โรคมะเร็งเต้านม
สมาชิกเลขที่79400 | 26 พ.ค. 55
3.1K views

มะเร็งเต้านม ภัยร้ายที่ผู้หญิงต้องรู้

โรคภัยอันดับหนึ่งที่คร่าชีวิตผู้หญิงมากที่สุด ผ่านทาง 20 คำถามยอดฮิตซึ่งรวบรวมโดยสมาคมโรคมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย ทุกข้อสงสัยเรื่องมะเร็งเต้านมจะคลี่คลาย
   1. มะเร็งเต้านมเกิดจากอะไร
        มะเร็งเต้านม เป็นโรคที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับความเจริญทางสังคม นั่นเพราะผลจากวิถีชีวิตสมัยใหม่ที่เร่งรีบ อีกทั้งอาหารการกินมักมีเนื้อสัตว์และไขมันสูง จึงเป็นสาเหตุหลักของหลายๆ โรค รวมทั้งมะเร็งเต้านมด้วยเช่นกัน จะเห็นได้จากผู้หญิงแถบอเมริกาและยุโรปซึ่งมีตัวเลขความเสี่ยงสูงถึง 1ใน 8 หรือมากกว่าผู้หญิงไทยถึง 6 เท่า

   2. ใครคือกลุ่มเสี่ยง
       ผู้ที่ชอบรับประทานเนื้อสัตว์ อาหารไขมันสูง รวมทั้งดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นประจำ 

       ไม่ค่อยออกกำลังกาย 
       ได้รับฮอร์โมนเพศมากเกินไปทั้งจากการใช้ยาคุมกำเนิด รับประทานยาฮอร์โมน หรือใช้ครีมทาหน้าอกที่มีฮอร์โมนต่อเนื่องนานกว่า 5 ปี 
       สตรีที่ไม่ได้แต่งงาน ไม่มีบุตร หรือมีบุตรคนแรกเมื่ออายุมากกว่า 30 ปี ผู้ที่ไม่ได้ให้นมบุตรเอง ผู้ที่มีประจำเดือนก่อนอายุ 12 ปีและหมดประจำเดือนหลังอายุ 55 ปี เพราะเต้านมของคนเหล่านี้มีเวลาสัมผัสกับฮอร์โมนเอสโตรเจนนานกว่าคนอื่นๆ นั่นเอง 
       ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป
   3. คนที่บ้านเป็นมะเร็ง แล้วเราจะเป็นไหม
        มะเร็งเต้านมถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ได้ แต่โอกาสเกิดน้อยมากเมื่อเทียบกับปัจจัยอื่นๆ อย่างไรก็ตามหากมีญาติสายตรงเป็นมะเร็งรังไข่หรือมะเร็งเต้านม ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจเต้านมเร็วกว่าคนทั่วไป

   4. เราควรตรวจเต้านมเมื่อใด
        ผู้หญิงทุกคนควรเริ่มตรวจคลำเต้านมด้วยตนเองเมื่ออายุ 25 ปี และเมื่อถึงอายุ 40 ปีควรเข้ารับการตรวจแมมโมแกรมโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง การตรวจขณะอายุน้อยกว่านี้อาจจะไม่ได้ผล เท่าที่ควร เพราะสภาพเนื้อเต้านมยังแน่น จึงตรวจพบก้อนมะเร็งได้ยาก

         แต่หากมีญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านมเมื่ออายุน้อยกว่า 40 ปี ควรเข้ารับการตรวจหาความเสี่ยงก่อนอายุของญาติคนนั้น 5 ปี ยกตัวอย่างเช่น หากญาติเป็นมะเร็งเต้านมเมื่ออายุ 35 คุณควรได้รับการตรวจเต้านมโดยละเอียดเมื่ออายุ 30 ปี
   5. ผู้ชายเป็นมะเร็งเต้านมได้หรือเปล่า
        มีงานวิจัยหลายชิ้นระบุว่า ผู้ชายก็เป็นโรคมะเร็งเต้านมได้เพราะมีฮอร์โมนเพศหญิงในร่างกายเช่นกัน แต่มีโอกาสเกิดน้อยมาก ส่วนมะเร็งน่าห่วงที่สุดสำหรับชายไทยนั้น คือ มะเร็งตับ

   6. อาการใดเข้าข่ายมะเร็งเต้านม
        มีก้อนแข็งที่เต้านม หรือมีของเหลวคล้ายเลือดไหลออกจากหัวนม รวมทั้งหัวนมบุ๋มข้างเดียว หากมีอาการน่าสงสัยเหล่านี้ควรรีบพบแพทย์โดยเร็ว

   7. “เจ็บเต้า” แสดงว่าเป็นมะเร็งหรือ
        มะเร็งเต้านมส่วนใหญ่มักไม่เจ็บปวด ทำให้คนไข้ไม่รู้ตัวว่าป่วย หากคลำพบก้อนแข็งที่เต้านมแม้ไม่มีอาการอื่นใดก็ควรรีบพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุต่อไป
   8. ซีสต์ที่เต้านม คือจุดเริ่มต้นของมะเร็ง?
        ส่วนใหญ่แล้วไม่ใช่ หากไม่เจ็บหรือไม่มีอาการอื่นๆ ก็ไม่จำเป็นต้องรักษา แต่ถ้าซีสต์มีก้อนใหญ่และทำให้เจ็บปวด อาจรักษาโดยการเจาะน้ำในถุงซีสต์ออก หากพบว่ามีก้อนเนื้ออยู่ข้างใน ต้องตัดชิ้นเนื้อไปตรวจหาเซลล์มะเร็งต่อไป

   9. เสริมเต้านมจะเป็นมะเร็งหรือเปล่า
       การเสริมเต้านมทั้งแบบถุงน้ำเกลือและซิลิโคน ไม่ได้เสี่ยงต่อมะเร็ง แต่อาจรบกวนการตรวจเต้านมด้วยแมมโมแกรมหรืออัลตราซาวด์ ทำให้ความแม่นยำในการวินิจฉัยลดลง

   10. ไซส์ใหญ่ ไซส์เล็ก มีผลเสียอย่างไรบ้าง
        ขนาดของเต้าไม่มีผลอะไร ขึ้นอยู่กับปัจจัยเสี่ยงของแต่ละคนมากกว่า

   11. การสวมหรือไม่สวมบราส่งผลอะไรบ้างไหม
        การสวมหรือไม่สวมบรา ไม่มีส่วนกระตุ้นการเกิดโรค แต่อาจทำให้หย่อนยานเร็วกว่าปกติเท่านั้น

   12. มะเร็งเต้านมมักกระจายไปที่ไหน
        ร้อยละ 75 ของผู้ป่วย พบว่ามะเร็งมักลามไปยังกระดูก เพราะในกระดูกมีสารอาหารที่มะเร็งโปรดปรานเป็นจำนวนมาก ซึ่งเอื้อต่อการเติบโตและลุกลามของเซลล์มะเร็ง

   13. ทุกวันนี้มะเร็งเต้านมรักษาหายจริงหรือ
        ปัจจุบัน การรักษามะเร็งเต้านมมีประสิทธิภาพสูงมาก หากตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มต้นมีโอกาสรักษาหายขาดได้มากกว่าร้อยละ 90 และแพทย์สามารถตัดเฉพาะก้อนมะเร็งทิ้งไปได้โดยไม่ต้องตัดเต้านมทิ้งทั้งข้างด้วย

   14. แล้วมีวิธีรักษาอย่างไรบ้าง
        ปัจจุบันรักษาได้ 5 วิธี นอกจากการผ่าตัดแล้วยังมี การฉายแสง โดยใช้รังสีพลังงานสูง เช่น รังสีเอ็กซ์ รังสีแกมม่า และรังสีอิเลคตรอน เพื่อทำให้เซลล์มะเร็งหยุดการเติบโต แบ่งตัว และค่อยๆ สลายไป โดยไม่เกิดอันตรายต่อเซลล์ปกติ 

       เคมีบำบัดหรือคีโม ส่วนใหญ่เป็นยาฉีดที่ออกฤทธิ์ต่อเซลล์แบ่งตัวเร็วเป็นหลัก จึงอาจมีผลข้างเคียงทำให้เสี่ยงติดเชื้อ
       การให้ยาต้านฮอร์โมน ส่วนใหญ่เป็นยารับประทานที่ต้องใช้ต่อเนื่องนาน 5 ปี เพื่อยับยั้งการกลับมาเป็นใหม่ ตัวยาที่ใช้มี 2 ชนิด สำหรับผู้ป่วยที่ยังไม่หมดประจำเดือน และผู้ป่วยที่หมดประจำเดือนแล้ว
       การรักษาที่เป้าหมายของการเกิดมะเร็ง (Targeted therapy) มีทั้งยาฉีดและยารับประทาน เป้าหมายเพื่อหยุดการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งโดยตรง ใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีตัวรับฮอร์โมน HER-2 เท่านั้น
   15. ผ่ามะเร็งอย่างไรไม่ให้เสียเต้านม
        การรักษาด้วยการผ่าตัด ทำให้มีโอกาสหายจากโรคนี้มากที่สุด หากตรวจพบเร็วและรักษาแต่เนิ่นๆ อาจตัดเฉพาะก้อนมะเร็งทิ้งไป โดยไม่เสียเต้านม ถ้ามะเร็งแพร่ลามไปทั้งเต้าหรือกระจายเข้าต่อมน้ำเหลืองอาจต้องตัดเต้านมทิ้ง แล้วใช้กล้ามเนื้อสะบักหลังหรือหน้าท้องมาเสริมแทนส่วนที่ถูกตัดทิ้งไป 

   16. หลังผ่าตัด ควรทำตัวอย่างไร
         หลังผ่าตัด 2-3 วันแรก ควรขยับไหล่บ่อยๆ เพื่อไม่ให้เกิดพังผืด และในช่วง 3 สัปดาห์แรก ไม่ควรออกกำลังกายหนักๆ เพราะจะทำให้แผลที่เย็บไว้ฉีกขาดได้ 

   17. เมื่อหายแล้วจะใช้ชีวิตได้ตามปกติหรือไม่
        สามารถทำกิจกรรมทุกอย่างได้ตามปกติ แต่ต้องพบแพทย์ตามนัดทุกครั้งเพื่อติดตามผล ในช่วง 2 ปีแรกควรพบแพทย์บ่อยๆ ทุก 3 เดือน จากนั้นทุกๆ 6 เดือนจะต้องเจาะดูสารก่อมะเร็ง และทุกๆ 1 ปีจะมีการตรวจร่างกายติดตามผลครั้งใหญ่ หลังจาก 2 ปีแรกไปก็จะนัดตรวจห่างขึ้นเป็น 6 เดือนครั้ง

   18. อยู่อย่างไรให้ปลอดภัยจากมะเร็งเต้านม
        นอกเหนือจากการสังเกตความผิดปกติของเต้านมตนเองสม่ำเสมอ การออกกำลังกายต่อเนื่องครั้งละไม่ต่ำกว่า 30 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน งดสูบบุหรี่และไม่ดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ การรับประทานอาหารให้ถูกหลักและพอเหมาะแก่ความต้องการของร่างกาย ก็เป็นเกราะป้องกันโรคมะเร็งได้หลายชนิดรวมถึงมะเร็งเต้านมด้วยเช่นกัน

   19. กินเป็น ห่างไกลโรค
        สมาคมแพทย์มะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา แนะนำเรื่องอาหารป้องกันมะเร็งเต้านมไว้ว่า

       รับประทานพืชผักและผลไม้หลากสีให้ได้อย่างน้อยวันละ 5 ส่วน ร่างกายจะได้รับสารต้านอนุมูลอิสระหลากหลาย ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งได้ 
       คาร์โบไฮเดรตคุณภาพต้องมาจากธัญพืชไม่ขัดสี 
       ลดอาหารประเภทไขมัน หากเป็นไปได้ควรรับประทานเนื้อไก่ ปลา และถั่ว เพราะไขมันต่ำ โปรตีนสูง ย่อยง่าย และลดปริมาณไขมันที่ร่างกายจะได้รับน้อยกว่าเนื้อสัตว์อื่นๆ ถึงร้อยละ 20 ซึ่งมีผลการศึกษาพบว่าอาหารไขมันต่ำอาจช่วยลดการเกิดซ้ำของโรคได้ 
   20. แนวโน้มมะเร็งเต้านมในประเทศไทย
        องค์การอนามัยโลกได้ประเมินผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ในประเทศไทยไว้ว่า เฉพาะปี 2553 นี้จะมีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 13,000 ราย และมีแนวโน้มตัวเลขสูงขึ้นทุกปี นี่ยังไม่รวมจำนวนผู้ป่วยรายเก่าที่อยู่ระหว่างการรักษา จึงนับเป็นมะเร็งที่คร่าชีวิตผู้หญิงมากที่สุดในยุคปัจจุบัน

         ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของโรคมะเร็งเต้านม ภัยร้ายของผู้หญิง ที่ป้องกันและรักษาได้หายเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ นอกเหนือจากการรักษาทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพสูงในปัจจุบัน การดูแลตนเองอย่างถูกวิธีทั้งทางร่างกายและจิตใจ จะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในการอยู่กับมะเร็งร้ายได้อย่างมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดี


Share this