กฎข้อที่ 1 : มีเวลาเท่าไหร่ก็พูดเท่านั้น
สำคัญมากสำหรับการพูดนำเสนอ เวลาที่อาจารย์กำหนดมาแสดงว่ามีความเหมาะสมแล้ว ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของคนนำเสนอที่ต้องจำกัดเวลาให้ทัน อาจารย์และเพื่อนๆ จะได้ไม่เบื่อเรา น้องบางคนอาจจะบอกว่า หนูพูดไม่เลยเวลาหรอกค่ะ ไม่เคยพูดถึงเลยตะหาก แบบนี้ก็ไม่ดีนะน้องๆ พูดน้อยกว่าเวลามากๆ เพื่อนอาจจะไม่ได้รับความรู้อะไรจากเราเลย ทางที่ดีควรบริหารเวลาให้ดี บวกลบได้ไม่เกิน 2 นาทีค่ะ เพราะเป็นช่วงที่คนกำลังให้ความสนใจในสิ่งที่เราพูดอยู่
กฎข้อที่ 2 : เขาให้พูดก็คือพูด อย่าอ่าน!!
ติดนิสัยกันทั่วบ้านทั่วเมือง ทุกครั้งที่ออกมาหน้าห้อง ก็คว้ากระดาษที่มีเนื้อหาอยู่เต็มหน้า กางออก ยกขึ้นมาในระดับอก ก้มหน้าลง อ่านด้วยน้ำเสียงราบเรียบ เป็นพฤติกรรมที่ชวนหลับสิ้นดี บางคนรู้ทั้งรู้ว่ามันน่าเบื่อ แต่ก็เต็มใจที่จะทำเพราะไม่อยากให้เพื่อนสนใจ อืม..ไม่รู้ว่าเอาแนวคิดนี้มาจากไหน ซึ่งกฏเหล็กในข้อนี้ ขอย้ำว่าให้พูด เพราะจะเป็นธรรมชาติมากกว่า มีการใช้น้ำเสียงสูงต่ำ ทำให้ไม่น่าเบื่อ ดึงดูดความสนใจจากผู้ฟังได้มาก เพราะมันเพลินนั่นเอง อ้อ.. แต่การจะพูดให้ดี ก็ต้องแม่นเนื้อหาก่อนนะ ลองซ้อมหน้ากระจกบ่อยๆ สิ จะได้เห็นวิธีการพูดของตัวเอง นอกจากนี้ระหว่างพูดอาจแทรกมุขขำๆ เพิ่มลูกเล่นให้น่าสนใจมากยิ่งขึ้นก็ได้
|
กฎข้อที่ 3 : อย่าพูดคำฟุ่มเฟือยบ่อยๆ
คำฟุ่มเฟือยที่พูดถึง ได้แก่ เอ่อ, อ่า, แบบว่า, ไรเงี้ย, ประมาณว่า, แล้วก็ ..., คือว่า... ฯลฯ น้องๆ อาจจะร้อง "เฮ้ยย...หนูก็เป็น" เพราะคำพวกนี้เราใช้ในชีวิตประจำวันจนคุ้นเคย จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เราติดและใช้ในการพูดทุกครั้ง ถ้าไม่พูดความหมายก็ไม่เปลี่ยน แต่เรานิยมพูดกันแก้เขิล หรืออยู่ในช่วงลืมบท ฮ่าๆ ซึ่งน้องๆ สามารถพูดได้ค่ะ แต่อย่าพูดบ่อย เพราะจะสร้างความรำคาญให้ผู้ฟัง วิธีแก้ก็ง่ายมากๆ ซ้อมพูดบ่อยๆ ให้ชิน ก็จะพูดคล่องเป็นสเต็ปเอง
พี่มิ้นท์มีเรื่องเล่าค่ะ สมัยเรียน มีเพื่อนคนนึงติดคำว่า "ซึ่ง" มากๆ เวลาเค้าออกมารายงานทีไร เพื่อนๆ ในห้องก็จะเตรียมนิ้วนับคำว่าซึ่ง ที่จะหลุดออกจากปากเค้าค่ะ เชื่อมั้ยคะว่าเค้าไม่รู้ตัว ทั้งๆ ที่พูดออกมาจะร้อยครั้งแล้ว ฮ่าๆ
กฎข้อที่ 4 : พาวเวอร์พ้อยท์มีประโยชน์
พาวเวอร์พ้อยมีประโยชน์มากกว่าให้เพื่อนจดตามค่ะ เพราะเป็นเครื่องมือที่ดึงดูดความสนใจจากผู้ฟังได้มาก ถ้าใช้เป็น!! ถ้าน้องๆ เป็นคนพูดไม่เก่ง ก็ใช้พาวเวอร์พ้อยท์ช่วยในการนำเสนอให้น่าสนใจได้ เพราะสามารถใส่ข้อความ ใส่รูปภาพ ใส่วีดิโอ ให้เพื่อนๆ ได้ติดตามแต่การทำพาวเวอร์พ้อยท์ก็มีหลักเหมือนกันนะ ไม่ควรใช้พื้นหลังเป็นลายการ์ตูน หรือสีฉูดฉาด เพราะจะทำให้แสบตาค่ะ ส่วนตัวหนังสือที่ใส่ ก็ไม่ควรมีเยอะ เพราะลายตา ตัวเล็กอ่านไม่ออก ควรใส่เฉพาะคีย์เวิร์ดที่สำคัญและให้มีขนาดที่ใหญ่ เพื่อนที่อยู่หลังห้องสามารถเห็นได้แค่นี้แหละโดนใจทั้งคนพูด คนฟังเลย
กฎข้อที่ 5 : สบสายตาผู้ฟังเป็นระยะๆ
การประหม่าไม่ใช่เรื่องแปลกของการนำเสนอหน้าชั้นเรียน ทั้งอาย ทั้งเขิล แค่พูดอย่างเดียวก็เกร็งจะตายอยู่แล้ว จะให้มองหน้าคนฟังก็คงแย่ เวลาเราพูดเลยได้แต่มองฝ้าเพดาน (ไม่รู้ว่ามีอะไรดี) พี่มิ้นท์อยากให้น้องๆ เปลี่ยนความคิดว่า ยิ่งเราสบตาคนฟังและรับรู้ว่ามีคนฟังเท่าไหร่ ก็ยิ่งเพิ่มความมั่นใจให้เรามากขึ้นเท่านั้น ที่สำคัญหลัก Eyes contact นี้มีประโยชน์มากๆ เพราะคนฟังจะรู้สึกว่าผู้พูดให้ความสำคัญกับเค้า โดยจะต้องมองผู้ฟังอย่างทั่วถึง ไม่มองแช่ที่ใครคนใดคนหนึ่ง แบบนี้สิ โดนใจคนฟังสุดๆ