ความสามารถอันสุดยอดของ ลีโอนาโด ดาวินชี ไม่ได้หยุดแค่เรื่องศิลปะ หรือ นักกายวิภาคเท่านั้น แต่ยังเป็นอัจฉริยบุคคลที่มีความสามารถหลากหลาย เป็นทั้งนักดนตรี นักประดิษฐ์ นักเรขาคณิต วิศวกร ฯลฯ ที่สำคัญเป็นปราชญ์สำคัญคนนึงเลยก็ว่าได้ พี่มิ้นท์ได้อ่านเจอบทความนึงที่พูดถึงหลักในการคิด 7 ประการ ซึ่งมีประโยชน์กับน้องๆ มาก ก็เลยเอามาฝากกันให้ลองนำไปประยุกต์ใช้ในการเรียนดูค่ะ
หลักข้อที่หนึ่ง คือ Curious หรือแปลเป็นไทย ง่ายๆ ว่า ความอยากรู้อยากเห็น แต่ไม่ใช่ การ "สอดรู้สอดเห็น" นะ ความอยากรู้อยากเห็นเป็นการแสวงหาและพัฒนาความรู้ใหม่ๆ ในทางที่เป็นประโยชน์ ซึ่งดาวินชีก็เป็นผู้ที่สนใจ อยากรู้ในสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวเสมอและจะคอยถามตลอดเวลาเพื่อให้หายความสงสัย และทุกๆ ครั้งที่สังเกตก็จะจดบันทึกไว้ด้วย นับว่าเป็นตัวอย่างที่ดีมากๆ สำหรับวัยเรียนอย่างน้องๆ ทุกวันนี้พี่มิ้นท์ก็ยังเชื่ออยู่ว่าการถามบ่อยๆ เป็นสิ่งที่ดี เพราะจะช่วยพัฒนากระบวนการในการคิดของเราให้เฉียบแหลมขึ้น ดังนั้นหลักข้อที่ 1 น้องๆ ควรนำไปประยุกต์ใช้โลดค่ะ
หลักข้อที่สอง คือ Dimostrazione คือ การนำความรู้ที่มีอยู่ไปลองใช้จริง เพื่อให้เกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์และความผิดพลาด ซึ่งดาวินชีเองค่อนข้างให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์มาก นอกจากนี้เค้ายังยอมรับว่าการเรียนรู้จากประสบการณ์ มักจะหนีไม่พ้นการเรียนรู้จากความผิดพลาด ตัวเค้าเองก็ผิดพลาดหลายครั้ง แต่ที่สำคัญเค้าไม่เคยหยุดเรียนรู้ค่ะ ซึ่งประสบการณ์เหล่านี้แหละที่จะเป็นบ่อเกิดของปัญญา ในแง่นี้น้องๆ ต้องรู้จักนำความรู้ที่ได้มาไปใช้ให้เกิดประโยชน์จริง หากใช้ตรรกะเดียวกัน น้องๆ ต้องลงมือทำการบ้านด้วยตนเอง เมื่อใดที่เราทำผิด เมื่อนั้นคำตอบก็จะอยู่ในใจเราไปตลอดค่ะ
หลักข้อที่สาม คือ Sensazione หรือการปรับปรุงและพัฒนาประสาทสัมผัสทั้งห้าอย่างต่อเนื่องดาวินชีให้ความสำคัญต่อการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เหมาะสมกับประสาทสัมผัสของตัวเอง เพราะสิ่งที่ประสาทสัมผัสเราได้รับรู้ก็เปรียบเสมือน "อาหารสมอง" ดังนั้นน้องๆ ต้องควรฝึกประสาทสัมผัสทั้งห้าให้ฉับไวอยู่เสมอ เวลามองให้ตั้งใจมอง เวลาได้ยินต้องตั้งใจฟัง เวลาได้รับกลิ่นต้องสนใจและรับรู้ได้ เวลาลิ้มรสต้องแยกแยะได้ เมื่อสัมผัสหรือเคลื่อนไหวต้องมีความระมัดระวัง และมีสติอยู่ตลอดเวลา สุดท้าย เมื่อพูดสิ่งใด ต้องคิดตามอยู่เสมอ
หลักข้อที่สี่ คือ Sfumato หรือความพร้อมที่จะยอมรับต่อความคลุมเครือ ความขัดแย้งและความไม่แน่นอน ต้องรู้จักยอมรับในสิ่งที่ไม่จีรังยั่งยืนที่ผ่านเข้ามาในชีวิตได้ ดาวินชีเคยพูดไว้ว่า "อัจฉริยะที่แท้จริงนั้นในบางครั้งสามารถทำงานให้สำเร็จได้มากขึ้น โดยการทำงานที่น้อยลง" ดาวินชีจะมีการสลับระหว่าง การทำงานและการพักผ่อน อยู่ตลอดเวลา ในหลายๆ ครั้งความคิดดีๆ ก็มักจะออกมาจากสมองในช่วงที่เขาพักผ่อนจากงาน ดังนั้นน้องๆ ก็ต้องรู้จักปรับตัว รับมือจากความเครียด ที่สำคัญต้องแบ่งเวลาพักผ่อนด้วย
หลักข้อที่ห้า คือ Arte/Secienza หมายความว่า การสร้างความสมดุลระหว่างวิทยาศาสตร์ ศิลปะ เหตุผล และจินตนาการ หรือ การคิดโดยใช้สมองทั้งหมด ทั้งซีกซ้ายและซีกขวา คิดให้สมดุลกันระหว่างศาสตร์และศิลป์ ระหว่างสัญชาตญาณและเหตุผล ระหว่างการเล่นและการเอาจริงเอาจัง และระหว่าง การวางแผนกับการทำตามใจตนเอง
หลักข้อที่หก คือ Corporalita หรือ ความสมบูรณ์ของร่างกายเราในเชิงกายภาพ ดาวินชีจะบอกไว้เสมอว่าคนเราต้องรักษาสุขภาพร่างกายของตนเองให้ดี เพราะความพร้อมของร่างกาย จะส่งผลกระทบต่อความพร้อมของสมองเรา ถ้าร่างกายเราอ่อนแอหรือเจ็บป่วย มันก็จะส่งผลต่อจิตใจและความคิดของเราด้วย สุดท้ายอ่อนเพลียกันไปหมด เพราะฉะนั้นน้องๆ ต้องพักผ่อนเยอะๆ ให้มีความพร้อมทั้งร่ายกายและจิตใจนะ
หลักข้อที่เจ็ด คือ Connessione หรือ การให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่างๆ หรือ การคิดเชิงระบบ นั่นเอง คำนี้อาจจะคุ้นๆ หูอยู่ เพราะหลายโรงเรียนเริ่มมีการเรียนการสอนแบบให้คิดเป็นองค์รวม คือ ต้องรู้จักหัดสังเกตความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ รอบตัว วิธีนี้จะทำให้เราเข้าใจสิ่งต่างๆ ได้มากขึ้น