ท่าทาง = ท่าทางของอาจารย์ที่ใบ้ว่าเนื้อหาตรงนี้สำคัญ มีสิทธิ์ออกข้อสอบแน่ๆ ว้าว!!
- พูดถึงแล้วยิ้มเล็กยิ้มน้อย
ถ้าบรรยากาศตอนนั้นไม่ได้นั่งเม้าท์เฮฮา แต่อาจารย์กลับยิ้มเล็กยิ้มน้อยตอนพูดถึงเนื้อหานั้นๆ หรือตอนที่เพื่อนถามแทรกในเรื่องที่สอน และอาจารย์ก็ตอบแบบละเอียดสุดๆ แล้วก็ยิ้มๆ ให้เดาเอาไว้เลยว่า มันต้องมีอะไรแน่ๆ ในเนื้อหาที่กำลังสอน เพราะฉะนั้นตั้งใจฟังให้ดีๆ
- พูดด้วยเสียงช้าและดัง
ถ้าปกติอาจารย์เป็นคนพูดด้วยน้ำเสียงปกติ และจังหวะพูดออกจะเร็วด้วยซ้ำ แต่อยู่ๆ บางช่วงอาจารย์จะพูดเน้นคำ เน้นเสียง และเสียงดังมากขึ้น เช่น "มหาสมุทรอาร์กติกเป็นมหาสมุทรที่ เ ล็ ก และ ตื้ น น น ที่ สุ ด มีความลึกเฉลี่ยแค่ 1 กม.เอง" เอาล่ะหว่า... เน้นกันขนาดนี้ จัดดอกจันไปซัก 3 ดอกพอมั้ย
- จดบนกระดาน
เดี๋ยวนี้สื่อการสอนส่วนใหญ่ก็จะเป็นพาวเวอร์พ้อย หรือ พวกสไลด์แล้ว เพราะอาจารย์ไม่ต้องมาบอกทีละคำ หรือเขียนให้อ่านทีละคำ แต่บางทีอาจารย์อาจจะนึกอะไรขึ้นมาได้ ก็อาจจะจดลงบนกระดาน ซึ่งตรงนี้แหละเป็นส่วนที่แทรกเสริมจากสไลด์ที่อาจารย์มี(ถ้ามีอยู่แล้วก็คงไม่เขียน) ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ ก็จดตามไปเลย อย่างน้อยเราก็ได้รู้เพิ่มจากเนื้อหาหลัก เผื่อเอาไปตอบข้อสอบได้ นอกจากนี้การจดบนกระดานยังรวมไปถึงพวกวิชาเลข จะแสดงวิธีทำให้เราดู น้องๆ ก็สามารถจดขั้นตอน วิธีทำเอาไว้อ่านประกอบด้วยก็ดีนะคะ
- คำถามที่อาจารย์ถามในห้อง
เวลาหมดชั่วโมงอาจารย์ส่วนใหญ่ก็จะปล่อยให้ไปเรียนคาบต่อไป แต่เคยมั้ยที่บางทีอาจารย์ก็จะถามเนื้อหาที่สอนไป ซึ่งถ้าแจ็คพอตแตกมากๆ อาจชี้เฉพาะถามเป็นรายบุคคล พร้อมกับมีคำถามให้เสร็จสรรพ เช่น นางสาว ก. ทำไมน้องซิ้ม (simsimi) ถึงโต้ตอบกับเธอได้ เป็นต้น คำถามที่อาจารย์ถามนี่แหละที่น้องๆ ควรจดเอาไว้เพราะท่านจะกลั่นกรองคำถามมาแล้ว ไม่อย่างนั้นอาจารย์อาจจะถามแค่ว่า วันนี้เรียนอะไรมาบ้าง
คำพูด = มีคำพูดเด็ดๆ อะไรบ้าง ที่ได้ยินปุ๊บต้องหูผึ่งปั๊บ
- "สิ่งที่ต้องจำในวันนี้"
ชัดเจนเลยประโยคนี้ แสดงว่าประโยคถัดไปหลังจากประโยคนี้ เป็นเนื้อหาสำคัญที่มีโอกาสออกข้อสอบสูงมาก ไม่อย่างนั้นก็คงไม่ให้จำหรอก จริงมั้ย! แต่หน้าที่ของเราไม่ได้จำหรอกค่ะ ก้มหน้าก้มตาจดอย่างเดียว
- "ฟังก่อน! อย่าเพิ่งจด"
อาจจะเป็นประโยคถัดจากประโยคข้างบน เพราะทันทีที่อาจารย์เริ่มมีคีย์เวิร์ดแปลกๆ เด็กส่วนใหญ่ก็จะจดอย่างเดียว เน้นจดให้ครบทุกคำ เพราะไม่อยากพลาดซัดตัวอักษรเดียว แต่เป็นวิธีที่ผิดนะ สิ่งที่ถูกคือ ฟังให้ดีซะก่อนแล้วสรุปเป็นความเข้าใจของตัวเอง แล้วพฤติกรรมที่เด็กเอาแต่จดไม่มองหน้าคนสอนเนี่ย มักจะทำให้อาจารย์หงุดหงิดค่ะ
ดังนั้นจึงประกาศออกมาว่า "ฟังก่อน! อย่าเพิ่งจด" นั่นหมายความว่า เรื่องนี้มันสำคัญจริงๆ นะ ควรทำความเข้าใจให้ดีก่อนจด เพราะจดแต่ไม่เข้าใจก็ทำข้อสอบไม่ได้อยู่ดี อีกอย่าง อาจารย์ก็คงไม่อยากอ่านคำตอบในข้อสอบที่นักเรียนก็อปเลคเชอร์มาเป๊ะๆ หรอกค่ะ สิ่งที่วัดได้มากที่สุดคือ การถ่ายทอดเนื้อหาและเรียบเรียงคำตอบด้วยความเข้าใจต่างหากล่ะคะ
- "ทำดาว 3 ดวงเอาไว้เลย"
ทำดาวแค่ดวงเดียวก็สำคัญจะแย่อยู่แล้ว ถ้าอาจารย์หลุดปากออกมาว่า กา 3 ดาวไว้เลย นั่นหมายความว่า ให้เรากา 28 ดาวไปเลยค่ะ เพราะมันสำคัญมากๆ มีลุ้นว่าออกข้อสอบแน่นอน
- "อาจจะออกข้อสอบ" หรือ "ปีที่แล้วก็ออกข้อสอบ"
อีกหนึ่งคำพูดที่อาจารย์มักจะหลุดออกมาก็คือ "อาจจะออกข้อสอบ" หรือ "ปีที่แล้วก็ออกข้อนี้" ประโยคนี้เรียกว่าใบ้แบบสุดๆ
คำว่า "อาจจะ" ของอาจารย์ หมายถึง ออกแน่ๆ เพราะคำพูดนี้จะออกมาได้ก็ต่อเมื่อ เนื้อหาส่วนนั้นต้องสำคัญมากถึงขนาดเป็นประเด็นที่เอาไปออกข้อสอบวัดความรู้นักเรียนได้ (ถ้าไม่สำคัญจริงอาจารย์จะเอามาวัดทำไมล่ะ จริงมั้ย) ดังนั้นได้ยินประโยคนี้เมื่อไหร่ ทำสัญลักษณ์เอาไว้เพราะมีโอกาสออกข้อสอบอีก (90% อาจารย์จะไม่ค่อยเปลี่ยนเรื่องที่ออกข้อสอบ อาจจะแค่เปลี่ยนคำพูด เปลี่ยนช้อยหลอก)
- "คำถามนี้ดีมาก"
อันนี้อาจจะเรียกว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ไม่บ่อย (เพราะเด็กไทยไม่ค่อยถามกัน) แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เพื่อนสงสัยแล้วถามอาจารย์ไป และคำพูดแรกที่อาจารย์ตอบกลับมาคือ "คำถามนี้ดีมาก" ขอให้น้องๆ ปรบมือให้เพื่อนแล้วเตรียมหูผึ่งได้เลย แสดงว่าคำถามที่เพื่อนถามไปนั้นได้ไปกระตุกความคิดของอาจารย์เข้าให้แล้ว ดีไม่ดี คำถามนั้นอาจจะย้อนกลับมาในข้อสอบของเราก็ได้
สัญลักษณ์ = อะไรที่เป็นตัวใบ้ให้เรารู้ว่านั่นสำคัญนะ!!
- ดอกจัน (ยิ่งเยอะยิ่งสำคัญ)
หลังจากเขียนบนกระดานแล้ว มันจะยิ่งสำคัญขึ้นไปอีก ถ้าอาจารย์ทำเครื่องหมายดอกจัน ไว้หน้าหรือหลังข้อความนั้นๆ เหมือนบอกกลายๆ ว่า "ท่องมาเหอะ ออกแน่"
- ขีดเส้นใต้
มักจะขีดเส้นใต้คำ ข้อความ ที่สำคัญ หรือเป็นเหตุเป็นผลของเนื้อหาเหล่านั้น มีสิทธิ์ออกประโยคนั้นทั้งประโยคแบบตรงๆ เลยก็ได้
- ใช้ปากกาสีอื่น
การเขียนข้อความด้วยปากกาสีอื่นบนกระดาน แสดงว่าเป็นข้อความที่สำคัญซึ่งจำเป็นมากๆ ที่จะต้องเห็น หรือเพื่อไม่ให้ไปงงกับข้อความส่วนอื่น จึงเขียนด้วยปากกาอีกสีนึง จะได้เห็นข้อความนั้นชัดเจนขึ้น และช่วยให้เราจำได้ง่ายด้วย (เพราะสีมีผลต่อความจำ) ดังนั้น ทันทีที่อาจารย์เปลี่ยนปากกาสีก็อย่าลืมให้ความสนใจข้อความนั้นให้มากๆ ด้วยนะคะ