กระเป๋าหนักขนาดนี้ เห็นทีต้องจัดการ!!
สมาชิกเลขที่45049 | 20 พ.ค. 55
709 views

 วิธีที่ 1 : จัดตารางสอน
            ตารางสอนไม่ได้มีแค่ทำให้เรารู้ว่าเราต้องเรียนวิชาไหน ห้องไหน แต่ยังจำเป็นต่อการจัดกระเป๋าด้วย เพราะในแต่ละวิชาก็จะมีหนังสือที่ต้องใช้เรียน บางวิชาไม่มี แต่บางวิชาก็สองสามเล่ม ไหนจะมีสมุดอีก รวมๆ ในหนึ่งเทอมมีเกือบสิบวิชา ถ้าเราไม่จัดตารางสอนเลย กระเป๋าเราต้องบวมเหมือนกระเป๋าย้ายบ้านแน่ๆ ซึ่งกลุ่มเด็กที่ไม่จัดตารางสอนนี่มีจริงๆ นะคะ โดยเฉพาะเด็กผู้ชาย ฮ่าๆ ดังนั้น เสียเวลา 5 นาที แต่ช่วยให้กระเป๋าเบาขึ้นได้ ก็ยอมเสียเวลานิดหน่อยดีกว่านะ เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นค่ะ วิชาไหนยังไม่เรียน ก็เอาออกไปบ้างก็ได้ค่ะ

วิธีที่ 2 : ผลัดกันเอาหนังสือมาเรียน
            เวลานั่งเรียนจะนั่งเรียนกันเป็นคู่ ซึ่งคู่ของเราก็จะนั่งเรียนด้วยกันเกือบทุกวิชา ถ้าวิชาไหนอาจารย์ไม่โหดมาก ไม่เช็คหนังสือ ก็ทำข้อตกลงกับเพื่อนไปเลยสลับกันเอามา เช่น เธอเอามาวันจันทร์-อังคาร เดี๋ยวเราเอามา พุธ-พฤหัส เอง วิธีนี้ช่วยได้เยอะค่ะ และยังเชื่อมความสัมพันธ์กับเพื่อนได้ด้วย แต่ถ้ามีการบ้านมาเราก็จดใส่สมุดการบ้านไปก่อน หรือไม่ก็โทรไปถามเพื่อนก็ได้ว่ามีการบ้านอะไรมั้ย แต่วิธีนี้เหมือนทำสัญญาใจกับเพื่อน ถ้าไม่เอามาก็ตายหมู่นะคะ เพราะฉะนั้นห้ามลืมเด็ดขาด ไม่งั้นอาจโดนเพื่อนรักสาปแช่งให้เป็นหมูได้ ฮ่าๆ

 

เด็กดีดอทคอม :: กระเป๋าหนักขนาดนี้ เห็นทีต้องจัดการ!!

 

วิธีที่ 3 : แบ่งน้ำหนัก
            การแบ่งน้ำหนักก็คือ การแอบเอาหนังสือไปใส่กระเป๋าเพื่อน เอ้ย!.. ไม่ใช่แล้ว อันนี้เรียกเป็นเพื่อนนิสัยไม่ดีแล้ว แต่การแบ่งน้ำหนัก คือ การแบ่งถ่ายน้ำหนักจากกระเป๋าเดียวเป็นสองกระเป๋า โรงเรียนส่วนใหญ่จะมีกระเป๋าที่เป็นย่าม เรียกกระเป๋าลูกบ้าง กระเป๋าเคียงบ้าง (แล้วแต่โรงเรียนจะเรียก) กระเป๋าแบบนี้ช่วยได้เยอะค่ะ เพราะเมื่อไหร่ที่เรามีกระเป๋า 2 ใบ เราก็ถือสองข้าง เพื่อให้เกิดสมดุลระหว่างการถือ ที่สำคัญแบ่งเป็น 2 กระเป๋า น้ำหนักของกระเป๋าแต่ละใบก็จะลดลงด้วย

 

 วิธีที่ 4 : ฝากให้เราช่วยดูแล
            ถ้าวิชาไหนมีเรียนในวันพรุ่งนี้อีก และไม่มีการบ้าน ลองเจรจากับอาจารย์ประจำวิชา หรือ อาจารย์ที่ปรึกษาดูว่า สามารถฝากหนังสือได้มั้ย เพราะไม่มีการบ้าน ยังไงๆ พรุ่งนี้ก็ต้องเอามาเรียนอีก มันหนักเกินไป หนูแบกไม่ไหวค่ะ ลองใช้ลูกอ้อน น่ารักๆ กับอาจารย์ เผื่อเค้าจะปราณี แต่ถ้ามีการบ้าน ก็ควรเอากลับมานะคะ ไม่อย่างนั้นจะโดนหาว่าขี้เกียจได้

 

เด็กดีดอทคอม :: กระเป๋าหนักขนาดนี้ เห็นทีต้องจัดการ!!

 วิธีที่ 5 : เอาของไม่จำเป็นออก
           น้องๆ เคยเปิดกระเป๋าตัวเองมั้ยคะ เปิดปุ๊บ พี่มิ้นท์เชื่อว่าจะต้องตกใจแน่ๆ ตกใจกับปริมาณสิ่งของที่เพิ่มขึ้นมา บางทีก็ไม่รู้ตัวหรอกว่ามันมาจากไหน เช่น ชีทแต่ละวิชา ได้มาปุ๊บ ก็เก็บใส่กระเป๋าปั๊บ 2 อาทิตย์ผ่านไป ก็ไม่รู้ตัวเลยว่ามันหนามาเป็นนิ้วแล้ว ชีทพวกนี้เป็นศัตรูตัวฉกาจเลยค่ะ ทำให้เราเผลอคิดไปว่ามันไม่หนัก แต่พอมันรวมตัวกันเมื่อไหร่ ก็หนังสือเล่มโตๆ นี่เอง เพราะฉะนั้นชีทแผ่นไหนที่เรียนจบแล้ว ก็จัดการเอาออกใส่กระเป๋า แยกเป็นวิชาให้เรียบร้อยเวลาหยิบมาทบทวนจะได้ไม่ลำบากค่ะ
           อีกอย่างที่ควรเช็คกระเป๋าตัวเอง คือ พวกของใช้จุกจิก น้องๆ บางคนชอบซื้อปากกาเป็นชีวิตจิตใจ กระเป๋าใส่ดินสอใบนึงมีปากกาสิบกว่าแท่ง ถามว่าใช้หมดมั้ย?? ไม่หมดหรอกค่ะ แต่ที่จะหมด ก็คือ หมึก เพราะถ้าเราไม่ใช้มันเลย หมึกก็จะแห้ง พอเอามาเขียน อ้าวไม่ติดซะแล้ว หรือบางทีปากกาหัวแตกหมึกเลอะเต็มกระเป๋ายังไม่รู้ตัวอีก ดังนั้น ลองเช็คขีดๆ เขียนๆ ดูหน่อย อันไหนไม่ติดหรือเสีย ก็โละออกไปบ้าง กระเป๋าจะได้ไม่ระเบิดนะคะ

 

 วิธีที 6 : ซีร็อคเฉพาะส่วนที่เรียน
            เป็นวิธีแก้ไขเฉพาะหนังสือที่มันหนาเกินเหตุ เพราะถ้าให้แบกไปทุกวัน คงได้กระดูกเคลื่อนกันบ้างล่ะ และวิธีเหมาะกับวิชาที่เรารู้บทเรียนล่วงหน้า เพราะจะได้ถ่ายเอกสารได้ถูกบท เช่น วันนี้เรียนบทที่ 3 ก็ถ่ายเอกสารเฉพาะบทที่ 3 ไม่ต้องบทที่ 4-25 ติดมาด้วย เป็นต้น วิธีนี้ช่วยเรื่องน้ำหนักได้มาก แต่ก็เปลืองเงินกว่าเดิม จึงแนะให้เป็นทางเลือกสุดท้ายดีกว่าค่ะ เพราะเกิดวันไหนดวงตก อาจารย์ดันทบทวนของเก่าแล้วไม่มีเอกสารดู จะแย่เอา

 

เด็กดีดอทคอม :: กระเป๋าหนักขนาดนี้ เห็นทีต้องจัดการ!!

Share this