ว้าว !! จดเลคเชอร์แบบมืออาชีพ ด้วยสัญลักษณ์เก๋กู้ด
สมาชิกเลขที่45049 | 20 พ.ค. 55
1.7K views

  ก่อนอื่นเลย เมื่อเข้าห้องเรียนแล้วน้องๆ ต้องรวบรวมสมาธิเสียก่อน เพราะถ้าไม่มีสมาธิ ต่อให้มีวิธีที่ดีแค่ไหนก็ไม่ได้ผลแน่นอน ต่อมาต้องรู้หลักสำคัญว่า การจดที่ถูกต้อง จะต้องไม่จดทุกคำที่อาจารย์พูด เพราะมันเสียเวลามาก อีกอย่างสมาธิจะไปอยู่กับการจด ส่วนคำพูดของคุณครูน่ะหรอ ไหลไปแล้ว!! ดังนั้น น้องๆ ต้องฟัง จับประเด็นให้ได้แล้วค่อยจดเป็นคำพูดหรือภาษาตัวเอง ซึ่งนอกจากจะทำให้เร็วขึ้นแล้ว กลับมาอ่านอีกทีก็ยังเข้าใจได้ง่ายกว่าอีกด้วย มีหลักแล้ว ต่อไป พี่มิ้นท์ จะมาแนะนำเทคนิคต่อค่ะ

เด็กดีดอทคอม :: ว้าว !! จดเลคเชอร์แบบมืออาชีพ ด้วยสัญลักษณ์เก๋กู้ด

 

           เทคนิคของการจดโน้ตหรือจดเลคเชอร์ ก็คือ ใช้สัญลักษณ์หรืออักษรย่อแทนคำเต็มซึ่งประหยัดทั้งเวลาและน้ำหมึก แถมยังเก็บเกี่ยวเนื้อหาได้เต็มๆ ไม่พลาดแม้แต่ประโยคเดียวเลยล่ะ

 

            สัญลักษณ์ สัญลักษณ์ที่ว่า ก็เป็นสัญลักษณ์ทั่วไป แต่จะมีความหมายในตัวเอง นำมาใช้ด้วยการแทนลงไปในคำต่างๆ ซึ่งคำที่ใช้บ่อยๆ เช่น

            ดอกจัน (*) เคยได้ยินคุณครูบอกว่า “เอ้า..ดอกจันเอาไว้ตรงนี้” มั้ยคะ ถ้าได้ยินแบบนี้น้องๆ ต้องรีบทำตามเลยนะ นี่แหละคือคีย์เวิร์ดที่ครูได้ใบ้ให้แล้วว่ามันสำคัญ ดังนั้นเวลาเราจดเลคเชอร์อยู่ ถ้ารู้สึกว่ามันสำคัญ ก็ดอกจันไว้ข้างหน้า ดีกว่ามานั่งจดว่ามันสำคัญนะ

            แดท (-) เอาไว้ขึ้นย่อหน้าใหม่ หรือขึ้นประเด็นใหม่ อันนี้พี่มิ้นท์แนะนำว่า เวลาน้องๆ จด ไม่ควรจดยาวเป็นพารากราฟ เพราะตอนกลับมาอ่านอีกรอบจะลายตามากค่ะ แต่อยากให้จับใจความสำคัญ แล้วลิสลงมาเป็นบรรทัดๆ โดยใช้ - ขึ้นต้นประโยค

            หมวกหงายหรือตัววี (v) ใช้แทนคำว่า “หรือ” อันนี้ใช้ตามหลักตรรกศาสตร์ในวิชาคณิตศาสตร์ จะช่วยลดเวลาในการจดได้ดีทีเดียว

            เครื่องหมายบวก (+) ใช้แทนคำว่า “และ”

            ลูกศรขึ้น/ลง ใช้ในความหมายตรงตัว ก็คือ “มากขึ้น” หรือ “น้อยลง”

            ลูกศรชี้ไปทางขวา (→) ใช้แทนคำว่า “นำไปสู่” “ไปยัง” หรือใช้แทนความหมายที่ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงก็ได้

            รูปหัวใจ ใช้แทนคำว่า “หัวใจ” หรือ “หัวใจสำคัญ” คำนี้พี่มิ้นท์ใช้บ่อยทีเดียว เพราะหลายๆ ครั้งที่คุณครูจะชอบหลุดคำว่า “เป็นหัวใจสำคัญ” ก็จัดการวาดรูปหัวใจทีเดียวก็เสร็จแล้วค่ะ (แต่อย่าวาดบ่อยนะ เดี๋ยวเพื่อนเข้าใจผิดคิดว่าอินเลิฟ ฮ่าๆ)

            เครื่องหมายคำถาม (?) ใช้แทนคำว่า “อะไร” “ใช่มั้ย” เช่น เพราะ? หรืออาจใช้ในข้อความที่เราจดแล้วไม่แน่ใจ ต้องกลับไปหาคำตอบเพิ่ม

            ทั้งหมดนี้เป็นสัญลักษณ์ที่ใช้ในการจด ซึ่งแต่ละตัวจะมีความหมายในตัวเอง นอกจากจะช่วยให้จดเร็วขึ้นแล้ว ยังไม่งงอีกด้วย เรียกได้ว่าใช้ได้ผลจริงๆ ค่ะ

 

เด็กดีดอทคอม :: ว้าว !! จดเลคเชอร์แบบมืออาชีพ ด้วยสัญลักษณ์เก๋กู้ด

 

 

            อักษรย่อ คำทั่วไปเราไม่สามารถหาสัญลักษณ์มาแทนได้จริงๆ แต่จะให้นั่งจดทุกตัวอักษรก็เพลียเหมือนกันจริงมั้ย เพราะฉะนั้นน้องๆ ต้องหัดย่อคำให้เป็นนิสัย จะได้จดได้ไวขึ้นค่ะ พี่มิ้นท์ได้ลองแยกประเภทของคำย่อที่ใช้ในการจดเลคเชอร์ไว้คร่าวๆ แบบนี้

           อักษรย่อที่มีอยู่แล้ว เช่น ร.ร.(โรงเรียน), ปวส.(ประวัติศาสตร์), ตย.(ตัวอย่าง), ปท.(ประเทศ), นน.(น้ำหนัก), เป็นต้น หรืออักษรย่อวันต่างๆ คำย่อพวกนี้ใช้ได้เต็มที่เลยค่ะ ซึ่งการใช้อักษรย่อนั้นเราไม่จำเป็นต้องถูกหลักเป๊ะก็ได้ เพราะอย่าลืมว่าเราใช้อักษรย่อเพื่อให้จดเร็วขึ้น มานั่งเครียดว่าเอ๊ะ! เราใส่จุดถูกที่รึเปล่า แบบนี้ช้ากว่าเดิมแน่นอน อีกอย่างสมุดเลคเชอร์เป็นทรัพย์สินส่วนตัวของเรา ใช้เพื่อความเข้าใจของเราเท่านั้น แต่ยังไงซะ ถ้าออกมากจากสมุดเราแล้วก็ต้องใช้ให้ถูกต้องตามหลักภาษานะคะ

            ย่อเพื่อลดคำ เช่น ก.(การ) , ค.(ความ), ญ.(ผู้หญิง), ช.(ผู้ชาย), ศ.(ศาสนา) เป็นต้น วิธีนี้เราย่อเพื่อความสะดวกของเราเองค่ะ อย่างคำว่า “การ” และ “ความ” พบบ่อยมากๆ ในภาษาไทย ถ้าเรามัวแต่เขียนเต็มทุกคำ ทำมาหากินไม่ทันเพื่อนแน่นอน วิธีนี้น้องๆ อาจจะเห็นบ่อย เช่น ค.สุข ค.เศร้า ก.พนัน ฯลฯ

            ย่อให้เหลือแต่คำหน้า ในคำที่รู้คำเต็ม เช่น วิทยาศาสตร์ จดเป็น วิทย์, คอมพิวเตอร์ เป็น คอมฯ คำพวกนี้มักเป็นคำที่เข้าใจความหมายตั้งแต่คำแรก แล้วเราจะเขียนเต็มคำเพื่ออะไรล่ะ??

            ย่อตามความคุ้นเคยของตัวเอง เช่น เพราะ ย่อเป็น พ. ประโยชน์ เป็น ปย. สมัย เป็น ส. วิธีนี้เสี่ยงหน่อย ต้องใช้บ่อยๆ และจำให้ได้ เพราะมีโอกาสที่จะลืมสูงมาก บางทีจดเองก็งงเองว่าย่อมาจากคำว่าอะไร หรืออาจจะตีความหมายผิดไป เพราะฉะนั้นต้องใช้ให้คุ้นเคย เพราะมีเราคนเดียวที่เข้าใจ เผลอลืมไปคนอื่นก็ช่วยไม่ได้นะจ๊ะ

            ย่อเป็นภาษาอังกฤษ เช่น coz(cause)(เพราะ), OK.(โอเค), Gr.(กลุ่ม) เป็นต้น คำภาษาอังกฤษพวกนี้ก็เป็นคำง่ายๆ คุ้นเคยกันอยู่ เอามาใช้ก็จะสะดวกกว่า

 

Share this