เธอจะมีใจหรือเปล่า เธอเคยมองมาที่ฉันหรือเปล่า~~ เฮ้ย!! ไม่ใช่แล้ว.. อยากรู้แต่ไม่อยากถามที่ พี่มิ้นท์ กำลังพูดถึงอยู่ก็คือ อาการของเด็กไทยที่อยู่ในห้องเรียนที่ต้องฝืนใจทำเป็นเรียนรู้เรื่อง ทั้งที่ความจริงในสมองมีเครื่องหมายคำถามเต็มไปหมด แต่กล้าๆ กลัวๆ ไม่กล้ายกมือถามอาจารย์ ซึ่งวัฒนธรรมนี้เด็กไทยกับเด็กฝรั่งแตกต่างกันเต็มๆ เพราะนักเรียนฝรั่ง ไม่เข้าใจนิดเดียว เค้าก็ยกมือถามกันแล้ว ก็เลยถือเป็นโอกาสดีที่ พี่มิ้นท์ จะมาชี้แจงสาเหตุของอาการ “อยากรู้แต่ไม่อยากถาม” ของเด็กไทยว่ามีอะไรบ้าง และมีวิธีแก้ไขอย่างไร
1. กลัวถูกหาว่าโง่ เป็นสาเหตุอันดับต้นๆ เวลายกมือถาม หลายคนกลัวสายตารุมประณามจากเพื่อนร่วมห้อง ซึ่งเราจะตีความหมายของสายตาเหล่านั้นได้ว่า “แค่นี้ก็ไม่รู้หรือไง” “จะถามทำไม ขี้เกียจฟังหลายๆ รอบ” “อะไรเนี่ย..ไม่รู้เรื่องอยู่คนเดียว” และอีกหลายคำพูดที่คิดไปว่า เพื่อนต้องหาว่าเราโง่แน่ๆ เลย แหม..ถ้าจินตนาการสูงไปแบบนี้ จะไปกล้าถามได้ไง๊
วิธีแก้ ต้องปรับทัศนคติก่อนว่า การถามไม่ได้แปลว่าเราโง่ แต่เรากำลังทำในสิ่งที่ถูกต้อง พ่อแม่ส่งให้เรามาหาความรู้ ถ้าเราไม่รู้ก็ต้องถาม ถามจนรู้ให้ได้ถึงจะถูกต้อง แล้วอีกอย่างพวกที่เงียบก็ไม่ได้หมายความว่าเค้าจะรู้ทุกเรื่องซะหน่อย ถึงเวลาจริงๆ อาจจะต้องมาง้อเราก็ได้
2. กลัวโดนด่า โดนเพื่อนด่าไม่พอ มีสิทธิ์โดนอาจารย์ด่าด้วย เช่น “แล้วทำไมไม่ตั้งใจฟัง” “แค่นี้ทำไมไม่รู้เรื่อง” การถูกด่าทำให้เรารู้สึกแย่ และเสียกำลังใจ อายทั้งครู อายทั้งเพื่อน หน้าแตก เสียเซลฟ์สุดๆ เหมือนหาเรื่องให้โดนด่า แบบนี้ก็จะถูกฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกว่าการถาม คือการทำผิดและจะต้องถูกด่า ในที่สุดก็จะไม่กล้าถาม แม้จะอยากรู้แค่ไหนก็ตาม (น่าสงสารที่ซู๊ดด)
วิธีแก้ อาจารย์ประเภทนี้ พี่มิ้นท์ เชื่อว่ามีอยู่จริง แต่ก็คงมีไม่เยอะหรอกค่ะ เพราะโดยหน้าที่แล้ว อาจารย์มีหน้าที่ให้ความรู้กับศิษย์ แต่ถ้าโชคร้ายต้องเจอจริงๆ ก็อย่าเสียกำลังใจไปค่ะ คิดซะว่าท่านอาจจะหงุดหงิดมาจากที่บ้าน เดี๋ยวแป๊บๆ ก็หาย หรือรอไปถามนอกรอบก็ได้ แต่สิ่งที่สำคัญพอถึงชั่วโมงอื่นก็ขอให้น้องๆ กลับมามั่นใจอีกครั้ง อย่าเสียกำลังใจจนไม่กล้าถามนะคะ
3. อาย ไม่กล้าแสดงออก สาเหตุนี้น่าสงสารมากค่ะ ไม่ได้กลัวโดนด่า ไม่ได้กลัวโดนดูถูก แต่ดันกลัวความรู้สึกตัวเองซะงั้น ความรู้สึกภายในที่ไม่กล้าแม้แต่จะยกมือ หรือพูดถามอะไรออกไป กลายเป็นคนขาดความมั่นใจ ความรู้สึกนี้มันอึดอัดมากๆ
วิธีแก้ เหมือนที่ได้บอกในข้อ 1. ค่ะ ว่าการถามไม่ใช่การทำความผิด ขอแค่น้องๆ รวบรวมความกล้า เรียบเรียงคำถามดีๆ สูดหายใจแรงๆ ยกมือขวาขึ้นและพูดออกไป แค่นี้ก็จะได้รู้สิ่งที่น้องๆ อยากรู้ทุกอย่าง อายตอนยกมือถามดีกว่าอายเพราะสอบตกนะคะ
4. อาจารย์ตอบไม่ตรงคำถาม เหตุการณ์นี้ พี่มิ้นท์ เคยเจอมากับตัวค่ะ เวลาถาม อาจารย์จะไม่เคยอารมณ์เสียเลย แถมยังตอบด้วยความเต็มใจราวกับว่าอยากสอนใหม่ทั้งหมด แต่พอสิ้นสุดคำตอบของอาจารย์ ก็ดันเกิดคำถามใหม่ว่า “อ้าว..ไหนคำตอบฉันล่ะ - -!!” เจอเหตุการณ์แบบนี้ นอกจากจะไม่ได้คำตอบแล้ว ยังได้ความหงุดหงิดเพิ่มอีกด้วย ครั้งหน้าก็เลยพาลไม่อยากถามอีก
วิธีแก้ เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ต้องลองย้อนกลับมาดูตัวเองว่าเราถามไม่รู้เรื่องรึเปล่า แต่ถ้าเพื่อนบอกว่าเข้าใจคำถามเรานะ ทีนี้เราก็ลองถามอาจารย์ใหม่อีกรอบ แต่ถ้าคำตอบยังไม่ตรงเหมือนเดิม ก็ลองถามเพื่อน หรือให้เพื่อนช่วยถามแทนก็ได้ อย่าแคร์สายตาคนอื่นที่จะมองว่าเราเป็นคนเข้าใจยาก (แม้จะเป็นยังงั้นก็ตาม) แต่เราต้องทำเพื่อความอยู่รอดของตัวเองค่ะ
5. ขี้เกียจ เป็นเหตุผลที่ไร้สาระที่สุดในโลก แต่คงมีอยู่จริง เชื่อว่ามีน้องๆ หลายคนขี้เกียจยกมือถาม แล้วรอให้เด็กเรียนแถวหน้าคอยถาม ถ้าเพื่อนถามตรงกับสิ่งทีเราอยากรู้ก็ดีไป แต่ถ้าไม่มีคำถามของเราก็ไม่ได้ซีเรียส แบบว่ารู้ก็ดี ไม่รู้ก็ได้ อาการแบบนี้ทำยังไงก็คงไม่มีวันถามหรอกค่ะ
วิธีแก้ ขอแค่ปลุกพลังตัวเองออกมา ให้กล้าถาม และทำตัวเองให้ตื่นตัวตลอดเวลา หรือง่ายๆ คือ เลิกขี้เกียจนั่นเอง
นี่ก็เป็น 5 สาเหตุที่เด็กไทยไม่ค่อยกล้าถามอาจารย์ แม้จะมีคำถามล้านแปดอยู่ในใจก็ตาม ซึ่งตั้งแต่ พี่มิ้นท์ เรียนมา ก็ยังหาข้อเสียของการ “ถาม” ไม่เจอเลยนะ เพราะฉะนั้นด้วยเกียรติของเนตรนารี (เกี่ยวอะไร) พี่มิ้นท์ กล้าพูดได้ว่าการถามเป็นประโยชน์สำหรับการเรียนจริงๆ ค่ะ ถ้ามีโอกาสถาม ขอให้ถาม ถามไปเถอะ อย่าได้แคร์อะไรทั้งนั้น เพราะความสงสัยจะเป็นประตูไปสู่ความฉลาดก่อนจบ พี่มิ้นท์ ขอฝากข้อคิดคุ้นหูอย่าง “อายครู ไม่รู้วิชา” ให้น้องๆ กลับไปหาความหมายดูนะคะ