"การอ่านกลับหลัง" ไม่ใช่การอ่านแบบ กลับจากขวามาซ้าย หรือกลับจากหลังเล่มมาหน้าเล่มเหมือนหนังสือญี่ปุ่น เพราะถ้าอ่านแบบนั้นแล้วยังรู้เรื่อง ก็คงต้องกราบงามๆ ให้แล้วล่ะ แต่เรื่องการอ่านกลับหลังที่พูดถึงนี้ คือ การอ่านในส่วนสุดท้ายของบท แล้วค่อยมาอ่านเนื้อหาด้านหน้า พูดง่ายๆ ก็คือ อ่านจากหลังบทมาหน้าบท นั่นเอง
ก่อนอื่นน้องๆ ลองนึกภาพตาม พี่มิ้นท์ ดูนะ... หนังสือบางเล่มจะมีโครงสร้างเนื้อหาให้ดูที่หน้าแรกของบท เพื่อให้รู้ว่าบทนั้นมีประเด็นสำคัญอะไรบ้าง แต่หนังสือหลายๆ เล่มก็จะไม่มีค่ะ ดังนั้นน้องๆ ก็ต้องระลึกไว้อยู่เสมอว่า หนังสือเกือบทุกชนิด โดยเฉพาะหนังสือเรียนมักจะมีองค์ประกอบ คือ เกริ่นนำ เนื้อเรื่อง และสรุป คล้ายกับการเขียนเรียงความนั่นแหละค่ะ ทีนี้มาดูต่อว่าแต่ละส่วนมีความสำคัญยังไง
- เกริ่นนำ คือ การอธิบายความเป็นมา หรือปัญหา หรือความจำเป็นที่จะต้องเรียนเรื่องนั้นๆ บางครั้งเกริ่นนำก็เป็นการอธิบายเนื้อหาพื้นฐานเพื่อเป็นการปูความรู้ก่อนเข้าเรื่องนั่นเอง ถามว่าเนื้อหาส่วนนี้มีความสำคัญหรือไม่?? พี่มิ้นท์ ต้องขอบอกว่า ก็สำคัญค่ะ แต่ไม่ใช่ส่วนที่สำคัญที่สุด จะสำคัญก็ต่อเมื่อไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเรื่องนั้นมาก่อนเลย
- เนื้อเรื่อง เป็นส่วนที่คลายปมของเรื่อง เป็นส่วนที่จะให้ความรู้ อธิบายทุกอย่างอย่างละเอียด ในเนื้อหาอาจจะมีประเด็นแยกย่อยได้อีกเพียบ ดังนั้นเนื้อหาส่วนนี้จะยาวที่สุด ต้องมีสมาธิอ่านมากๆ จึงจะเข้าใจ
- สรุป ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าสรุป ดังนั้นใจความในย่อหน้านี้ก็จะพูดถึงเนื้อหาที่ได้พูดมาทั้งหมด ตั้งแต่เกริ่นนำยันเนื้อเรื่อง แต่มาในเวอร์ชั่นสรุปย่อให้เหลือแต่เนื้อ "เน้นๆ" มาแบบเข้มข้ม ไม่มีน้ำ บางครั้งผู้เขียนก็ยังได้แสดงความคิดเห็นหรือมีข้อเสนอแนะด้วย ดังนั้นแค่อ่านในส่วนนี้ก็สามารถเข้าใจเนื้อหาได้กว่า 50% แล้ว
อธิบายมาซะขนาดนี้แล้ว ก็น่าจะรู้แล้วว่าส่วนไหนของบทที่สำคัญที่สุด ดังนั้น ถ้าน้องๆ มีเวลาในการอ่านหนังสือที่จำกัด แต่อยากอ่านให้ได้ใจความครบถ้วน ลองเปลี่ยนนิสัยในการอ่าน จากการรีบๆ อ่านเพื่อให้จบ หรืออ่านข้ามบรรทัด มาเป็น ลองพลิกหนังสือไปที่ส่วนสรุปของบท ซึ่งมักจะอยู่ในหน้าสุดท้ายก่อน อ่านหน้านั้นด้วยความตั้งใจ และมีสมาธิสุดๆ ไปเลย ที่สำคัญไม่ต้องไปพะวงว่า อ่านแค่หน้าเดียว มันจะไปรู้เรื่องกว่าอ่านครบทุกหน้าได้ยังไง
เอาเป็นว่าอ่าน "บทสรุป" ให้เข้าใจถ่องแท้ก็พอ แล้วถ้ามีเวลาค่อยย้อนกลับไปอ่านส่วนเนื้อหาก็ยังไม่สาย วิธีนี้ย่อมดีกว่าการอ่านครบทุกหน้า แต่ไม่เข้าหัว หรือถ้าให้แย่ไปกว่านั้น มัวแต่อ่านละเอียดจนอ่านไม่ทัน สุดท้ายสิ่งที่เอาเข้าห้องสอบก็จะมีแต่ "เกริ่นนำ" ที่นั่งอ่านมาสามชั่วโมง แล้วจะสอบได้มั้ยล่ะเนี่ย!!
การเข้าใจเนื้อหาในภาพรวมก่อน คล้ายกับการกินข้าวนั่นแหละ เมื่อเรามองอาหารที่ทำเสร็จแล้ว เราก็สามารถเห็นส่วนประกอบคร่าวๆ ของอาหารชนิดนั้นได้ ส่วนถ้ามีเวลาเหลือ หรือก็ค่อยดูกันชัดๆ อีกทีว่าส่วนประกอบจริงๆ เป็นอย่างที่เราเห็นรึป่าว การอ่านหนังสือด้วยวิธีนี้ก็เหมือนกันค่ะ บทสรุปในตอนท้ายทำให้เราเห็นเนื้อหาภาพรวมล่วงหน้า เมื่ออ่านแล้วให้เข้าใจ ก็จะทำให้รู้ว่าเนื้อหามีประเด็นไหนบ้าง อะไรที่สำคัญและยังไม่รู้ หรือถ้าอยากได้รายละเอียดเพิ่มเติมก็ค่อยกลับไปอ่านในส่วนของเนื้อหาอีกครั้งเพื่อให้เข้าใจยิ่งขึ้น วิธีนี้จะเป็นการสำรวจตัวเองได้ด้วยว่า เราควรอ่านตรงไหนเป็นพิเศษ
เห็นมั้ยล่ะ อ่านหนังสือแบบนี้ ประหยัดทั้งเวลา แถมยังทำให้การอ่านง่ายและเข้าใจมากขึ้นด้วย แต่เหนือสิ่งอื่นใด ถ้าน้องๆ จัดเวลาในการอ่านหนังสือได้ดีตั้งแต่แรก ปัญหาอ่านหนังสือไม่ทันก็จะไม่เกิดขึ้นนะ พี่มิ้นท์เป็นกำลังใจให้น้องๆ ทุกคนตั้งใจอ่านหนังสือ แล้วก็อย่าลืมเอาวิธีนี้ไปใช้ด้วยล่ะ^^