คำพูดที่ว่าสมัยนี้รู้แค่สองภาษาไม่พอ แต่ต้องรู้ภาษาที่ สาม สี่ ห้า น่าจะเป็นเรื่องจริงซะแล้ว เพราะภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษาที่สองกลายเป็นภาษาหลักที่ต้องรู้และสื่อสารได้ แต่ภาษาอื่น ต้องรู้เพื่อให้ทันโลก แต่เชื่อว่าหลายคนคงนึกเถียงในใจว่า แค่ภาษาที่สองยังสอบตกอยุ่ทุกปี แล้วจะแบ่งสมองส่วนไหนไปเรียนภาษาที่สาม
ถ้าเป็นสมัยก่อนคนที่เรียนภาษาที่สามได้ ก็จะเป็นเด็กสายศิลป์-ภาษา แต่เดี๋ยวนี้เด็กสายวิทย์หลายคนก็หันไปเรียนภาษาที่สามเพิ่มในเวลาว่างมากขึ้น ส่วนหนึ่งเชื่อว่าเป็นเพราะพ่อแม่สนับสนุนและอยากให้ลูกรู้หลายๆ ภาษา ซึ่งจะได้เปรียบเวลาทำงาน แต่อีกผลนึงก็คือ กระแสของประชาคมอาเซียน ทำให้ตื่นตัวกันยกใหญ่ ส่งผลให้ภาษาของประเทศเอเชียบูมขึ้นมา โดยเฉพาะภาษาจีน ที่คนหันมาเลือกเรียนเยอะขึ้นมาก!!
เพื่อยื่นยันคำพูดนี้ พี่มิ้นท์ขอหยิบยกข่าวนึงมาฝาก สำหรับน้องๆ ที่อยากเรียนภาษาที่สาม แต่ไม่รู้ว่าภาษาที่สามในประเทศไทยไปถึงไหนกันแล้ว
น.ส.อุษณีย์ วัฒนพันธ์ รองผอ.สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา (สวก.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจของประเทศจีนเข้มแข็งและเติบโตขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศทางฝั่งตะวันตกเริ่มอ่อนตัวลง ทำให้ประเทศต่างๆ หันมาเรียนภาษาในภูมิภาคอาเซียนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะจีน ญี่ปุ่น และ เกาหลี ส่วนภาษาของประเทศฝั่งตะวันตก โดยเฉพาะภาษาฝรั่งเศสมีคนเรียนน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด
ปัจจุบัน โรงเรียนสังกัด สพฐ. สอนภาษาต่างประเทศทั้งหมด 11 ภาษา ได้แก่ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เยอรมัน สเปน รัสเซีย อาหรับ พม่า เวียดนาม เขมร ไม่นับรวมภาษาอังกฤษ เพราะเป็นวิชาบังคับ โดยภาษาที่มีผู้นิยมเรียนมากที่สุด 3 อันดับ ขณะนี้ คือ
- ภาษาจีน มีโรงเรียนเปิดสอนภาษาจีนประมาณ 700 โรงเรียน มีนักเรียนประมาณเกือบ 300,000 คน
- รองลงมา ภาษาญี่ปุ่น มีสอนประมาณ 175 โรงเรียน มีนักเรียนประมาณ 34,000 คน
- ภาษาเกาหลี เพิ่งเปิดสอนไปเมื่อปี 2553 แต่มีผู้สนใจเรียนมากถึง 12,000 คน
“การรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้คนหันมาเรียนภาษาในแถบอาเซียนมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่คนในภูมิภาคนี้เท่านั้นที่สนใจเรียนภาษาของประเทศเพื่อนบ้าน แต่คนตะวันตกก็หันมาสนใจเรียนภาษาจีนจำนวนมาก ขณะที่ภาษาฝรั่งเศสที่เดิมเด็กไทยจะสนใจเรียนมากควบคู่กับภาษาอังกฤษ แต่จากสถิติตั้งแต่ปี 2550-2554 พบว่า มีคนสนใจเรียนภาษาฝรั่งเศสน้อยลง โดยปัจจุบันมีโรงเรียนสังกัดสพฐ.ที่สอนยังสอนภาษาฝรั่งเศสเพียง 221 โรงเรียน มีผู้เรียน 35,490 คน และมีครูที่สอนภาษาฝรั่งเศสเพียง 383 คน จากเดิมโรงเรียนในสังกัด สพฐ.เกือบทุกโรงเรียนจะสอนภาษาฝรั่งเศสเป็นวิชาเลือก แต่หลังจากที่มีคนสนใจเรียนน้อยลงทำให้โรงเรียนต้องเลิกสอนภาษาฝรั่งเศสไปเป็นจำนวนมาก เพราะไม่มีคนเรียน” น.ส.อุษณีย์ กล่าว
ได้ยินข่าวนี้น้องๆ ที่เรียนภาษาฝรั่งเศสก็อย่าเพิ่งน้อยใจไป พี่มิ้นท์คิดว่าทุกภาษามีข้อดีในตัว ซึ่งส่วนตัว พี่มิ้นท์คคิดว่าภาษาฝรั่งเศสยากมากๆ ดังนั้นเชื่อว่าถ้าเราเรียนแล้วใช้ได้จริง อนาคตดีๆ รอเราอยู่แน่นอน
สำหรับสามภาษาที่มาแรง ก็เรียกว่าเป็นเทรนด์ของยุคนี้ ซึ่งอาจจะเป็นผลพวงของการ์ตูน นักร้อง ซีรีย์เกาหลี รวมถึงแนวโน้มความเจริญของประเทศนั้นๆ ที่ทำให้น้องๆ สนใจเรียนมากขึ้นกว่าแต่ก่อนก็ฝากถึงน้องๆ ที่อยากจะเรียนนะคะว่า แต่ละภาษาต่างก็มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ซึ่งการจะเริ่มต้นเรียนภาษาใหม่ๆ นั้นยาก พอที่จะทำให้คนคนนึงถอดใจเลิกเรียนได้เลย ดังนั้น อย่าคิดแค่ว่าเรียนไปตามเทรนด์ อยากได้ความรู้ก็ต้องตั้งใจจริงๆ
สำหรับภาษาไทย น้องๆ คงจะสงสัยว่า ภาษาของเราไม่มีบทบาทอะไรบ้างเลยหรอ ถึงจะไม่ค่อยมีข่าวอะไรออกมา แต่ขอบอกว่าภาษาไทยของเรา ก็มีคนต่างชาติเรียนอยู่เยอะเหมือนกันนะ อย่างมหาวิทยาลัยคิวชูของประเทศญี่ปุ่นเอง ก็มีเปิดวิชาภาษาไทย ให้นักศึกษาลงเรียนและพอเรียนได้สักระยะก็จะมาแลกเปลี่ยนกับมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า
ภาษาไทยสำเนียงเพราะ พูดแล้วเหมือนร้องเพลง แต่เรียนยากมากๆ
ได้ยินแบบนี้แล้ว เวลาได้ยินคนต่างชาติพูดภาษาไทยชัด พี่มิ้นท์รู้สึกปลื้มทุกที และภูมิใจมากๆ ที่ภาษาไทยของเราก็มีช่าวต่างชาติชื่นชอบ ดังนั้นในฐานะที่เราเป็นคนไทย เรียนภาษาที่สามได้ แต่ก็อย่าลืมภาษาประจำชาติของเราด้วยนะคะ