใครรู้ถึงต้นสายปลายเหตุที่แท้จริงว่ามีความเป็นมาอย่างไร

จนกระทั่งเมื่อผู้เขียนได้รวบรวมหลักฐานขึ้นมาเรียบเรียงเรื่อง “ตามพรลิงค์ ศรีวิชัย อาณาจักรที่ถูกลืม” พิมพ์เผยแพร่โดยสำนักพิมพ์มติชนเมื่อหลายปีก่อน คล้ายกับเป็นการเปิดเผยให้เห็นโฉมหน้าที่แท้จริงของ “อาณาจักรสยาม” มีหลักฐานหลายประกายยืนยันจนอาจกล่าวได้ว่าข้อมูลใหม่แบบพลิกโลกเหมือนดังเส้นผมบังภูเขา ตามปกติแม่น้ำส่วนใหญ่จะไหลจากทิศเหนือลงไปสู่ทิศใต้แต่ประเทศสยามมีลักษณะแปลกประหลาดพิสดารกว่าดินแดนทั้งหลาย คือมีเทือกเขาสูงซึ่งเป็นแหล่งเกิดของต้นลำธารหรือทิศตะวันตกเฉียงใต้ กลายเป็นแม่น้ำหลั่งไหลจากทิศใต้ไปออกทะเลทางทิศเหนือหรือทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ผู้ที่ประสงค์จะพิสูจน์ความจริงขอให้สังเกตุว่า แม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำตาปี ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำกลันตัน แม่น้ำในรัฐตรังกานู แม่น้ำในรัฐปาหัง แม่น้ำในรัฐยะโฮร์ ในประเทศมาเลเซีย แม่น้ำเหล่านี้ไหลมาจากทิศใต้ไปออกทะเลทางทิศเหนือหรือทิศตะวันออกเฉียงเหนือทั้งสิ้น 

สาเหตุสำคัญในการค้นหาที่ตั้งของ “อาณาจักรสยาม” ให้รู้แน่ชัดว่าตั้งอยู่ที่ไหน เพราะว่าพงศาวดารจีนกล่าวถึง “เสียมก๊ก” ซึ่งแปลว่า “อาณาจักรสยาม” เป็นอาณาจักรที่ควบคู่กับ “หลอหูก๊ก” หรือ “อาณาจักรละโว้” เมื่อรวมกันเข้าเป็นอาณาจักรเดียวกันเรียกว่า “เสียมหลอก๊ก” หรือ “อาณาจักรสายามละโว้” จึงจะทำให้ “ประวัติศาสตร์ไทย” เกิดความสมบูรณ์ครบถ้วนอย่างแท้จริง ทั้งนี้เพราะพงศาวดารจีนระบุว่า “อาณาจักรสยาม” เคยติดต่อทางพระราชไมตรีกับราชสำนักจีนมาช้านานแล้ว เกือบไม่พบหลักฐานการติดต่อทางพระราชไมตรีระหว่าง “อาณาจักรละโว้” กับราชสำนักจีนเลย ดังนั้น ตราบใดที่ยังไม่รู้ว่า “อาณาจักรสยาม” ตั้งอยู่ที่ไหน ก็ไม่มีหนทางใดที่ “ประวัติศาสตร์ไทย” จะถูกต้องสมบูรณ์พอที่จะเรียกว่าเป็นประวัติศาสตร์แห่งชาติได้ 

นอกจากนั้น ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ประเทศโปรตุเกสเป็นชาวยุโรปชาติแรกที่ส่งทูตมาติดต่อทางพระราชไมตรีกับราชสำนักศรีอยุธยา ประเทศโปตุเกส เรียกประเทศไทยในสมัยนั้นว่า “ประเทศสยาม” เป็นเหตุให้ชนชาวทวีปยุโรปชาติอื่นที่เดินทางเข้ามาติดต่อกับราชสำนักศรีอยุธยาพลอยเรียกว่า “ประเทศสยาม” กันไปหมดสิ้น โดยไม่ทราบว่ามีประวัติความเป็นมาอย่างไร จนกระทั่งถึงสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ราชทูตฝรั่งเศาสชื่อ เดอ ลา ลูแบร์ ได้เดินทางมาติดต่อทางพระราชไมตรีใน พ.ศ. 2229 ราชทูต เดอ ลา ลูแบร์ ได้แต่งหนังสือเรื่อง “ราชอาณาจักรสยาม” ขึ้น กล่าวถึงประวัติความเป็นมาในอดีตไว้อย่างกระท่อนกระแท่น แต่เกิดสงสัยว่าเหตุใดชาวกรุงศรีอยุธยาจึงเรียกตนเองว่า “ไทย” จึงได้สืบสวนค้นหาที่มีของคำว่า “ไทย” พบว่า มีสาเหตุมาจาก ประเทศสยาม ทำสงครามกอบกู้อิสรภาพหลุดพ้นจากอำนาจครอบงำของเขมรมาได้ จึงกล่าวถึงนัยความหมายไว้ว่า “ไทย” จึงหมายถึง “อิสรภาพ” 

หลักฐานของราชทูตฝรั่งเศสทำให้ทราบแน่ชัดถึงคำว่า “ไทย” ไม่ได้หมายถึง “เชื้อชาติไทย” (The Thai Race) ซึ่งเป็น “เชื้อชาติพันธุ์ของพลเมือง” ตามที่เข้าใจกันมา และยิ่งขัดเจนมากขึ้นเมื่อ ราชทูต เดอ ลา ลูแบร์ ได้นำเรื่องราวการทำสงครามกอบกู้อิสรภาพของ ประเทศสยาม ไปเปรียบเทียบกับ “ชนชาติกอล” ทำสงครามกอบกู้อิสรภาพหลุดพ้นจากอำนาจครอบงำของโรมันมาได้ จึงเรียกขื่อประเทศของตนเองว่า “ฟร๊อง” (France) แปลว่า อิสรภาพ อันเป็นที่มาของชื่อ ประเทศฝรั่งเศส 

นอกจากนั้นราชทูตฝรั่งเศสยังได้อธิบายขยายความเพิ่มเติมให้ทราบว่า “ไท” ซึ่งแปลว่า อิสรภาพ กลับไปพ้องกับชื่อชาติพันธุ์ของชนชาว “ไทยใหญ่” ซึ่งตั้งหลักแหล่งอาศัยอยู่ทางตอนเหนือของประเทศและประเทศพม่า กับ “ไทยน้อย” ที่ตั้งหลักแหล่งอาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสานของประเทศไทยและในประเทศลาว ต่อมารัฐบาลจมพลแปลก พิบูลสงคราม ได้เปลี่ยนชื่อ “ประเทศสยาม” มาเป็น “ประเทศไทย” เมื่อ พ.ศ. 2482 ยิ่งทำให้เกิดความสับสนว่าผู้คนพลเมืองที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคอื่นของ “ประเทศไทย” ซึ่งประกอบด้วยคนหลากหลายเผ่าพันธุ์ หมายถึงชนชาติไทยด้วยหรือไม่ เพราะว่าถ้ายึดถือหลักฐานในพงศาวดารจีนที่เรียกชื่อ ประเทศไทย ในภาษาจีนว่า “เสียมหลอก๊ก” แปลว่า “อาณาจักรสยามละโว้” ประกอบด้วยอาณาจักรสำคัญอย่างน้อย 2 อาณาจักร คือ “เสียมก๊ก” หรือ “อาณาจักรสยาม” และ “หลอหูก๊ก” หรือ “อาณาจักรละโว้” ตำราประวัติศาสตร์ไทยกล่าวถึงแต่เฉพาะเรื่องราวของ “อาณาจักรละโว้” คือดินแดนที่ตั้งอยู่บริเวณภาคกลางและภาคเหนือของประเทศไทย ส่วนดินแดนในภาคอีสานของไทยตกเป็นเมืองขึ้นของเขมรมาช้านาน จนเกือบไม่ทราบว่ามีประวัติความเป็นมาอย่างไร เช่นเดียวกับ “อาณาจักรละโว้” ได้ตกเป็นเมืองขึ้นของเขมรอยู่เป็นเวลานาน จนกระทั่งถึงสมัย “พระยาผาเมือง” เจ้าผู้ครองเมืองราดเมืองลุม ก็คือ เมืองเพชรบูรณ์เมืองหล่มสักในสมัยปัจจุบัน ตามพระราชประวัติกล่าวว่า พระยาผาเมือง เป็นราชโอรสของ “พระยาศรีนาวนำถม” ปฐมกษัตริย์ผู้สถาปนา กรุงศรีสัชนาลัย ขึ้นเป็นเมืองหลวงเอกของ “อาณาจักรศรีสัชนาลัย” พระองค์ทรงอภิเษกสมรสกับ “พระนางสิงขรมหาเทวี” ราชธิดาของ พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มหาราชองค์สุดท้ายของจักรวรรดิเขมร พระยาผาเมือง จึงเป็นอุปราชราชบุตรเขยของกษัตริย์เขมร ภายหลังจาก พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สวรรคต กองทัพเขมรได้บุกขึ้นไปยึด กรุงสุโขทัย จึงเกิดรบพุ่งกันขึ้น ในที่สุดกองทัพเขมรแตกพ่ายไป พระยาผาเมือง จึงได้ยกกองทัพติดตามขับไล่กองทัพเขมรที่เข้ามายึดครองดินแดนของประเทศไทยล่าถอยกลับไปหมดสิ้น ตรงกับข้อความที่ราชทูต เดอ ลา ลูแบร์ จดบันทึกถึงที่มาของคำว่า “ไท” เกิดจากการทำสงครามกอบกู้อิสรภาพหลุดพ้นจากอำนาจครอบงำของเขมร 

พระยาผาเมืองได้เสด็จลงไปสร้างเมืองหลวงใหม่ที่เมืองเพชรบุรี ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช กล่าวถึงพระนามของพระองค์ว่า “พระพนมทะเลศรี” ต่อมาพระองค์เสด็จขึ้นไปสร้างเมืองหลวงใหม่ขึ้นที่บริเวณริมแน่น้ำเจ้าพระยาบรรจบกับแม่น้ำป่าสักและแม่น้ำลพบุรี เมืองหลวงใหม่แห่งนี้ปรากฏชื่อยู่ในศิลาจารึกวัดเขากบว่า “กรุงอโยธยาศรีรามเทพนคร” สืบราชวงศ์ลงมาจนถึงสมัย สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 พระเจ้าอู่ทอง พระองค์ทรงย้ายไปสร้างเมืองหลวงใหม่ที่ตำบลหนองโสน ขนานนามราชธานีของพระองค์ว่า “กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา” อันเป็นสมัยเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ไทย 

จะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องราวของ ราชวงศ์กษัตริย์กรุงศรีสัชนาลัย หรือ ราชวงศ์อู่ทอง เสด็จลงมาครอบครองดินแดน “อาณาจักรละโว้” ภายหลังจากทำสงครามขับไล่กองทัพเขมรออกไปหมดสิ้นแล้ว ทรงสถาปนาเมืองหลวงใหม่ขึ้นในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่มีเหตุการณ์ตอนใดเกี่ยวข้องกับ “อาณาจักรสยาม” ตามที่พงศาวดารจีนกล่าวไว้เลย จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีนักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีคนใดรู้ว่า “อาณาจักรสยาม” ซึ่งเป็นอาณาจักรเก่าแก่สำคัญที่สุดอีกแห่งหนึ่งตั้งที่อยู่ไหน มีประวัติความเป็นมาอย่างไร ตำราประวัติศาสตร์ไทย ไม่ได้กล่าวถึงเลย จึงถือว่าเป็นความบกพร่องทางประวัติศาสตร์อย่างร้ายแรง เป็นปัญหาสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไม่สามารถเขียน ประวัติศาสตร์ไทย ให้มีอายุเก่าแก่ถึง 1000 ปีได้ 

นอกจากนั้นเมื่อศึกษาหลักฐานในพงศาวดารจีนลึกลงไป จนกระทั้งถึงสมัยเริ่มต้นประวัติศาสตร์คาบสมุทรอินโดจีน ปรากฏว่ามีอาณาจักรเก่าแก่แห่งหนึ่งซึ่งปรากฏโฉมหน้าขึ้นเหนือคาบสมุทรอินโดจีนเป็นครั้งแรก มีชื่อในภาษาจีนว่า “อาณาจักรฟูนัน” หลักฐานประวัติศาสตร์จีนระบุถึงที่ตั้งของอาณาจักรแห่งนี้ว่า ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของ “อาณาจักรจามปา” หรือ “อาณาจักรหลินยี่” ระยะทางห่างกันในราว 3000 ลี้ ถ้าหากว่า “อาณาจักรจามปา” ในสมัยนั้นตั้งอยู่ทางตอนกลางของประเทศเวียดนาม และเมืองหลวงตั้งอยู่ในแหล่งโบราณสถานศักดิ์เมืองไมเซิน เป็นไปได้หรือไม่ว่าดินแดนในประเทศไทยเคยเป็นที่ตั้งของอาณาจักรเก่าแก่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีชื่อในภาษาจีนว่า 

“ฟูนันก๊ก” 
แม้ว่าไม่มีนักประวัติศาสตร์หรือนักโบราณคดีไทยคนใด ศึกษาค้นคว้าหาหลักฐานลึกลงไปจนถึงรากถึงแก่นตามที่พงศาวดารจีนสมัยราชวงศ์เหลียงกล่าวไว้ จนกระทั่งค้นพบว่าแท้จริงแล้ว “อารณาจักรฟูนัน” ตั้งอยู่ในดินแดนประเทศไทยแต่เหตุการณ์ภายหลังจาก “อาณาจักรฟูนัน” ถูกกองทัพเขมรโจมตีล่มสลายไปในราว พ.ศ. 1083 พงศาวดารจีนในสมัยราชวงศ์ถังจดบันทึกไว้ว่า “อาณาจักรฟูนัน” ถูกแบ่งแยกออกเป็น 2 อาณาจักร คือ “เสียมก๊ก” หรือ “อาณาจักรสยาม” และ “หลอหูก๊ก” หรือ “อาณาจักรละโว้”ถึงกระนั้นก็ตามนักปราชญ์ทางประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีของชาติมหาอำนาจจักรวรรดินิยม กลับมีความเห็นสวนทางกับหลักฐานในพงศาวดารจีนว่า “อาณาจักรฟูนัน” ตั้งออยู่ทางตอนใต้ของประเทศเขมร 

จนถึงปัจจุบันยังไม่มีนักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีไทยคนใด ค้นหาหลักฐานมาโต้แย้งหักล้างความเห็นของนักปราชญ์ต่างชาติดังกล่าวได้ มิหนำซ้ำกลับคล้อยตามความเห็นของนักประวัติศาสตร์ต่างชาติ ยิ่งไปกว่านั้นยังมีอาณาจักรสำคัญที่สุดแห่งหนึ่ง ซึ่งพงศาวดารจีนสมัยราชวงศ์ซ้องระบุว่า ตั้งอยู่ในดินแดนของประเทศไทย เคยส่งทูตไปเจริญทางพระราชไมตรีกับราชสำนักจีนเมื่อ พ.ศ. 1740 แสดงให้เห็นว่าอาณาจักรแห่งนี้เคยมีอำนาจอยู่ในดินแดนประเทศไทยมาก่อนสมัย “อาณาจักรสุโขทัย” ในราว 100 ปี มีชื่อในภาษาจีนว่า “เจนลีฟูก๊ก” หรือ อาณาจักรเจนลีฟู” ก็ไม่มีใครรู้ว่าตั้งอยู่ที่ไหน ในที่สุดก็ปล่อยให้อาณาจักรเก่าแก่แห่งนี้ได้หายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอย 

ด้วยเหตุผลตามที่กล่าวมานี้ แสดงให้เห็นว่าไม่มีนักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีไทยคนใด ตั้งใจค้นหาประวัติความเป็นมาของชาติอย่างจริงจัง ไม่สามารถพึ่งพาอาศัยได้ จึงจำเป็นต้องศึกษาค้นคว้าความจริงด้วยตนเองให้ถึงรากถึงแก่นโดยไม่ยึดติดอยู่กับความเห็นของนักปราชญ์หรือครูบาอาจารย์คนใด แต่พยายามศึกษาค้นคว้าเสาะแสวงหาพยานหลักฐานนำมารวบรวมพิจารณาไตร่ตรองจนกระทั้งแน่ใจว่าไม่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงในอดีต ด้วยความพยายามศึกษาค้นหาความจริงมาอย่างยาวนาน ทำให้ค้นพบความจริงที่ซ่อนอยู่ในมุมมืดมากมาย จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นการพลิกประวัติศาสตร์อย่างไม่เคยมีมาก่อน หากผู้สนใจใฝ่รู้ภาคเอกชนได้อ่านข้อมูลใหม่ที่นำมาเปิดเผย แล้วนำไปศึกษาตรวจสอบว่าถูกต้องพอเชื่อถือได้หรือไม่ ต่อจากนั้นช่วยกันสืบสวนค้นหาเพิ่มเติมเพื่อปฏิรูปประวัติศาสตร์แห่งชาติให้เกิดความสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะทำได้ อนุชนรุ่นหลังจะได้ภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ของชาติ 

สิ่งสำคัญที่ผู้สนใจศึกษาประวัติศาสตร์ไทยจะต้องพิจารณาใคร่ครวญ ก็คือจะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องราวในอดีต “แผ่นดินไทยในยุคดึกดำบรรพ์” ซึ่งเคยเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของมนุษย์สมัยหิน สืบต่อลงมาถึงสมัยสัมฤทธิสมัยเหล็ก และสมัยที่ชนชาวพื้นเมืองเริ่มต้นรับอารยธรรมอินเดียเป็นครั้งแรก มีประวัติความเป็นมาอย่างไร เพราะว่าการเริ่มต้อนรับอารยธรรมอินเดียเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นเมื่อราวสมัยพุทธกาล ปรากฏหลักฐานอยู่ในคัมภีร์เก่าแก่ของอินเดียกล่าวถึง ดินแดนโลกใหม่ที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก ซึ่งอุดมไปด้วยทองคำ ชาวอินเดียเรียกดินแดนแห่งนี้ว่า 

“สุวรรณภูมิ” หรือ “สุวรรณทวีป” 
ต่อเนื่องลงมาถึงสมัย พระเจ้าอโศกมหาราช แห่งชมพูทวีป ทรงโปรดให้พระเถระ 2 พี่น้อง เป็นหัวหน้าคณะธรรมทูตเดินทางมาเผยแพร่พุทธศาสนายัง “สุวรรณภูมิ” 

พระราชประวัติของ พระเจ้าอโศกมหาราช ผู้ซึ่งได้รับยกย่องจากสังฆมณฑลของพุทธศาสนาว่า “พระเจ้าศรีธรรมโศกราช” มีหลักฐานชัดเจนอยู่ใน “คัมภีร์มหาวงศ์พงศาวดารลังกา” ระบุว่าทรงโปรดให้ “พระมหินทเถระ” ราชโอรสเป็นหัวหน้าคณะธรรมทูต เดินทางไปเผยแพร่พุทธศาสนาใน อาณาจักรสิงหล เมื่อ พ.ศ. 296 จึงพออนุมานได้ว่าพระเถระ 2 พี่น้อง ซึ่งพระเจ้าอโศกมหาราชทรงโปรดให้ไปยัง “สุวรรณภูมิ” คงเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกัน จึงสันนิษฐานว่าในสมัยนั้น “สุวรรณภูมิ” คงเป็นเมืองท่าเรือที่เจริญรุ่งเรืองมีชื่อเสียงเลื่องลือไปไกล กษัตริย์ผู้ครองสุวรรณภูมิ อาจเคยส่งทูตไปเจริญทางพระราชไมตรีกับราชสำนักโมริยะมาก่อน เช่นเดียวกับอาณาจักรทั้งหลายที่ พระเจ้าอโศกมหาราช ทรงโปรดให้พระธรรมทูตเดินทางไปเผยแพร่พุทธศาสนา ล้วนแต่เป็นอาณาจักรที่เคยติดต่อทางพระราชไมตรีกับราชสำนักของพระเจ้าอโศกมาก่อนทั้งสิ้น 

พงศาวดารจีนสมัยสามก๊กเริ่มต้นจดบันทึกเรื่องราวของ “อาณาจักรฟูนัน” และ “อาณาจักรจามปา” ภายหลังจากสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกันอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 788 แต่พงศาวดารจีนได้จดบันทึกเล่าถึงประวัติความเป็นมาความ “อาณาจักรฟูนัน” ย้อนหลังขึ้นไปถึงสมัยเริ่มต้นก่อนตั้งอาณาจักร เป็นเวลาหลายร้อยปีก่อนที่ราชทูตจีนเดินทางไปเยือนราชสำนักฟูนัน จึงถือเป็นอาณาจักรเก่าแก่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

แม้ว่าจนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีหลักฐานแน่นอนว่า “สุวรรณภูมิ” หรือ “สุวรรณทวีป” ตั้งอยู่ที่ไหน นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีมีความคิดเห็นกันไปคนละทิศคนละทางยังหาข้อยุติไม่ได้ก็ตาม แต่เมื่อไม่นานมานี้ กรมศิลปากร ได้ขุดค้นแหล่งโบราณคดีในคาบสมุทรภาคใต้ของประเทศไทย ทั้งบริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกและชายฝั่งทะเลตะวันตก พบหลักฐานทางโบราณคดีสำคัญหลายประการมีอายุเก่าแก่ก่อนสมัยประวัติศาสตร์ พัฒนาการลงมาถึง “สมัยสุวรรณภูมิ” มีแนวโน้มทำให้น่าเชื่อว่าดินแดนบริเวณตอนกลางของคาบสมุทรภาคใต้ เคยเป็นเมืองท่าเรือเป็นศูนย์กลางการค้าทางทะเลและเป็นแหล่งเริ่มต้นรับอารยธรรมอินเดียมาก่อนภูมิภาคอื่น สันนิษฐานว่าอาจเคยเป็นที่ตั้งของ “สุวรรณภูมิยุคแรก” หรือตามที่คัมภีร์โบราณของอินเดียกล่าวไว้ อาจเป็นไปได้ว่า คณะธรรมทูตชุดแรก ที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงโปรดให้เดินทางมายัง “สุวรรณภูมิ” น่าจะมาที่ท่าเรือทางชายฝั่งทะเลตะวันตกของคาบสมุทร แล้วเดินทางข้ามคาบสมุทรมายังเมืองท่าชายฝั่งทะเลตะวันออก ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นที่ตั้งเมืองหลวงของ “อาณาจักสุวรรณภูมิ” 

ดังนั้นการศึกษาค้นหาความจริงในอดีตเพื่อสืบสาวราวเรื่องของ “ประวัติศาสตร์ไทย” ให้ถึงรากถึงแก่นอย่างแท้จริงแล้ว จำเป็นจะต้องทราบถึงรากฐานการเริ่มต้นรับอารยธรรมอินเดียยุคแรกในสมัย “สุวรรณภูมิ” หรือ “สุวรรณทวีป” 

ต่อมาเมื่ออาณาจักรเก่าแก่แห่งนี้เจริญรุ่งเรืองและมีอำนาจขึ้นในคาบสมุทรภาคใต้ อาจแผ่ขยายอาณาเขตขึ้นไปยังคาบสมุทรอินโดจีน นำศิลปวัฒนธรรมแบบใหม่ของตนขึ้นไปเผยแพร่ให้แก่ชนชาวพื้นเมือง ดังจะเห็นได้จากการค้นพบเทวรูปพระนารายณ์สวมหมวกทรงกระบอกที่ โบราณสถานในจังหวัดปราจีนบุรี แหล่งโบราณสถานในจังหวัดเพชรบูรณ์และเมืองนวนคร ทางตอนใต้ของประเทศเขมร ล้วนแต่สร้างขึ้นคล้ายกับลอกเลียนแบบเทวรูปพระนารายณ์สวมหมวกทรงกระบอกซึ่งพบที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดพังงา 

เป็นไปได้หรือไม่ว่า ในสมัยนั้นได้เกิด “อาณาจักรสุวรรณภูมิ” ขึ้นใหม่ในบริเวณที่ค้นพบ เทวรูปโบราณดังกล่าวภายหลังได้เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมแบบอินเดียให้แก่ชาวพื้นเมือง จนกระทั้งพงศาวดารจีนกล่าวว่า มีอำนาจครอบคลุมไปทั่วดินแดนคาบสมุทรอินโดจีน แต่มีชื่อในภาษาจีนว่า “ฟูนันก๊ก” หรือ “จักรวรรดิฟูนัน”

Share this