การพิจารณาข่าวและบทความ
สมาชิกเลขที่22419 | 07 ก.ย. 53
116.4K views

การพิจารณาข่าว และบทความ

 

               ข่าว    หมายถึง   เหตุการณ์ที่คนในสังคมกำลังให้ความสนใจ และตีพิมพ์เผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์ หรือนิตยสาร  เหตุการณ์ที่นำมาเขียนเป็นข่าว จะต้องเป็นเรื่องทันเหตุการณ์ และส่งผล

 

กระทบต่อบุคคลในสังคม

 

              บทความ  หมายถึง  ข้อเขียนร้อยแก้วที่มุ่งให้สาระความรู้ หรือความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งแก่ผู้อ่าน เนื้อหาของบทความส่วนใหญ่จะต้องเป็นประเด็นที่ทันสมัย ทันเหตุการณ์ และอยู่ในความสนใจของคนในสังคม

 

 

 

การพิจารณาข่าว

 

องค์ประกอบของข่าว

 

ข่าวมีองค์ประกอบ ๔ ส่วน คือ พาดหัวข่าว  ความนำ ส่วนเชื่อม และเนื้อข่าว ดังนี้

 

๑.พาดหัวข่าว (Headline)  เป็นส่วนนำที่สร้างความสนใจ โดยใช้คำที่สะดุดตา และตัวอักษรขนาดใหญ่กว่าเนื้อข่าว

 

๒. ความนำ (Lead)  คือ เนื้อเรื่องย่อของข่าว  เป็นการเขียนอธิบายให้ผู้อ่านทราบโดยสรุปว่าเหตุการณ์ที่นำมาเขียนข่าวมีเนื้อความอย่างไร ความนำที่ดีต้องชัดเจน และทำให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องราว

 

๓. ส่วนเชื่อม (Neck) คือ ส่วนที่อยู่ระหว่างความนำกับเนื้อเรื่อง ทำหน้าที่ขยายความ หรือให้รายละเอียดเพิ่มเติมจากความนำ

 

๔. เนื้อข่าว (Body) คือ รายละเอียดทั้งหมดของข่าว ส่วนใหญ่นิยมเขียนเป็นย่อหน้าสั้นๆ หากมีรายละเอียดมาก ก็จะเขียนแยกออกเป็นหลายย่อหน้า โดยเรียงลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หรือเรียงลำดับความสำคัญจากมากไปหาน้อย

 

ประเภทของข่าว

 

ข่าวที่นักเรียนอ่านในหนังสือพิมพ์ หรือนิตยสาร แบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภท ดังนี้

 

๑.     ข่าวหนัก (Head News)  หมายถึง  ข่าวที่มีเนื้อเรื่องในเชิงสาระ และมีอิทธิพลต่อคน

 

ส่วนใหญ่ในสังคม เช่น ข่าวการเมือง ข่าวเศรษฐกิจ ข่าวธุรกิจ ข่าวการศึกษา เป็นต้น

 

๒.    ข่าวเบา (Soft News) หมายถึง  ข่าวที่เกิดขึ้นในกลุ่มคนกลุ่มย่อย ๆ ไม่มีอิทธิพลต่อ

 

ส่วนใหญ่ในสังคมมากนัก เช่น ข่าวชาวบ้าน ข่าวสังคม บันเทิง ข่าวกีฬา ข่าวอาชญากรรม เป็นต้น

 

หลักการอ่านและพิจารณาข่าว

 

   ในการอ่านข่าวควรพิจารณาตามโครงสร้างของข่าว ดังนี้

 

    ๑.  พิจารณาพาดหัวข่าว     การพาดหัวข่าวในหนังสือพิมพ์ เป็นการจัดลำดับความสำคัญของข่าว

 

หากนักเรียนสังเกตการณ์พาดหัวข่าวในหนังสือพิมพ์  จะพบว่าส่วนสำคัญที่สุดของข่าว จะพาดหัวด้วยตัวอักษรขนาดใหญ่  ดังนั้นในการอ่านและพิจารณาข่าว  ควรอ่านพาดหัวข่าวใหญ่ก่อน แล้วจึงอ่านพาดหัวข่าวต่อมา

 

    ๒. พิจารณาความนำ   เมื่ออ่าน และพิจารณาพาดหัวข่าว และทราบเรื่องราวสั้นๆ ของข่าวนั้นแล้ว

 

ขั้นต่อมาคือการอ่าน และพิจารณาความนำ  ซึ่งจะสรุปเรื่องราวของข่าวโดยขยายความ

 

๓.    พิจารณาเนื้อข่าว  เนื้อข่าว  เป็นส่วนที่ผู้อ่านจะอ่าน หรือไม่อ่านก็ได้  หากทราบเรื่องย่อ

 

ข่าวจากความนำมาแล้ว  เนื้อข่าวเป็นรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์เป็นข่าว

 

    ๔.  พิจารณาการใช้สำนวนภาษา    เมื่อนักเรียนพิจารณาการใช้สำนวนภาษาในการเขียนข่าว

 

นักเรียนจะพบข้อบกพร่องหลายประการ  ทั้งในการเขียนสะกดคำ  การใช้คำย่อ  การใช้คำผิด

 

ระดับภาษา  การใช้คำสแลง การวางส่วนขยายของประโยคไม่ถูกต้อง ทั้งนี้  เพราะการจัดทำ

 

หนังสือพิมพ์จะมีค่าเฉพาะวันนี้เท่านั้น พอถึงวันพรุ่งนี้ก็จะกลายเป็นขยะ  อย่างไรก็ตาม หากนักเรียนนำตัวอย่างการใช้ภาษาในการเสนอข่าวมาคิดพิจารณา ในฐานะเป็นบทเรียนสอนการใช้ภาษา ก็จะทำให้นักเรียนเข้าใจพลังของภาษา  การสร้างคำใหม่ในภาษา และข้อบกพร่องในการใช้ภาษาชัดเจนยิ่งขึ้น

 

การพิจารณาบทความ

 

องค์ประกอบของบทความ

 

บทความส่วนใหญ่คือมีองค์ประกอบ ๔ ส่วน คือ

 

๑. ชื่อเรื่อง   เป็นส่วนแรกของบทความที่สร้างความสนใจแก่ผู้อ่าน บทความในหนังสือพิมพ์ หรือ

 

นิตยสาร อาจตีพิมพ์ชื่อเรื่องด้วยตัวอักษรขนาดใหญ่เพื่อสร้างความสนใจ

 

๒.บทนำ  คือ  ส่วนที่อยู่ย่อหน้าแรกของบทความ  มีลักษณะเป็นการกล่าวนำเรื่อง โดยให้ความรู้เบื้องต้น  บอกเจตนาและผู้เขียนหรือตั้งคำถาม  ซึ่งผู้เขียนจะใช้กลวิธีต่างๆ ในการเขียนให้ผู้อ่านสนใจ

 

เนื้อเรื่อง

 

๓.เนื้อหา  เป็นส่วนสำคัญที่สุดของบทความ  เพราะเป็นส่วนที่รวบรวมความรู้ สาระต่างๆและความคิดเห็นของผู้เขียน

 

๔. บทสรุป  คือ  ส่วนสุดท้ายของบทความที่ผู้เขียนใช้สรุปเนื้อหา และสร้างความประทับใจแก่ผู้อ่าน

 

โดยใช้กลวิธีหลายประการ  เช่น  การชักจูงใจให้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง การให้ข้อคิดการหาแนวร่วม

 

ประเภทของบทความ

 

บทความในหนังสือพิมพ์ หรือนิตยสาร  อาจแบ่งได้เป็นประเภทต่างๆ ดังนี้

 

๑.บทความบรรยายเหตุการณ์  เป็นบทความที่บรรยายเรื่องราวต่างๆที่เป็นเหตุการณ์ในความสนใจของคนสังคม  มีจุดมุ่งหมายเพื่อรายงานให้ผู้อ่านทราบความเป็นไปของบ้านเมือง และมีส่วนร่วมรับรู้ในเหตุการณ์นั้น

 

๒. บทความเชิงวิเคราะห์  เป็นบทความที่ผู้เขียนนำเสนอเรื่องราวต่าง ๆที่เป็นข่าว หรืออยู่ในความสนใจของประชาชน โดยจำแนกออกเป็นประเด็นต่างๆ อย่างชัดเจน เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องราวได้

 

ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

 

๓.บทความเชิงวิจารณ์  เป็นบทความที่ผู้เขียนต้องการเสนอความคิดเห็นของตนเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เป็นข่าว หรือเรื่องที่กำลังอยู่ในความสนใจของประชาชนส่วนใหญ่  การเสนอความคิดเห็นอาจเป็นไปในลักษณะโต้แย้ง  ไม่เห็นด้วย  เสนอแนะแนวทาง  หรือชี้ให้เห็นข้อบกพร่อง

 

 

๔.    บทความเชิงวิชาการ  เป็นบทความที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสาขาวิชาใดสาขาวิชาหนึ่ง  บทความเชิงวิชาการที่นำเสนอในหนังสือพิมพ์หรือนิตยสาร  ส่วนใหญ่ไม่มีความยาวมากนัก นอกจากนี้ ข้อมูลยังมีความถูกต้องน่าเชื่อถือน้อยกว่าบทความวิชาการในวารสารวิชาการ

 

หลักการอ่านและพิจารณาบทความ

 

ในการอ่านและพิจารณาบทความ ควรพิจารณาในประเด็นต่อไปนี้

 

 ๑. ข้อเท็จจริง   ควรพิจารณารายละเอียดดังนี้

 

- ข้อเท็จจริงในบทความ เป็นข้อมูลที่ถูกต้องทันสมัยและน่าเชื่อถือหรือไม่

 

- ผู้เขียนนำข้อมูลมาจากแหล่งใด

 

- มีการอ้างอิงแหล่งข้อมูลให้ผู้อ่านสืบค้นต่อไปหรือไม่ และแหล่งข้อมูลนั้นน่าเชื่อถือหรือไม่

 

 ๒.   ข้อคิดเห็น  ควรพิจารณารายละเอียดดังนี้

 

- ข้อคิดเห็นของผู้เขียนสอดคล้องกับข้อเท็จจริงหรือไม่

 

- ผู้เขียนเสนอข้อคิดเห็นที่มีประโยชน์ในเชิงสร้างสรรค์หรือไม่

 

- ข้อคิดเห็นของผู้เขียนมีความเป็นไปได้หรือไม่

 

- ข้อคิดเห็นของผู้เขียนสามารถนำไปปฏิบัติได้หรือไม่

 

 ๓.   กลวิธีนำเสนอ   ควรพิจารณารายละเอียดดังนี้

 

- ผู้เขียนนำเสนอบทความได้น่าสนใจหรือไม่  โดยพิจารณาจากองค์ประกอบต่างๆของ

 

  บทความ

 

       - องค์ประกอบต่างๆ ของบทความมีความสอดคล้องและเชื่อมโยงต่อเนื่องกันหรือไม่

 

       - การนำเสนอของผู้เขียน ทำให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่าย หรือเกิดความสับสน

 

       - ผู้เขียนนำเสนอเรื่องด้วยถ้อยคำสำนวนที่เข้าใจง่าย และชัดเจนหรือไม่

 

 ๔.   ประโยชน์ที่ได้รับ  ควรพิจารณารายละเอียดต่อไปนี้

 

        - ผู้อ่านได้รับประโยชน์จากการอ่านบทความนี้มากน้อยเพียงใด

 

        - ข้อคิดหรือทรรศนะของผู้เขียนสามารถนำไปปฏิบัติได้หรือไม่

 

        - บทความนี้มีประโยชน์กับบุคคลเฉพาะกลุ่มหรือบุคคลส่วนใหญ่ในสังคม

 

ลักษณะของบทความ

 

            บทความ  คือ ความเรียงประเภทหนึ่งที่เขียนเพื่อความรู้ ความคิด มีรูปแบบการเขียน

 

คล้ายกับเรียงความ  แต่การเขียนบทความจะต้องมีเรื่องราวมาจากข้อเท็จจริงหรือข่าวประจำวัน

 

มีความทันสมัย   ทันต่อเหตุการณ์  อยู่ในความสนใจของผู้อ่านและผู้เขียน  และจะต้องสอดแทรก

 

ข้อเสนอเชิงวิชาการ  หรือความคิดเห็นเชิงสร้างสรรค์ไว้ด้วย

 

               บทความมีลักษณะดังต่อไปนี้

 

๑.     เรื่องที่เขียนต้องเป็นเรื่องที่มีสาระ   เป็นเรื่องจริง มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือ เมื่ออ่านแล้วจะได้ความรู้หรือความคิดเพิ่มขึ้น

 

๒.     ต้องเสนอเรื่องที่ผู้อ่านส่วนมากกำลังสนใจอยู่ในขณะนั้น  ทันต่อเหตุการณ์  หรือเรื่องที่เป็นปัญหา   และมีความสำคัญเป็นพิเศษ

 

๓.     ต้องมีส่วนเป็นทัศนะหรือความคิดเห็นของผู้เขียน  โดยนำเสนอแนวคิดที่น่าสนใจชวนให้ผู้อ่านคิดตามหรือคิดต่อ

 

๔.     ควรใช้ภาษาให้น่าอ่าน  และสร้างความสนใจ

 

๕.     ความยาวของบทความควรสั้น กะทัดรัด เพื่อให้ผู้อ่านสามารถอ่านได้ในเวลาจำกัด

 

ประเภทของบทความ

 

            ๑.     บทความวิชาการ   หรือกึ่งวิชาการ หรือเชิงวิชาการ

 

            บทความวิชาการ  เป็นบทความที่เขียนเพื่อเผยแพร่ความรู้โดยตรง ผู้เขียนจึงต้องค้นคว้าจาก

 

เอกสาร  จากการสังเกต  การสัมภาษณ์  การทดลอง  มีการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ  มีหลักฐานอ้างอิง

 

ที่เชื่อถือได้ และจะต้องมีบรรณานุกรม และเอกสารอ้างอิงท้ายเรื่องเสมอ

 

                ส่วนบทความกึ่งวิชาการหรือเชิงวิชาการมีลักษณะคล้ายบทความวิชาการ คือ เขียนขึ้นเพื่อเผยแพร่ความรู้เป็นสำคัญ  แต่มีความแตกต่างกันในเรื่องการใช้ภาษา กล่าวคือ บทความวิชาการมีลักษณะการใช้ภาษาที่เป็นทางการ  และเป็นภาษาที่ถูกต้องตามหลักภาษา

 

๒.      บทความทั่วไป

 

            เป็นบทความที่ให้ความรู้ความคิด และความเพลิดเพลินแก่ผู้อ่าน  โดยเน้นความเพลิดเพลินเป็นสำคัญ

 

ขั้นตอนในการเขียนบทความ

 

                การเขียนบทความมีขั้นตอนต่อไปนี้

 

             ๑.  การเลือกเรื่อง   ควรเลือกเรื่องที่คนกำลังสนใจและเป็นเรื่องที่ผู้เขียนมีความรู้การเสนอเรื่องราวและความคิด  ควรกำหนดขอบเขตให้แคบเพื่อให้สมบูรณ์และลึกซึ้ง  หรือพยายามเลือกเฉพาะตอนที่เด่นและน่าสนใจเป็นพิเศษมาเขียน

 

                ๒.  การรวบรวมข้อมูล   ผู้เขียนบทความจะต้องหาความรู้  ข้อมูล  ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องที่จะเขียน  การรวบรวมความรู้อาจจะทำได้หลายวิธี  และจะต้องพิจารณาด้วยว่าข้อมูลนั้นจะต้องเป็นที่ยอมรับและเชื่อเถือได้

 

                ๓.  การกำหนดจุดมุ่งหมาย   ควรกำหนดจุดมุ่งหมายให้ชัดเจนว่าบทความที่จะเขียนนี้ต้องการเขียนให้ใครอ่าน  ต้องการสื่อสารกับคนกลุ่มใดหรือต้องการให้ผู้อ่านมีความคิดอย่างไร

 

                ๔.  การวางโครงเรื่อง   การวางโครงเรื่องถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับงานเขียนทุกประเภทเพราะจะทำให้เขียนได้ตรงตามจุดมุ่งหมายและลำดับความคิดได้ต่อเนื่อง

 

                ๕.  การลงมือเขียน   ควรเขียนด้วยความตั้งใจโดยลำดับความคิดตามโครงเรื่องที่กำหนดและใช้ภาษาที่สื่อความหมายชัดเจนชวนให้ผู้อ่านสนใจติดตาม

 

                ๖.   การทบทวน  ควรอ่านทบทวนบทความที่เขียนเสร็จแล้วอย่างน้อย ๒ ครั้งเพื่อพิจารณาว่าเนื้อหาสาระสอดคล้องกับชื่อเรื่องหรือไม่ แล้วทบทวนแก้ไขข้อบกพร่องในการใช้ภาษา

 

กลวิธีในการเขียนบทความ

 

          การเขียนบทความมีกลวิธีที่ทำให้บทความนั้นน่าสนใจดังนี้

 

                ๑.  การตั้งชื่อเรื่อง   ชื่อเรื่องนับว่าเป็นส่วนสำคัญที่จะดึงดูดความสนใจของผู้อ่านเพราะเป็นสิ่งแรกที่ผู้อ่านจะอ่านก่อนเสมอ  ดังนั้น  จะต้องเลือกคำหรือข้อความที่สามารถสื่อสาร  หรือแนวคิดให้ดีที่สุด  ชวนให้อยากอ่านเนื้อหาในบทความนั้น

 

                ๒. การเขียนบทนำ   บทนำเป็นส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างความสนใจจากผู้อ่านดังนั้น  ผู้เขียนบทความจะต้องใช้กลวิธีการเขียนบทนำ   เพราะถ้าสามารถขึ้นต้นบทความได้ดีก็เท่ากับว่าได้รับความสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง 

 

                ๓.  การเขียนเนื้อเรื่อง   เนื้อเรื่องเป็นส่วนที่ยาวและสำคัญที่สุด  เพราะรวบรวมความคิดและข้อมูลทั้งหมด  ย่อหน้าแต่ละย่อหน้าในเนื้อเรื่องจะต้องมีสัมพันธภาพคือ ร้อยเรียงเป็นเรื่องเดียวกันและมีลำดับขั้นตอน  ผู้เขียนอาจจะลำดับเนื้อเรื่องตามเวลา  ลำดับตามเหตุผล หรือลำดับตามความสำคัญก็ได้

 

                ๔.  การเขียนบทสรุป

 

                การเขียนบทสรุปเป็นส่วนที่มีความต่อเนื่องจากเนื้อเรื่อง   และเป็นส่วนที่ผู้เขียนต้องการบอกให้ผู้อ่านทราบว่าข้อมูลทั้งหมดที่เสนอมาได้จบลงแล้ว  ผู้เขียนควรมีกลวิธีที่จะทำให้ผู้อ่านพอใจ  ประทับใจ  และได้รับความคิดที่ผู้อ่านสามารถนำไปใช้ได้  การเขียนบทสรุปของบทความมีกลวิธีเรียนเล่มเช่นเดียวกับการเขียนบทสรุปเรียงความซึ่งได้อธิบายแล้วในหนังสือก่อน

 

Share this